เริ่มที่การคว้ารางวัลขวัญใจมวลชนจากเทศกาลหนังโตรอนโต และจบลงด้วยรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากออสการ์ — เราอาจกล่าวได้ว่า Free Solo คือสารคดีที่มีเส้นทางบนเวทีรางวัลอันโดดเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของปี 2018 แต่กระนั้น การเดินทางของ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ (Alex Honnold) นักกีฬาปีนเขาผู้สร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการปีนเดี่ยวมือเปล่า (free soloing) ที่สารคดีเรื่องนี้ติดตามต่างหากที่น่าตื่นตะลึงเสียยิ่งกว่า

เมื่อกลางปี 2017 ฮอนโนลด์ทำสถิติเป็นผู้ไต่เอลแคพ หรือเอล แคพิตัน (El Capitan) หน้าผาสูงชันโอฬารในอุทยานแห่งขาติโยเซมิตี้ (Yosemite) โดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือป้องกันได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก สารคดีทุ่มทุนสร้างโดย National Geographic เรื่องนี้ติดตามการเดินทางของฮอนโนลด์ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผนเตรียมการ การฝึกซ้อม ความพลั้งพลาดในแต่ละครั้ง ไปจนบันทึกภาพให้เราเป็นประจักษ์พยานการไต่ผาความสูงราว 900 เมตรอันน่าหวาดเสียวที่ว่านี้อีกด้วย

แม้รู้ข้อมูลดังกล่าวก่อนเข้าไปดู แต่ Free Solo ก็ไม่ได้ปล่อยให้คนดูรู้สึกสบายใจแม้แต่น้อยว่าฮอนโนลด์จะรอดชีวิตกลับมาจากเอลแคพได้จริงๆ ทุกๆ ภาพการปีนผาล้วนหนักอึ้งไปด้วยความเสี่ยงที่เขาจะร่วงหล่นลงไปสู่ความตายได้ทุกเมื่อ กระทั่งผู้สร้างเองยังกล่าวไว้ในตัวสารคดีว่าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจเป็นการได้จับภาพฮอนโนลด์พลัดตกออกจากเฟรมภาพลงไปสู่หุบเหวเบื้องล่างแทนที่จะเป็นภาพของความสำเร็จ

ในแง่หนึ่ง Free Solo จึงเป็นสารคดีที่น่าชื่นชมในด้านเทคนิกทางภาพยนตร์ สองผู้กำกับคู่สามี-ภรรยา จิมมี ชิน และเอลิซาเบ็ธ ไช วาซาเรลี (ซึ่งก่อนหน้านี้สร้างชื่อมาจาก Meru สารคดีปี 2015 ว่าด้วยการพิชิตยอดเขา Meru Peak ในเทือกเขาหิมาลัย — ช่างเป็นคนทำหนังที่หนีไม่พ้นเรื่องปีนเขาเลยจริงๆ!) สามารถเก็บภาพชวนหวาดเสียวของร่างกายอันบอบบางมนุษย์บนหน้าผาสูงโดยมีเพียงมือและเท้ายึดเกาะอยู่กับแง่ง รอยแตก หรือร่องหลืบเล็กๆ บนผา ได้อย่างสมจริงสมจัง ทำให้คนดูเข้าใจจนต้องลุ้นตัวเกร็งถึงความอันตรายของภารกิจเสี่ยงตายครั้งนี้

ในอีกแง่ หนังยังได้ฉายให้เห็นความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างซับเจกต์ผู้ถูกบันทึกภาพกับคนที่อยู่หลังกล้อง เพราะแน่นอนว่าการไต่ผาแบบ free solo นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่การมีกล้องจำนวนมากมาคอยตามถ่ายนั้นอาจยิ่งเพิ่มระดับความท้าทายขึ้นไปอีก เพราะในหลายครั้ง การทำสิ่งที่คุ้นเคยโดยมีคนมาคอยจ้องดูด้วยก็อาจให้ผลคนละทางกับตอนที่ทำอยู่คนเดียว

การบรรลุภารกิจไต่เอลแคพครั้งนี้จึงไม่เพียงต้องอาศัยความมั่นใจในสมรรถภาพตัวเองอย่างเต็มที่ของฮอนโนลด์เท่านั้น หากยังต้องอาศัยความไว้วางใจกันอย่างมหาศาลระหว่างตัวฮอนโนลด์กับทีมคนทำหนังอีกด้วย แม้ฮอนโนลด์จะรู้จักและเป็นเพื่อนกับผู้กำกับมาก่อนแล้วก็ตาม แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องพยายามหาจังหวะที่ลงตัวกันเพื่อที่จะเก็บภาพการไต่ให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด นั่นคือกลุ่มผู้สร้างต้องคิดหาวิธีถ่ายทำที่ไม่เข้าไปรบกวนหรือขวางทางฮอนโนลด์ เช่นเดียวกับที่ฮอนโนลด์เองก็ต้องมีใจที่นิ่งพอกับการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่คำนึงถึงการนำเสนอตัวเองเมื่ออยู่หน้ากล้อง

ความสำเร็จของฮอนโนลด์ที่เราได้เห็นในตอนท้าย (ที่มาพร้อมดนตรีประกอบอันแสนฮึกเหิม!) จึงอาจถูกมองว่าเป็นความสำเร็จของกลุ่มผู้สร้างสารคดีไปในตัวด้วยก็ได้ เพราะพวกเขาสามารถจับภาพและบันทึกเสียงชั่วโมงอันน่าระทึกใจออกมาได้อย่างใกล้ชิด ด้วยจังหวะและระยะห่างที่เหมาะสมจากตัวซับเจกต์ และหากสิ่งที่ฮอนโนลด์ใฝ่หาจากการปีนป่ายผาไร้ตัวช่วยคือชั่วขณะแห่งความสมบูรณ์แบบ สารคดี Free Solo ก็อาจเป็นผลของการสอดประสานกันอย่างลงตัวของความสมบูรณ์แบบจากทั้งสองฝ่ายนั่นเอง

นอกเหนือไปจากด้านเทคนิกทางภาพยนตร์และประสบการณ์การรับชมอันแสนระทึก สิ่งที่น่าสนใจของ Free Solo อีกประการนั้นเป็นตอนที่มันพยายามหันมาสำรวจเรื่องราวชีวิตของตัวฮอนโนลด์ เพื่อทำความเข้าใจแรงผลักดันที่ทำให้เขากล้าเสี่ยงตายบนผาสูง ในขณะที่เราคุ้นเคยกับเรื่องราวของผู้เสพติดการเสี่ยงตายเพราะได้หลั่งอะดรีนาลีน สำหรับฮอนโนลด์มันกลับเป็นความเสี่ยงที่ผ่านการคิดคำนวณ วางแผน และลองผิดลองถูกมาอย่างรัดกุม สิ่งที่ฮอนโนลด์เสพติดคงไม่ใช่ความตื่นเต้นเร้าใจ แต่เป็นความสันโดษในการไล่หาชั่วขณะแห่งความสมบูรณ์แบบเสียมากกว่า

Alex Honnold reenactting his rope-less free climb of the 2,500 ft. NW face of Halfdome. Alex ascent is aguably hardest free solo done to date in Yosemite.

เมื่อชีวิตคือความไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ ความสำเร็จบนยอดเอลแคพสำหรับฮอนโนลด์จึงเป็นความเพียรพยายามเพื่อไปถึงจุดที่ทุกปัจจัยสอดรับกันจนเกิดเป็นความสมบูรณ์แบบขึ้นมา หากจะถอดบทเรียนจากหนัง เส้นทางบนผาสูงของฮอนโนลด์นั้นอาจสะท้อนให้เราเห็นเส้นทางในชีวิตทุกเมื่อเชื่อวันของคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่ล้วนขาดพร่องไม่สมบูรณ์ แต่ก็ต้องดิ้นรนไปให้ถึงจุดของความสมบูรณ์แบบ แม้มันจะเป็นชั่วขณะที่ผ่านมาแล้วผ่านไปก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ที่พังครืนตั้งแต่เขายังเด็ก การถูกแม่เคี่ยวเข็ญให้ดีเลิศ หรือการจากไปของพ่อผู้จุดประกายให้เขาสนใจกิจกรรมปีนผาตั้งแต่แรกเริ่ม — ด้านด่างพร้อยของชีวิตเหล่านี้กลายมาเป็นสิ่งที่เติมเชื้อไฟให้ฮอนโนลด์ดั้นด้นไต่ผาไปหาความสมบูรณ์แบบ สิ่งที่งดงามคือแทนที่หนังจะแสดงให้เห็นว่ามันเป็นความสำเร็จส่วนตัวของฮอนโนลด์ล้วนๆ หนังยังหันไปมองชีวิตผู้คนที่รายรอบชีวิตของเขาทั้งแม่และแฟนสาว ที่คอยเกื้อหนุนสิ่งที่เขาทำอยู่เสมอแม้กลัวจะสูญเสียเขาไปที่เบื้องใต้หุบเหวก็ตาม ด้วยเพราะการพรากความชื่นชอบและเป้าหมายในชีวิตของใครซักคนไปอาจเลวร้ายกว่าการที่เขาไม่มีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ดี หากลองมองข้าม ‘ความสมบูรณ์แบบ’ อันน่าประทับใจทั้งหลายประการของตัวหนังไป เราอาจพบว่า Free Solo เองก็เป็นหนังที่น่าตั้งคำถามในหลายแง่ ตั้งแต่จริยธรรมของการทำหนังในสถานการณ์เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเช่นนี้ที่เพียงการตั้งกล้องถ่ายก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้มากกว่าเดิม การบันทึกภาพสมจริงสมจังและน่าตื่นเต้นเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่หากผลลัพธ์ที่ได้กลายเป็นภาพของการสูญเสีย

กระทั่งการนิยามความสำเร็จและความสมบูรณ์แบบที่หนังเล่าถึงก็ควรค่าแก่การตั้งคำถามเช่นกัน หากความสมบูรณ์แบบคือชั่วขณะที่ไม่จีรังและเป็นสิ่งที่มนุษย์เพียรพยายามไปให้ถึงอยู่เสมอแล้วนั้น ก้าวต่อไปของฮอนโนลด์หลังจากนี้จะเป็นเช่นไร และเหตุใดเราจึงต้องไปให้ถึงจุดของความสมบูรณ์แบบอยู่ร่ำไปกันด้วย หากการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบของฮอนโนลด์นั้นสามารถสะท้อนการดิ้นรนในชีวิตประจำวันของคนสามัญได้แล้วนั้น แรงผลักดันดังกล่าวเป็นสภาพโดยธรรมชาติของมนุษย์ หรือเป็นผลของค่านิยมบางชุดจากสังคมกันแน่

แน่นอนว่าหนังไม่ได้ขุดคุ้ยถึงขั้นนี้ และก็ไม่ใช่ความผิดอะไรของหนังเช่นกันที่ไม่ทำ แต่หากชัยชนะเหนือยอดผาของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่งสามารถสะท้อนอะไรให้คนดูได้ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่พึงถามพอๆ กับการยอมรับต่อสิ่งที่หนังบอกโดยนัย ว่าเราต้องใช้ชีวิตให้คุ้มค่าไม่ต่างจากชายผู้นี้ที่มีแรงขับดันจนทำสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่ามนุษย์จะทำสำเร็จได้จนสำเร็จ