เมื่อไม่นานมานี้ผมบังเอิญได้ไปอ่านบทความสั้นๆ ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับนักปรัชญาและชีวิตครอบครัวของพวกเขา  ใจความหลักของบทความนั้นสรุปออกมาได้ว่า นักปรัชญาไม่ใช่กลุ่มคนที่จะมีชีวิตคู่อันราบรื่นเท่าไหร่นัก นั่นเป็นเพราะว่างานทางปรัชญานั้นสำคัญกว่าชีวิตส่วนตัว ทำให้ไม่พร้อมที่จะลงหลักปักฐานหรือเอาเวลาไปเลี้ยงดูลูกหลาน 

ข้อเสนอนี้อาจจะฟังดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ และผมก็มีความไม่เห็นด้วยอยู่เล็กน้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่านักปรัชญาส่วนใหญ่นั้นไม่มีทายาทจริงๆ และทันทีที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้ ผมก็พบปัญหาที่ว่าหาข้อมูลยากมาก สาเหตุหลักก็คือนักปรัชญาที่มีทายาทนั้นมีจำนวนน้อยมาก ลูกของพวกเขาบางคนก็อายุสั้นหรือไม่ได้มีบทบาทในประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่ แต่หลังจากเค้นความพยายามมาหลายวัน ผมก็ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ และช่วยเปิดประตูไปสู่ความรู้อีกมุมหนึ่งที่เราอาจจะไม่ค่อยคิดถึงกัน ต่อไปนี้คือบรรดาลูกหลานของนักคิด นักปรัชญาคนสำคัญของโลก จะมีใครบ้างไปอ่านกันได้เลยครับ

คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx 1818 – 1883)

ผมขอเริ่มต้นที่ชายหนวดเฟิ้มคนนี้ก่อน เพราะว่าเขามีทายาทหลายคน และทั้งหมดก็มีบทบาทที่เห็นได้ชัดต่อขบวนการสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ในยุโรป

มาร์กซ์แต่งงานกับ เจนนี่ ฟอน เวสฟาเลน (Jenny von Westphalen 1814 – 1881) หญิงสาวชนชั้นสูงในเยอรมนี แม้สถานะทางสังคมจะแตกต่างกัน แต่พวกเขาก็มีความคิดทางการเมืองที่คล้ายคลึงจึงทำให้ครองคู่อยู่ด้วยกันได้จนวันตาย ผ่านร้อนผ่านหนาวในคราวที่ครอบครัวลำบากและยากจนแบบสุดๆ พวกเขามีลูกด้วยกัน 7 คน แต่ว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เพียง 3 คนเท่านั้น และเป็นผู้หญิงทั้งหมด ทุกคนมีชื่อว่าเจนนี่ โดยตั้งตามชื่อแม่เพื่อเป็นเกียรติให้กับเธอ 

เจนนีเชน, ลอร่า, และเอเลียนอร์

ลูกสาวคนโต เจนนี่ มาร์กซ์ (Jenny Caroline Marx Longuet 1844 – 1883) มีชื่อเล่นในครอบครัวว่า ‘เจนนี่เชน’ (Jennychen) เพื่อที่จะได้ไม่สับสนกับผู้เป็นแม่ เกิดในปารีสและเป็นเด็กที่ค่อนข้างอ่อนแอ แต่ก็ยังฝ่าฝันสภาพแวดล้อมจนเติบใหญ่ได้สำเร็จ เธอทำงานเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว และยังเป็นนักเขียนโดยใช้นามปากกาว่า ‘J.Williams’ โดยผลงานเขียนจะออกไปในแนวทางของสังคมนิยมเช่นเดียวกับพ่อและแม่ ผลงานชิ้นสำคัญได้แก่บทความที่เปิดโปงการทรมานกลุ่มนักปฏิวัติชาวไอร์แลนด์ของรัฐบาลอังกฤษ

ด้านชีวิตสมรส เธอแต่งงานกับนักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศส ชาร์ลส์ ลองแยรต์ (Charles Longurt) ซึ่งในช่วงแรกทั้งคู่ก็ประสบปัญหาด้านการเงินเพราะสามีหางานทำไม่ได้ จนกระทั่งย้ายไปอังกฤษและชาร์ลส์ได้งานเป็นครูสอนหนังสือ จึงทำให้พอประคับประคองชีวิตไปได้บ้าง พวกเขามีลูกด้วยกันหลายคน แต่มีเพียงสี่คนเท่านั้นที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ หนึ่งในนั้นคือ ฌอง รองแยรต์ (Jean Longuet) ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส

หลังจากให้กำเนิดลูกสาวคนสุดท้องในปี 1882 เจนนี่เชนเสียชีวิตลงในวัยเพียง 38 ปี หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกว่าน่าจะมีสาเหตุจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งในขณะนั้นมาร์กซ์ก็กำลังป่วยหนักจนไม่สามารถมาร่วมงานศพของลูกสาวได้ และเขาก็เสียชีวิตตามเธอไปในอีก 2 เดือนต่อมา

คนที่สอง ลอร่า มาร์กซ์ (Jenny Laura Marx 1845 – 1911) เกิดในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม หลังจากที่พ่อกับแม่ของเธอถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศส ลอร่ามีโอกาสพบรักและแต่งงานกับ พอล ลาฟาร์ก (Paul Lafarge) นักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศสผู้เป็นเพื่อนกับมาร์กซ์ สามีภรรยาคู่นี้มีบทบาทสำคัญในด้านการแปลหนังสือของมาร์กซ์เป็นภาษาฝรั่งเศส และเคลื่อนไหวเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในฝรั่งเศสและสเปนเป็นเวลาหลายสิบปี พวกเขาทุ่มเทให้กับงานนี้มากจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจของพวกเขา แต่เมื่อแก่ตัวลง ทั้งคู่กลับตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองด้วยกรดไซยาไนด์  ในวันที่ทั้งคู่เสียชีวิตลอร่ามีอายุ 66 ปี และลาฟาร์กอายุ 69 ปี โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายถูกเขียนไว้สั้นๆ มีใจความว่า พวกเขาไม่สามารถทำอะไรให้กับขบวนการได้อีกแล้ว เพราะมีอายุมากเกินไป รังจะเป็นภาระให้คนอื่นเปล่าๆ อีกทั้งลอร่าเองก็คิดไว้ก่อนแล้วว่าจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 70 ปี แต่ตอนท้ายของบันทึกเธอก็เปี่ยมไปด้วยความหวังที่ว่าในอนาคตลัทธิมาร์กซ์และคอมมิวนิสต์จะเบ่งบานกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ 

งานศพของเธอในปารีสมีบุคคลผู้ยิ่งใหญ่มาร่วมงานด้วย นั่นคือเลนินแห่งพรรคบอลเชวิค

คนสุดท้ายที่ผมจะกล่าวถึงคือ เอเลียนอร์ มาร์กซ์ (Jenny Julia Eleanor Marx 1855 – 1898) ซึ่งในบรรดาลูกๆ ทั้งหมดนั้น ถือได้ว่าเธอมีความใกล้ชิดกับพ่อมากที่สุด เพราะในวัยเด็กของเธอ มาร์กซ์อยู่ในช่วงที่กำลังเขียนหนังสือ ทุน (Das Kapital) ที่กลายมาเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขา เอเลียนอร์จึงซึมซับบรรยากาศดังกล่าวเอาไว้เต็มเปี่ยม และแสดงให้เห็นถึงความสนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย 

ในช่วงวัยรุ่น เอเลียนอร์เป็นผู้ช่วยพ่อของเธอในการจัดการธุระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร งานเขียน การประชุม เมื่ออายุได้ 17 ปี เธอตกหลุมรัก โพรสเพอร์-โอลิเวียร์ ลิซซากาเรย์ (Prosper-Olivier Lissagaray) นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวฝรั่งเศสผู้มีส่วนร่วมกับปารีสคอมมูน แต่ความรักของเธอก็ถูกมาร์กซ์ขัดขวางอย่างทันควันเพราะอายุห่างกันมากเกินไป (ฝ่ายชายอายุ 34 ปีในตอนนั้น) แม้ความรักจะไม่สมหวังแต่พวกเขาก็ยังคบหาในฐานะมิตร และมีผลงานร่วมกันคือหนังสือ ประวัติศาสตร์คอมมูนของปี 1871 (History of the Commune of 1871) ที่ลิซซากาเรย์เป็นคนเขียน และเอเลียนอร์แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมาร์กซ์ชอบหนังสือเล่มนี้มากแต่ก็ไม่ยอมให้ทั้งคู่ได้ครองรักกันอยู่ดี จนกระทั่งหลายปีต่อมาจึงอนุญาตให้แต่งงานกัน แต่กลายเป็นว่าเอเลียนอร์กลับละทิ้งความสัมพันธ์ไปเสียก่อน ต่อมาเธอพบรักอีกครั้งกับ เอ็ดวาร์ด อเวลิ่ง (Edward Aveling) ในขณะที่เอเลียนอร์ทำงานอยู่ในสหพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตย ทั้งคู่ไม่ได้แต่งงานแต่ก็ใช้ชีวิตทำงานทางการเมืองและเขียนงานร่วมกันมากมาย

ในด้านผลงานนั้น เอเลียนอร์มีบทบาทในการแก้ไขปรับปรุง และแปลหนังสือเรื่อง ทุน ของบิดา, แปลงานเขียนเรื่อง มูลค่า, ราคา, และกำไร และงานแปลอื่นๆ ของมาร์กซ์ตามมาอีกหลายชิ้น รวมทั้งดูแลเผยแพร่งานเขียนของเขาภายหลังจากที่มาร์กซ์เสียชีวิต ส่วนงานทางการเมืองเธอก็ร่วมเคลื่อนไหวกับองค์กรต่างๆ มากมาย เช่นการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ๆ ในอังกฤษ การช่วยเหลือสหภาพแรงงาน และระดมทุนให้กับพรรคการเมือง แต่เธอก็เจอกับอุปสรรคที่เหล่านักสังคมนิยมในยุคนั้นก็ประสบ ก็คือการไม่ลงรอยกันทางความคิดระหว่างฝ่ายลัทธิมาร์กซ์กับฝ่ายอนาธิปไตย ในช่วงหลังของชีวิต เอเลียนอร์จึงหันเหไปสนใจงานแสดงละครเวทีแทน รวมทั้งการแปลวรรณกรรม ผลงานที่สำคัญที่สุดก็คือการแปล มาดามโบวารี ของกุสตาฟ โฟลแบรต์ เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก 

ชีวิตของเอเลียนอร์มาถึงจุดย่ำแย่เมื่อเธอพบว่า อเวลิ่ง คนรักของเธอไปแต่งงานกับหญิงอื่นแบบลับๆ ทำให้เธอกลายเป็นคนเศร้าซึมเพราะความเจ็บปวดจากความผิดหวัง และเลือกจบชีวิตตัวเองด้วยยาพิษในวัยเพียง 43 ปี หลังจากงานศพที่มีผู้คนเข้าร่วมมากมายเสร็จสิ้นลง เถ้ากระดูกของเธอก็ถูกเก็บรักษาไว้โดยองค์กรฝ่ายซ้ายในอังกฤษ จนกระทั่งย้ายเอามาฝังไว้เคียงข้างสมาชิกคนอื่นๆ ที่สุสานไฮเกท กรุงลอนดอนเมื่อปี 1956

เราจะเห็นได้ว่ามาร์กซ์มีอิทธิพลทางความคิดต่อลูกสาวของเขาทุกคน เขาอาจจะไม่มีมรดกทางทรัพย์สินให้แก่ทายาท แต่มรดกทางความคิดของเขานั้นก็ยิ่งใหญ่พอที่จะขับเคลื่อนความคิดและอุดมการณ์ของตนไปสู่ดินแดนและภาษาอื่นๆ ทั่วยุโรป จึงนับได้ว่าเจนนี่ทั้งสามเป็นทายาทผู้สืบสายเลือดของมาร์กซ์และเจนนี่ (ผู้เป็นแม่) มาอย่างจริงแท้แน่นอน

ปีเตอร์ โครพอทคิน (Peter Kropotkin 1842 – 1921)

ฉายาเจ้าชายนักปฏิวัติจะเป็นของใครไปไม่ได้นอกจากโครพอทคิน เพราะเขาเป็นถึงเชื้อพระวงศ์ของรัสเซีย แต่กลับหันหลังล้างเลือดสีน้ำเงิน เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและเสรีภาพ นั่นก็คือลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism)

เจ้าหญิงอเล็กซานดรา

ทายาทของโครพอทคินมีเพียงคนเดียว นั่นก็คือเจ้าหญิง อเล็กซานดรา โครพอทคิน (Alexandra Kropotkin 1887 — 1966) เธอเกิดในลอนดอนระหว่างที่พ่อกับแม่ลี้ภัยในอังกฤษ เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศทางการเมือง ปรัชญา และวรรณกรรม ทำให้เจ้าหญิงคนนี้มีความรู้รอบด้าน เธอเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ รัสเซีย และฝรั่งเศส โดยมีผลงานสำคัญคือการแปลวรรณกรรมชิ้นเอกของรัสเซียเป็นภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ สงครามและสันติภาพ ของลีโอ ตอลสตอย และ อาชญากรรมและการลงทัณฑ์ ของฟีโยดอร์ ดอสโตเยฟสกี

อเล็กซานดราไม่ได้มีความสนใจทางการเมืองมากนัก แต่เธอก็ถือว่าเป็นทายาทของนักอนาธิปไตยผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด จึงมีส่วนอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ขบวนการอนาธิปไตย เพราะเธอมักจะพูดถึงพ่อและความทรงจำในครอบครัว และสิ่งหนึ่งที่เธอจำได้แม่นไม่มีวันลืมเลือนก็คือ ความโหดร้ายของพรรคบอลเชวิค เธอเกลียดเลนินมากเพราะเลนินไม่เคยให้เกียรติพ่อของเธอเลย 

ในหนังสือ Anarchist Voices: An Oral History of Anarchism in America (Paul Arvich 2005) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อนาธิปไตยที่เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์เจ้าหญิงโครพอทคินในวัยชรา เธอกล่าวถึงเลนินว่า “พ่อของฉันไม่เคยปฏิเสธที่จะพบใคร ต่อให้คนนั้นจะเป็นจักพรรดิญี่ปุ่น หรือพวกนักอนาธิปไตยเนื้อตัวมอมแมม แต่คนที่พ่อจะไม่ยอมไปเจอเด็ดขาดก็คือเลนิน พวกบอลเชวิคแย่งชิงทุกอย่างจากเราไป แม้แต่ที่ดินในทาบอฟก็โดนยึด” ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะว่าเธอถูกพรรคบอลเชวิคเนรเทศออกจากรัสเซียหลังจากความตายของพ่อ จนต้องมาปักหลักอยู่นิวยอร์กจนกระทั่งเสียชีวิต

“จะเขียนประวัติศาสตร์อนาธิปไตยงั้นหรือ ยังมีอะไรให้พิสูจน์อีก คุณก็รู้ว่าไอ้พวกคอมมิวนิสต์ระยำนั่นเป็นพวกบ้าอำนาจ” และนี่คือคำด่าทอต่อพรรคบอลเชวิคจากปากของเจ้าหญิงโครพอทคินในวันที่เธออายุเกือบ 80 ปี

เอกสารอ้างอิง

https://www.theguardian.com/education/2016/mar/15/why-philosophers-make-unsuitable-life-partners

https://www.marxists.org/glossary/people/l/o.htm#jenny-marx-longuet

https://francearchives.fr/commemo/recueil-2011/39754

https://www.marxists.org/archive/thompson-ep/1976/eleanor-marx.html

https://www.findagrave.com/memorial/158457831/alexandra-petrovna-kropotkin

Tags: , , ,