ในตอนที่ผ่านมา เราได้เล่าถึงทายาทของมาร์กซ์และโครพอทคินไปแล้ว จึงขอมาต่อที่นักปรัชญาในช่วงศตวรรษที่ 20 อย่าง เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์, มาร์ติน ไฮเดกเกอร์, และจอร์จ บาทาย กับฌาคส์ ลากอง กันบ้าง

เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell 1872 – 1970)

นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ พ่วงตำแหน่งเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ผู้มีผลงานสำคัญมากมายในช่วงศตวรรษที่ 20  เขามีทายาท 3 คน ที่เกิดจากภรรยา 2 คน (ส่วนภรรยาอีกสองคนไม่ได้มีลูกกับเขา) รัสเซลล์เป็นหลานของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำให้เขาได้ตำแหน่งเอิร์ล (Earl) ซึ่งเป็นตำแหน่งของขุนนางอังกฤษ โดยเบอร์ทรันด์เป็น เอิร์ล รัสเซลล์ที่ 3 และลูกหลานที่เป็นผู้ชายของเขาก็ได้รับตำแหน่งนี้ต่อๆ กันมาตามธรรมเนียมด้วย

แคทเธอรีน, เบอร์ทรันด์ และจอห์น รัสเซลล์ (ที่มา: National Portrait Gallery, London)

ลูกคนแรกของเขาได้แก่ จอห์น รัสเซลล์ (John Conrad Russell, 4th Earl Russel 1921 – 1987) ซึ่งเกิดกับภรรยาคนที่สองของเขา ดอร่า แบล็ค (Dora Black) ชื่อกลางของเขาได้มาจาก โจเซฟ คอนราด นักเขียนที่ผู้เป็นมิตรสหายกับบิดา และยังเป็นพ่อทูนหัวของเขาด้วย ชีวิตของจอห์นไม่ได้ก้าวไปในแนวทางของปรัชญา เพราะเขาทำงานในองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นหลัก และต้องทนทรมานกับโรคจิตเภทในตอนปลายของชีวิต

คนที่สองเป็นลูกที่เกิดจากดอร่าเช่นกัน คือ แคทเธอรีน รัสเซลล์ (Katharine Jane Russell 1923) ประกอบอาชีพเป็นนักเขียน เธอมีบทบาทในการก่อตั้งสมาคมเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ ที่ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาและเผยแพร่ผลงานของบิดา นอกจากนี้เธอยังเขียนหนังสือชีวประวัติของเขาอีกด้วย

                                                                                                              คอนราด รัสเซลล์

คนสุดท้ายคือ คอนราด รัสเซลล์ (Conrad Russell, 5th Earl Russell 1937 – 2004) เขาเกิดจากแพทริเซีย (Patricia Russell) ภรรยาคนที่สามของเบอร์ทรันด์ ส่วนชื่อของเขาก็ตั้งจากโจเซฟ คอนราด เช่นเดียวกับพี่ชายต่างมารดา คอนราดได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประกอบอาชีพเป็นนักประวัติศาสตร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังเข้าสู่การเมือง และมีแนวคิดเสรีนิยมอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งสนับสนุนด้านเสรีการศึกษา เขาเสียชีวิตจากภาวะการหายใจล้มเหลวเมื่ออายุ 67 ปี

ประวัติศาสตร์ของตระกูลรัสเซลล์นั้นสามารถสืบเนื่องกลับไปได้หลายชั่วคน ดังนั้นจึงมีความซับซ้อนและไม่อาจสรุปออกมาได้โดยง่าย ปัจจุบันนี้ทายาทซึ่งเป็นรุ่นหลานของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ แต่อาจจะไม่ได้เดินทางสายปรัชญาเหมือนกับบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆ เท่านั้นเอง

มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger 1889 – 1976)

เราอาจจะเคยได้ยินว่าไฮเดกเกอร์เคยมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) และอลิซาเบธ บลอชมันน์ (Elisabeth Blochmann) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขาทั้งคู่ แต่ไฮเดกเกอร์ก็แต่งงานมีภรรยาเป็นตัวเป็นตนตั้งแต่ปี 1917 แล้ว แถมยังมีลูกอีกตั้งสองคน และเมื่อนาซีเรืองอำนาจ อาเรนดท์กับบลอชมันน์ก็จำต้องลี้ภัยเพราะเชื้อสายยิวของพวกเธอ ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงต้องจบลงไป

ตัวไฮเดกเกอร์เองนั้นมีลูกชายสองคน คือ ยอร์ก ไฮเดกเกอร์ (Jörg Heidegger เกิด 1919) และเฮอร์มานน์ ไฮเดกเกอร์ (Hermann Heidegger เกิด 1920 ปัจจุบันยังไม่เสียชีวิต) โดยเฮอร์มานน์นั้นไม่ได้เป็นทายาททางสายเลือดของมาร์ติน แต่ก็ถูกเลี้ยงมาเหมือนกับว่าเป็นลูกแท้ๆ ของเขา

(จากซ้าย) เอลฟรีด ภรรยา, ยอร์ก, เฮอร์มันน์, และมาร์ติน ไฮเดกเกอร์

สำหรับยอร์กนั้นไม่ได้มีชื่อเสียงทางปรัชญามากเท่าไหร่ เพราะเขาเลือกเดินเส้นทางที่ไม่เกี่ยวกับปรัชญา นั่นคือเข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ และทำอาชีพเป็นครูในโรงเรียนอาชีวะ แต่ลูกสาวของเขา เกอร์ทรูด ไฮเดกเกอร์ (ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของมาร์ติน) กลับได้รับมรดกอันล้ำค่ามาจากย่าของเธอ นั่นก็คือกล่องไม้ที่เก็บรวมรวมจดหมายมากมายที่มาร์ตินส่งให้ภรรยาของเขาเป็นเวลาหลายปี มันจึงเป็นหลักฐานสำคัญมากในการศึกษาชีวิตของไฮเดกเกอร์เพิ่มเติม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยาของทั้งคู่ ซึ่งเราจะได้ทราบตรงนี้เองว่าไฮเดกเกอร์นอกใจภรรยาหลายต่อหลายครั้ง เพราะว่าเขาค่อนข้างเจ้าชู้ แต่ด้วยความรักจึงทำให้ภรรยาของเขายอมทนและไม่ยอมจากไฮเดกเกอร์ไปไหนเสียที ถ้าใครอยากรู้เรื่องราวในจดหมายเพิ่มเติมก็สามารถไปตามอ่านหนังสือ Letters to his Wife: 1915 – 1970 ที่เกอร์ทรูดเป็นคนรวบรวมแก้ไข และนำมาพิมพ์รวมเล่มเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก

                                                                                                     เฮอร์มานน์ ไฮเดกเกอร์

สำหรับเฮอร์มานน์ผู้ไม่ได้เป็นลูกที่แท้จริงของไฮเดกเกอร์ ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ เพราะเขาเป็นคนที่จัดการดูแลมรดกทั้งหมดของไฮเดกเกอร์ โดยเฉพาะงานเขียนต่างๆ และยังเคยเป็นประธานของสมาคมมาร์ตินไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger Society) อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีความทรงจำสมัยยังเด็กในตอนที่พวกเขาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ และลูกชายทั้งสอง และความทรงจำในช่วงที่พ่อของเขาตัดสินใจเข้าร่วมพรรคนาซีเยอรมัน รวมถึงตอนที่แม่ของเขาเขียนจดหมายแสดงความเสียใจส่งไปให้ภรรยาของเอ็ดมุนด์ ฮุสเซิร์ล  (Edmund Husserl) ผู้เป็นเพื่อนสนิทของไฮเดกเกอร์ ซึ่งถูกขับไล่ออกจากมหาวิทยาลัยไฟร์บวร์กและต้องลี้ภัยออกจากเยอรมนีในช่วงนาซีเรืองอำนาจ เนื่องจากเขามีเชื้อสาวยิว แต่เฮอร์มานน์ก็ยืนยันว่าทั้งสองครอบครัวยังคงติดต่อกันแม้จะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างก็ตาม

จอร์จ บาทาย (Georges Bataille  1897 – 1962) และ ฌาคส์ ลากอง (Jacques  Lacan 1901 – 1981)

ต้องเกริ่นก่อนนิดหนึ่งว่าทำไมสองคนนี้ถึงมาอยู่ข้อเดียวกัน เพราะบาทายกับลากองนั้นเป็นมิตรคนสนิทในขบวนการปารีสเซอเรียลลิสม์ แรกเริ่มบาทายแต่งงานกับนักแสดงสาวชาวโรมาเนีย ซิลเวีย (Sylvia Bataille) ในปี 1928 และมีลูกสาวหนึ่งคนคือ ลอเรนซ์ บาทาย (Laurence Bataille 1930 – 1986) จากนั้นทั้งคู่ก็แยกทางกันเมื่อลอเรนซ์มีอายุได้เพียง 4 ปี ผ่านไปไม่นานซิลเวียก็ไปพบรักกับลากองและมีลูกสาวกับเขาอีกคนชื่อว่า จูดิธ (Judith Miller  1941 – 2017) โดยขณะที่ย้ายไปอยู่กับลากองนั้น ซิลเวียก็ได้พาลูกติดอย่างลอเรนซ์ไปด้วย จึงกล่าวได้ว่าลากองเป็นพ่อเลี้ยงของลอเรนซ์แต่ก็เลี้ยงเธอเหมือนลูกแท้ๆ

เผื่อใครยังสับสนอยู่ กล่าวง่ายๆ คือซิลเวียมีลูกกับทั้งบาทาย และลากอง แต่เธอพาลูกติดจากสามีเก่าไปอยู่กับสามีใหม่ด้วย จึงทำให้นับได้ว่าลากองมีลูกสาวสองคนคือลูกติดจากซิลเวียกับลูกแท้ๆ ของตนเอง และเท่ากับว่าลอเรนซ์กับจูดิธนั้นเป็นพี่น้องต่างพ่อกันด้วย ที่น่าสนใจคือลูกสาวทั้งสองคนโตขึ้นมาเป็นนักปรัชญาสายจิตวิเคราะห์กันทั้งคู่

                                                                                                                  ลอเรนซ์ บาทาย

ลอเรนซ์เติบโตมากับลากองผู้เชี่ยวชาญจิตวิเคราะห์ เธอจึงเรียนการแพทย์และฝึกฝนการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาตามรอยพ่อเลี้ยง โดยลากองให้ฉายาเธอว่า ‘แอนทิโกเน่ผู้ภักดีของฉัน’ (Antigone เป็นตัวละครในตำนานกรีกโบราณ ซึ่งเป็นลูกสาวของโอดิปุส ผู้ถูกฝังทั้งเป็นเพราะความภักดีต่อกฎของสวรรค์) นอกจากนี้เธอยังมีความสนใจด้านการแสดงด้วย ส่วนทางการเมืองนั้นลอเรนซ์เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ในขณะนั้นเป็นหัวหอกในการเรียกร้องการปลดปล่อยแอลจีเรีย ภายหลังจากที่ลากองเสียชีวิต ลอเรนซ์ก็มีบทบาทในการเป็นผู้ดูแลจัดการวารสาร Ornicar? ซึ่งเป็นวารสารที่เผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับเรื่องจิตวิเคราะห์ตั้งแต่ฟรอยด์มาจนถึงลากอง โดยมีงานเขียนของเธอบางชิ้นที่เผยแพร่ผ่านวารสารฉบับนี้ด้วย ลอเรนซ์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับในวัย 56 ปี ทิ้งผลงานบางส่วนในกับแวดวงจิตวิเคราะห์สืบต่อไป

                                                                                                       จูดิธ มิลเลอร์ (ลากอง)

ส่วนจูดิธนั้นฉายแววนักจิตวิเคราะห์ตั้งแต่เธอยังเป็นวัยรุ่น เธอไม่ได้ฝึกฝนมาด้านจิตวิเคราะห์โดยตรงเหมือนพี่สาว แต่เธอก็มีความสนใจจิตสิเคราะห์อย่างมาก และเลือกเรียนมหาวิทยาลัยโดยทำคะแนนวิชาปรัชญาได้ยอดเยี่ยม จากนั้นเธอก็ทำงานเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่แวงแซนน์ (Vincennes) แต่ด้วยความคิดทางการเมืองที่เธอให้สัมภาษณ์ว่าตนเองเป็นผู้สนับสนุนลัทธิเหมา (Moaist) อย่างเปิดเผย ทำให้เธอถูกเชิญออกจากงาน และลดขั้นให้ไปสอนโรงเรียนมัธยมแทน นอกจากบทบาทครูแล้ว จูดิธยังเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนวงการจิตวิเคราะห์อย่างเต็มที่ สามีของเธอคือ ฌาคส์-อแลง มิลเลอร์ (Jacques-Alain Miller) ก็เป็นนักจิตวิเคราะห์สำนักลากองเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งวารสาร Ornicar? ด้วย ส่วนจูดิธนั้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต เธอก็ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฟรอยด์ (Freudian Field Foundation) และเป็นที่ยอมรับจากนักจิตวิเคราะห์คนอื่นๆ ว่าเธอมีคุณูประการต่อสาขาวิชานี้อย่างมหาศาล

 

เอกสารอ้างอิง 

https://www.thefamouspeople.com/profiles/bertrand-russell-135.php

https://en.wikipedia.org/wiki/Earl_Russell

http://www.information-philosophie.de/?a=1&t=875&n=2&y=1&c=38

https://warrenkward.com/2015/06/07/my-interview-with-heideggers-son/

https://antaios.de/autoren/hermann-heidegger/

https://www.psychoanalytikerinnen.de/france_biographies.html

https://nosubject.com/Ornicar%3F

 

Tags: , , , ,