หลังจบทริปบนถนนสายมหาสมุทร เรามาหยุดพักกันที่เมืองจีลอง (Geelong) เมืองขนาดกำลังน่ารักไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมลเบิร์น (Melbourne) เมืองหลวงแห่งรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เพื่อที่วันพรุ่งนี้ เราจะได้ใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับสารพัดสัตว์บนเกาะฟิลลิป (Phillip Island) เกาะที่หน้าตาละม้ายคล้ายหัวปลาโลมา ขนาดเล็กกว่าเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี อยู่พอประมาณ เกาะแห่งนี้นอกจากโด่งดังเรื่องสารพัดสัตว์ตามธรรมชาติแล้ว ยังเป็นที่จัดแข่งกรังด์ปรีซ์ของออสเตรเลีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2471 จนถึงปัจจุบัน

เราตื่นเช้ารับวันใหม่ไปรับลมทะเลที่ท่าเรือควีนคลิฟฟ์ (Queenscliff Habor) จิบกาแฟเบาๆ แกล้มครัวซองต์พอรองท้อง ก่อนจะขึ้นไปนั่งชมวิวบนดาดฟ้าเรือข้ามฟากพลางหวังจะได้เห็นโลมามาเล่นล้อกับคลื่นเรือ

น่าเสียดายที่วันนี้โลมาไม่ได้มาอวดโฉม แต่อย่างน้อยเราก็ได้รับวิตามินดีไปจนเต็มอิ่มจากแสงแดดสะอาดที่ตัดกับฟ้าสีคราม เรือข้ามฟากพาเรามายังโซเรนโต (Sorrento) เมืองท่าซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการกินอาหารเช้าผสมอาหารกลางวัน หรือที่ชาวออสซี่เรียกว่าบรันช์ (Brunch) โดยร้านแรกที่เราเข้าไปชิมไม่ใช่อาหารคาว แต่เป็นของหวานอย่างวานิลลาสไลซ์ (Vanilla Slice) ของร้าน Just Fine Food ของหวานจานรางวัลที่ใครๆ ก็ต้องแวะมากิน

วานิลลาสไลซ์ (Vanilla Slice) ของร้าน Just Fine Food แป้งพัฟกรอบๆ ประกบกับชั้นครีมคัสตาร์ดหนาหนุ่ม อร่อยจนลืมไม่ลง

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ลองวานิลลาสไลซ์ คัสตาร์ดหนานุ่มหอมทั้งกลิ่นไข่แดงและวานิลลาประกบด้วยแป้งพัฟบางกรอบ ป้ายแยมผลไม้นิดหน่อยพอให้เป็นรสเปรี้ยวตัดแก้เลี่ยน ตบด้วยน้ำตาลไอซ์ซิ่งให้รสชาติกลมกล่อม บอกได้คำเดียวว่าอร่อยแบบคุ้มค่าตั๋วเครื่องบิน

หลังจากอิ่มหนำกับบรันช์ที่โซเรนโต ก็ได้เวลาขับรถอ้อมอ่าวอีกราว 2 ชั่วโมงเพื่อไปยังเกาะฟิลลิป โดยโปรแกรมเที่ยววันนี้ประกอบด้วยสัตว์ตัวโปรดของผม 3 ชนิดคือ หมีโคอาลา แมวน้ำ และเพนกวิน

แวะดูหมีขี้เกียจที่ศูนย์อนุรักษ์โคอาลา (Koala Conservation Centre)

จุดหมายแรกที่เราแวะพักคือศูนย์อนุรักษ์โคอาลา (Koala Conservation Centre) เจ้าหมีสีเทาที่กินใบยูคาลิปตัสเป็นอาหารหลัก คนไทยอาจคุ้นตากับเจ้าหมีตัวนี้บนซองขนมกรุบกรอบไส้ช็อกโกแล็ต ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้ชมโคอาลาตัวเป็นๆ ซึ่งอาศัยอยู่ในป่ายูคาลิปตัส บนทางเดินระดับยอดไม้ที่ทุกคนจะได้ชมเจ้าหมีขนปุยอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียนขอเตือนว่า ประโยคด้านบนผมลอกมาจากเว็บไซต์และมีไว้เพื่อการโฆษณาเท่านั้นนะครับ เพราะเจ้าโคอาลาใช้เวลาวันละ 20 ชั่วโมงกับการนอน นักท่องเที่ยวที่คาดหวังว่าจะได้เห็นเจ้าหมีอินแอ็คชันมักจะต้องผิดหวัง เพราะสิ่งที่เจอมักเป็นก้อนกลมๆ สีเทานอนนิ่งไม่ไหวติง ณ ยอดไม้ไกลสุดตา จากที่ตั้งใจจะมาดูโคอาลา จึงกลายเป็นเกมส์จับผิดภาพ โดยแข่งกันหาเจ้าหมีสีเทาให้ได้ตามจำนวนที่ป้ายด้านหน้าระบุไว้

โคอาลานอนหลับปุ๋ยบนยอดไม้ หาเจอกันไหมครับ?

นอกจากโซนที่สงวนไว้สำหรับโคอาลาแล้ว ที่ศูนย์อนุรักษ์ยังมีพื้นที่เปิดให้สัตว์ป่ามาพักพิง ผู้เขียนโชคดีที่ภรรยาสายตาดีชี้ให้เห็นเจ้าวัลลาบีที่หน้าตาคล้ายจิงโจ้จิ๋วในพุ่มไม้ รวมถึงสารพัดนกแก้วหลากสีที่ผลัดมาส่งเสียงเจื้อยแจ้วไม่ขาดสาย ในขณะที่กำลังเดินกลับ เสียงช้งเช้งจากนักท่องเที่ยวนานาชาติก็พาให้เราวนกลับไปยังพื้นที่ของโคอาลาอีกครั้ง จึงได้เจอกับเจ้าหมีหน้าตาสดใสในระดับมือเอื้อมถึง กำลังฟาดใบยูคาลิปตัวอย่างตะกรุมตะกราม และหมู่นักท่องเที่ยวที่พยายามหามุมเซลฟี

หมีโคอาลา (น่าจะ) ตัวเดียวที่ตื่นในศูนย์ฯ แห่งนี้ ที่ตั้งหน้าตั้งตากินใบยูคาลิปตัสอย่างตะกรุมตะกราม

ยืนดูเจ้าหมีด้านหน้ากินใบยูคาลิปตัสอย่างมีความสุขก็อดอิจฉาไม่ได้ อะไรจะชีวิตดี๊ดีตื่นมาก็กิน กินเสร็จก็นอน แถมศัตรูตามธรรมชาติก็ยังไม่ค่อยมี จะมีก็แต่มนุษย์นี่แหละครั้งที่ทำลายถิ่นอาศัยแถมยังล่ามาเป็นอาหารหรือเครื่องนุ่งห่มจนประชากรลดฮวบและอยู่ในภาวะเปราะบาง

เราโบกมือลาเจ้าหมีโคอาลา (ที่ดูไม่ค่อยสนใจเราสักเท่าไร) ไปต่อยังท่าเรือเพื่อเตรียมออกทะเล

มองแมวน้ำลั๊ลล้าที่ปลายเกาะ

เราพักจอดรถที่ชายฝั่งใกล้ศูนย์นักท่องเที่ยวเพื่อตีตั๋วเดินทางไปชมฝูงแมวน้ำ ระหว่างรอเวลา เราก็ถือโอกาสเดินหาอาหารใส่ท้อง สองข้างทางค่อนข้างคึกคัก ถนนปิดไม่ให้รถยนต์สัญจรเพราะมีทีมงานกำลังตระเตรียมเวทีเพื่อเฉลิมฉลองผลการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ เราแวะกินขนมปังเวียดนามในราคาไม่ค่อยสบายกระเป๋าเท่าไร (และไม่อร่อย) เรียกได้ว่ากินกันตายเพราะหลังจากทัวร์เกาะแมวน้ำเสร็จ เรามีนัดต่อกับเพนกวินแบบแทบไม่ได้หยุดพักหายใจ

ท่าเรือวันนี้เงียบสงัด มีเพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนหลักหน่วยที่ขึ้นเรือไปพร้อมกับเรา ผมเห็นเรือลำใหญ่แบบบรรจุ 30 คนได้สบายๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีแรงเร่งจนกลุ่มนักท่องเที่ยวร้องกรี๊ดกร๊าด บางคนถึงขนาดหันไปมองตามเขียวปั๊ดให้กับคนขับวัยหลางคนที่ยิ้มร่า ส่วนคนไทยสองคนที่อยู่บนเรือก็ลั๊ลลาท้าคลื่นเหมือนอยู่ในสวนสนุก

ท้องฟ้าใส ทะเลสวย จนผมเองไม่ค่อยได้ฟังบรรยายถึงความตระการของชายฝั่งเกาะฟิลลิป แต่ก็ต้องหูผึ่งเมื่อไกด์ทัวร์เล่าถึงประวัติของเกาะแห่งนี้ที่เหล่าสรรพสัตว์เคยถูกล่าและยึดพื้นที่อยู่อาศัยจนแทบจะไม่เหลือ ก่อนที่กลุ่มนักอนุรักษ์และชุมชนจะขอคืนพื้นที่ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้อย่างสงบสุข

เหล่าแมวน้ำที่ปลายเกาะแห่งนี้ก็เช่นกัน ที่เคยถูกล่าและไล่จนเกือบไม่รอดกระทั่งรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาจัดระเบียบและสนับสนุนกองทุนเพื่อการอนุรักษ์ รวมทั้งกระแสเงินจากนักท่องเที่ยวที่คอยจุนเจือให้เหล่าพิทักษ์ป่ายังคงทำหน้าที่ต่อไปได้

นั่งไปเพลินๆ เกือบค่อนชั่วโมงได้ เราก็เจอหินก้อนใหญ่ที่ดำทะมึนที่มาพร้อมกลิ่นฉุนจนต้องเอามือมาปิดจมูก ก่อนที่เรือจะแล่นไปหลบที่ต้นลม พลางจอดนิ่งๆ ให้เหล่านักท่องเที่ยวผู้ตื่นเต้นได้เดินหามุมดูแมวน้ำเป็นพันตัว ไม่ใช่สิ อาจจะเป็นหมื่นตัวเลยด้วยซ้ำ นี่คือกลุ่มหินแมวน้ำ (Seal Rocks) บ้านของแมวน้ำฝูงใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย

เหล่าแมวน้ำหลากไซส์หลายสีต่างอิริยาบถบนกลุ่มหินแมวน้ำ (Seal Rocks)

แม้จะได้เห็นอยู่ไกลๆ แต่ก็ได้มองเจ้าแมวน้ำหลากไซส์หลายสีต่างอิริยาบถ บ้างกระโดดเล่นน้ำล้อคลื่น บ้างหยอกล้อริมชายฝั่ง แต่ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นการนอนผึ่งพุงอาบแดดแบบสบายใจเฉิบ บอกได้คำเดียวว่าเพลินสุดๆ จนไม่อยากละสายตา เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่แมวน้ำ แมวน้ำ และแมวน้ำ!

แม้ว่าจะแอบเสียดายเล็กๆ ที่แมวน้ำวันนี้ไม่มาแวะทักทายที่ข้างกราบเรือ ที่พอจะเห็นก็เพียงเงาครีบ เงาหางไหวๆ เหนือผิวน้ำในระยะประมาณ 5 เมตร แค่นี้ก็ถือว่าสุดจะฟินแล้วสำหรับคนรักธรรมชาติ เพราะคงแทบไม่มีโอกาสเห็นแมวน้ำแบบใกล้ชิดขนาดนี้ที่ไหน เว้นแต่ว่าในสวนสัตว์

แมวน้ำตัวน้อยลงมาดำผุดดำว่ายเล่นน้ำไม่ใกล้ไม่ไกลจากเรือเท่าไรนัก แต่ท่าทางจะไม่ชินกับมนุษย์ จึงไม่เข้ามาใกล้ๆ

หลังจากอิ่มกับความน่ารักของแมวน้ำ ก็ได้เวลาหันเรือกลับเข้าฝั่ง ก่อนจะถึงท่าเรือ คนขับสุดแสบยังทิ้งท้ายวาดวงกลมบนผืนน้ำรอบแล้วรอบเล่า เล่นเอาหมู่คุณลุงคุณป้าชาวจีนทำท่าจะร้องไห้จนเราต้องหันไปถามไกด์ว่าทำแบบนี้กับทุกคณะหรือเปล่า คำตอบที่ได้กลับมาคือเสียงหัวเราะ “เรามักจะได้คำติบ่อยๆ ว่าทัวร์ไม่ค่อยตื่นเต้น ก็เลยต้องแถมความหวาดเสียวให้สักหน่อยก่อนขึ้นฝั่ง”

อืม… แบบนี้ก็ได้เหรอ!?

แอบดูเพนกวินเดินกลับบ้านหลังตะวันตกดิน

หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินหาหมีโคอาลาในป่ายูคาลิปตัส และฟันฝ่าคลื่นลมชายฝั่งมหาสมุทรเพื่อไปหาฝูงแมวน้ำ กิจกรรมสุดท้ายก่อนกลับที่พักเราก็เปลี่ยนมาสู่บทผู้ชมที่เฝ้ารอนักแสดงขึ้นเวทีที่ศูนย์น็อบบีส์ (Nobbies Center) ศูนย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

นักแสดงนำในค่ำคืนนี้ก็คือ เพนกวินน้อยสีฟ้า (Little Blue Penguin) เพนกวินขนาดเล็กที่สุดในหมู่เพนกวินด้วยกัน โดยมีความสูงประมาณหนึ่งไม้บรรทัด น้ำหนักราว 1.5 กิโลกรัมเรียกว่าขนาดกำลังน่ารักน่าอุ้มกลับบ้าน แต่อย่าทำเป็นเล่นกับสัตว์ป่านะครับ เพราะเหล่าเพนกวินตัวจิ๋วเหล่านี้มีจะงอยที่แสนจะคม ถ้าเผลอไผลไปอยู่ใกล้เกินไป อาจได้แผลกลับบ้านเป็นของแถม

เหล่าเพนกวินตัวจิ๋วอาศัยอยู่ที่ชายหาดซัมเมอร์แลนด์ (Summerland Beach) ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักเกาะฟิลลิปเสียด้วยซ้ำ โดยทุกๆ วัน หลังจากตะลุยหาปลาจนเหนื่อย เพนกวินก็จะเดินทางกลับบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน ในช่วงฤดูร้อน ฝูงแรกอาจเดินทางถึงชายหาดประมาณทุ่มเศษ และอาจไปจบลงเกือบตีสามของวันใหม่

พื้นที่ของการเฝ้าชมก็มีหลายรูปแบบให้เลือกตามอัธยาศัยและงบประมาณในกระเป๋า แบบชั้นประหยัดก็ต้องไปนั่งตากน้ำค้างมองเห็นเพนกวินอยู่ไกลๆ แพงขึ้นมาสักหน่อยก็จะได้ไปมุดอยู่ชั้นใต้ดิน ดูเพนกวินตั้งแต่หัวจรดหางได้เต็มชัดถนัดตา หรือถ้าอยากใกล้ชิดก็มีเอ็กคลูซีฟทริปรับจำกัด 10 คนนั่งเฝ้าอยู่ริมชายหาดของกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ

เหล่านักท่องเที่ยวเฝ้าชมฝูงเพนกวินเดินกลับบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน เนื่องจากตาของเพนกวินนั้นไวต่อแสงมาก เจ้าหน้าที่จึงห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปหรือบันทึกวิดีโอทุกชนิด ภาพจาก www.grayline.com.au

น่าเสียดายที่ผมจองทริปเอ็กคลูซีฟไม่ทัน เลยได้มานั่งชิลๆ อยู่ใต้ดิน รอลุ้นว่าเมื่อไหร่เพนกวินจะโผล่มาจากทะเล

รอแล้วรอเล่า เฝ้ามองกล้องวงจรปิดจากหาดทรายจับแดดก่อนตะวันตกดิน ไปจนหลังฟ้ามืดที่กล้องเปลี่ยนโหมดเป็นสีขาวดำ แต่เจ้าเพนกวินตัวน้อยก็ยังคงเดินทางไม่ถึงบ้าน

เด็กตัวน้อยเริ่มร้องไห้กระจองงอแงหลังจากที่รอแล้วรอเล่า เจ้าเพนกวินก็ยังไม่โผล่มาซักที กระทั่งเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นจุดเล็กๆ ที่ถูกคลื่นซัดขึ้นสู่ชายหาด ก่อนจะทะยอยเดินเตาะแตะขึ้นมาผ่านทักทายที่หน้ากล้อง

หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ได้เห็นเพนกวินในระดับสายตา เดินบ้าง วิ่งบ้าง ทะเลาะกันบ้างตามประสา เจ้าหน้าที่อุทยานเล่าให้เราฟังว่า ตลอดชายหาดแห่งนี้ยังมีอีกหลายเส้นทางที่เพนกวินใช้เดินกลับบ้าน แต่เส้นทางสายนี้คือเส้นทางที่เพนกวินใช้มากที่สุดเพื่อกลับสู่รังซึ่งซ่อนตัวอยู่ในพงหญ้าสูงท่วมเข่า

ขบวนเพนกวินเรียกเสียงฮือฮาได้ร่วมชั่วโมง หลายครอบครัวก็เริ่มจูงมือลูกหลานเดินทางกลับ ท่ามกลางฝูงเพนกวินที่ยังคงทะยอยขึ้นจากน้ำกันอย่างไม่หยุดหย่อน ผมเฝ้ามองเหล่าเพนกวินแทบไม่คลาดสายตา กว่าจะรู้ตัวอีกทีเจ้าหน้าที่ก็ต้องเดินมาสะกิดว่าอีกไม่กี่นาทีศูนย์จะปิดทำการ

ด้านนอก เราเดินเล่นบนสะพานท่ามกลางเสียงเพนกวินร้องเจี๊ยวจ๊าว นักท่องเที่ยวหลายคนอาจไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ ฝูงเพนกวินถูกคุกคามจนเกือบไม่เหลือเนื่องจากมีการก่อสร้างหมู่บ้านที่ชายหาดซัมเมอร์แลนด์ จนกระทั่งรัฐบาลตัดสินใจทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อขอคืนพื้นที่ภาคบังคับ โดยให้เวลาชุมชนย้ายที่อยู่อาศัยภายในระยะเวลา 15 ปี ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูสภาพพื้นที่และส่งมอบคืนให้กับเจ้าบ้านหลังเก่าเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นชายหาดบริเวณดังกล่าวก็ได้กลายเป็นของเพนกวินอย่างเต็มตัว โดยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

เท่านั้นยังไม่พอ ปัจจุบันที่ศูนย์แห่งนี้ยังมีโครงการก่อสร้างศูนย์แห่งใหม่ในระยะไม่ใกล้ไม่ไกลเพื่อ ‘คืนพื้นที่’ ให้กับเพนกวินบางส่วนซึ่งปัจจุบันเริ่มอยู่อาศัยกันอย่างแออัด แต่ก็นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะสัตว์ป่าซึ่งอยู่อาศัยไม่ไกลจากเมืองคือแม่เหล็กที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนมายังเกาะฟิลลิปอย่างไม่ขาดสาย

หากพูดถึงปลายทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้สัมผัสสารพัดสัตว์แปลกตาตามธรรมชาติ เกาะฟิลลิปก็เป็นหนึ่งในใจได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะเดินทางง่ายแสนง่ายจากเมืองใหญ่ ยังได้มาสัมผัสธรรมชาติแบบถึงเนื้อถึงหนัง ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้ที่ไหน

แต่ขอเตือนไว้สักหน่อยว่า ถ้าวางแผนจะมาแล้วก็อย่าลืมจองตั๋วนะจ้ะ โดยเฉพาะพาเหรดเพนกวินที่ตั๋วเต็มเร็วมากและมีจำนวนค่อนข้างจำกัด เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน!

*ขอบคุณผู้จัดการทริป ธิษณา กูลโฆษะ*

Fact Box

Tags: , ,