ใต้ฝุ่น คือนิยายขนาดยาวที่ดำเนินเรื่องย้อนเวลากลับไปท่ามกลางความคุกรุ่นของไฟสงครามในอัฟกานิสถาน กับความรักที่งอกงามภายใต้ฝุ่นควันของสงคราม และเรื่องราวเหล่านี้ได้ชักพาให้เราได้ทำความรู้จักกับ ‘โกลาบ จัน’ เจ้าของรางวัล ARC Award ที่เพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และกำลังจะมีการมอบรางวัลในเร็วๆ นี้

‘โกลาบ จัน’ เป็นนามปากกาของ เพทาย จิรคงพิพัฒน์ เจ้าของนามปากกา ‘ภาพิมล’ และ ‘พิมลภา’ ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักอ่านออนไลน์ ซึ่งมีนิยายตีพิมพ์ออกมาแล้ว 17 เล่ม ส่วนอีกหนึ่งเล่ม SMA ไม่มีคำว่าเสียใจแม้ในหยดน้ำตา เป็นบันทึกของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เธอเขียนขึ้นจากชีวิตของเธอเอง

เพทาย หรือ ‘แพรว’ นั่งอยู่บนรถเข็นคันพอดีตัว ในวันที่เราพบกับเธอที่บ้าน ในห้องนอนซึ่งเป็นที่ทำงาน มุมหนึ่งคือชั้นหนังสือนิยายที่ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของเธอ อีกส่วนเป็นผลงานของนักเขียนที่เธอชื่นชอบ หนังสือเหล่านั้นเป็นทั้งเพื่อนและครู ที่สอนสั่ง ขัดเกลา และเป็นแบบอย่างในการเขียนหนังสือ

18 เล่ม อาจไม่ได้ดูมากมายหากเทียบกับการทำงานของนักเขียนคนอื่นๆ ที่ยึดการเขียนเป็นอาชีพ แต่การเขียนหนังสือด้วยการนอนตะแคงอยู่บนเตียง พร้อมผู้ช่วยอย่างอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ และกดข้อนิ้วชี้ลงไปบนแป้นพิมพ์ในโทรศัพท์มือถือทีละตัว ทีละตัว บันทึกมันลงไปบนแอปพลิเคชั่นบนมือถือด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย ก่อนส่งเข้าคอมพิวเตอร์ผ่านอีเมล กระทั่งกลายเป็นนิยายเล่มหนาที่มีกลวิธีในการเล่าเรื่องอย่างฉลาด กับภาษาที่ลื่นละมุน แค่นึกภาพก็แทบจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้

ชีวิตของแพรวไม่ง่าย แต่เธอก็ไม่ได้ปริปากว่ามันยาก เธอป่วยด้วยโรคเซลล์ประสาทไขสันหลังเสื่อมจากพันธุกรรม (Spinal Muscular Atrophy-SMA) ตั้งแต่ยังเด็ก และยีนที่ก่อโรคเป็นยีนที่ก่อให้เกิด SMA ชนิดพิเศษ เรียกว่า Distal SMA ซึ่งเป็นชนิดที่หายาก จากที่เคยเดินได้ในวัยเด็ก เธอต้องเผชิญกับการถดถอยของกล้ามเนื้อและร่างกายครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งถึงวันหนึ่งที่เดินไม่ได้ ปอดทำงานได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากคนปกติ  สิ่งเดียวที่เธอทำได้ในตอนนี้ คือใช้ข้อนิ้วชี้ข้างขวาที่ยังใช้งานได้ สร้างงานหล่อเลี้ยงตนเองขึ้นมา

‘วันที่ไม่สามารถพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้ ฉันถึงกับร้องไห้ ทุกอย่างกำลังจะเริ่มต้น สำนักพิมพ์รับต้นฉบับของฉัน แต่ร่างกายกลับสวนทาง’ (ตอนหนึ่งจากหนังสือ SMA ไม่มีคำว่าเสียใจแม้ในหยดน้ำตา)

เมื่อผ่านมรสุมในห้วงนั้นมาได้ วันนี้แพรวไม่มีคำว่าเสียใจเช่นเดียวกับชื่อหนังสือ ร่างกายกับจินตนาการของเธอทำงานสอดคล้องกันอย่างลื่นไหล ท่วงทำนองของชีวิตปราศจากอารมณ์ดราม่าหม่นโศก หากคือความแจ่มใสที่สะท้อนออกมาให้เราเห็นพลังแห่งการสร้างสรรค์และพลังบวกที่มีอยู่ในตัวของนักเขียนผู้นี้

แพรวมาเริ่มต้นอยากเขียนหนังสือตอนไหน

ประมาณปี 2551 ตอนอายุ 21 ช่วงนั้นที่บ้านเริ่มไม่มีเงิน เพราะว่าน้องกำลังเรียนมหาวิทยาลัย ก็มีค่าใช้จ่ายเยอะ และที่ผ่านมาเขาก็หมดค่าใช้จ่ายไปกับการรักษาเราด้วย ซึ่งเงินเก็บในอดีตก็ต้องมาซื้อเครื่องช่วยหายใจ แพรวเลยเริ่มคิดว่าอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เลยเริ่มเขียน แต่ตอนที่เขียนยังใช้คอมพิวเตอร์ มือยังใช้การได้อยู่

แพรวป่วยตั้งแต่เด็กเลยค่ะ เท้าเริ่มบิดตอนนั้นหนึ่งขวบหรือสองขวบ แพรวไม่รู้เรื่อง จำไม่ได้เลย พ่อแม่เล่าว่าต้องผ่าตัด ตอนนั้นเรายังเดินได้ ทำอะไรได้ปกติ ตอน ป.4 เราหลังคดมากขึ้นจนหมอบอกให้ผ่า แล้วหลังจากนั้นแพรวก็เดินไม่ได้ แต่ก็กายภาพจนเกือบจะคิดว่าเดินได้แล้ว สามารถเดินด้วยวอล์กเกอร์ได้โดยที่มีคนจับวอล์กเกอร์ให้  เพราะแพรวยกไม่ไหว ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร คิดว่าแค่หลังคด แต่ว่าจริงๆ แล้วมันคือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะว่าแขนขาแพรวก็ไม่มีแรง จน ป.5 แพรวมีปัญหาคือมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ก็ทำให้น็อกไปเลย ต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา เลยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตั้งแต่ ป.5 แต่ก็ยังไปโรงเรียนอยู่ จนจบ ม.3 ก็ไม่ได้ไปแล้ว

ก่อนหน้าที่จะเขียนนิยาย แพรวใช้เวลาในแต่ละวันไปกับอะไร

แพรวจะต้องไปที่ทำงานกับแม่ เป็นบริษัทของป้าที่แม่ทำงานอยู่ด้วย ก็เลยไปอยู่ที่นั่นตอนกลางวันได้ ระหว่างที่รอแม่ทำงาน เราก็เล่นเกมบอย อ่านหนังสือ วาดรูป วาดการ์ตูนได้ แต่ก็จะช้าหน่อย พอคิดว่าจะต้องช่วยที่บ้านหาเงินแล้ว ก็เริ่มเขียนนิยาย โดยกลับมาเขียนที่บ้าน วันละครึ่งหน้าบ้าง เขียนไปเรื่อยๆ จนพอที่จะส่งได้ก็เกือบปี

ความจริงแพรวไม่คิดว่าตัวเองมีทักษะการเขียนนิยายแบบนี้ อาศัยอ่านหนังสือ แพรวชอบอ่านนิยายแล้วสังเกตว่าเขาเล่าเรื่องกันประมาณไหน ที่บ้านไม่มีใครชอบอ่านหนังสือเท่าไร ถ้าใกล้เคียงสุดก็น่าจะเป็นพ่อ แต่หนังสือที่พ่ออ่านก็จะเป็นหนังสือผู้ชาย เรื่องรถ สารคดี เรื่องผี นิตยสารแปลกๆ (หัวเราะ) ไม่มีใครอ่านนิยายเลย แต่แพรวได้อ่านเพราะว่าป้าแพรวทำงานที่จุฬาฯ เขายืมจากห้องสมุดจุฬาฯ มาให้

การได้เห็นชีวิตของตัวละครบางทีมันขัดเกลาเราได้เหมือนกัน และการเขียนก็ทำให้เรารู้จักด้านต่างๆ ของตัวเอง

แพรวเชื่อตลอดว่าหนังสือหรือแม้แต่นิยาย สามารถเปลี่ยนคนหรือเปลี่ยนความคิดได้ เพราะแพรวรู้สึกว่าแพรวเปลี่ยน ในแง่การมองโลกที่กว้างขึ้น ได้มาจากการอ่านหนังสือเลย หนังสือสร้างให้แพรวเป็นแพรวในทุกวันนี้ การได้เห็นชีวิตของตัวละครบางทีมันขัดเกลาเราได้เหมือนกัน และการเขียนก็ทำให้เรารู้จักด้านต่างๆ ของตัวเอง

นิยายเรื่องแรกที่เขียนออกมาตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง พอใจไหม

ก็ไม่ผ่าน (หัวเราะ) ตอนนั้นเขียนเสร็จก็ส่งเรื่องไปทางสำนักพิมพ์ทางอีเมล ส่งไปหลายที่มาก ส่งจนไม่รู้จะไปที่ไหนแล้ว สี่ปีก็ยังไม่ผ่านเลย จนมาผ่านเอาปี 2555  มีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า ถ้ามันไม่ผ่านก็แปลว่ามันยังไม่ดีพอ แต่แพรวคิดว่ามันจะดีกว่านี้ได้อีก เวลาเราอ่านทวนงานตัวเองก็จะรู้ข้อบกพร่อง ระหว่างรอสำนักพิมพ์ตอบรับเราก็เขียนเรื่องที่สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ แล้วก็อัพเรื่องลงพันทิปกับเว็บเด็กดี มีคอมเมนต์เข้ามาบ้าง ทั้งที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา และเป็นกำลังใจ มันก็เหมือนเขียนไปแล้วมีคนอ่านมันก็ไม่เหงาเท่าไร แก้เหงาได้ ได้คุยกัน

สุดท้ายก็เข้าตาสำนักพิมพ์จนได้

จริงๆ มันเป็นเรื่องประหลาดเหมือนกัน ปี 2555 เป็นปีที่แพรวมีหนังสือออกใกล้ๆ กันเลยสี่เรื่องในปีเดียว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแพรวเขียนมาสี่ปี แต่ว่าไม่ได้พิมพ์เลย แพรวไม่รู้ว่ามาได้ยังไง เหมือนมันฟลุก (หัวเราะ) พอที่หนึ่งแจ้งว่าผ่าน อีกที่หนึ่งก็แจ้งมาว่าผ่านอีก ไล่ๆ กันมาสี่สำนักพิมพ์ ปีนั้นทั้งปีมีงานตีพิมพ์สี่เรื่อง อึ้งมาก มันเหมือนเป็นจังหวะเวลาด้วย  แล้วเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่เราป่วย ต้องนอนโรงพยาบาลหนึ่งอาทิตย์ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราใช้คอมพิวเตอร์ทำงานต่อไปไม่ได้อีก

สาเหตุมาจากอะไร

ปีนั้นแพรวเป็นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ กลับออกมาจากโรงพยาบาลก็ไม่มีแรง พูดไม่ได้ ถอดเครื่องช่วยหายใจก็แทบจะไม่ได้ ส่วนมือก็ชาหยิบจับอะไรไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้คิดจะเลิกเขียนนะ ตอนนั้นให้แม่ช่วย โดยใช้วิธีเราพูดแล้วแม่พิมพ์ แต่มันไม่เวิร์ก (หัวเราะ) เหมือนเราอ่านในใจกับอ่านออกเสียงมันไม่เหมือนกัน แล้วบางทีก็ขัดคอกันเอง ทะเลาะกันอีก เหมือนเราใช้คำหนึ่ง แม่ก็บอกว่าทำไมไม่ใช้คำนี้ เขาก็มีความคิดของเขา แต่เวลาเขียนมันต้องใช้ภาษาเราตามอารมณ์เราไงคะ

เหมือนโชคดีกับโชคร้ายมันมาพร้อมกัน

ค่ะ แล้วพอดีว่าตอนนั้นเงินที่ได้มาแพรวซื้อมือถือใหม่ให้แม่ ก็เลยอาศัยมือถือแม่มานอนพิมพ์ ก็พบว่ามันเวิร์ก ตอนนั้นแพรวยังไม่มีมือถือใช้ แพรวเพิ่งมามีมือถือเมื่อไม่ถึงห้าปีมานี้เอง มือถือเรามีไว้เพื่อพิมพ์งานกับเล่นเฟซเท่านั้นเลย แล้วเราก็เริ่มเขียนนิยายเรื่องที่ห้า ด้วยวิธีการพิมพ์ที่นอนแล้วยกแขนไว้บนหน้ากากเครื่องช่วยหายใจ แล้วใช้ข้อนิ้วพิมพ์ เป็นข้อนิ้วชี้ขวาข้อแรก ใช้ข้อเดียวเลย หน้าหนึ่งก็ใช้เวลาประมาณชั่วโมงกว่า แต่แพรวไม่ค่อยสนใจว่าตัวเองจะพิมพ์ช้าหรือพิมพ์เร็ว ประเด็นอยู่ที่คิดออกหรือคิดไม่ออกมากกว่า ถ้าคิดออกก็พิมพ์แบบสู้ตาย ถ้าคิดไม่ออกก็ช้า

ที่แพรวต้องใช้เครื่องช่วยหายใจทุกครั้งที่นอน เพราะว่าการนอนราบมันทำให้กระบังลมเราแฟบลงไปแล้วหายใจยาก ร่างกายก็ยังถดถอยลงเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ป่วยก็จะถดถอยช้า แต่อย่างตอนนี้แพรวจะรู้สึกว่าเหนื่อยง่ายขึ้น เมื่อยคอบ้าง

แพรวจัดเวลาการเขียนของตัวเองไว้อย่างไร

ปกติจะเขียนสิบเอ็ดโมงถึงบ่ายสอง แล้วก็สามโมงไปจนถึงหนึ่งทุ่ม แล้วก็เล่นเกม กินข้าว เม้าธ์มอยไป ช่วงสองทุ่มก็เขียนอีกไปจนถึงสี่ทุ่ม หลังจากนั้นก็ดูหนังฟังเพลงไปเรื่อย แล้วถึงนอน ทุกวันเป็นแบบนี้

เขียนเสร็จบทหนึ่งก็ส่งเข้าเครื่องคอมพ์ กันมือถือเสีย แล้วแพรวก็ไปอีดิตที่หน้าจอ เลื่อนเมาส์เอง ให้แม่ช่วยคลิกอย่างเดียว แพรวเป็นคนเลือกตัวอักษรเอง ไม่ให้แม่อ่าน ไม่ให้มองด้วย แพรวไม่ให้แม่ใส่แว่น (หัวเราะ) อันนี้เป็นกฎที่ทุกคนต้องรู้ กฎของแพรวในการเขียนคือ แม่ห้ามใส่แว่นเวลาช่วย แพรวไม่ให้แม่เห็นว่าแพรวเขียนอะไร เพราะถ้าแม่เห็นปุ๊บแม่จะมีคำแนะนำปั๊บ ต่อให้เราบอกว่าอย่าแนะนำ แม่ก็จะเผลอแนะนำอย่างอัตโนมัติ คือถ้างานไม่เสร็จแพรวจะไม่ชอบให้คนอ่าน ต้องจบเรื่องก่อน แก้คำผิดก่อน แม่จะได้อ่านก็ต่อเมื่อพิมพ์จบเล่ม แต่พอออกมาเป็นเล่ม แม่ก็ไม่อ่านแล้ว (หัวเราะ)  

แต่แพรวพยายามจบในมือถือ เขียนเสร็จก็อ่านทวนก่อน ก่อนส่งไปเครื่องใหญ่ ส่วนข้อมูลที่จะใช้ประกอบการเขียนเราหาจากอินเตอร์เน็ต เวลาไม่มีอะไรทำก็เปิดอะไรดูไปเรื่อยๆ แต่ช่วงที่มีเรื่องตั้งใจจะเขียน ก็ต้องหาข้อมูลอย่างจริงจัง

แพรวมีคอมพิวเตอร์ที่ใช้พิมพ์ด้วยสายตาได้ แต่ทำไมไม่ใช้เครื่องนั้นทำงาน

แพรวไม่ถนัด ถนัดกับมือถือมากกว่า ไอแพดอะไรก็ไม่ถนัด มันใหญ่เกินมือเอื้อมถึง เมื่อก่อนแพรวใช้มือถือจอสี่นิ้วพิมพ์ เดี๋ยวนี้มันใหญ่ขึ้น ห้านิ้ว ห้าจุดห้านิ้ว แพรวเริ่มไม่ถนัด เริ่มจะยากแล้ว ถนัดอันเล็ก อาจจะนิ้วเล็กด้วย รุ่นแพงๆ จอใหญ่ๆ ใช้ไม่ได้เลย แพรวใช้มือถือคุ้มมาก ตอนนี้ใช้ไปสามสี่เครื่องแล้ว

นิยายของแพรวทั้งหมดเป็นนิยายรัก อะไรทำให้สนใจจับกลุ่มคนอ่านกลุ่มนี้

จริงๆ คือไม่ได้คิดว่าจะจับกลุ่มหรืออะไร แต่ว่าแพรวอ่านแต่นิยายแนวนี้มา มันซึมซับ ก็เลยเขียนได้แต่แนวนี้ จะให้แพรวไปเขียนแนวแฟนตาซีก็ไม่ได้เพราะแพรวอ่านไม่มากพอ

คนอ่านนิยายของเราหลายวัย เด็กม.ปลายกับเด็กมหาวิทยาลัยก็มีนะคะ เขาเป็นเด็กแบบยุคเกาหลีนิยม แต่เขาอ่านนิยายแพรวแล้วเขาทวีตในทวิตเตอร์ จนเราได้คุยและสนิทกัน คิดว่าคนอ่านหนังสือแพรวน่าจะเป็นทุกวัย มันอยู่ที่เรื่องที่เราเขียน บางทีทุกวันนี้เขาบอกว่าต้องเขียนนิยายตามความนิยมของตลาด เรื่องไหนขายได้ขายไม่ได้เขาก็จะดูตามทิศทางตลาด แต่แพรวยังมีความเชื่อลึกๆ ว่า ถ้าเราเขียนอะไรด้วยความจริงใจ ถ้าเรื่องของเรามันมีความสมเหตุสมผล มันก็มีคนอ่าน เราเชื่อในงานของเรา จะให้เขียนตามตลาดทุกเรื่องก็ไม่ไหว เราเขียนตามที่เรารู้สึกว่าตัวละครควรจะไปในทิศทางนี้ ตามความสนใจของเราในเวลานั้น ซึ่งแพรวก็ว่ามันเวิร์กระดับหนึ่งนะ

ตอนนี้มีเล่มไหนที่ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซของตัวเอง

‘น้ำค้างเปื้อนสี’ ค่ะ ในความคิดแพรวนะ เหมือนเราผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะ ความผิดหวังในช่วงนั้นด้วย คือเราเขียนนิยายเล่มนี้ขึ้นเมื่อสองสามปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เขียนแล้วเคยส่งประกวดรางวัลหนึ่ง เข้ารอบแรกก็ได้ไปอบรม ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีเลย จนเข้ารอบสุดท้าย แล้วตกรอบ แล้วเรื่องนี้ส่งสำนักพิมพ์ไปก็ไม่ผ่าน แต่ในทางหนึ่งกลายเป็นว่าคนอ่านในอินเทอร์เน็ตกำลังอิน เรียกร้องกันว่าอยากอ่านเล่มนี้ให้จบเร็วๆ เลยตัดสินใจว่าทำเป็นหนังสือทำมือ ปรินต์ออนดีมานด์เอา จนมีพิมพ์ครั้งที่สอง มันทำให้แพรวรักเล่มนี้เหมือนลูก แล้วตัวละครในหนังสือก็เป็นการเล่าถึงเขาตั้งแต่เด็กจนโต เขาเลยเป็นเหมือนเพื่อนเราที่ผ่านอะไรมาด้วยกัน เราสร้างเขามา แล้วเล่มนี้จบแฮปปี้ค่ะ

แสดงว่านิยายของแพรวไม่ได้จบแฮปปี้ไปเสียทุกเล่ม

แพรวไม่เน้น แต่สำนักพิมพ์เน้น (หัวเราะ) แพรวคิดว่าถ้ามันไม่สมควรจบแฮปปี้ก็ไม่จำเป็นต้องแฮปปี้ มีเรื่องหนึ่งแพรวให้พระเอกนางเอกตายทั้งคู่เลย ก็ยังผ่านสำนักพิมพ์เฉย

เล่มใต้ฝุ่นที่ได้รางวัล Arc Award เป็นครั้งแรกที่ใช้นามปากกา ‘โกลาบ จัน’ ใช่ไหม

เล่มนี้กะจะอวตารเต็มที่เลย (หัวเราะ) คนอ่านโกลาบ จัน เขาจะได้ไม่ต้องมาอ่านภาพิมล ‘โกลาบ’ แปลว่า กุหลาบ เป็นภาษาดารี ส่วน ‘จัน’ นี่เป็นคำลงท้ายชื่อเล่นที่เรียกด้วยความรักของภาษาอัฟกัน เหมือนคำว่า dear ก็คือนักเขียนคนนี้ชื่อกุหลาบนั่นแหละ

‘ภาพิมล’ ‘พิมลภา’ กับ ‘โกลาบ จัน’ นักเขียนสามคนนี้ต่างกันตรงไหน

ถ้าคนอ่านลึกๆ จะเห็นว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เป็นนิยายรักเหมือนกัน และเชื่อว่าความรักคือการเกื้อกูล มันจะเป็นแก่นของนิยายแพรวมาโดยตลอด แต่ที่ต่างกันก็คือรายละเอียดปลีกย่อย ที่ภาพิมลอาจจะสวิงสวายกว่า น้ำเน่ากว่า อ่านง่ายกว่า ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ใต้ฝุ่น เป็นเรื่องของอัฟกานิสถาน สงคราม ความรัก เป็นการเขียนอะไรที่ไกลตัวไปจากเดิมหรือเปล่า

มันเป็นเรื่องใกล้ตัวแพรวเลย แพรวมีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นคนอัฟกัน เขาเล่าให้ฟังว่าเขาลี้ภัยตอนสิบขวบ แล้วนึกถึงตัวเองตอนสิบขวบแพรวยังเล่นบาร์บี้อยู่เลย ความรู้สึกของเราเหมือนมันเป็นการได้อ่านอะไรที่เป็นเรื่องคนอื่นหรือเรื่องของมนุษย์คนหนึ่ง ความลำบาก ความกระเสือกกระสนของเขา ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเราโชคดี มันเหมือนเป็นการสอนชีวิตเราและเตือนตัวเองด้วย

เรื่องจะเล่าผ่านความอยากรู้อยากเห็นของนางเอก เวลาพระเอกเล่าเรื่องอะไรให้ฟังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรืออะไรที่เกี่ยวกับอัฟกานิสถาน นางเอกก็จะตื่นตาตื่นใจ มันก็เป็นความตื่นตาตื่นใจแบบเดียวกับที่แพรวได้รับรู้ตอนเพื่อนเล่าหรือเวลาที่แพรวค้นข้อมูล มีความเสียใจ หรืออะไรบางอย่างคล้ายๆ กัน แต่ว่าเรื่องของพระเอกจะเป็นการเกาะไทม์ไลน์ไปกับชีวิตของมาซูด (อาหมัด ซาห์ มาซูด-ผู้บัญชาการการรบของมูจาฮีดีน) ซึ่งเขามีชีวิตจริงและเป็นที่ชื่นชอบและเกลียดชังในเวลาเดียวกัน โดยพระเอกเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มของเขา

ทำไมจึงเลือกใช้คำว่า ‘ใต้ฝุ่น’ โดยสะกดด้วย ‘ใ’

แพรวใช้สื่อถึงตัวละครที่ต้องกระเสือกกระสน เอาชีวิตรอดจากสงคราม ซึ่งฝุ่นแทนความโกลาหลวุ่นวายและความล่มสลายจากสงคราม ชีวิตของพวกเขาจึงเหมือนอยู่ใต้ฝุ่นนั้น

เมื่อรู้ว่าผลงานเล่มนี้ได้รางวัล แวบแรกรู้สึกอย่างไร

วันแรกก็ตื่นเต้นดีใจ แต่ก็แป๊บเดียว แพรวจะออกแนวกลัวเสียมากกว่า ไม่ได้กลัวดราม่านะคะ แต่กลัวเพราะนี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในความคิดเรา แล้วจริงๆ ตอนที่เขาบอกว่าเดี๋ยวต้องมีรับรางวัล แพรวก็กลัว เพราะความคิดเกี่ยวกับงานประกวดสำหรับแพรวคือพวกเขาจะต้องดูฉลาด แต่แพรวดูกิ๊กก๊อกมากเลย กลัวว่าแพรวไปอยู่กับเขาแล้วแพรวจะเด๋อ จะเป็นอย่างนั้นมากกว่าค่ะ ตอนนี้เป็นช่วงเตรียมรับรางวัลก็ยังหวั่นๆ

รางวัลที่ได้มาจะมีผลกับมาตรฐานการทำงานของแพรวในอนาคตไหม

อันนี้แพรวก็กลัว (หัวเราะ) กลัวว่าคนอ่านจะคาดหวังกับเรา เพราะว่าแพรวเป็นคนที่ไม่คาดหวังกับตัวเองเลย เขียนอะไรก็เขียนตามอารมณ์ล้วนๆ อารมณ์ช่วงนั้นอยากดราม่า อยากหวานแหวว หรืออยากอะไรก็แล้วแต่ แต่แพรวไม่ได้คิดว่าแนวการเขียนจะเปลี่ยนไป แค่กลัวว่าคนอ่านที่อ่านเรื่องใต้ฝุ่น โดยไม่ได้อ่านเรื่องอื่นของเรา ถ้าเขาจะตามหาเรื่องต่อไปของเรามาอ่าน เขาอาจจะเงิบนิดหนึ่ง ว่าทำไมมันดูพาฝันอะไรแบบนั้น

การทำงานเล่มใต้ฝุ่น ต่างจากเล่มอื่นๆ ที่ผ่านมาหรือเปล่า

น่าจะเป็นการวางพลอตที่ตั้งใจวางกว่าปกติ แพรวเขียนนิยายแพรวไม่เคยทำไทม์ไลน์ แพรวเขียนไปเลย แต่ในใจจะรู้ว่าต้องเขียนอะไรต่อ ต่างจากเรื่องนี้ที่แพรวเขียนไทม์ไลน์ไว้เพราะว่ากันลืมด้วย เหตุการณ์มันผ่านมาหลายปี เราก็อยากจะเล่าให้หมด

ผลงานในสิบแปดเล่มนี้ของแพรว มีอยู่เล่มหนึ่งที่ไม่ใช่นิยาย

เล่ม SMA ค่ะ เขียนเพราะว่าตอนนั้นแม่ชอบดู ‘อายะ’ ซีรีส์บันทึกน้ำตาหนึ่งลิตร ของญี่ปุ่น (เป็นซีรีส์ที่สร้างขึ้นจากชีวิตจริงของอายะ คิโต เด็กสาวซึ่งป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง อ้างอิงจากบันทึกประจำวันของอายะที่เขียนขึ้นจนถึงวันที่ไม่สามารถจับปากกาได้อีกต่อไป) แล้วก็มีหนังสือด้วย แม่ชอบเลยอยากให้แพรวเขียน หมอก็อยากให้เขียน แพรวเลยเขียน แต่ใจจริงแพรวไม่ได้อยากเขียนเพราะรู้สึกว่าชีวิตมันไม่ได้มีอะไรน่าสนใจขนาดนั้น และไม่ชอบดราม่า เขียนแล้วตั้งใจจะเก็บไว้เป็นหนังสืองานศพ แพรวเตรียมไว้เพราะว่ามันเท่ดี (หัวเราะ) ทีนี้บรรณาธิการบอกให้ลองส่งมาให้เขาพิมพ์ให้ ตอนแรกเขาจะพิมพ์ออนดีมานด์ แต่เขาอ่านแล้วชอบ ก็เลยพิมพ์แบบบซื้อลิขสิทธิ์เลย

แล้วที่บอกตอนต้นว่าร่างกายจะถดถอยลงเรื่อยๆ ตอนนี้มีผลกับแพรวอย่างไรบ้าง

ก็ปวดหัว ปวดตา น่าจะเป็นเพราะแพรวใช้สายตาเยอะ แล้วก็ปวดคอด้วย คอมันเอียงมากขึ้น ทำให้หลังต้องเอียงมากขึ้น แล้วพอหลังเอียง ปอดก็แฟบลง ทำให้เราเหนื่อยขึ้น  ก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่แพรวไม่อยากใส่ตลอดเวลาเพราะเราก็ต้องออกไปไหนมาไหนด้วย ส่วนไปนอกบ้านก็แล้วแต่สุขภาพในช่วงนั้น บางทีไปห้างฯ สามสี่ชั่วโมงกลับมาเหนื่อยมาก แต่ถ้าไปเที่ยวต่างจังหวัด เก้าชั่วโมงสิบชั่วโมง ไม่เหนื่อยเลย (หัวเราะ) นั่งอยู่ได้เป็นวันๆ

มีอะไรที่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษไหม

ต้องระวังเรื่องจะติดหวัดคนอื่น เพราะถ้าเป็นแล้วจะคายเสมหะไม่ได้ ก็จะทำให้ปอดติดเชื้อ เราก็ต้องป้องกันตัวเอง ถ้าแม่หรือป้าเป็นหวัดเขาก็ต้องใส่หน้ากาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นหวัดแล้วจะติดเชื้อทุกครั้งนะคะ แต่ก็ต้องระวัง

แบบนี้เวลามีงานสัปดาห์หนังสือ แพรวไปหรือเปล่า

ไปทุกครั้ง แพรวชอบบรรยากาศ แต่ร้านหนังสือจะไม่ไป เพราะร้านค่อนข้างแคบ ถ้าไปก็ไปแอบถ่ายรูปหนังสือตัวเอง ทุกวันนี้แพรวอ่านหนังสือไม่ได้แล้วเพราะแพรวเปิดหนังสือไม่ได้ แพรวจะอ่านแต่อีบุ๊ก แต่ว่าหนังสือที่ซื้อส่วนมากจะซื้อของนักเขียนที่รู้จักกัน ซื้อเก็บเล่มที่เราชอบ คือหนังสือซื้อเก็บ แต่ถ้าอ่านคืออ่านในอีบุ๊ก

ชอบไหมเวลาได้ไปเจอคนอ่าน  

รู้สึกเขิน (ยิ้ม) ถ้าไม่ใช่คนอ่านที่คุยกันสนิทสนมในอินเทอร์เน็ตก่อนจะเขินมาก เวลาไปงานสัปดาห์หนังสือ แพรวจะรู้ว่านักเขียนคนไหนอยู่บูธไหน ก็จะหลบ เพราะเราเขิน ไม่กล้าเจอ แพรวไม่กล้าประกาศหรือไปนัดใครว่าเราจะไปวันนี้ ใครอยากมาเจอมานะ รู้สึกไม่ได้ต้องการให้เขามาทำเพื่อเราขนาดนั้น ยกเว้นใครมาถามก็บอก

มีนักเขียนคนไหนที่แพรวชอบเป็นพิเศษ

แพรวชอบนิยายของโสภาค สุวรรณ แพรวไม่รู้นะคะว่าแพรวแอบติดภาษาเขามาหรือเปล่า แต่ตลกมากเลยคือด้านหลังหนังสือใต้ฝุ่น จะมีคำนิยมจากกรรมการรอบสุดท้าย แล้วมีคนหนึ่งเขียนว่า ‘เหมือนอ่านทวิภพ เวอร์ชั่นโสภาค สุวรรณ’ เพราะใต้ฝุ่นมันย้อนเวลาเหมือนทวิภพ แต่เป็นโครงเรื่องและฉากหลังต่างชาติแบบโสภาค สุวรรณ

งานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมาก็เพิ่งไปหาท่านมา (คุณโสภาค สุวรรณ) แต่แพรวก็ยังกรี๊ดวรรณวรรธน์ ส่วนพี่อรสม (สุทธิสาคร) เรารักเหมือนญาติผู้ใหญ่ ตอนแรกแพรวไม่รู้ว่าพี่อรสมเป็นใคร เขาแอดเฟรนด์ในเฟซบุ๊กมา แพรวมารู้ทีหลังว่าเขาเป็นนักเขียนสารคดีผู้หญิงที่เก่งมาก และเป็นพี่ที่มีเมตตามาก แพรวเห็นเขาทำงานเกี่ยวกับนักโทษ เลยหลังไมค์ไปบอกเขาว่าอยากไปดูพี่อรสมทำงานในเรือนจำ แต่ปรากฏว่าพี่เขาให้แพรวไปพูดเรื่องการเขียนให้นักโทษในเรือนจำฟัง เขาคงอยากให้แพรวได้พูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพราะมันมีประโยคหนึ่งใน SMA ที่บอกว่าแพรวรู้สึกเหมือนติดคุกในร่างกายตัวเอง คือจิตวิญญาณเราติดคุก พี่อรสมพูดกับนักโทษว่า ทุกคนที่ติดคุกก็ยังได้ออกมา แต่แพรวออกไปไหนไม่ได้ ต้องติดคุกทั้งชีวิต น่าจะโยงกันด้วยจุดนี้

ทุกวันนี้ยังรู้สึกว่าร่างกายยังเป็นกรงที่ขังเราอยู่มั้ย

รู้สึก แต่เราก็อยู่กับมันไปเรื่อยๆ มันเป็นกรงก็จริง แต่ก็เป็นกรงที่ปลอดภัย แพรวไม่ได้มีชีวิตโลดโผนไปเสี่ยงกับอะไร แพรวไม่ได้ไปว่ามันว่าพิการไม่ดี แล้วไปดราม่ากับมัน แพรวไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ของตัวเอง รู้ว่าเราป่วย แต่ว่าเรากลับไปสนใจเรื่องสงครามเรื่องอะไรนอกตัวมากกว่า แพรวว่าตัวเรารู้จักตัวเราดีที่สุด

การเขียนหนังสือ นอกจากทำให้มีผลงานตีพิมพ์ ให้มีรายได้ แล้วให้อะไรกับแพรวอีกไหม

แพรวว่ามันให้เพื่อน ทั้งเพื่อนในระหว่างเขียนคือความรู้สึกที่เป็นตัวเราอีกด้านหนึ่ง การคุยกับตัวละครก็เหมือนการคุยกับเพื่อน แล้วก็เพื่อนที่เป็นคนอ่านที่เข้ามาคุยกัน

อะไรที่จะเป็นกำลังใจให้แพรวขยันเขียนนิยายอย่างนี้ต่อไป

ตอบจริงๆ เลยนะ ความกลัวจน (หัวเราะ) มันเป็นแรงผลักดันที่ดีที่สุด ส่วนกำลังใจมันก็ดี พวกคำวิจารณ์ ฟีดแบ็ก ไม่ว่าจะติหรือชมมันก็ดีทั้งนั้น

Fact Box

เพทาย จิรคงพิพัฒน์ นักเขียนวัย 31 ปี เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเซนต์จอห์น หลังจากนั้นไม่ได้เรียนต่อเพราะป่วยด้วยโรคเซลล์ประสาทไขสันหลังเสื่อมจากพันธุกรรมตั้งแต่ยังเด็ก มีผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและร่างกายถดถอยลงเรื่อยๆ

ด้วยร่างกายที่มีข้อจำกัด เพทายพิมพ์นิยายของเธอด้วยข้อนิ้วชี้มือขวาซึ่งเป็นส่วนเดียวที่ใช้งานได้ โดยทำแบบนี้ตั้งแต่นิยายเล่มที่ 5 จนปัจจุบันเธอมีนิยายออกมาแล้ว 17 เล่ม อาทิ ‘ตราบแผ่นดินจรดผืนฟ้า’ ‘น้ำค้างเปื้อนสี’ ‘กว่าจะถึงพรุ่งนี้’ ‘ยามเมื่อลมห่มฟ้า’ ‘โซ่พิสุทธิ์’ ‘ตะวันข้างแรม’ ‘ใต้ฝุ่น’ และบันทึกเล่าประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ‘SMA ไม่มีคำว่าเสียใจแม้ในหยดน้ำตา’ อีก 1 เล่ม

ทุกวันนี้เพทายยังทำงานเขียนอยู่สม่ำเสมอ โดยมีแม่และป้าคอยดูแลใกล้ชิด และยังต้องพบแพทย์ทุกหกเดือนเพื่อตรวจอาการ

Tags: , , , , ,