“สถานทูตบังกลาเทศปฏิเสธการอนุมัติให้วีซ่า และเมื่อถามถึงเหตุผล ทางเจ้าหน้าที่กลับตอบมาว่านี่เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ หรืออีกนัยหนึ่ง นี่คือคำถามที่ไม่ควรถาม” Yu Yu Myint Than หนึ่งในช่างภาพและหัวหน้าโปรเจ็กต์จากกลุ่มช่างภาพหญิง Thuma Collective ในเมียนมาเล่าถึงปัญหาที่นำมาสู่การจัดนิทรรศการภาพถ่ายและหนังสือภาพชุด Bridging the Naf ซึ่งเป็นเพียงผลงานเพียงครึ่งทางของโปรเจ็กต์ที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราว ชวนพูดคุย และสร้างความเข้าใจร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ระหว่างเมียนมา-บังกลาเทศในมิติต่างๆ นอกเหนือจากความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติ ผ่านมุมมองสายตาของช่างภาพหญิงที่กำลังอยู่ในระหว่างทางการผลักดันให้เติบโตและมีพื้นที่มากขึ้นในวงการภาพถ่าย

บนเส้นพรมแดนระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศกว่า 271 กิโลเมตร 62 กิโลเมตรของแม่น้ำนาฟเป็นพรมแดนทางน้ำเพียงแห่งเดียวที่กั้นระหว่างเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมากับเมืองค็อกซ์บาซาร์ เขตจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ และเส้นทางนี้เองที่ชาวโรฮิงญาในเมียนมานับล้านคนใช้เป็นเส้นทางอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ เมื่อเราลองเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแม่น้ำนาฟและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ กลับพบแต่ประเด็นโรฮิงญาในหน้าแสดงผลจนกลบกลืนความสัมพันธ์มิติอื่นๆ จนหมด และกับผู้คนสองฝั่งน้ำเอง แม้จะมีพรมแดนติดกันแต่พวกเขาส่วนมากกลับรู้จักกันเพียงแค่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น 

Shwe Wutt Hmone หนึ่งในช่างภาพหญิงกลุ่ม Thuma Collective ให้สัมภาษณ์กับสื่อ The Irrawaddy ว่า “พวกเราไม่เคยไปบังกลาเทศ แม้ว่าเราจะเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่จริงๆ แล้วทั้งสองฝั่ง มีแต่ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับอีกฝั่ง” 

โปรเจ็กต์ Bridging the Naf พยายามเป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจของคนทั้งสองประเทศผ่านมุมมองภาพถ่าย ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมของช่างภาพผู้หญิงที่สนับสนุนโดย Norwegian People’s Aid และได้รับความร่วมมือจาก Myanmar Deitta ในการนิทรรศการครึ่งแรกและการจัดทำชุดหนังสือภาพ โดยช่างภาพหญิงทั้งหมด 12 คน (จากกลุ่ม Thuma Collective ในเมียนมา 6 คน และกลุ่ม Kaali Collective ของบังกลาเทศ 6 คน) ได้มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด และจับคู่ทำงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ออกมาโดยให้ภาพถ่ายทำหน้าที่ถ่ายทอดความคิดและสนทนากับผู้ชม 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มช่างภาพจากบังกลาเทศ (Kaali Collective) ได้เดินทางมาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และทำงานร่วมกับช่างภาพหญิงทางฝั่งเมียนมาจนโปรเจ็กต์ครึ่งแรกเรียบร้อยแล้ว แฃะกลุ่มช่างภาพเมียนมา Thuma Collective ก็ต้องเดินทางไปดาการ์ ประเทศบังกลาเทศ เพื่อร่วมกันทำงานอีกครึ่งเป็น 1 โปรเจ็กต์ที่สมบูรณ์ตามแผนเดิมของโปรแกรมแลกเปลี่ยน แต่ด้วยปัญหาความอ่อนไหวทางการเมืองระหว่างสองประเทศนี้ทำให้ช่างภาพจากเมียนมาถูกปฏิเสธอนุมัติวีซ่าให้เข้าบังคลาเทศโดยไร้คำอธิบายใดๆ แม้ว่าพวกเธอจะต้องตอบคำถามข้อซักไซ้มากมายพร้อมคำยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปทำข่าวแล้วก็ตาม โปรเจ็กต์นี้จึงเดินทางมาได้เพียงครึ่งทางและงบส่วนหนึ่งจึงถูกแบ่งมาจัดทำเป็นชุดหนังสือภาพใน ชื่อเดียวกันกับนิทรรศการ

ในส่วนของนิทรรศการครึ่งแรกของผลงานที่จัดแสดงใน Myanmar Deitta นี้เป็นการปรินท์ภาพบางส่วนที่เลือกออกมาจัดแสดงพร้อมกับหนังสือภาพชุดเดียวกันห้อยประกอบให้ผู้ชมได้มาหยิบจับรับชม และรู้สึกไปกับเรื่องราวที่ถูกเล่าออกมา ครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ความเคารพ ความหวัง ความขัดแย้ง และการยอมรับ โดยหนังสือภาพทั้ง 6 เล่มนี้ มีแนวคิด เรื่องเล่า รูปแบบการทำงาน และการนำเสนอที่ต่างกันออกไปตามที่ช่างภาพแต่ละคนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกถ่ายประเด็นความขัดแย้ง LGBTQ ศาสนา การเมือง เป็นต้น 

ผลงานแต่ละชุดถ่ายทอดเรื่องราวของแม่น้ำนาฟอย่างน่าสนใจ เช่น คู่ของ Tin Htet Paing และ Farzana Hossen ที่เลือกถ่ายประเด็นโรฮิงญา—ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้มันจะกลบกลืนประเด็นอื่นๆ แต่นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจเบือนหน้าหนี เราได้เห็นมุมมองของช่างภาพจากสองฝั่งแม่น้ำนาฟต่อประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกจับตามองและไม่มีทีท่าว่าจะมีทางออกในเร็ววัน โดยช่างภาพคนหนึ่งเลือกหยิบเอาความทรงจำของชาวโรฮิงญามาเล่าในขณะที่อีกคนเลือกถ่ายทอดชีวิตความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะทางความทรงจำหรือกายภาพ เราก็รับรู้ได้ถึงความทุกข์ยากในชีวิตและชะตากรรมและอดที่จะรู้สึกตามไปด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ หรือคู่ของ Rita Khin และ Rajoyana Chowdhury ที่ถ่ายภาพเมืองหลวงเนปิดอว์ แม้จะเลือกทำงานในสถานที่เดียวกัน แต่มุมมองต่อสถานที่นั้นกลับถูกตีความและเล่าออกมาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

นอกจาก Bridging the Naf จะเป็นโปรเจ็กต์ที่พยายามเชื่อมความเข้าใจของทั้งสองประเทศแล้ว โปรเจ็กต์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันและสนับสนุนช่างภาพผู้หญิงให้มีพื้นที่มากขึ้นในสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งเมียนมาและบังกลาเทศต่างก็มีการรวมกลุ่มกันของช่างภาพผู้หญิง แม้ว่าจะยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่และเพิ่งเริ่มออกเดินทางก็ตาม แต่การออกเดินทางของพวกเธอนี้ก็แสดงให้เห็นถึงพลังของผู้หญิงและหนทางแห่งความเท่าเทียมมากขึ้นในอนาคต 

ย้อนกลับมามองสถานการณ์ช่างภาพผู้หญิงในไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าเปอร์เซ็นของช่างภาพหญิงเทียบกับชายแล้วยังถือว่าน้อยมากๆ และบ้านเรายังไม่มีกลุ่มช่างภาพหญิงหรือมีการผลักดันอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากนักเมื่อเทียบกับเมียนมา-บังกลาเทศ หรือวงการช่างภาพหญิงทั่วโลก 

จูน – วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพประจำสื่อ The Standard และศิลปินผู้ทำงานผลักดันความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ ในไทยมายาวนานได้แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัวต่อประเด็นนี้ว่า วงการช่างภาพในไทยเองก็ยังมีลักษณะถูกครอบงำโดยผู้ชาย (male dominated) อยู่และหลายครั้งก็รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ดังที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนเรียนจบใหม่ๆ และกำลังหางาน ไม่ว่าตำแหน่งช่างภาพที่ไหนก็มักประกาศรับแต่ผู้ชาย…หรือตอนสัมภาษณ์งานที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งเคยถูกถามว่ามีแผนจะแต่งงานหรือเปล่า ถ้าแต่งงานแล้ววันนึงมีลูกจะยังทำงานได้ไหม ใครจะดูแลลูก เรารู้สึกว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ผู้ชายจะไม่เจอ” 

นอกจากนี้วรรษมนยังเล่าถึงการรวมกลุ่มของช่างภาพหญิงในต่างประเทศว่าการรวมกลุ่มกันนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสและลดช่องว่าง ง่ายต่อการต่อรองหรือเคลื่อนไหว เช่น Women Photograph, Girlgaze หรือ Foto-Féminas ที่ก็มีช่างภาพหญิงทำงานในพื้นที่เล่าเรื่องไม่ว่าจะเป็นสไตล์สารคดีหรือศิลปะอยู่บ้างแต่ในไทยยังไม่เห็นการรวมกลุ่มในรูปแบบนั้น โดยเธอแสดงความเห็นว่า “ส่วนตัวไม่ต้องเป็น collective                    ก็ได้ เป็นแค่ photo meet up ก็ได้ มันน่าจะดีถ้ามีพื้นที่ให้ช่างภาพผู้หญิงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานและมุมมองในประเด็นต่างๆ ร่วมกัน” 

ในฐานะคนนอก เธอมองว่าคนที่เรียนจบสายถ่ายภาพมาโดยตรง อยู่ในวงการ มีตัวตน มีพื้นที่ มีงานเข้ามาตลอดนั้นอาจไม่ประสบปัญหาของการไม่มีพื้นที่แสดงผลงานเลยไม่เห็นความจำเป็นว่าทำไมจะต้องรวมกลุ่มผลักดันช่างภาพผู้หญิง แต่คนนอกวงการอย่างเธอมองว่าเป็นปัญหาก่อนจะพูดทิ้งท้ายชวนสร้างพื้นที่นั้นด้วยกันว่า “ถ้าในอนาคตใครอยากทำ ก็มาทำกันเถอะ”

แม้ว่าบทสนทนาเรื่องพื้นที่ของช่างภาพหญิงและความเข้าใจกันระหว่างผู้คนสองฝั่งแดนเมียนมา-บังกลาเทศในรูปแบบภาพถ่ายนี้ยังไม่มีบทสรุปว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่นี่ก็เป็นโอกาสที่พวกเธอได้ส่งเสียง สร้างความเข้าใจร่วมกัน และชี้ให้เห็นว่าความเหมือนกันในฐานะของมนุษย์ที่เท่ากันนั้นสำคัญกว่าความต่างกันในเรื่องเพศสภาพและรัฐชาติ 

และเมื่อมองย้อนกลับมาทางฝั่งบ้านเราเองอีกครั้ง บ้านเราที่ก็มีพรมแดนติดกับเมียนมา เรามีความเข้าใจและรู้จักกันมากแค่ไหน? เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนมากนัก ไม่แน่ในอนาคตเราอาจเห็นและได้ยินเสียงของกลุ่มช่างภาพหญิงไทยกับเมียนมาในงาน Bridging the Moei ก็เป็นไปได้ 

_________

ปล.1 ทางผู้จัดงานไม่ได้จำหน่ายหนังสือภาพเซ็ตนี้ แต่สำหรับใครที่สนใจอยากได้มาไว้ครอบครองสามารถนำหนังสือภาพของตนไปแลกได้ฟรี โดยงานนี้จะจัดถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2019 นี้ที่ Myanmar Deitta ถนน Bogalay Zay เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

ปล.2 Thuma Collective (Thuma แปลว่า ‘เธอ, ผู้หญิง’) เป็นกลุ่มช่างภาพหญิงชาวเมียนมาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 เน้นการทำงานด้าน visual storytelling โดยนิยามตัวเองเป็น storyteller ไม่ใช่ photojournalist

ปล.3 Myanmar Deitta เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรเน้นสนับสนุน ให้ความรู้ และผลักดันวงการภาพถ่ายและภาพยนตร์แนวสารคดีในเมียนมา

Tags: , , , , , ,