พูดถึงคนทำหนังชาวเยอรมัน แล้วไม่พูดถึง แวร์เนอร์ แฮร์โซก (Werner Herzog) น่าจะถือเป็นความผิดบาปใหญ่หลวงประการหนึ่ง
ข้อแรก เขาเป็นหนึ่งในหัวขบวนภาพยนตร์เยอรมันยุคใหม่ (New German Cinema) ซึ่งถือกำเนิดในช่วงยุค 1962 เรื่อยมาจน 1982 ร่วมกันกับคนทำหนังร่วมสัญชาติอย่าง วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders), อเล็กซานเดอร์ คลูก (Alexander Krüger), ฮันส์-เยอร์เกน ซีเบอร์แบร์ก (Hans-Jürgen Syberberg) และไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์ (Rainer Werner Fassbinder) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนทำหนังที่ส่งอิทธิพลต่อโลกภาพยนตร์ยุคต่อมาทั้งสิ้น
ข้อสอง ภาพยนตร์ของแฮร์โซกมีลักษณะเฉพาะตัวเสมอ กล่าวคือมันมักสำรวจความอ่อนไหวและความเป็นมนุษย์ด้วยท่าทีดิบๆ ตรงไปตรงมา (ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึง Barbie, 2023 – หนังว่าด้วยตุ๊กตาบาร์บี้ของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ว่า สำหรับเขาซึ่งยังดูไม่จบนั้น เป็นไปได้ว่าบาร์บี้แลนด์อาจจะเป็นนรกที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนต้องลงไปชดใช้กรรม) และที่ขาดไม่ได้คือข่าวคราวความวิปโยคจากการถ่ายทำ
ข้อสาม นี่คือหนึ่งในคนทำหนัง ‘บ้าพลัง’ ของโลก แถมยังบ้าพลังอยู่แม้อายุจะล่วงเลยมาถึงวัย 80 ปีแล้วก็ตาม
เหตุผลหนึ่งที่อยากชวนสำรวจความระห่ำจากหนังของแฮร์โซก ก็เพราะ The Enigma of Kaspar Hauser (1974) เพิ่งหวนกลับเข้ามาฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์ในไทย ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของบุคคลในตำนานของเยอรมนี อย่าง กัสเปอร์ อาวเซอร์ (แสดงโดย บรูโน ชไลสไตน์) เด็กหนุ่มปริศนาที่ถูกขังอยู่ในห้องใต้ดินนานถึง 17 ปีเต็ม โดยไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวันหรือพบเจอมนุษย์อื่นใดเลย มีเพียงม้าของเล่นเป็นเพื่อนต่างหน้ากับชายแปลกหน้าที่สวมเสื้อโค้ตและหมวกทรงสูงที่คอยมาให้อาหารเขาเท่านั้น
กระทั่งปี 1828 ชายลึกลับตัดสินใจพาอาวเซอร์ออกมาจากห้องใต้ดิน สอนเขาเดินและพูดประโยคง่ายๆ ก่อนจะทิ้งเขาไว้ในเมืองนูเรมแบร์ก พร้อมจดหมายหนึ่งฉบับที่ระบุชื่อและที่มาอันดำมืดของเขา ผู้คนพากันแตกตื่นและคาดเดาเรื่องราวแต่หนหลังของอาวเซอร์ไปต่างๆ นานา บ้างว่าเขาเป็นลูกชายขุนนาง บ้างว่าเขามาจากครอบครัวร่ำรวย และบ้างก็ว่าเขาเป็นแค่คนไร้หัวนอนปลายเท้า มีเพียงศาสตราจารย์จอร์จ ฟรีดริช เดาเมอร์ (แสดงโดย วัลเตอร์ ลาเดนกัสต์) ที่คอยดูแลและสอนเรื่องราวต่างๆ ให้เขา ชีวิตหลังจากนั้นของอาวเซอร์ปะทะกับเรื่องราวของศาสนา พระเจ้า รวมทั้งดนตรี ศิลปะและความเป็นมนุษย์ ที่คอยๆ แต่งแต้มลงในเนื้อตัวที่เป็นเสมือนผ้าขาวของเขา
แฮร์โซกได้ บรูโน ชไลสไตน์ ศิลปินวัย 41 ปี มารับบทเป็นอาวเซอร์ซึ่งตามบทแล้วอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แต่แฮร์โซกก็คิดว่าท่าทีเปราะบางและความโดดเดี่ยวบางอย่าง ตลอดจนความเป็นศิลปินของชไลสไตน์จะกอปรสร้างให้ตัวละครอาวเซอร์ในหนังของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้ ขณะที่ชไลสไตน์ซึ่งรับแสดงหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกบอกว่า แง่หนึ่งแล้วชีวิตเขาก็ไม่ได้ดีเด่หรือห่างไกลไปจากอาวเซอร์สักกี่มากน้อย เขาถูกทำร้ายตั้งแต่ยังเด็กและใช้เวลาส่วนใหญ่ของวัยเยาว์อยู่ที่สถานบำบัด ทั้งนี้ แฮร์โซกบอกว่า วันหนึ่งหลังการถ่ายทำ เขาไปหาชไลสไตน์ที่โรงแรมและพบว่านักแสดงหนุ่มนอนหลับอยู่บนพื้น ในชุดคอสตูมของอาวเซอร์ และนี่นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้แฮร์โซกประทับใจชไลสไตน์จนร่วมงานด้วยกันอีกครั้งใน Stroszek (1977)
จะว่าไป หากเรื่องราวของอาวเซอร์ไปอยู่ในมือผู้กำกับคนอื่น คงไม่แคล้วกลายเป็นหนังชีวิตรันทดและอาจเป็นฝันร้ายของคนดู แต่เมื่อมาอยู่ในมือของแฮร์โซก แม้จะเป็นคนทำหนังที่ได้ชื่อว่าดิบเถื่อน หากแต่แฮร์โซกก็สำรวจเรื่องนี้อย่างอ่อนโยนและมีหัวจิตหัวใจ การวิพากษ์ศาสนาผ่านสายตาของอาวเซอร์ที่ไม่เข้าใจว่าพระเจ้าคืออะไร และเหตุใดการเล่นดนตรีจึงไม่ง่ายดายดังที่เขาคิดไว้ แฮร์โซกถ่ายทอดแง่มุมของเขาที่มีต่อความเชื่อและศาสนาซึ่งมีอำนาจใหญ่ในชีวิตคน กับศิลปะที่เขาเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ปลอบประโลมมนุษย์ได้ดีกว่าพระเจ้าองค์ใดเสียอีก
โรเจอร์ อีเบิร์ต (Roger Ebert) นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกันระบุว่า The Enigma of Kaspar Hauser คือหนังอันยอดเยี่ยม และเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับเรื่องแต่งในหนังของแฮร์โซกช่างพร่าเลือน เขาหาได้สนใจความถูกต้องมากไปกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในหนังแต่อย่างใด
หนังอีกเรื่องที่บอกเล่าถึงความบ้าดีเดือดและสายตาที่แฮร์โซกสำรวจมนุษย์คือ Aguirre, the Wrath of God (1972) กับตำนานความพินาศของการถ่ายทำ ทั้งยังเป็นปฐมบทการทำงานร่วมกันกับเพื่อนที่ทั้งรักทั้งชังกันอย่าง เคลาส์ คินสกี (Klaus Kinski) ผู้ที่ในอีกหลายปีต่อมา แฮร์โซกกล่าวโทษว่า ผมหงอกทุกเส้นบนหัวมาจากความเครียด เพราะต้องทำงานร่วมกันกับคินสกี เล่าเรื่องของ โลเป เด อากีร์เร (แสดงโดย คินสกี) นายทหารชาวสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้หวังอยากค้นพบ เอล โดราโด เมืองปริศนาที่เชื่อกันว่าอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน จุดเริ่มต้นการเดินทางอันบ้าระห่ำและแลกเลือดแลกเนื้อของอากีร์เรจึงเริ่มขึ้นจากตรงนั้น
แฮร์โซกกำกับหนังหลวมๆ และแทบไม่มีบทพูดตายตัวเป็นชิ้นเป็นอันนัก (และจะว่าไปก็เป็นสไตล์ที่ติดตัวเขามาตลอด) เขาเขียนบทหนังทั้งเรื่องในเวลาเพียง 2 วันครึ่งเท่านั้น ทั้งส่วนใหญ่แล้วเขายังเขียนบนรถบัสระหว่างออกเดินทางไปแข่งฟุตบอลอีกต่างหาก ถึงขั้นมีบันทึกว่าหลังการแข่งขันนัดหนึ่งที่ทีมคว้าชัยได้ เพื่อนร่วมทีมของเขาฉลองหนักจนเมาไม่รู้เรื่องและทิ้งอาเจียนกองใหญ่ไว้ในหน้ากระดาษปึกหนึ่งของบทหนัง จนแฮร์โซกต้องโยนก้อนกระดาษเจ้ากรรมดังกล่าวทิ้งออกนอกหน้าต่างรถ (และเขาให้สัมภาษณ์ว่า เขาจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขียนอะไรลงไปบ้าง)
อย่างไรก็ดี บทหนังที่เขียนไว้กว้างๆ ดูจะส่งผลดีต่อการถ่ายทำมากกว่า เพราะทั้งกองหอบกันไปถ่ายในป่าที่เปรูและต้องรับมือกับอุปสรรคที่พวกเขาควบคุมไม่ได้มหาศาล เสียจนฉากจบของหนังเปลี่ยนจากต้นทางชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ยังไม่นับความคุ้มดีคุ้มร้ายของคินสกีที่แทบตีกับแฮร์โซกกลางป่า โดยทั้ง 2 คน รู้จักกันมาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ (คินสกีอายุมากกว่าแฮร์โซก 16 ปี) สมัยที่คินสกีเป็นนักแสดงถังแตกที่เช่าอะพาร์ตเมนต์โทรมๆ ซึ่งครอบครัวของแฮร์โซกอาศัยอยู่
เหตุนี้ทั้งคู่จึงรู้จักกันและกันก่อนที่จะมีชื่อเสียงเสียอีก คินสกีจึงเป็นตัวเลือกแรกของแฮร์โซกที่เขาหวังให้มารับบทเป็นนายทหารสเปนจอมเถื่อน และคินสกีก็พบว่า บทหนังหยาบๆ ของเพื่อนรุ่นน้องช่างดึงดูดใจและเหมาะกับเขาเสียเหลือเกิน แต่ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะไปได้สวยของทั้งคู่ก็จอดอยู่แค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะทันทีที่ต้องร่วมงานกันจริงจัง ความยากลำบากของการถ่ายทำก็ทำให้ทั้งแฮร์โซกและคินสกีเกือบๆ จะเสียสติ โดยเฉพาะที่คินสกีทนเสียงเพื่อนนักแสดงเล่นไพ่ไม่ไหวและระเบิดอารมณ์ด้วยการลั่นปืนลูกซองเปรี้ยงใหญ่ เฉือนปลายนิ้วของนักแสดงสมทบคนหนึ่ง (ที่ไม่ปรากฏชื่อจนตอนนี้) แฮร์โซกยึดปืนดังกล่าวไว้เป็นของกลางและกลายเป็นของเขาจนนาทีนี้
หนังถูกพูดถึงในแง่ความสมจริงและเถื่อนสุดขีด หลายฉากก็ยากจะแยกว่าเป็นการแสดงหรือเป็นบันทึกเหตุการณ์ความพินาศที่เหล่านักแสดงต้องเจอ จนด้านหนึ่ง หนังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แฮร์โซกไม่เพียงแต่ฉายภาพความทะเยอทะยานของมนุษย์ผ่านตัวละครอากีร์เร แต่ยังเป็นความทะเยอทะยานของแฮร์โซกและเหล่าทีมงานด้วย แม้หนังจะทำเงินได้ไม่มากนักในบ้านเกิด หากแต่มันก็ถูกชุบชีวิตขึ้นมาหลังจากนั้นอีกหลายต่อหลายหนในแง่ของการเป็น ‘หนังคัลต์’ ทั้งยังถูกวนกลับมาฉายอยู่เนืองๆ แม้ในเวลานี้
ทั้งนี้ กล่าวกันว่า หนังที่มีกระบวนการถ่ายทำพินาศพอๆ กันอย่าง Apocalypse Now (1979) ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความบ้าพลังของ Aguirre, the Wrath of God ด้วยเช่นกัน
หากคิดว่าสายสัมพันธ์ระหว่างแฮร์โซกกับคินสกีจะสิ้นสุดลงที่การล่องเรือในเปรู ก็นับว่าคิดผิด เพราะหลังจากนี้ทั้งคู่ยังร่วมงานด้วยกันอีก 4 เรื่อง รวมทั้ง Fitzcarraldo (1982) หนังที่ได้ชื่อว่าเป็นบันทึกความวินาศสันตะโรที่สุดเรื่องหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะแฮร์โซกหาทำด้วยการ ‘เข็นเรือขึ้นภูเขา’ เมื่อเขายืนกรานว่า จะเข็นเรือกลไฟน้ำหนัก 320 ตันไปถ่ายทำในป่าแห่งหนึ่งของเปรู (อีกแล้ว) และถ้าเรื่องก่อนมีนักแสดงสมทบได้รับอุบัติเหตุจากปืนจนปลายนิ้วขาด เรื่องนี้ก็เดือดไปถึงขั้นที่ทีมงานซึ่งเป็นชนพื้นเมืองถูกงูพิษกัดเกือบถึงแก่ชีวิต และผู้กำกับภาพที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องเย็บมือสดๆ แบบปราศจากยาชา นับเป็นหนังที่แฮร์โซกถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงความเป็นธรรมต่อคนในกองถ่ายมากที่สุดในบรรดาหนังของเขา
หนังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก คาร์ลอส ฟิตซ์การ์รัลด์ (Carlos Fitzcarrald) บารอนชาวเปรูที่เคยขนย้ายเรือกลไฟลำยักษ์ข้ามคอคอดของแม่น้ำ โดยต้นฉบับ คาร์ลอส ฟิตซ์การ์รัลด์ถอดเรือกลไฟซึ่งหนักราวๆ 30 ตันออกมาเป็นส่วนๆ แล้วทยอยเข็นข้ามภูเขาและคอคอด หากแต่เมื่อมันไปอยู่ในมือแฮร์โซก เขาเลยผลักให้เรื่องใหญ่โตขึ้นกว่าเดิมด้วยการเข็นเรือยักษ์หนัก 320 ตันขึ้นเขา ผ่านเรื่องราวของ ไบรอัน สวีนีย์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (แสดงโดย คินสกี) ชายผู้ทะเยอทะยานหวังอยากสร้างโรงละครกลางป่า จึงแบกเอาอุปกรณ์ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการสร้างโรงละครขึ้นเขา รวมทั้งเรือยักษ์ด้วย
จะว่าไป Fitzcarraldo ก็ฉายให้เห็นวิธีคิดที่แฮร์โซกมีต่องานศิลปะ กล่าวคือสำหรับเขานั้น ศิลปะคือบ่อน้ำแห่งแรงบันดาลใจของมนุษย์ในการจะกระทำสิ่งที่อุกอาจกล้าหาญ นั่นคือการที่ตัวละครมุ่งมั่นเดินทางไปยังอีกซีกหนึ่งของโลกพร้อมข้าวของมหาศาล เพียงเพื่อสร้างโรงละครเพื่อแสดงงาน และหากมองในมุมกลับ สำหรับแฮร์โซกเองแล้ว ศิลปะในนามของภาพยนตร์ ก็บันดาลใจเขาในการทุ่มเรี่ยวแรงกายทุกหยาดหยดในการทำหนังเรื่องนี้ เพราะแม้ฉากหลังจะพินาศแค่ไหน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความทะเยอทะยานและมุมานะของเขาและทีมงานนั้นเป็นของจริง ตัวหนังได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนั้น ส่วนเรือเจ้ากรรมก็ยังอยู่บนภูเขาในเปรูที่เดิมหลังการถ่ายทำจบลง
อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของแฮร์โซกและคินสกียังขึ้นๆ ลงๆ ทั้งเกลียดทั้งรักอยู่เรื่อยมาหลังจากนั้น คินสกีเสียชีวิตในปี 1991 หลายปีหลังจากนั้น แฮร์โซกทำสารคดี My Best Fiend (1999) ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคินสกี
ความเป็นมนุษย์ยังถูกสำรวจในงานสารคดีอันเลื่องชื่ออีกชิ้นของแฮร์โซกอย่าง Grizzly Man (2005) ว่าด้วยชีวิตของ ทิโมธี เทรดเวลล์ (Timothy Treadwell) นักสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกันที่หลงใหลหมีกริซลีมากเสียจนหาเวลาไปพักผ่อนกับพวกมันในป่าแถบอแลสกา ด้วยความเชื่อที่ว่า เขาคือสะพานเชื่อมระหว่างโลกของมนุษย์กับสัตว์ป่า กระทั่งเมื่อวันหนึ่ง เขาถูกหมีขย้ำจนถึงแก่ชีวิตในปี 2003 ด้วยวัยเพียง 46 ปี
เรื่องราวของเทรดเวลล์เป็นที่พูดถึงทั่วสหรัฐฯ สื่อโหมประโคมข่าวการเสียชีวิตของชายผู้ลุ่มหลงหมีกริซลี และความลุ่มหลงเช่นนี้เองที่ต้องตาต้องใจแฮร์โซก เขารวบรวมเอาฟุตเทจช่วง 5 ปีสุดท้ายที่เทรดเวลล์ถ่ายตัวเองขณะออกเดินทางไปในป่าอแลสกา เอามาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าจนเห็นภาพใหญ่ของชีวิตชายผู้ศรัทธาในสัตว์ป่า พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์คนรอบๆ ตัวของเทรดเวลล์ที่เป็นประจักษ์พยานการเดินทางอันบ้าระห่ำนี้
แม้ในสายตาของสื่อและคนทั่วไป การกระทำของเทรดเวลล์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบ้าบิ่น แต่สารคดี Grizzly Man กลับสำรวจประเด็นนี้อย่างมีหัวจิตหัวใจ แฮร์โซกมองการเดินทางของเทรดเวลล์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่โดดเดี่ยวและรู้สึกเป็นอื่นกับสังคม สถานที่แห่งเดียวที่ทำให้เขาสงบและผ่อนคลายลงได้ คือในป่าอแลสกาอันเป็นที่พำนักของเหล่าหมีกริซลีที่น้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัม และสามารถสังหารสิ่งมีชีวิตไร้เขี้ยวไร้เล็บอย่างมนุษย์ได้เพียงอึดใจเดียว ทั้งตัวหนังยังสำรวจความมุมานะจนเกือบจะบ้าระห่ำของเทรดเวลล์ในการจะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับหมีป่า แม้จะรู้ทั้งรู้ว่านั่นต้องแลกมาด้วยชีวิตก็ตาม
แม้จะเป็นที่รู้จักในฐานะคนทำหนังบ้าพลังที่มักประสบปัญหาวายป่วงในกองถ่ายบ่อยๆ แต่หากมองภาพใหญ่ ใครกันจะปฏิเสธได้ว่า แวร์เนอร์ แฮร์โซก คือคนทำหนังที่สำรวจมนุษย์และความทะเยอทะยานด้วยสายตาพิศวงอยู่เสมอ และความทะเยอทะยานดังกล่าวนี้ ก็ปรากฏอยู่ในผลงานของเขาเช่นกัน อันจะเห็นได้จากภาพยนตร์มากมายที่ไล่เรียงตั้งคำถาม วิพากษ์และชื่นชมมนุษย์เหล่านี้ของแฮร์โซก
Tags: the Wrath of God, Fitzcarraldo, Grizzly Man, People Also Watch, Werner Herzog, แวร์เนอร์ แฮร์โซก, The Enigma of Kaspar Hauser, Aguirre