การปรากฏขึ้นของ ‘ตาคลี เจเนซิส’ (2024) หนังไซ-ไฟลำดับล่าสุดของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล สร้างรสชาติแปลกใหม่ให้อุตสาหกรรมหนังไทยไม่น้อย ในแง่ที่ว่าเราต่างห่างเหินกับฌ็องหนังไซ-ไฟมานานเหลือเกิน และยิ่งทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าอันที่จริงแล้ว ในยุคสมัยหนึ่งหนังไซ-ไฟเคยเป็นที่นิยมหรือสร้างความตื่นตาตื่นใจให้วงการหนังไทยไม่น้อย ที่ถึงแม้หนังจะดีหรือไม่ดี สนุกหรือไม่สนุก แต่ข้อเท็จจริงคือ เราเคยมีหนังหน้าตาหลากหลายมากกว่าหนังผี หนังตลก และหนังรัก ซึ่งการที่มันร้างราห่างหายไปจากวงการหนังไทย ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ก็อาจเข้าใจได้ถึงการที่หนังไซ-ไฟบ้านเราไม่เติบโตเท่าหนังฌ็องอื่นๆ เงื่อนไขสำคัญคือ หนังไซ-ไฟเป็นหนึ่งในประเภทหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงเช่นเดียวกับหนังแอ็กชัน และสุ่มเสี่ยงที่สร้างออกไปแล้วจะไม่ถูกปากกลุ่มคนดู ในยุคที่สนามวงการหนังไทยยังเต็มไปด้วยผู้เล่นหลากหลาย ทั้งผู้กำกับ ทั้งนายทุน การลงเงินเพื่อสร้างหนังหน้าตาใหม่ๆ ถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่รับกันได้ กระทั่งเมื่อเศรษฐกิจแย่ลง การลงเม็ดเงินหลายแสนหรืออาจจะหลักล้าน ในการสร้างหนังที่ไม่มีอะไรรับประกันว่า จะประสบความสำเร็จหรือถอนทุนคืน ก็นับเป็นเรื่องยาก วัดใจกันทั้งผู้กำกับทั้งค่ายหนัง
สำหรับตาคลี เจเนซิสว่าด้วยการเดินทางของ สเตลล่า (แสดงโดย พอลล่า เทเลอร์) หญิงลูกครึ่งในอีสาน พ่อของเธอหายตัวไปตั้งแต่เธอยังเด็ก จากเหตุการณ์ประหลาดเมื่อฝนตกลงมาเป็นศพ กับวงแหวนประหลาดที่พาพ่อเธอไปยังดินแดนแห่งอื่น และกินเวลาเธอกว่าค่อนชีวิตจึงจะเข้าใจว่า พ่อของเธอถูกโยกย้ายไปอยู่ในเส้นมิติเวลาอื่น เธอจึงตัดสินใจออกตามหาเขาด้วยการใช้วงแหวนปริศนาที่เหลือทิ้งไว้ พร้อมด้วยความช่วยเหลือของ อิษฐ์ (แสดงโดย ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนวัยเด็กที่ตอนนี้เติบโตเป็นคุณครู ก้อง (แสดงโดย วนรัตน์ รัศมีรัตน์) หนุ่มรุ่นพี่ที่หน้าตาไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อน และจำนูญ (แสดงโดย ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) พ่อของก้องที่ดูงำความลับบางอย่างไว้
ตัวหนังทะเยอทะยานอย่างที่สุด ไม่ใช่แค่เพราะมันเลือก ‘เล่นท่ายาก’ อย่างการพาตัวละครกลับไปกลับมายังห้วงเวลาต่างๆ หรือแค่เพราะมันเต็มไปด้วยสัตว์ประหลาดและการใช้ CGI แบบที่ไม่ค่อยเห็นในหนังไทยนัก แต่ยังเพราะมันเลือกหยิบประวัติศาสตร์บาดแผลของผู้คนมาเล่าด้วย ไม่ว่าจะคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนาม หรือคนหนุ่มสาวที่ล้มหายตายจากในเหตุการณ์สังหารหมู่ รวมทั้งการพาคนดูไปสำรวจโลกดิสโทเปียอันแห้งแล้ง ที่คนยังต้องปะทะต่อสู้กับชนชั้นนำ สิ่งเหล่านี้นับเป็นรสชาติใหม่ๆ ที่หลายคนอาจโหยหาในหนังไทย และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่โปรเจกต์นี้ ถือกำเนิดขึ้นมาประดับหน้าตาอุตสาหกรรมหนังได้ในที่สุด
อย่างไรก็ดีหนังไซ-ไฟเรื่องแรกๆ ที่ปักหมุดหมายความเป็นไซ-ไฟแบบตะโกน เพราะมีทั้งการใช้ CGI ทั้งสัตว์ประหลาด ทั้งฉากแอ็กชันในความทรงจำของหลายๆ คนคือ ปักษาวายุ (2004) โดยหนังเล่าถึงนักโบราณคดีที่ขุดเจอโครงกระดูกสัตว์โบราณที่รูปร่างคล้ายสัตว์ในตำนาน หากแต่การขุดโครงกระดูกดังกล่าวของเธอก็ต้องพบอุปสรรค เมื่อทางการสั่งให้ทหารเข้ามาควบคุมการขุดค้น แต่สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ มันดันเป็นโครงการที่ไปปลุกเอาสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง ให้ออกมาอาละวาดกลางกรุงเทพฯ ด้วย
มองย้อนกลับไป ปักษาวายุถือเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่อง ที่ใช้สัตว์ประหลาดเป็นหนึ่งในตัวละครหลัก เหนือสิ่งอื่นใด คือตัวหนังยังปักหมุดเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เอากล้องฟิล์ม มาถ่ายทำด้วยระบบดิจิทัล และก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทุนสร้างหนังพุ่งขึ้นสูงลิ่วอยู่ที่ราว 30 ล้านบาท (ซึ่งวัดจากค่าเงินในยุคนั้นก็ถือเป็นเงินมหาศาลอยู่) ปักษาวายุจึงเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ฉายให้เห็นการผลัดใบจากระบบฟิล์มไปสู่ระบบดิจิทัลของวงการหนังไทย
ทว่าน่าเสียดายที่หนังไม่ประสบความสำเร็จนัก ไม่ว่าจะในแง่คำวิจารณ์หรือรายได้ และอาจเป็นแผลใหญ่ที่ทำให้ทั้งผู้กำกับ ทั้งสตูดิโอหวาดหวั่นในการจะสร้างหนังไซ-ไฟสัตว์ประหลาดในระยะยาวด้วย
แต่ถ้าถอยย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เราก็เคยมี กาเหว่าที่บางเพลง (1994) ดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากงานเขียน The Midwich Cuckoos (1957) ของ จอห์น วินด์แฮม (John Wyndham) ว่าด้วยเรื่องราวในหมู่บ้านบางเพลง ที่อยู่ดีๆ ผู้หญิงทั้งหมู่บ้านก็ตั้งครรภ์ขึ้นมาอย่างหาสาเหตุไม่ได้ ภายหลังจากดวงจันทร์ 2 ดวงปรากฏขึ้นบนฟ้าและทำให้คนทั้งหมู่บ้านหยุดชะงักเป็นเวลาหลายนาที หลังจากนั้นผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 16-80 ปี ไม่ว่าจะแม่ค้า คุณย่า คุณยาย ไปจนถึงแม่ชี ก็ตั้งครรภ์ขึ้นพร้อมกัน ก่อนจะให้กำเนิดเด็กเป็นจำนวน 214 คนขึ้นมา
สิ่งที่ชวนขนหัวลุกมากๆ คือการที่เด็กๆ เติบโตเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน มีลักษณะเก็บเนื้อเก็บตัวและแปลกแยกไปจากเด็กคนอื่นๆ พวกเขาออกเดินเหมือนกัน กินอาหารเหมือนกัน และคิดเหมือนกัน มิหนำซ้ำพวกเขายังข้องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม และเหตุการณ์ชวนสยดสยองที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ก่อนที่หนังจะเฉลยว่า แท้จริงแล้วเด็กๆ เหล่านี้เป็นมนุษย์ต่างดาวที่ผู้มาเยือนจากนอกโลก ‘ฝาก’ ให้มนุษย์อุ้มครรภ์และเลี้ยงดูเหมือนนกกาเหว่าฝากไข่
หนังประสบความสำเร็จไม่น้อย และถือเป็นอีกหนึ่งความหลากหลายที่เกิดขึ้นในวงการหนังไทยยุคนั้น มิหนำซ้ำมันยังถูกหยิบมาสร้างเป็นเวอร์ชันละครโทรทัศน์ในปี 2003 ที่เรียกเรตติงดีและสร้างภาพจำไม่แพ้เวอร์ชันภาพยนตร์ด้วย
Ten Years Thailand (2018) หนังรวมผู้กำกับของโปรเจกต์ Ten Years International Project เขียนบทและกำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ธีมหลักคือการมองประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งถูกบอกเล่าผ่าน พลทหารแอบรักสาวแม่บ้านที่ทำงานในแกลอรี ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะการเมืองและถูกรัฐจับตาอย่างใกล้ชิด, โลกดิสโทเปียที่มนุษย์ต้องหนีตายเอาตัวรอดในโลกที่มีแต่แมว และเขาต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาชีวิตรอด เพื่อไม่ให้มนุษย์แมวรอบตัวทั้งหลายจับได้ว่าเขาเป็นอื่น แปลกปลอมไปจากพวกมัน, ผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองแห่งความดีงามที่รัฐควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ และคนขายเครื่องมือทำให้เราฝันดี ในโมงยามที่สังคมบีบคั้นและเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง
หนังทั้ง 4 เรื่องต่างพินิจอนาคตประเทศไทยกันคนละแบบ หากแต่จุดร่วมอย่างหนึ่งคือ มันมีน้ำเสียงของความเป็นดิสโทเปีย โลกอันแห้งแล้งและเจ็บปวด ที่เราอาจมองได้ว่ามันทั้งเสียดสี ทั้งขันขื่น หรือแม้แต่สบตากับข้อเท็จจริงบางอย่าง และนับเป็นหนึ่งในหนังฌ็องไซ-ไฟ ที่สำรวจการเมืองได้อย่างน่าสนใจอีกเรื่องในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา
Tags: ปักษา วายุ, กาเหว่าที่บางเพลง, Ten Years Thailand, People Also Watch, หนังไซไฟไทย, หนังไซไฟ, ตาคลี เจเนซิส