ส่วนใหญ่แล้วหนังเฮอร์เรอร์เขย่าขวัญนั้น มักสำรวจภาวะหวาดกลัว ชวนสยดสยองผ่าน ‘เรือนร่าง’ หรือเนื้อตัวมนุษย์ ทั้งในแง่รูปลักษณ์บิดเพี้ยนอย่าง The Fly (1986) ว่าด้วยร่างกายของชายคนหนึ่งที่ค่อยๆ กลายเป็นแมลงวัน หรือในหนังของพระบิดาภาพยนตร์ body-horror อย่าง เดวิด โครเนนเบิร์ก (David Cronenberg) ผู้ที่ซึ่งจะว่าไปแล้ว หนังของเขาเกือบทุกเรื่องก็พูดถึงประเด็นเหล่านี้ หรือ The Thing (1982) โคตรหนังสัตว์ประหลาดในตำนานโดย จอห์น คาร์เพนเทอร์ (John Carpenter) กับการชำแหละให้เห็นความ ‘แหวะ’ ของเรือนร่างสิ่งมีชีวิต รวมทั้ง Slither (2006) หนังชวนอึ๋ยของ เจมส์ กันน์ (James Gunn) เล่าถึงมนุษย์ต่างดาวที่ชอนไชร่างกายมนุษย์จนสภาพบิดเบี้ยวและโป่งพอง
กระนั้น องค์ประกอบอีกประการที่มักปรากฏในหนังเฮอร์เรอร์เหล่านี้คือ ‘คนตั้งครรภ์’ อะไรทำให้สภาวะเจริญพันธุ์และถูกสังคมให้ความหมายในแง่บวก ไม่ว่าจะเชิงความอุดมสมบูรณ์ของร่างกายหรือในความหมายเชิงสังคมเมื่อหมายถึงการสร้างครอบครัว ถูกทำให้เป็นเรื่องน่าสยองได้
บทความ Pregnancy in the Horror Film: Reproduction and Maternal Discourses (2013) โดย ซาราห์ อาร์โนลด์ (Sarah Arnold) เสนอไว้ว่า “ร่างที่ตั้งครรภ์เป็นร่างที่อยู่ร่วมเป็นหนึ่งและแยกจากในเวลาเดียวกัน ร่างกายของผู้หญิงถูกแยกออก ผู้หญิงจึงมีสถานะเป็นอื่น (Alienated) กับร่างกายของเธอเอง”
ทำให้ Immaculate (2024) คือหนังเฮอร์เรอร์ลำดับล่าสุดที่ถ่ายทอดภาวะความหลอนหลอกผ่านตัวละครหญิงและการตั้งครรภ์ เซซิเลีย (แสดงโดย ซิดนีย์ สวีตนีย์) นักบวชหญิงที่ออกเดินทางไปบวชยังสำนักชีเก่าแก่แห่งหนึ่งในอิตาลี กิจวัตรประจำวันของเธอและเหล่านางชีรุ่นเยาว์ คือการดูแลนางชีชราภาพ อธิษฐานให้ทุกคนรวมทั้งตัวเองเดินทางไปหาพระผู้เป็นเจ้าในบั้นปลายชีวิต หากแต่เซซิเลียพบว่า ชีวิตในสำนักชีรายล้อมด้วยความผิดปกติบางอย่าง ไม่ว่าจะสายตาริษยาของนางชีรุ่นพี่ เรื่องราวซุบซิบจากเพื่อนที่ดูเหมือนจะเข้ามาพำนักในที่แห่งนี้เพราะสะดวกสบายกว่าอยู่ข้างถนน รวมทั้งเสียงกรีดร้องลึกลับที่เธอได้ยินยามค่ำคืน จะมีก็เพียงบาทหลวง เทเดสซี (แสดงโดย อัลวาโร มอร์เต) เท่านั้นที่คอยให้กำลังใจเธอ
กระทั่งวันหนึ่ง เซซิเลียถูกตรวจพบว่าตั้งครรภ์ซึ่งนับเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับนางชีที่สาบานตนว่าจะอยู่อย่างถ่อมตน เชื่อฟังพระเจ้า และรักษาพรหมจรรย์ หลังจากเธอยืนกรานว่าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ สำนักชีจึงตระหนักว่าเซซิเลีย คือพระนางมารีย์พรหมจารี (Virgin Mary) คนต่อไป และเฝ้าทะนุถนอมทารกในครรภ์ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นเยซูคริสต์กลับมาเกิด แต่เซซิเลียกลับยิ่งรู้สึกหวาดระแวง ยิ่งเห็นนางชีคนหนึ่งกระโดดตึกตายด้วยความผิดหวัง รวมถึงท่าทีของสำนักชีที่ห้ามไม่ให้เธอติดต่อกับโลกภายนอก นำมาสู่การค้นพบความลับอันแสนน่าสะพรึงของสำนักนางชีแห่งนี้ เพราะแท้จริงแล้ว ต้นธารทั้งหมดมาจากการทดลองอำมหิตเพื่อจะสร้างบุตรแห่งพระเจ้าขึ้นมาอีกหน
Immaculate เป็นงานกำกับลำดับล่าสุดของ ไมเคิล โมฮาน (Michael Mohan) คนทำหนังที่ร่วมงานกับสวีตนีย์มาตั้งแต่ซีรีส์ Everything Sucks! (2018) และ The Voyeurs (2021) และยังเป็นหนังเรื่องแรกที่สวีตนีย์นั่งแท่นโปรดิวเซอร์เต็มตัว โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 เธอเคยออดิชันเพื่อรับบทนางชีเซซิเลีย แต่โปรเจกต์ดังกล่าวไม่ได้รับการพัฒนา และกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ๆ ที่สวีตนีย์ตั้งใจว่าหากเธอมีกำลังมากพอก็จะ ‘ปั้น’ หนังเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
กว่าค่อนเรื่อง หนังจับจ้องไปยังเซซิเลียตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ไปจนถึงช่วงใกล้คลอด เราเห็นเธอแพ้ท้อง เคลื่อนไหวลำบากและเชื่องช้า ยิ่งเมื่อหนังเดินทางมาถึงจุดที่เต็มไปด้วยการออกล่าและการหนีเอาตัวรอด (ซึ่งหนังไม่ปิดบังแต่อย่างใดว่าเธอคือเหยื่อ) การเฝ้ามองคนท้องโตกระเสือกกระสนหนีเอาชีวิตรอดจึงชวนให้หายใจไม่ทั่วท้องอย่างยิ่ง
ทั้งหนังและการแสดงของสวีตนีย์ยังทำให้สัมผัสถึงความเจ็บปวดที่ร่างกายตัวละครต้องเผชิญ โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ชะตากรรมของตัวละครหนักหน่วงเสียจนคิดว่าต่อให้เป็นร่างกายที่สมบูรณ์และเคลื่อนไหวคล่องแคล่วดีก็คงยากจะรอดชีวิตออกมาได้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ตลอดทั้งเรื่องเธอใช้ชีวิตในแวดล้อมอันแปลกแยก เมื่อตัวเธอพูดภาษาอิตาลีไม่คล่อง ถูกจ้องมองอย่างชิงชังหรือเป็นอื่นเรื่อยมา คนดูจึงเฝ้าดูตัวละครถูกโบยตีและกระทำในนามของความศักดิ์สิทธิ์และพระผู้เป็นเจ้าตลอดครึ่งเรื่องหลัง
กระนั้น สิ่งที่น่าสนใจ คือท่าทีที่หนังมองว่าสำนักชีและเหล่าคนในศาสนามองว่าผู้หญิงเป็นเพียง ‘ภาชนะ’ ในการให้กำเนิดเท่านั้น ต่อให้นางชีเหล่านี้ยินยอม (แบบเดียวกับนางชีรุ่นพี่ที่คาดหวังให้พวกเขาทดลองกับร่างกายเธออีกครั้ง) แต่หากเธอไม่ประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดเด็ก พวกเธอก็ไร้ความหมาย เซซิเลียที่ตั้งครรภ์ได้และมีพื้นเพเหมาะสม (เธอใกล้ตายและรอดกลับมาอย่างปาฏิหาริย์ จนเชื่อว่าเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า) ทำให้พวกเขาเชื่อว่า จุดประสงค์ที่เธอยังมีชีวิตมาได้คือการตั้งครรภ์ให้เยซู เซซิเลียและนางชีคนอื่นๆ จึงไม่มีความหมายอันใดนอกเหนือไปเสียจากการเป็นทางผ่านหรือภาชนะรองรับการถือกำเนิดของบุตรแห่งพระเจ้าในสายตาพวกเขา
ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าโมฮานได้รับอิทธิพลของหนังเฮอร์เรอร์ยุค 70s มาพอสมควร โดยเฉพาะ Rosemary’s Baby (1968) หนังอันอื้อฉาวของ โรมัน โปลันสกี (Roman Polański) ที่ว่าด้วยผู้หญิง การตั้งครรภ์ และการช่วงชิงพื้นที่ระหว่างพระเจ้ากับซาตานเช่นกัน เรื่องของกาย (แสดงโดย จอห์น คาสซาเวเตส) กับโรสแมรี (แสดงโดย มีอา ฟาร์โรว์) คู่รักที่ย้ายเข้ามาอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของเก่าเพิ่งตายลง หากแต่สภาพแวดล้อมทุกอย่างก็เอื้อให้อยู่อาศัย โดยเฉพาะผัวเมียคาสเตเวตอย่าง มินนี (แสดงโดย รูธ กอร์ดอน ผู้คว้ารางวัลสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์) กับโรมัน (แสดงโดย ซิดนีย์ แบล็คเมอร์) ที่แสนอัธยาศัยดีและให้ความช่วยเหลือแก่กายกับโรสแมรีทุกอย่าง ทั้งยังเอื้อเฟื้อดูแลมากขึ้นเมื่อโรสแมรีตั้งครรภ์ ถึงขั้นหาหมอมาให้และดูแลเรื่องอาหารการกินอย่างดี ทว่าโรสแมรีกลับพบว่าทุกสิ่งล้วนชวนให้หวาดระแวง และเธอเริ่มหวาดหวั่นว่าความปรารถนาดีต่างๆ เหล่านี้อาจแฝงฝังความมุ่งร้ายไว้
ยิ่งท้องแก่ โรสแมรียิ่งมีท่าทางแปลกออกไป จากหญิงสาวสดใสร่าเริงกลายเป็นคนตึงเครียด เธอเริ่มไม่ชอบใจความหวังดีของสองผัวเมียคาสเตเวต และเริ่มเฝ้าสังเกตคนรักของเธอด้วยสายตาจับผิด ด้วยท่วงทำนองการเล่าเช่นนี้ คนดูไม่อาจรู้ว่าเธอเพียงแค่หวาดวิตกไปเอง หรือมีเบื้องลึกเบื้องหลังบางอย่างเกิดขึ้นอยู่จริงในอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ บรรยากาศความอบอุ่นชวนฝันของการตั้งครรภ์จึงกลายเป็นฝันร้าย
เมื่อหนังพาคนดูไปพบกับฉากหน้าที่แท้จริงของเพื่อนบ้านผู้หวังดีและสามีของเธอซึ่งนับถือลัทธิบูชาซาตาน โรสแมรียิ่งหัวใจสลายและตกอยู่ในสภาวะเครียดเขม็งสุดขีด ดังนั้น หากว่า Immaculate พูดถึงการที่คนในศาสนาพิจารณาผู้หญิงเป็นภาชนะสำหรับการให้กำเนิดบุตร Rosemary’s Baby ก็พูดในมุมกลับ คือผู้บูชาปีศาจก็มองว่าตัวโรสแมรีเป็นเพียงคนที่ทำหน้าที่คลอดซาตานออกมาเท่านั้น (และอำมหิตกว่าด้วยซ้ำหากเราพินิจว่า กายคือคนในลัทธิที่ทำให้เธอตั้งครรภ์เพื่อให้กำเนิดปีศาจ)
แน่นอนว่าหนังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหูโดยเฉพาะการหยิบประเด็น Antichrist มาบอกเล่า ซึ่งปลายยุค 60s ถือเป็นเรื่องใหญ่และชวนขนหัวลุก ยิ่งฉากจบอันลือลั่นที่มีอาเดินถือมีดเข้าใกล้ตัวเด็กแรกเกิดในท่าทีประทุษร้าย แต่เมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ เธอกลับตัดสินใจไกวเปลกล่อมลูกนอนหลับ ซึ่งถูกตีความไปต่างๆ นานาว่าถึงที่สุด โรสแมรีอาจยอมรับว่าเธอหลอนไปเอง เธออาจยอมเข้าลัทธิบูชาซาตาน หรือแม้แต่การที่สัญชาตญาณความเป็นแม่แข็งแรงกว่าสิ่งอื่นใดทั้งมวล ฯลฯ
อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเนืองๆ คือ Mother! (2017) หนังเฮี้ยนโลกแตกของ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ที่เข้าชิงรางวัล ‘สุดห่วย’ หรือราสซีอวอร์ด (The Golden Raspberry Awards) 3 สาขา ได้แก่ กำกับยอดแย่ (อาโรนอฟสกีเองจ้า) นักแสดงนำหญิง (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) และนักแสดงสมทบชายยอดแย่ (ฆาเบียร์ บาเด็ม) หนังจับจ้องไปยังเรื่องราวของสองผัวเมีย เขา (บาร์เด็ม) กวีที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะตีบตันคิดงานไม่ออก อาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่กลางทุ่งไร้ผู้คนกับ หล่อน (ลอว์เรนซ์) เมียรักที่มักตบแต่งดูแลบ้านให้สวยงามเสมอ
วันหนึ่งมีชายแปลกหน้าเข้ามาขอค้างแรมในบ้าน ตามมาด้วยหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นเมีย ทั้งสองอาศัยอยู่ในบ้านด้วยกันโดยไม่ถามชื่อเสียงเรียงนาม หล่อนเริ่มไม่พอใจแต่ก็ยอมตามใจผัวที่เปิดประตูให้คนแปลกหน้าเข้ามาอยู่ในบ้านเรื่อยๆ มิหนำซ้ำลูกชายสองคนของชายหญิงแปลกหน้ายังตามเข้ามาในบ้าน และทะเลาะกันจนเลือดตกยางออกต่อหน้าต่อตาของทุกคน
ระหว่างนั้นบ้านทั้งหลังก็ดูเหมือนเริ่มทรุดโทรม หล่อนต้องตามเช็ดเลือดที่ซึมออกจากตัวบ้านอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ต้องรับมือกับแมลงและกบที่ดาหน้าถาโถมเข้ามาในบ้าน บ้านหลังงามที่เธอเฝ้าทะนุถนอมกลายสภาพเป็นที่ซุกหัวนอนอัปลักษณ์ที่หล่อนไม่คุ้นเคยอีกต่อไป หล่อนจึงต่อว่าเขาที่เปิดบ้านให้คนแปลกหน้าเข้ามาอาศัยอยู่เรื่อยๆ ทว่าการทุ่มเถียงครั้งนั้นก็ลงเอยด้วยการร่วมรักอย่างเผ็ดร้อน ท้ายที่สุดหล่อนก็ตั้งครรภ์
ทั้งนี้ อาโรนอฟสกีไม่ได้จับจ้องไปยังช่วงเวลาที่หล่อนตั้งท้องนานนัก เพราะประเด็นสำคัญของหนังอยู่ที่ช่วงเวลาหลังจากนั้นมากกว่า กล่าวคือเมื่อหล่อนให้กำเนิดบุตร ก็พบว่ามีคนจำนวนมากอยากเห็นตัวทารก ทั้งยังล้ำเส้นไปสู่การอยากครอบครองเป็นเจ้าของ โดยมีสายตาของเขาเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้อย่างพึงใจขณะที่หล่อน—ที่ร่างกายยังบอบช้ำจากการให้กำเนิด—ตะเกียกตะกายต่อสู้สุดชีวิตเพื่อปกป้องลูกตัวเอง
พ้นไปจากเรื่องการแสดงอันแสนเฮี้ยนของลอว์เรนซ์ที่แทบจะแลกชีวิตแสดงในองก์สุดท้ายของหนัง Mother! ก็พูดถึงความเป็นแม่กับคริสต์ศาสนาเช่นกัน เมื่อเรื่องราวล้วนเทียบเคียงเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้ ไม่ว่าจะเป็นเขาในฐานะพระเจ้า บ้านคือสวนอีเดน สองพี่น้องคาอินกับอาเบลและข้อพิพาทของพวกเขาในไบเบิล ตลอดจนฝูงกบและแมลงคือภัยพิบัติตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ หนังยังจับจ้องไปยังความเจ็บปวดอันแสนสาหัสของเรือนร่างหล่อนที่เพิ่งให้กำเนิดบุตรและถูกทำร้ายปางตาย ผู้หญิงใน Mother! จึงไม่ได้แค่เจ็บปวดจากการตั้งครรภ์ แต่ยังฉายให้เห็นภาพความเจ็บปวดหลังร่างกายให้กำเนิดมนุษย์ด้วย
Devil’s Due (2014) คือหนังอีกเรื่องที่ใช้ภาวะการตั้งครรภ์เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ พระเจ้า และปีศาจ หนังทุนต่ำเพียง 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ทำรายได้ถึง 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านฟาวด์ ฟุตเทจที่คู่รัก แซค (แสดงโดย แซค กิลฟอร์ด) กับ ซาแมนธา (แสดงโดย อัลลิสัน มิลเลอร์) บันทึกกันและกันไว้ ทั้งสองออกไปเที่ยวฮันนีมูนหลังแต่งงานที่สาธารณรัฐโดมินิกันและเจอคนขับแท็กซี่ลึกลับ ก่อนจะฟื้นขึ้นมาที่โรงแรมแบบจำอะไรไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ซาแมนธาพบว่าเธอตั้งครรภ์ แซคจึงตั้งใจบันทึกวิดีโอของภรรยาตั้งแต่ยังตั้งท้องอ่อนๆ ไว้ โดยไม่รู้เลยว่ามันได้กลายเป็นบันทึกพฤติกรรมแปลกประหลาดของซาแมนธา ทั้งอาการก้าวร้าวฉุนเฉียว กินเนื้อแม้กินมังสวิรัตมาหลายปี และมักหลอนว่าถูกจับตามองอยู่เนืองๆ
หนังเล่าความสยดสยองผ่านร่างกายที่กำลังตั้งครรภ์ของซาแมนธา ทั้งการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้อย่างใจ อาการแพ้ท้องรุนแรงหนักหน่วง เหนือสิ่งอื่นใดคือหนังไม่ปิดบังว่าสิ่งที่อยู่ในครรภ์เธอนั้นไม่ปกติ เพราะหลายฉากกล้องจับจ้องไปยังหน้าท้องโป่งนูนผิดรูป เหนือสิ่งอื่นใดคือฉากที่ตัวละครทำร้ายตัวเองอันแสนชวนสยดสยอง ซึ่งการที่หนังใช้ฟาวด์ ฟุตเทจเล่าเรื่องตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งยิ่งขับเน้นความน่ากลัวและความรู้สึกชิดใกล้ระหว่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนดู กับความผะอืดผะอมและชวนขนลุกของลัทธิต่อต้านคริสต์ศาสนาที่ต้องใช้ทารกเป็นตัวกลางในการทำพิธี
สภาวะการตั้งครรภ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นภาวะที่ละเอียดอ่อน ร่างกายเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงกลืนกลาย ทั้งเป็นหนึ่งเดียวและเป็นอื่นต่อสิ่งที่อยู่ในครรภ์ จึงไม่น่าแปลกใจหากว่าภาพยนตร์เฮอร์เรอร์จะหยิบเอาภาวะเหล่านี้มาขยายเพื่อร้อยเรียงเป็นเส้นเรื่อง สำรวจความขนหัวลุกผ่านช่วงเวลาแห่งความตายกับการให้กำเนิดเช่นนี้
Tags: People Also Watch, หนังผีเกี่ยวกับแม่, Immaculate, หนังผี