Saltburn (2023) หนังยาวลำดับล่าสุดของ เอเมอนัลด์ เฟนเนลล์ (Emerald Fennell) น่าจะนับเป็นหนึ่งในหนังที่ได้รับเสียงวิจารณ์ ‘อื้ออึง’ มากที่สุดเรื่องหนึ่ง หลังออกฉายทางสตรีมมิง Prime Video ทั้งในแง่เนื้อเรื่องวาบหวามอ่อนไหวของเด็กหนุ่มสองคน การแสดงอันละเมียดและเด็ดขาดของเหล่านักแสดงนำ ไปจนถึงงานภาพสุดอลังการที่เก็บบรรยากาศดำมืดและเปราะบาง ซึ่งเป็นธีมสำคัญของหนังไว้ได้ครบถ้วนด้วยฝีมือของ ไลนัส แซนด์เกร็น (Linus Sandgren) ผู้กำกับภาพชาวสวีเดน ผู้เคยคว้าออสการ์จาก La La Land (2016) มาแล้ว

เรื่องราวว่าด้วยความสัมพันธ์ของ โอลิเวอร์ (แสดงโดย แบร์รี คีโอแกน) และเฟลิกซ์ (แสดงโดย เจคอบ อีลอร์ดี) นักศึกษาหนุ่มที่เจอกันในรั้วมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดช่วงปี 2006 โอลิเวอร์เป็นนักเรียนทุนที่ดูเฉิ่มเชยไร้เพื่อน ขณะที่เฟลิกซ์เป็นเด็กที่โตมาจากครอบครัวมหาเศรษฐีที่ดูเหมือนจะสืบสายเลือดขุนนางเก่าแก่ของอังกฤษ รูปหล่อ และได้รับความนิยมมหาศาลในกลุ่มเพื่อน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่งอกเงยขึ้น เมื่อโอลิเวอร์ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเฟลิกซ์ในวันที่เขาตกที่นั่งลำบากเพราะจักรยานพัง ปิดเทอมฤดูร้อน เขาจึงชวนโอลิเวอร์มาพำนักที่คฤหาสน์หลังงามของครอบครัว โอลิเวอร์จึงได้เจอกับ เซอร์เจมส์ (แสดงโดยริชาร์ด อี แกรนต์) พ่อหัวอ่อนของเฟลิกซ์กับ เลดี้ เอลสปิต (แสดงโดย โรซามันด์ ไพค์) แม่ผู้อ่อนโยน หยิบหย่ง และเอาแน่เอานอนไม่ได้ 

ทำให้ตัวหนังสำรวจความกลวงเปล่าและอ่อนแอของเหล่าคนรวยที่ผลาญเวลาแต่ละวันไปกับเรื่องซุบซิบ ปาร์ตี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด และความสัมพันธ์แสนฉาบฉวย ด้านหนึ่งจึงมีน้ำเสียงคล้ายหนัง Parasite (2019) ที่ว่าด้วยชีวิตไม่ติดดินของเหล่าคนรวยผ่านสายตาคนจน กระทั่งเมื่อหนังเดินทางมาถึงครึ่งหลัง ก็กลายเป็นหนังทริลเลอร์อำมหิตโดยสมบูรณ์

แซนด์เกร็นจับจ้องไปยังความฟุ้งฝัน อ่อนไหว และคาดเดาไม่ได้ของคนหนุ่มสาว งานภาพของเขาจึงมักเล่นอยู่กับแสงเงา ทั้งเรือนร่างของตัวละครกับแสงจัดจ้าที่แทบจะเป็นจุดเด่นของหนัง บอกเล่าความเพ้อพกและความไม่จริงบางประการ หรือเงาดำและสีหม่นครึ้มชวนให้นึกถึงความขึ้นๆ ลงๆ ของตัวละคร ตลอดจนภาพสะท้อนจาก ‘กระจก’ ที่เป็นเสมือนถ้อยแถลงจากหนังเพื่อจะบอกเล่าบุคลิกซับซ้อนของตัวละคร

กล่าวสำหรับตัวแซนด์เกร็น เขาเกิดและโตในสวีเดน หมกมุ่นหลงใหลกับภาพยนตร์มาตั้งแต่วัยรุ่นด้วยการไล่กระหน่ำดูหนังแอ็กชันเป็นตับ โดยเฉพาะหนังแฟรนไชส์สายลับ 007 สำหรับเขา ภาพจำสายลับชาวอังกฤษที่แม่นยำที่สุดคือเวอร์ชันที่ โรเจอร์ มัวร์ (Roger Moore) แสดง

 ความหลงใหลนี้ยังส่งผลให้เขาอยากเติบใหญ่เป็นคนทำหนังบ้าง หากแต่ชีวิตก็หักเหให้เขาเข้าเรียนกราฟิกดีไซน์และทำงานเป็นผู้ช่วยโปรดักชันในกองถ่ายเล็กๆ ที่บ้านเกิด แล้วจึงจับพลัดจับผลูได้จับกล้องเป็นผู้กำกับภาพเรื่องแรกจาก Systrar (2000) หนังสัญชาติสวีเดน นับแต่นั้น การเดินทางของเขาในฐานะผู้กำกับภาพก็เริ่มต้นขึ้น และอีก 17 ปีต่อมา เขาคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ได้

ทั้งนี้ Saltburn คือหนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมงานกับเฟนเนลล์ ทั้งคู่มองว่า Saltburn ควรให้บรรยากาศเหมือนหนังแวมไพร์ ในความหมายการเล่นกับความดำมืดของบรรยากาศโดยรอบ (เช่น คฤหาสน์ของเฟลิกซ์และเขาวงกตชวนสยอง) และตัวละคร บวกกับบทที่แซนด์เกร็นสะดุดตาตั้งแต่ได้อ่านครั้งแรก 

“ตัวละครพูดขึ้นมาตั้งแต่แรกว่า ‘ถามว่าผมรักเขาไหมน่ะเหรอ’ ทำให้ผมสนใจขึ้นมาทันที บทหนังเขียนมาดีมากๆ และบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ่วน ค่อยๆ เปิดเผยความจริงทีละชั้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” แซนด์เกร็นว่า “และบทหนังก็ให้ภาพชัดมาตั้งแต่แรกผมจึงทำงานง่ายขึ้นมาโข แต่ก็ยังยั้งตัวเองไม่ให้หลุดไปอยู่ในรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกเขียนมานั้นมากไปเพราะต้องเล่าเรื่องผ่านภาษาภาพด้วย ผมจึงเล่นประเด็นนี้ผ่านแสงเป็นสำคัญ”

พื้นที่เป็นปัจจัยหลักอีกประการที่แซนด์เกร็นใช้เล่าเรื่อง ความเก่าแก่ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ตัวละครศึกษาอยู่ช่วยขับเน้นความขรึมขลังและความเป็นอื่นที่ตัวละครโอลิเวอร์เผชิญ “บานหน้าต่างมีลักษณะเหมือนลูกกรง แล้วมันเป็นหน้าต่างบานยักษ์ สไตล์โกธิคและเก่าแก่เหลือเกิน ยิ่งทำให้เราหยิบมาใช้เล่าเรื่องได้ดี ยิ่งกับแสงที่สาดลอดเข้ามาทางหน้าต่างยิ่งทำให้โอลิเวอร์ดูโดดเดี่ยวอย่างที่เราเห็นจากหลายๆ ฉาก

“อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง Saltburn เราอยากให้คนดูรู้สึกว่ามีความลับใหญ่โตบางอย่างที่ถูกเก็บงำไว้อยู่ ไม่มีทางรู้ได้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป สิ่งที่ปรากฏให้เห็นจึงไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ตามปกติ ชวนให้คนดูสงสัยว่าบ้านของเฟลิกซ์อาจจะมีผีสิง กระนั้น ช่างเป็นบ้านเงียบสงบ เก่าแก่และน่าอยู่เหลือเกิน

ท่ามกลางความหมดจดงดงามของงานภาพ แซนด์เกร็นยังทำให้ ‘ความงาม’ เหล่านั้นปนเปื้อนไปด้วยความรู้สึกชวนขยะแขยงน่ารังเกียจ อันจะเห็นได้จากฉากอันอื้อฉาวเมื่อโอลิเวอร์ดื่มน้ำจากอ่างอาบน้ำที่เฟลิกซ์ใช้ (!!) หรือเมื่อเขาตัดสินใจดื่มกินเลือดเสียจากหญิงสาว ทั้งหมดนี้ขับเน้นความเพี้ยนผิดปกติรุนแรงของตัวละครเท่ากันกับที่สร้างบรรยากาศชวนขนหัวลุกและเอาแน่เอานอนไม่ได้ให้คนดู 

“ส่วนหนึ่งของความงามคือความน่ารังเกียจ และผมก็นึกถึงภาพวาดบาโรก (Baroque) ซึ่งบ่อยครั้งมักวาดความอัปลักษณ์ออกมาให้ดูสวยงาม และอยากให้เราเพ่งมองมันต่อไปเรื่อยๆ เหมือนคุณยืนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็รู้สึกว่า ‘ว้าว นี่เหลือเชื่อจริงๆ หล่อนถือหัวของหมอนั่นอยู่จริงหรือเนี่ย ตัดขาดในดาบเดียวเลยหรือเปล่านะ เอ่อ จะว่าไปมันก็น่ากลัวอยู่นะเนี่ย แต่ก็สวยจัง’ อะไรทำนองนั้น”

ซึ่งภาพวาดบาโรกที่แซนด์เกร็นอ้างอิงถึงคือ Judith Slaying Holofernes ภาพวาดในศตวรรษที่ 17 โดย อาร์เตมีเซีย เจนตีเลสกี (Artemisia Gentileschi) จิตรกรชาวอิตาลี โดยภาพนี้นับเป็นหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเจนตีเลสกี 

“แม้ในภาพจะบรรยายถึงความอำมหิต หากแต่มันก็น่าจดจำมากเลยใช่ไหมล่ะครับ” แซนด์เกร็นกล่าว “และผมว่านั่นแหละคือความรู้สึกที่เราอยากให้อยู่ในหนังของเรา ความรู้สึกที่ว่าคุณอาจเห็นบางสิ่งที่ยากจะมองแต่ก็อดไม่ได้อยู่ดี และเราก็ให้โอกาสคนดูได้ตัดสินใจว่าจะชอบมันหรือไม่”

ในทางตรงกันข้าม หนังที่เต็มไปด้วยภาพอันฟุ้งฝันแต่สดใสและชวนให้มองของแซนด์เกร็น คือ La La Land หนังซึ่งเข้าชิงออสการ์ 14 สาขา โดย ดาเมียน ชาเซลล์ (Damien Chazelle) และนับเป็นหนังเรื่องแรกที่เขากับแซนด์เกร็นร่วมงานกันจนกลายเป็น ‘ขาประจำ’ กันในเวลาต่อมา 

“ดาเมียนเล่าให้ผมฟังว่า หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับคนที่มีความฝันและการไล่ตามความฝันนั้น” เขาบอก “ใน La La Land ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญคือต้องทำเหมือนว่ากล้องเป็นตัวละครที่สามประจำฉากนั้นๆ ไปเลย เพราะดาเมียนอธิบายให้ผมฟังว่า กล้องควรจะเคลื่อนไหวไปในลักษณะเดียวกันกับที่ตัวละครร่ายรำ และเมื่อตัวละครแสดงอารมณ์บางอย่าง กล้องก็ต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วย”

ตัวหนังเล่าถึงคู่รักหนุ่มนักเปียโน เซบาสเตียน (แสดงโดย ไรอัน กอสลิง – ชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากออสการ์) กับสาวนักแสดง มีอา (แสดงโดย เอ็มมา สโตน – คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากออสการ์) ที่การไล่ตามความฝันของทั้งคู่กลายเป็นต้นธารที่ทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉาน แน่นอนว่าพล็อตเรื่องนั้นแสนเรียบง่าย ทว่าชาเซลล์ก็มีวิธีถ่ายทอดที่ทำให้แสนกินใจ และกลายเป็นหนึ่งในหนังรักที่ว่าด้วยการเติบโตที่งดงามมากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยหนังได้รับคำชื่นชมมหาศาลในแง่ของการจับจ้องไปยังสหรัฐฯ – ดินแดนแห่งการล่าฝันที่ดูร่วมสมัย, การแสดงน่าจดจำและฉากลองเทกมหากาพย์บ้าพลัง 

แซนด์เกร็นยกตัวอย่างฉากเปิดที่ถ่ายเป็นภาพกว้างที่กล้องเลื่อนจับขบวนรถติดยาวเหยียดบนทางด่วน ซึ่งเขาได้อิทธิพลมาจากจังหวะการเคลื่อนกล้องของ วิตโตริโอ สโตราโร (Vittorio Storaro) ผู้กำกับภาพชาวอิตาลีจาก The Conformist (1970), Reds (1981) และ Apocalypse Now (1979) ที่กล้องกลายเป็นตัวละครหนึ่งที่สำรวจชีวิตตัวละครเช่นเดียวกันกับคนดู

เงื่อนไขความยากอีกอย่างของหนังคือการที่ La La Land เป็นหนังมิวสิคัล เต็มไปด้วยฉากที่ตัวละครเต้นรำและเคลื่อนไหวเกือบตลอดเวลา ไม่เพียงแต่นักแสดงต้องไปเรียนเต้นอยู่ 3 เดือนเป็นอย่างต่ำเท่านั้น แต่ทีมงานหลักๆ อย่างแซนด์เกร็นก็ต้องฝึกหาทาง ‘เข้าจังหวะ’ กับเหล่านักแสดงด้วย 

“ยกตัวอย่างคือ เราต้องใช้เวลาซ้อมกันอยู่สองวันในสถานที่จริงเพื่อจะถ่ายฉากเปิดที่ว่าก่อนจะลงมือถ่ายทำจริงๆ ตอนแรก เราใช้โทรศัพท์ไอโฟนถ่ายก่อน แล้วค่อยใช้เครนเทเลสโคปเข้าช่วย ก็พบปัญหาเรื่องเงาเพราะอย่างที่เรารู้ๆ กันว่าแดดมันจ้าขนาดไหน” เขาบอกอย่างอ่อนใจ 

“อีกอย่างคือกล้องเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างที่เราคิดเท่าไร เราต้องระดมหัวสมองหาทางแก้ปัญหาจ้าละหวั่นถึงได้เอาเครนมาใช้ แต่ก็พบว่ามันอยู่สูงเกินไปมาก เราเลยจับมันใส่รถ บล็อกกิงกลางลานจอดรถแล้วให้ดาเมียนคุมกล้อง ผมคุมเครน เราจะได้เห็นว่าเครนควรเคลื่อนตัวไปทางไหนและทำงานกับบรรดารถยนต์กับตัวละครอย่างไร แต่ก็พบว่ามันสร้างเงาปื้นใหญ่เพราะเราเคลื่อนตัวได้ 360 องศา ไปหน้ากลับหลัง ขึ้นและลงได้ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเราดึงดันจะถ่ายเป็นลองเทก ก็เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะสร้างเงาตกกระทบบนตัวละครและนักเต้น

“นี่แหละคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราต้องแยกซีนออกเป็นสองท่อน ส่วนสุดท้ายถ่ายด้วยกล้องสเตดีแคมร่วมกันเครน เพราะเราต้องถ่ายลดเลี้ยวไปตามรถ มีจักรยานกระโจนข้ามมา ไหนจะฮูลาฮูปแล้วก็พ่อหนุ่มปาร์กัวร์อีกต่างหาก”

ฉากตัวละครหลักทั้งสองยืนอยู่บนยอดเขาที่แซนด์เกร็นต้องเจออุปสรรคใหญ่อย่าง การที่แทบไม่มีพื้นที่ให้กล้องได้เคลื่อนไหว ถนนแคบแต่กล้องต้องจับภาพกว้าง และแทบไม่มีแสงจากไฟสาธารณะข้างทางจนเขาถ่ายทำอะไรไม่ได้ (ทีมงานแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างเสาไฟจำลองขึ้นมาเอง) 

“ดาเมียนอยากให้ถ่ายเป็นลองเทกแบบไม่ต้องตัดออกเลย ทางแก้ปัญหาเดียวคือเราต้องถ่ายออกมาให้ได้ม้วนเดียวจบ และเริ่มถ่ายทำกันตอนหนึ่งทุ่ม อัดไปเลยหกเทก เราไปเลือกอีกทีตอนตัดต่อหนังครั้งสุดท้าย คุณจะเห็นเลยว่าท้องฟ้าสีชมพูค่อยๆ เปลี่ยนเป็นส้มและค่อยๆ เป็นสีโทนเย็นขึ้นเรื่อยๆ” เขาเล่า (เพื่อจะให้สีชุดของ เอ็มมา สโตน นักแสดงนำของเรื่องไม่จมหายไปกับฉากหลัง แซนด์เกร็นเล่าว่า ทีมคอสตูมต้องหาชุดสี ‘เหลืองพิเศษ’ มาให้เธอสวม)

Babylon (2022) คือหนังอีกเรื่องที่แซนด์เกร็นร่วมงานกับชาเซลล์ และผลักความทะเยอทะยานไปอีกขั้นด้วยการถ่ายด้วยฟิล์ม 35 มิลลิเมตร โดยตัวหนังเล่าถึงฮอลลีวูดยุค 1920s และการเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบมาสู่หนังเสียง เนลลี (แสดงโดย มาร์โกต์ ร็อบบี) นักแสดงสาวปลายแถวมีโอกาสไต่เต้าขึ้นมาเป็นดาราดังโดยมี แมนนี (แสดงโดย ดีเอโก กัลบา) เพื่อนชายสัญชาติเม็กซิกันคอยเฝ้ามองอย่างชื่นชมทุกย่างก้าว พร้อมกันกับที่เขาก็ค่อยๆ เข้าไปอยู่ในแวดวงฮอลลีวูด โดยการทำงานเป็นคนขับรถให้ แจ็ก (แสดงโดย แบรด พิตต์) ดาวดังหนังเงียบที่เริ่มเห็นเค้าลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยซึ่งอาจทำให้เขาไม่เหลือที่ยืนอีกต่อไป

“ตอนดาเมียนกับผมคุยกัน เขาชัดเจนมากว่าไม่อยากให้ Babylon เป็นหนังพีเรียดทั่วไปที่พอย้อนยุคแล้วทุกอย่างดูสวยสดไปหมด” แซนด์เกร็นบอก “แต่เขาอยากให้มันตรงกันข้ามจากนั้นเลย คือค่อนไปทางจลาจล เหมือนละครสัตว์แสนวุ่นวายซึ่งเราจะเห็นความสกปรกเละเทะจากสิ่งที่ตัวละครพบเจอ ผ่านกล้องที่ต้องดูมีชีวิตและมองทุกสิ่งด้วยสายตาสำรวจใคร่รู้ คล้ายว่ากล้องเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่วิ่งพล่านเฝ้ามองเหตุการณ์ต่างๆ ไปทั่วและเชื่อมร้อยกับตัวละคร”

ต้นแบบในใจของชาเซลล์กับแซนด์เกร็นคือหนังอย่าง La Dolce Vita (1961), Nashville (1975) และ The Godfather (1972) โดยเฉพาะ Boogie Nights (1997) หนังของ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson) คนทำหนังขวัญใจชาเซลล์ ที่ตัวหนังว่าด้วยเรื่องราวเบื้องหลังอุตสาหกรรมฮอลลีวูด 

“ผมเลยตั้งใจให้งานวิชวลมันโดดเด่นมากๆ และดิบมากๆ ด้วยเหมือนกัน ใช้สีสันในฉากและเสื้อผ้าเยอะๆ โดยต้องเป็นสีที่ดูแล้วชวนขัดแย้งกันยิ่งกว่าหนังเรื่องไหนๆ ที่ผมเคยทำมาอีก ผมกับดาเมียนเห็นตรงกันว่า ควรจะถ่ายหนังด้วยกล้อง 35 มิลลิเมตร เพราะเราต่างรู้สึกว่ามันเป็นวิธีที่สัตย์จริงที่สุดในการจะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้”

“ผมพบว่าตอนเจอนักแสดงเป็นครั้งแรก ช่วงก่อนเริ่มถ่ายทำ พอพวกเขารู้ว่าเราจะถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม ทุกคนก็ดูตื่นเต้นและสุขใจมากๆ ผมก็เล่าให้พวกเขาฟังว่า การถ่ายด้วยฟิล์มเจ๋งแค่ไหน และทุกคนก็ชอบใจเอามากๆ เพราะแน่ละว่าทุกอย่างดูดีขึ้นเมื่ออยู่บนฟิล์ม แต่ก็นะ อีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่าพอถ่ายด้วยฟิล์มแล้วทุกคนดูมุ่งมั่นตั้งใจมากขึ้น เหมือนพอสั่ง ‘แอ็กชัน’ แล้วทุกคนก็เงียบกริบ เพราะอย่างนั้น ผมว่าการถ่ายด้วยฟิล์มก็เป็นผลดีสำหรับทุกคนนั่นแหละ”

อย่างไรก็ดี ในฐานะแฟนเดนตายของพยัคฆ์ร้าย 007 มาเนิ่นนาน การมากำกับภาพใน No Time to Die (2021) ภายใต้การกำกับของ แครี โจจิ ฟุคุนากะ (Cary Joji Fukunaga) จึงถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญของแซนด์เกร็น มิหนำซ้ำยังเป็นหนัง ‘สั่งลา’ บทบาท เจมส์ บอนด์ ของนักแสดงชาวอังกฤษ แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig) อีกด้วย โดยหนังเล่าถึงช่วงเวลาที่บอนด์หวังจะใช้ชีวิตหลังเกษียณในจาไมกา แต่กลับถูกเรียกตัวมาทำภารกิจโดยด่วนเพื่อยับยั้งอันตรายที่จะส่งผลต่อคนทั้งโลก



ทั้งนี้ แฟรนไชส์บอนด์ก็ขึ้นชื่อเรื่องงานกำกับภาพมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะสองภาคก่อนหน้าอย่าง Skyfall (2012) ที่เข้าชิงออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม และ Spectre (2015) ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเล่นกับแสงและเงาอย่างเหนือชั้น โดยความยากอีกขั้นของ No Time to Die คือเป็นหนังปิดฉากของบอนด์เวอร์ชันเคร็กดังที่กล่าวมา ทำให้นอกเหนือจากเล่าความระทึกขวัญและแอ็กชันแล้ว งานภาพจึงต้องเล่าถึงห้วงอารมณ์แตกสบายบางอย่างด้วย 

“ในหนังตระกูลบอนด์ งานภาพมักมีน้ำเสียงของความระทึก เขย่าขวัญ และอารมณ์ขันบ้างเป็นบางครั้ง แต่สำหรับกรณีนี้ เราอยากให้คนดูร้องไห้ด้วย” แซนด์เกร็นบอก “เรื่องสำคัญมากๆ คือเราอยากสร้างความเชื่อมโยงระหว่างงานภาพกับอารมณ์ในหนัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผมเสมอ”

“เราไม่ได้สร้างอารมณ์ความรู้สึกเพราะเราอยากสร้าง เรื่องพวกนี้มันอยู่ในสคริปต์และเรื่องตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะแครีพยายามใส่องค์ประกอบเหล่านี้เข้ามาในบทด้วย แต่ละฉาก เขาพยายามมองหาโลเคชัน บรรยากาศและช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละห้วงอารมณ์ที่เกิดขึ้นใน No Time to Die

แซนด์เกร็นยกตัวอย่างฉากเปิดเรื่องที่ เมเดลีน (แสดงโดย ลีอา เซย์ดูซ์) คนรักของบอนด์อยู่ในบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งไกลจากตัวเมือง รายล้อมด้วยหิมะ “ทั้งที่จริงๆ เราอาจจะเล่าว่า ฉากนี้เกิดขึ้นในฤดูร้อนก็ได้ แต่เราไม่ได้ทำ เพราะสำหรับเธอแล้วฤดูร้อนเต็มไปด้วยความทรงจำเจ็บปวด ประหนึ่งเป็นอดีตที่คอยหลอกหลอนเธอ ดังนั้น ฉากหลังจึงเป็นหิมะ โดดเดี่ยว อยู่ตรงไหนสักแห่งของโลก เพราะฉะนั้นแล้วในเชิงงานภาพ หนังจึงเชื่อมโยงกับภาวะที่เกิดขึ้นภายในของตัวละคร และบอกเลยว่านี่น่ะงานยากสุดๆ”

ยังไม่นับเงื่อนไขประการสำคัญที่กองถ่ายทุกแห่งเจอร่วมกันทั่วโลก อย่างเรื่องดินฟ้าอากาศ ความที่กอง No Time to Die หอบกันไปถ่ายทำที่นอร์เวย์ หวังเก็บฉากหิมะขาวโพลนสุดลูกหูลูกตา และความเฉอะแฉะ ความสกปรกของหิมะ ตลอดจนความหม่นทึมของบรรยากาศ แซนด์เกร็นก็พบว่าเมื่อถึงเวลาถ่ายทำจริง สิ่งแรกที่ทักทายพวกเขาคือแสงอาทิตย์จัดจ้าซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนัก 

“พอเราพยายามถ่ายทำทั้งที่มีแดดและลมแรงไปทั้งอย่างนั้น งานภาพออกมาเหมือนโปสเตอร์จากซานตาคลอสเลยครับ” เขาหัวเราะ “เราเจออุปสรรคเยอะแยะทีเดียว เพราะหลายครั้ง อะไรต่อมิอะไรก็ไม่เป็นใจ สุดท้ายเราก็ต้องเฝ้ารอช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ่ายทำให้ได้อย่างที่เห็นในหนังแหละ”

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีการประกาศโปรเจกต์ลำดับถัดไปของแซนด์เกร็น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์อะไร หนังยาว หนังสั้น หรือมิวสิกวิดีโอ ก็ล้วนแต่น่าจับตาทั้งสิ้น

Tags: , , , , , ,