หลังจากซัมมิต ‘ทรัมป์-ปูติน’ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียอวดโฉมอาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียงชุดใหม่ ในแบบที่กองทัพอเมริกันต้องยอมรับว่า ยังไม่มีขีดความสามารถที่จะสกัดกั้นขีปนาวุธไฮ-เทคเหล่านี้

ในคลิปวีดิโอที่รัสเซียเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม แสดงให้เห็นขีปนาวุธหลายแบบ แต่ละแบบล้วนเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าความเร็วเสียงเกิน 5 เท่าขึ้นไป อาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียงเหล่านี้ ทำให้เกิดความวิตกกันว่า รัสเซียกับสหรัฐฯ อาจเปิดเกมแข่งขันสร้างสมอาวุธอีกครั้ง ซ้ำรอยบรรยากาศยุคสงครามเย็น

ที่มาภาพ: Sergei Karpukhin / Reuters

ยิ่งกว่านั้น การแสดงแสนยานุภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย เพิ่งพบหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่กรุงเฮลซิงกิ เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม เป็นการพบปะกันที่หลายฝ่ายกังวล เพราะจนตอนนี้ สาระสำคัญของการหารือแบบสองต่อสองเป็นเวลา 2 ชั่วโมงนั้นมีอะไรบ้าง ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด

ประเด็นหลักจากซัมมิตเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่สื่อมวลชนตีข่าวครึกโครม มีเพียงว่า ทรัมป์ไม่ได้เล่นงานปูตินในเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งของอเมริกา มิหนำซ้ำ ยังตำหนินโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอเมริกันชุดก่อนๆ ว่า “โง่เขลาและบ้องตื้น”

ด้วยความที่ต่างเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ถือเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ในการเมืองโลก รัสเซียกับสหรัฐฯ จึงมีประเด็นต้องสะสางกันอยู่มาก หนึ่งในประเด็นเหล่านั้นก็คือ การควบคุมอาวุธ

ในซัมมิตครั้งนี้ ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม หรือการลงนามเอกสารใดๆ ตามมา ปูตินกับทรัมป์หยิบยกเรื่องการควบคุมอาวุธขึ้นพูดจากันบ้างหรือไม่ อย่างไร ไม่มีใครรู้ นอกจากล่ามสุภาพสตรีที่นั่งร่วมวงอยู่ด้วยเพียงคนเดียว

การอ่านและตีความเจตนาของรัฐ ต้องอาศัยข้อมูลสารพัด ตั้งแต่สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ประวัติและสถานะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร

ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของซัมมิต เมื่อรัสเซียเปิดตัวอาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง คล้อยหลังการประชุมสุดยอดในเวลาไม่ทันข้ามสัปดาห์ จึงน่าสนใจว่า รัสเซียมีเจตนาอะไร คำถามแบบนี้ ต้องรอฟังผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในที่นี้ ขอหยิบส่วนเสี้ยวเดียวเอามาเล่าสนุกๆ ดีกว่า

วิทยาการจรวด

แวดวงการทหารอเมริกันจับตาเรื่องอาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียงกันมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ปูตินแถลงนโยบายประจำปีในสภาเมื่อ 1 มีนาคม 2018

อาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง คือ ขีปนาวุธที่เดินทางด้วยความเร็วเหนือกว่าความเร็วเสียงเกิน 5 เท่าขึ้นไป ศัพท์เฉพาะเรียกว่า มัก 5 (Mach 5) นั่นหมายถึงอัตราเคลื่อนที่วินาทีละ 1.6 กิโลเมตร

นึกภาพเปรียบเทียบง่ายๆ เครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปบินเร็วต่ำกว่าความเร็วเสียง คือ ไม่ถึงมัก 1 ในขณะที่เครื่องบินรบไอพ่นทำได้ที่มัก 2 หรือมัก 3

เคล็ดลับของการทำความเร็วที่สูงขนาดนั้น อยู่ที่การพัฒนาระบบสันดาปภายในเครื่องยนต์ขับดัน จากระบบเจ็ตกลายเป็นสแกรมเจ็ต (supersonic combustion ramjet) ปูตินโอ่อวดอย่างภาคภูมิใจว่า อาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง ทำความเร็วได้ถึงมัก 20 !

อาวุธในตระกูลนี้ แบ่งเป็น 3 แบบ คือ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวด (hypersonic ballistic missile) จรวดร่อนความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง (hypersonic cruise missile) และยานร่อนความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง (hypersonic glide vehicles)

ขีปนาวุธกับจรวดร่อน ต่างกันตรงที่ว่า อย่างแรก จะเคลื่อนที่ไปตามแนววิถีหลังจากหมดแรงขับ คือ เมื่อเครื่องยนต์ขับดันหยุดทำงานแล้ว มันจะพุ่งต่อไปตามโมเมนตัมและแรงโน้มถ่วง ส่วนอย่างหลังจะมีเครื่องยนต์ทำงานโดยตลอดจนพุ่งชนเป้าหมาย

จรวดร่อนมีความร้ายกาจกว่าขีปนาวุธ เพราะจรวดร่อนสามารถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา บินเชิดบินดิ่งได้ ศัพท์เฉพาะเรียกว่า ความสามารถในการควบคุมทิศทางและระดับบิน (maneuverability)

รัสเซียมีดีต้องอวด

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม กระทรวงกลาโหมของรัสเซียนำวิดีโอการทดสอบอาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียงออกอากาศให้ประชาชนชม

อย่างแรกคือ ขีปนาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง ชื่อ Kinzhal หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Dagger (มีดสั้นสองคม) เจ้าตัวนี้มีความเร็วที่มัก 10 เริ่มนำเข้าประจำการแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนในย่านทะเลแคสเปียน วิธีใช้คือ ปล่อยจากเครื่องบินรบ มิก-31 อีกรุ่นในกลุ่มนี้คือ ขีปนาวุธข้ามทวีป ชื่อ Sarmat ทำความเร็วได้ถึงมัก 20

เครื่องบินรบ มิก-31

 

อย่างที่สอง จรวดร่อนความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง ชื่อ Burevestnik หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Storm Petrel (นกโต้คลื่น) ซึ่งเครื่องยนต์ขับดันด้วยเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

อย่างที่สาม ยานร่อนความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียง ชื่อ Avangard (ล้ำยุค) เจ้ารุ่นนี้ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ทำความเร็วถึงมัก 20 เมื่อเดือนมีนาคม ปูตินโอ่อวดถึงยานร่อนตัวนี้ด้วยน้ำเสียงประกาศศักดา

สหรัฐฯไม่มีระบบป้องกัน

พลอากาศเอก จอห์น ไฮเทน ผู้บัญชาการกองกำลังทางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ บอกกับคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาเมื่อเดือนมีนาคม หลังจากปูตินอวดอาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียงว่า สหรัฐฯ ไม่มีระบบป้องกันพวกจรวดร่อนหรือยานร่อน อเมริกาต้องอาศัยการป้องปรามเป็นหลัก

พูดง่ายๆ ว่า เวลานี้ สหรัฐฯ ต้องพึ่งขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยความคาดหมายว่านิวเคลียร์จะทำให้ปรปักษ์รู้สึกครั่นคร้ามที่จะโจมตี

ริชาร์ด สเปียร์ ทีมงานของแรนด์ หน่วยงานคลังสมองด้านความมั่นคงในสหรัฐฯ บอกในทำนองเดียวกันว่า สหรัฐฯ ยังไม่มีระบบป้องกันที่หวังผลได้ เนื่องจากระบบป้องกันในปัจจุบันออกแบบสำหรับยิงสกัดกั้นพวกขีปนาวุธ (ballistic missile) เป็นหลัก

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ขีปนาวุธเป็นคล้ายกับลูกเบสบอล เรารู้ว่าจะดักจับลูกได้ในตำแหน่งใดเพราะเราเห็นทิศทางของมัน

แต่จรวดร่อนหรือยานร่อนสามารถเปลี่ยนทิศทางและระดับบินได้ จึงไม่อาจคาดได้ว่ามันจะพุ่งไปทางไหน ดังนั้น จึงไม่สามารถยิงสกัดได้

ถ้าจะป้องกันอาวุธจำพวกนี้ สเปียร์บอกว่า สหรัฐฯ ต้องทำ 2 อย่าง หนึ่ง ติดตั้งระบบตรวจจับในอวกาศ เพื่อให้สามารถติดตามเส้นทางของยานร่อนได้ทั่วโลก สอง สร้างระบบสกัดกั้นสายพันธุ์ใหม่สำหรับรับมืออาวุธความเร็วสูงเหล่านั้น

ตามข่าวบอกว่า อันที่จริง นอกจากรัสเซียแล้ว สหรัฐฯ กับจีนกำลังซุ่มพัฒนาอาวุธความเร็วยิ่งยวดเหนือเสียงเช่นกัน แต่ยังอุบไต๋เงียบ เพราะถือเป็นความลับทางการทหาร

เหตุที่ปูตินเอามาอวดก่อนใคร เข้าใจได้ไม่ยาก ตอนที่เขาคุยโอ่ในสภานั้น รัสเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แล้วเขาก็ได้นั่งเก้าอี้ต่อเป็นสมัยที่สี่เมื่อเดือนพฤษภาคม

 

อ้างอิง:

ภาพหน้าแรก: การซ้อมพาเหรดในวันแห่งชัยชนะที่มอสโก มีการนำขีปนาวุธข้ามทวีปมาจัดแสดงด้วย (ภาพเมื่อ 6 พฤษภาคม 2018 โดย REUTERS/Tatyana Makeyeva)

Tags: ,