คำถามที่ว่าศีลธรรม (morality) ของมนุษย์มีที่มาจากที่ใด เป็นคำถามสำคัญที่นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบมาโดยตลอด สาขาย่อยของจิตวิทยาที่เรียกว่า จิตวิทยาศีลธรรม (moral psychology) พยายามตอบคำถามดังกล่าวด้วยการศึกษาพัฒนาการทางจิตวิทยาในช่วงวัยเด็กของมนุษย์ โดยคำถามหลักของการวิจัยคือ ‘เด็กรู้และแยกแยะได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก และอะไรคือสิ่งที่ผิด’

โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาสังคมชื่อดังจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก อภิปรายไว้ในหนังสือ The Righteous Mind: Why Good People are Divided by Politics and Religion ของเขาว่าคำตอบของวงการจิตวิทยาต่อคำถามที่ว่าความคิดเชิงศีลธรรมของมนุษย์มีที่มาจากที่ใดนั้น หลักๆ แล้วมีอยู่อย่างน้อย 3 โมเดล

โมเดลแรกตอบคำถามว่าความรู้และความคิดเกี่ยวกับศีลธรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติ (nature) โดยเราอาจจะเรียกพวกที่เชื่อในแนวคิดแบบนี้ว่าเป็นพวก nativist ซึ่งเชื่อว่าความรู้และความคิดเกี่ยวกับศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ถ้าเชื่อแบบศาสนาก็คืออยู่ในหัวใจที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานมาให้ (God-inscribed hearts) ตามที่พระคัมภีร์ไบเบิลกล่าว หรือถ้าเชื่อแบบชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ก็คืออยู่ในอารมณ์เชิงศีลธรรมของมนุษย์ที่ผ่านการวิวัฒนาการมาแล้ว (evolved moral emotions)

โมเดลที่สองตอบคำถามว่าความรู้และความคิดเชิงศีลธรรมของมนุษย์มีที่มาจากกระบวนการกล่อมเกลาและเลี้ยงดู (nurture) ตั้งแต่วัยเด็ก เราอาจเรียกพวกที่เชื่อในแนวคิดแบบนี้ว่าเป็น ‘นักประจักษ์นิยม’ (empiricist) โมเดลนี้เชื่อว่าเด็กที่เกิดมาจะมีจิตใจที่เหมือน ‘กระดานที่ว่างเปล่า’ (blank slates) ซึ่งกระดานแห่งจิตใจที่ว่างเปล่านั้นจะมาถูกเขียนและแต่งเติมสีสัน หรือถูกปลูกฝังความคิดเชิงศีลธรรมขึ้นภายหลัง จากที่เขามีประสบการณ์กับโลกภายนอกผ่านการอบรมเลี้ยงดู เช่น การที่ผู้ใหญ่ ครอบครัว และสังคมคอยสั่งสอนบอกกล่าวว่าอะไรคือสิ่งที่ผิดหรือถูก ข้อพิสูจน์ของฝ่ายที่เชื่อในโมเดลนี้คือ เพราะความคิดเชิงศีลธรรมของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก มีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเชื่อว่าศีลธรรมเป็นสิ่งที่ติดตัวอยู่ในจิตใจมนุษย์มาโดยกำเนิด

โมเดลที่สามเป็นคำตอบที่มีอิทธิพลและครอบงำแนวทางการศึกษาในวงวิชาการจิตวิทยามาอย่างยาวนาน นั่นคือคำตอบที่ว่าความรู้และความคิดเชิงศีลธรรมเกิดจากการที่มนุษย์ในวัยเด็กขบคิดและตกผลึกมันด้วยตนเอง โมเดลคำตอบนี้เรียกกันว่า ‘เหตุผลนิยม’ (rationalism) และเรียกผู้ที่เชื่อในแนวทางนี้ว่า ‘นักเหตุผลนิยม’ (rationalist) โดยนักจิตวิทยาที่เชื่อในโมเดลนี้จะอธิบายว่า ความคิดเชิงศีลธรรมไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์มีติดตัวมาแต่กำเนิด และก็ไม่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูกล่อมเกลาโดยผู้ใหญ่แบบที่สองโมเดลแรกเชื่อ แต่ความคิดเชิงศีลธรรมเป็นสิ่งที่เด็กสร้างขึ้นด้วยตนเองผ่านการมีประสบการณ์รูปแบบต่างๆ อาทิ การเล่นกับเด็กคนอื่น ประสบการณ์ต่อภัยอันตรายหรือเรื่องไม่ดีรอบตัว ตัวอย่างรูปธรรมคือการที่เด็กรู้ว่าการทำร้ายเป็นสิ่งทีผิด นั่นเพราะเด็กไม่ชอบเวลาที่ตนเองถูกทำร้าย ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ว่า การทำร้ายผู้อื่นเป็นสิ่งที่ผิดเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เขาสามารถเรียนรู้แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมและความยุติธรรมในภายหลังได้

โมเดลแบบเหตุผลนิยมยังเชื่อว่าเด็กจะเริ่มเข้าใจแนวคิดเชิงศีลธรรมได้ก็ต่อเมื่อเขาเติบโตจนถึงช่วงอายุที่พร้อมจะรับรู้แนวคิดที่เริ่มซับซ้อน เช่น ประมาณ 5-6 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งหลังจากเข้าสู่ช่วงอายุที่พร้อมแล้ว กิจกรรมอย่างการเล่น การสนทนากับคนอื่น รวมทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่น จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดเชิงศีลธรรมอย่างความเป็นธรรม (fairness) ได้ดีกว่าการถูกสั่งสอนจากผู้ใหญ่

สาระสำคัญของเหตุผลนิยมเชิงจิตวิทยาคือความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์มีเหตุมีผลเหมือนกับการที่ดักแด้เติบโตขึ้นกลายเป็นผีเสื้อ กล่าวคือ ถ้าดักแด้กินอาหารที่ต้องการมากพอ มันก็จะค่อยๆ เติบโตกลายเป็นผีเสื้อที่มีปีกในที่สุด เช่นเดียวกับเด็กที่หากสามารถมีประสบการณ์มากพอ เด็กก็จะสามารถค่อยๆ เติบโตกลายเป็นมนุษย์ที่มีศีลธรรม สามารถใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขปัญหายากๆ ได้ในที่สุดเช่นกัน แนวคิดแบบนี้เชื่อว่าความมีเหตุมีผลเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น การให้เหตุผลในเชิงศีลธรรมที่ดี ย่อมเป็นจุดหมายปลายทางแห่งพัฒนาการของมนุษย์

ในมุมมองของนักจิตวิทยาที่เชื่อในโมเดลเหตุผลนิยมแบบที่สาม ผู้ปกครองและผู้มีอำนาจที่ชอบตั้งข้อห้ามและสั่งสอนเด็ก จึงถือเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการเชิงศีลธรรมของเด็กเอง ดังนั้น ถ้าเราต้องการให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับโลกกายภาพ ก็ต้องปล่อยให้เขาเล่นกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อทำความรู้จักมัน และถ้าต้องการให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับโลกทางสังคม เราต้องปล่อยให้เขาเล่นกับเด็กคนอื่นและแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปสั่งสอนเขาว่าอะไรถูกหรือผิด ไม่ต้องบังคับให้เขาเชื่อฟังพระเจ้า ครูบาอาจารย์ หรือกระทั่งตัวเราเอง เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เด็กถูกแช่แข็งความคิด และกลายเป็นคนที่สยบยอม เชื่อฟังอำนาจเหนือโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ

เหล่านี้คือตัวอย่างโมเดลคำตอบต่อคำถามที่ว่า ตกลงแล้วความคิดเชิงศีลธรรมของมนุษย์มีกำเนิดมาจากอะไร และพัฒนามาได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ยังมีโมเดลคำตอบอื่นๆ อีกหลายโมเดล และตัวคำถามเองก็เป็นเรื่องน่าขบคิดที่เราคงต้องศึกษากันต่อไป

อ้างอิง:
Haidt, Jonathan. 2013. The Righteous Mind: Why Good People are Divided by Politics and Religion. New York: Vintage Books. pp. 4-31.

Tags: , , , , ,