สำหรับโลกดนตรี ข่าวใหญ่ที่น่าจะกระเพื่อมแรงสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคือข่าว Oasis วงดนตรีบริตป็อปชื่อดัง หวนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหลังประกาศแยกทางกันแบบไม่สวยนักตั้งแต่ปี 2009 และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การกลับมาจับมือกันอีกหนของวงเป็นข่าวใหญ่ คือการที่ตัววงส่งอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมดนตรีมหาศาลในช่วงปลายยุค 90s ไล่เรื่อยจนมาถึงรอยต่อระหว่างต้นทศวรรษ 2000s ทั้งหลายๆ คนอาจเคยได้ยินบทเพลงดังอย่าง Wonderwall, Stop Crying Your Heart Out, Live Forever, Champagne Supernova ผ่านหูมาแล้ว ทั้งจากรายการโทรทัศน์, คลื่นวิทยุ หรือแม้แต่แอพลิเคชั่น TikTok
ทั้งนี้ Oasis เป็นวงดนตรีสัญชาติอังกฤษจากเมืองแมนเชสเตอร์ ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1991 ตัวละครหลักและเป็นต้นธารที่ทำให้วงแตกคือสองพี่น้องกัลลาเกอร์สอย่าง โนล กัลลาเกอร์ (Noel Gallagher) พี่ชายที่รับหน้าที่้เป็นคนเขียนเพลง มือกีตาร์ และนักร้องของวงกับ เลียม กัลลาเกอร์ (Liam Gallagher) น้องชายที่ทำหน้าที่ร้องนำ (รวมทั้งบางครั้งก็เขย่าแทมบูรีนด้วย) เมื่อทั้งสองตีกันนัวมาตั้งแต่ในบ้านยันบนเวที โดยเฉพาะเลียมที่ขึ้นชื่อเรื่องหัวร้อน ดื่มแอลกอฮอลหนัก ยังผลให้เขาปะทะคารมกับพี่ชายแท้ๆ บ่อยครั้งจนโนลเคยออกปากว่า “ไอ้เลียมแม่งเหมือนส้อม ในโลกที่มีแต่ซุป”
อย่างไรก็ดี Oasis ส่งผลต่อวัฒนธรรมดนตรีในภาพรวมของอังกฤษ เพราะสมาชิกวงรวมทั้งสองพี่น้องกัลลาเกอร์สเติบโตมาจากชนชั้นแรงงาน บทเพลงของพวกเขาจึงพูดถึงความฝัน ความหวัง และการกระเสือกกระสนไปให้พ้นจากชีวิตที่ยากไร้ รวมทั้งมิตรภาพของคนหนุ่มสาวดังที่ปรากฏในเพลง Definitely Maybe ที่โนลเขียน พูดถึงช่วงเวลาของการได้คบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูง เฝ้ารอวันสุดสัปดาห์เพื่อจะไปฟังดนตรีจากวงโปรดในผับด้วยกัน
และไม่ใช่ Oasis เพียงวงเดียวที่ฉายภาพเกาะอังกฤษในช่วง 90s เพราะหากถอยออกมามองภาพใหญ่ เวลานั้นเกิดวัฒนธรรมดนตรีบริตป็อป (Britpop) ขึ้นมา กล่าวคือดนตรีที่มีเนื้อหาขบถ, จัดจ้านและเป็นตัวของตัวเอง วงดนตรีที่เป็นหัวเรือใหญ่ของบริตป็อปคือ Oasis, Blur (ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันในยุค 90s ถึงขั้นที่ NME ซึ่งเป็นนิตยสารดนตรีแถวหน้า อุทิศภาพปกนิตยสารฉบับหนึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างวงดนตรีสองวงนี้), Suede และ Pulp ทั้งยังประกาศศักดา (หรือยุคนี้อาจเรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’) ความเป็นอังกฤษด้วยการส่งออกดนตรี สำเนียง แฟชั่น และวัฒนธรรมชาวเกาะไปยังโลกภายนอก โดยเฉพาะฝั่งอเมริกาที่ครองตำแหน่งยักษ์ใหญ่ของวงการดนตรีมานานหลายปี
ด้านหนึ่ง หลายคนจึงขนานนามว่าบริตป็อป เป็นแนวดนตรีที่สำแดงให้เห็นถึงสปิริตของช่วงปี 90s ที่มีทั้งเหล้ายา บุหรี่ ความยากจนกับชนชั้น ไล่เรื่อยไปจนถึงเนื้อเพลงที่พร่ำบ่นชีวิตอันเลื่อนลอยไร้สาระ
ทำให้โลกภาพยนตร์อังกฤษก็รับเอาวัฒนธรรมบริตป็อปมาด้วยเช่นกัน กล่าวคือมันมีน้ำเสียงและท่าทีของการปฏิเสธการเล่าเรื่องแบบฮอลลีวูด พูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยกับชนชั้นแรงงาน การใช้ชีวิตภายใต้รัฐบาลอนุรักษนิยม ตัวละครหน้าตายับๆ ใช้ชีวิตเหนื่อยหน่ายตามประสาชนชั้นแรงงาน พวกเขาไม่อินังขังขอบหากจะต้องใช้ความรุนแรง (ทั้งเพื่อแก้ปัญหา หรือในทางกลับกัน คือเพื่อสร้างปัญหา)
หนังที่เป็นเสมือนหัวเรือของตระกูลนี้คือ Trainspotting (1996) ที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มชาวสก็อตแลนด์ผู้กระโจนลงส้วมที่ชักโครกที่สุดเพื่อหายามาแก้ความเสี้ยน (อะไรนะ) หนังกำกับโดย แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) และส่ง จอห์น ฮอดจ์ (John Hodge) เข้าชิงออสการ์สาขาเขียนบทยอดเยี่ยม โดยหนังเล่าถึงชีวิตบัดซบของ เรนตัน (แสดงโดย ยวน แม็กเกรเกอร์ – ผู้ตะบี้ตะบันลดน้ำหนักไปหลายกิโลกรัมเพื่อรับบทนี้) เด็กหนุ่มติดยาและใช้ชีวิตเมาๆ เรื้อนเนื้อเรื้อนยากับเพื่อนไม่กี่คน
หนึ่งในนั้นคือ ไซมอน หรือซิกบอย (แสดงโดย จอห์นนี ลี มิลเลอร์) หนุ่มน้อยหน้าตาหล่อเหลาที่คอยหาเฮโรอีนมาปรนเปรอเพื่อนฝูงเสมอ, สปัด (แสดงโดย ยวน เบรมเมอร์) หนุ่มขี้วิตกที่พยายามหางานให้ตัวเองทำหลังอยู่ได้ด้วยสวัสดิการเล็กจ้อยจากรัฐ, เบ็กบี (แสดงโดย โรเบิร์ต คาร์ไลล์) เพื่อนรุ่นพี่หัวรุนแรงและทอมมี (แสดงโดย เควิน แม็กคิดด์) หนุ่มนิสัยดีที่ปฏิเสธยาเสพติดทุกชนิด ก่อนที่ชีวิตพวกเขาจะดิ่งลงเหวจากเฮโรอีนและความบ้าคลั่งของสภาพเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของสก็อตแลนด์
หนังเก็บบรรยากาศของความเป็น ‘บริตป็อป’ ได้หมดจด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน วันๆ ของเด็กหนุ่มเหล่านี้หมดไปกับการเตะฟุตบอลเล่นกันในสนามเล็กแคบ เฉอะแฉะมีแต่โคลนเลน รวมทั้งการนั่งมองรถไฟแล่นผ่านสายตาไปอย่างเฉื่อยชา เพราะพวกเขาไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไร
พวกเขาเกลียดชังประเทศ (ดังที่เรนตันสบถว่า สก็อตแลนด์ก็เป็นได้แค่ลูกกระจ๊อกของอังกฤษ) เกลียดชังสภาพสังคม เกลียดชังชีวิตตัวเอง และพร้อมกันนี้ก็เคว้งคว้างหาทางออกไม่ได้ มันจึงกลายเป็นหนังที่ให้ภาพมวลบรรยากาศของความขมขื่น และต่อต้านของคนหนุ่มสาวไปพร้อมๆ กัน (อย่างไรก็ดี แดนนี บอยล์เคยพยายามติดต่อวง Oasis ให้มาทำเพลง แต่โนล กัลลาเกอร์เห็นชื่อหนังแล้วนึกว่าเป็นหนังเกี่ยวกับคนที่จ้องรถไฟตามตัวอักษร จึงปฏิเสธการร่วมงานไปแบบงงๆ)
และหากว่า Trainspotting คือตัวแทนฝั่งสก็อตแลนด์ ฝั่งเวลส์ก็ขอส่ง Human Traffic (1999) หนังคัลต์ร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (สหราชอาณาจักร-ไอร์แลนด์) กำกับโดย จัสติน เคอร์ริแกน (Justin Kerrigan) โดยเป็นหนังข้ามพ้นวัยที่พูดถึงเหล้า ยา เซ็กซ์ และคลับ เคอร์ริแกนพาคนดูไปรู้จักกับหนุ่มสาว 5 คนที่ออกเดินทางไปเที่ยวย่านคาร์ดิฟฟ์ช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อหลีกหนีชีวิตอันจำเจประจำวัน ก่อนจะสำรวจเงื่อนปมชวนปวดหัวต่างๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญ
จิปป์ (แสดงโดย จอห์น ซิมม์) ชายหนุ่มที่วิตกกังวลเรื่องความสัมพันธ์ที่ ‘ไม่เป็นท่า’ อยู่บ่อยครั้ง, คูป (แสดงโดย ฌอน ปาร์เกส) เฝ้ามองคนรักของตัวเองที่ร่าเริงและสุขใจด้วยความทุกข์ระทมเพราะเป็นอย่างเธอไม่ได้, นีนา (แสดงโดย นิโคลา เรย์โนลด์ส) ถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงานและเรียกร้องอะไรไม่ได้, ลูลู (แสดงโดย ลอร์เรน พิลคิงตัน) เพื่อนสนิท (และอาจจะมากกว่านั้นเล็กน้อย) ของจิปป์ที่หัวเราะไม่ได้ร้องไห้ไม่ออกกับความสัมพันธ์ชวนยุ่งเหยิงของตัวเอง และม็อฟฟ์ (แสดงโดยแดนนี ดายเออร์) เพื่อนสนิทคนใหม่ของกลุ่มที่มีงานอดิเรกคือการค้ายา (อะไรนะ) ใต้จมูกของพ่อที่เป็นตำรวจ (อะไรนะ!)
จะว่าไปหนังก็หาได้พาคนดูไปเจออะไรมากมายนอก เหนือจากชีวิตสุดสัปดาห์อันแสนวายป่วงของหนุ่มสาวทั้งห้า ที่มีทั้งเหล้า ยา และเซ็กซ์ระเบิดระเบ้อ หากแต่เหนือไปกว่านั้น หนังยังจับจ้องไปยังความเคว้งคว้าง เปลี่ยวเหงาและขื่นขมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องใช้ชีวิตในสังคมที่ไม่เหลืออนาคตให้พวกเขานัก (ข่าวดีของเรื่องนี้คือ เคอร์ริแกนกำลังทำภาคต่อของหนัง แม้จะยังไม่มีกำหนดฉาย แต่ก็ดูเหมือนคนดูจะได้รู้ชะตากรรมวัยผู้ใหญ่ของเจ้าพวกอดีตเด็กหนุ่มสาวสุดห่ามพวกนี้เสียที)
Lock, Stock and Two Smoking Barrels (1998) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (สหราชอาณาจักร-สหรัฐอเมริกา) และเป็นหนังยาวเรื่องแรกของ กาย ริชชี (Guy Ritchie) ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่เก็บเอาช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในอังกฤษถดถอยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งไว้ได้ โดยหนังเล่าถึงเพื่อนรักชาวอังกฤษ 4 คนได้แก่ เบคอน (แสดงโดย เจสัน สเตแธม ก่อนหน้าจะกลายเป็นดาวบู๊ชื่อดัง) หนุ่มขี้ขโมยที่วันๆ ไม่คิดอะไรนอกจากการหยิบของติดไม้ติดมือกลับบ้าน, เอ็ดดี (แสดงโดย นิก โมแรน) คนขายของที่ถูกขโมยมาอีกทอด, โซป (แสดงโดย เด็กซ์เตอร์ เฟลตเชอร์) คนครัวใจดี และทอม (แสดงโดย เจสัน เฟรมมิง) ชายที่ติดพนันงอมแงม และหลังจากชีวิตผลักไสให้ต้องไปเป็นหนี้หลายแสนปอนด์ระดับไม่มีปัญญาจ่ายกันแน่ๆ ทั้งสี่จึงหาทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้ด้วยการวางแผนปล้นเงินต่อจากโจร
มองในแง่การเป็นคนทำหนัง ริชชีถือว่าแจ้งเกิดด้วยการทำหนังยาวเรื่องแรกที่มีลายเซ็นตัวเองสูงลิบ ทั้งในแง่เส้นเรื่องวุ่นวายของคนที่พาตัวเองไปเจอเรื่องวายป่วง, การตัดต่อแบบเดือดดาลบ้าคลั่ง หรือต้นเรื่องความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากประเด็นง่ายๆ ชวนเหวอ นอกจากนี้ยังสำรวจสภาพสังคมอังกฤษในยุคนั้นได้อย่างน่าจับตา ผ่านเรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่ชีวิตไม่มีที่ไปนัก (พวกเขาวางแผนปล้นเงินจากคนพี้กัญชา) และวาดหวังที่จะได้ร่ำได้รวย ลืมตาอ้าปากอย่างคนอื่นเขาสักที แต่ก็ทำได้แค่ผลักชีวิตไปเจอเรื่องวายป่วงมากกว่าเดิมเท่านั้น
ตามด้วยหนังที่อังกฤษแบบตะโกนอย่าง This Is England (2006) โดย ฌอน เมโดวส์ (Shane Meadows) ที่สำรวจวัฒนธรรมย่อยในอังกฤษอย่างกลุ่มสกินเฮด หรือกลุ่มคนที่ไว้ผมสั้นติดหนังหัว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคนจากชนชั้นแรงงาน ศูนย์กลางของเรื่องคือ ฌอน (แสดงโดย โธมัส เทอร์กูส – ผู้กลายเป็นขาประจำในหนังแฟรนไชส์ This Is England ภาคต่อๆ ไปด้วย) เด็กชายวัย 12 ปีจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน และใช้ชีวิตเคว้งคว้างไปวันต่อวันหลังจากพ่อเสียชีวิตลง กระทั่งเมื่อเขาได้เจอกับ คอมโบ (แสดงโดย สตีเฟน กราแฮม) ชายหนุ่มหัวรุนแรงที่พาเขาเข้ากลุ่ม เปิดประตูให้ฌอนได้รู้จักกับคนหนุ่มสาวมากหน้าหลายตา ที่ล้วนแล้วแต่แต่งเนื้อแต่งตัวเหมือนกัน พูดจาด้วยภาษาเดียวกัน โดยไม่ทันได้รู้ตัวแม้สักนิดว่า คอมโบเพิ่งพาเขาเข้าสู่กลุ่มอนุรักษนิยมหัวรุนแรง และปลูกฝังแนวคิดรักชาติขวาจัดให้เขา
จุดเด่นของ This Is England คือการเก็บเอามวลบรรยากาศทางการเมืองของอังกฤษช่วงต้นยุค 80s มาไว้ได้อย่างหมดจด ทั้งความแค้นเคืองของผู้คน ความรู้สึกพ่ายแพ้ต่อโลก (ฌอนเองก็เสียพ่อไปจากสงคราม) และการก่อตัวถือกำเนิดขึ้นมาของกลุ่มการเมืองฝั่งขวาจัดหัวรุนแรง หนังได้รับความนิยมมากเสียจนมีภาคต่อที่จับจ้องไปยังการเมืองในห้วงเวลาต่างๆ ของอังกฤษ กล่าวคือ This Is England ’86 (2010), This Is England ’88 (2011) และ This Is England ’90 (2015)
อย่างไรก็ดี หากใครสนใจหนังที่พูดถึงดนตรีบริตป็อปโดยตรง ก็สามารถสำรวจผ่าน Oasis: Supersonic (2016), Blur: Starshaped (1993), Pulp: A Film About Life, Death & Supermarkets (2014) และ Live Forever (2003) ได้เช่นกัน
Tags: Lock Stock and Two Smoking Barrels, Oasis, This Is England, Trainspotting, Brit pop, People Also Watch, โอเอซิสรวมวง, Britpop Cinema, หนังอังกฤษ, วงดนตรีอังกฤษ, Human Traffic