มีคำกล่าวกันขำๆ ว่าหนังประเภทหนึ่งที่ทำให้คนดูระทึก เครียดเขม็งตลอดทั้งเรื่อง แม้แทบไม่ได้ขยับกล้องออกจากห้อง ทั้งยังขับเคลื่อนเรื่องราวด้วยบทสนทนายาวเหยียดเป็นหลักมากกว่าจะมี ‘แอ็กชัน’ อื่นใดใหญ่โต คือหนังพิจารณาคดี (Courtroom Films)
เพราะเรื่องราวเกิดขึ้นในชั้นศาลเป็นส่วนใหญ่ เส้นเรื่องหลักมักว่าด้วยการตัดสินความผิด-ถูกที่เล่นกับเงื่อนปมทางศีลธรรม จริยธรรม และข้อกฎหมาย ที่บ่อยครั้งก็ชวนให้คนดูหวนกลับไปพิจารณาถึงจุดยืนทางศีลธรรมของตัวเองตลอดระยะเวลาที่หนังฉายด้วย พร้อมกันนั้น หลายครั้งยังมอบน้ำเสียงการเป็นหนังสืบสวนด้วยการเสาะหา ‘ผู้ร้าย’ ที่แท้จริงผ่านการไต่สวนของศาล หรืออาจจะเป็นน้ำเสียงการเชือดเฉือนฟาดฟันจากเหล่าทนาย ฯลฯ ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้เป็นหนังที่กำกับยาก แต่หากทำออกมาได้แม่นยำ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายที่มันจะกลายเป็นหนังในใจของหลายๆ คนไปโดยปริยาย
ปี 2023 ที่ผ่านมา เราก็มีหนังที่ว่าด้วยการพิจารณาคดีเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เรื่องแรกที่ต้องกล่าวถึงคือ Anatomy of a Fall (2023) หนังสัญชาติฝรั่งเศสที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครอง ทั้งยังเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 4 สาขา รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและเขียนบทยอดเยี่ยมจาก ฌูสตีน ทริเยต์ (Justine Triet) ผู้กำกับด้วย หนังเล่าถึงครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง แซนดร้า (แซนดร้า ฮุลเลอร์ – เข้าชิงนำหญิงยอดเยี่ยมจากลูกโลกทองคำ) นักเขียนสาวชาวเยอรมันที่แต่งงานกับ แซมวล (แสดงโดย แซมวล เธอิส) สามีชาวฝรั่งเศส ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนคือ แดเนียล (แสดงโดย ไมโล มาชาโด กราเนอร์) ซึ่งประสบอุบัติเหตุทำให้ตาบอดตั้งแต่ยังเด็ก เขาจึงไปไหนมาไหนกับหมานำทางอย่าง สนูป (เจ้าหมาเมสซี ที่คว้ารางวัล ‘หมาปาล์ม’ หรือนักแสดงหมายอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย) ตลอดเวลา
ทั้งสามใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษและย้ายเข้ามาอยู่ในหุบเขาเล็กๆ ของฝรั่งเศสตามคำเรียกร้องของแซมวล กลางฤดูหนาวซึ่งหิมะตกหนัก แซนดร้าให้สัมภาษณ์เรื่องงานของเธอกับนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง แต่บทสนทนาของทั้งคู่กลับไปได้ไม่ไกลนัก เมื่อแซมวลซึ่งทำงานบนห้องใต้หลังคาเปิดเพลงดังกระหึ่มจนกลบเสียงพวกเธอหมด จนนักศึกษาต้องขอตัวกลับก่อนและแซนดร้าเข้าไปนอนพักในห้อง แดเนียลก็ออกไปเดินเล่นกับสนูป เพื่อจะพบว่าเมื่อเขากลับมา สนูปก็ส่งเสียงเห่าขรม เพราะตรงหน้าแดเนียลไม่อาจมองเห็นคือร่างไร้วิญญาณของแซมวลผู้เป็นพ่อ
แน่นอนว่าการตายของแซมวลอาจถูกพินิจว่าเป็นอุบัติเหตุที่เขาพลัดตกจากหน้าต่างบานยักษ์ลงมาตายเอง หรืออาจจะฆ่าตัวตายก็ย่อมได้ แต่พยานแวดล้อมกลับชี้ชัดว่าแซนดร้าตกเป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมสามีตัวเอง เธอจึงต้องขอความช่วยเหลือจาก แวนซองต์ (แสดงโดย สวอนน์ อาร์ลูต์) เพื่อนทนายชาวฝรั่งเศส
สิ่งที่เด็ดดวงมากของ Anatomy of a Fall เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้เพลงเจ้าปัญหาตั้งแต่ต้นเรื่องได้เดือดดาลสุดๆ โดย ทริเยต์เลือกใช้เพลง P.I.M.P. ของแรปเปอร์รุ่นใหญ่อย่าง 50 Cent ที่ถูกนำมาคัฟเวอร์โดย Bacao Rhythm & Steel Band วงฟังก์สัญชาติเยอรมัน ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ฉากนี้สามีไม่ได้พูดอะไรเลย ดังนั้น เพลงจึงเป็นเครื่องมือในการแสดงอารมณ์ของเขา เพลงจึงเป็นเสียงของเขา และเราพบว่าเพลงนี้มันดุดันแต่ไม่หนักหน่วงเกินไป อาจจะกล่าวได้ว่ามันค่อนข้างมีลักษณะเป็น Passive-Aggressive ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของเขาได้ดี”
ตามมาด้วยกลิ่นอายความสงสัย เพราะแม้จะเอาใจช่วยแซนดร้ามากน้อยแค่ไหน แต่คนดูก็ไม่อาจปฏิเสธข้อถกเถียงต่างๆ ที่ศาลตั้งคำถามต่อเธอ ไม่ว่าจะเรื่องที่เธอเข้าไปนอนหลับท่ามกลางเสียงเพลงดังสนั่นจนพูดคุยกันไม่ได้ หรือรอยฟกช้ำตามเนื้อตัวที่ปรากฏตั้งแต่ต้นเรื่อง (และเธอก็โต้แย้งอย่างอ่อนแรงว่าเป็นผลมาจากการเดินชนโต๊ะในบ้าน)
หรือการค่อยๆ แง้มข้อเท็จจริงบางอย่างที่แซนดร้าปกปิดต่อศาลและคนดูมาโดยตลอด หากแต่หนังก็ไม่ทำให้คนดูผลักแซนดร้าไปสู่สถานะการเป็นคนร้าย เพราะเราได้เห็นท่าทีติดขัดของเธอตลอดทั้งเรื่อง ทั้งในแง่กำแพงภาษาที่เธอต้องสื่อสารเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษซึ่งไม่ใช่ภาษาแม่ของเธอด้วยซ้ำ เธอจึงอยู่ในคับข้องใจในการจะอธิบายสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญเกือบตลอดเวลา รวมทั้งในแง่สถานะการเป็นแม่ที่ต้องแถลงข้อเท็จจริงบางอย่างซึ่งอาจทำร้ายความรู้สึกของแดเนียลที่นั่งฟังอยู่ และยิ่งเป็นการกรีดบาดแผลเธอออกมาซ้ำๆ
ฉากการไล่ต้อนของทนายฝั่งตรงข้ามและการสวนกลับของทนายฝั่งแซนดร้า ขับเน้นบรรยากาศของการหายใจไม่ทั่วท้อง ความเครียดเขม็งและการเล่นกับความรู้สึกนึกคิดที่คนดูมีต่อตัวละคร และสิ่งที่หมดจดที่สุดคือ ถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีใครให้คำตอบอะไรได้แน่ชัดนักว่าข้อเท็จจริงจากการตายของแซมวลนั้นเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่หลงเหลือไว้ก็มีแต่เพียงบาดแผลของคนในครอบครัวเขาเท่านั้น
หนังสัญชาติฝรั่งเศสอีกเรื่องที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปีที่ผ่านมาคือ Saint Omer (2022) ตัวหนังชิงรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส ตัวหนังดัดแปลงมาจากเหตุการณ์พิจารณาคดีของ ฟาเบียนน์ คาบู (Fabienne Kabou) หญิงสาวเซเนกัล-ฝรั่งเศสที่ถูกจับกุมข้อหาสังหารลูกสาวทารกของตัวเอง โดยหนังเล่าเรื่องของ โลรองซ์ (แสดงโดย กุสลาชี มาล็องดา) นักศึกษาหญิงผิวดำชาวเซเนกัล-ฝรั่งเศสที่ถูกตั้งข้อหาฐานฆ่าลูกสาววัย 15 เดือนของตัวเอง โดยโลรองซ์ให้การว่า เธอเองก็ไม่รู้ว่าทำไมเธอจึงตัดสินใจทำเช่นนั้น และหวังว่าการพิจารณานี้จะให้คำตอบแก่เธอได้
Saint Omer เล่าผ่านสายตาของ รามา (แสดงโดย เคจี คากามี) นักเขียนหญิงผิวดำที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หากแต่คนดูจะพบว่าเธอมีความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอยนักกับแม่ (แม้จะไม่ชัดเจนว่าคือประเด็นไหนก็ตาม) เธอออกเดินทางมาฟังการพิจารณาคดีของโลรองซ์ที่เมืองแซ็งต์โอแมร์ และตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดี เธอพบว่าโลรองซ์มีสีหน้าเรียบเฉยชวนให้รู้สึกประหลาด เธอไม่มีท่าทีกระทั่งเสียใจ หวั่นกลัว หรือแม้กระทั่งโกรธแค้น ได้แต่ยืนฟังศาลอ่านประวัติของเธอเงียบเชียบในคอกของตัวเอง โลรองซ์เติบโตที่เซเนกัลในครอบครัวชนชั้นกลาง เธอสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส และพบรักกับชายผิวขาวที่อายุมากกว่าเธอหลายปี ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 1 คน โดยที่โลรองซ์ไม่เคยพาลูกออกมานอกอะพาร์ตเมนต์เลย จนวันหนึ่ง เธออุ้มลูกน้อยออกเดินทางขึ้นรถไฟไปยังทะเลต่างเมือง อุ้มลูกน้อยไปที่ชายหาด แล้วปล่อยให้กระแสน้ำพัดพาลูกหายไปจากสายตา
หนังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าอะไรทำให้โลรองซ์กระทำเช่นนั้น หากแต่เล่าถึงชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตมาภายใต้กรอบของชนชั้น การถูกแบ่งแยกด้วยสีผิวและการต้องแบกรับความเป็นแม่อันยิ่งใหญ่ ด้วยสายตาที่มีหัวใจ เราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่โลรองซ์ทำนั้นช่างไร้เหตุผล และเธอเองก็ไม่ได้พยายามหาเหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง การที่ทนายฝั่งโลรองซ์ยกเหตุผลเรื่องความเป็นผู้หญิงและความเป็นแม่ในตอนท้ายของการพิจารณาคดี ถือเป็นหนึ่งในคำให้การที่หมดจดมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมันปราศจากน้ำเสียงของการผลักไสและกล่าวโทษ จะมีก็เพียงน้ำเสียงของความเข้าอกเข้าใจในความโดดเดี่ยวของความเป็นผู้หญิงและความเป็นแม่เท่านั้น
อีก 1 เรื่องที่กลับมาเข้าโรงภาพยนตร์แบบจำกัดโรงในบ้านเราเมื่อปีที่แล้วคือ 12 Angry Men (1957) หนังชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขาของ ซิดนีย์ ลูเมต์ (Sidney Lumet) ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับยอดเยี่ยม และเขียนบทยอดเยี่ยม เมื่อเด็กหนุ่มวัย 19 ปีคนหนึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมพ่อตัวเอง พยานแวดล้อมต่างๆ ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าเขามีความผิด และจะถูกประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าหากศาลตัดสินว่าเขามีความผิดจริง เงื่อนไขเดียวคือลูกขุนทั้ง 12 คน ต้องเห็นพ้องต้องกันทุกคนว่าเด็กหนุ่มมีความผิดจริงจึงจะประหารชีวิตได้
แน่นอนว่าเรื่องยากขึ้นเมื่อหนึ่งในลูกขุนแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินในครั้งนี้ 12 Angry Men จึงไม่ได้จับจ้องไปยังเด็กหนุ่มดังกล่าว หากแต่เฝ้าพินิจท่าทีและระบบความคิดของเหล่าลูกขุนทั้ง 12 ที่มีสิทธิในการชี้เป็นชี้ตายมนุษย์คนหนึ่ง และเมื่อมีคนไม่เห็นด้วยก็ทำให้เกิดการให้เหตุผล แลกเปลี่ยนไปจนถึงทุ่มเถียงด้วยข้อกฎหมาย หลักศีลธรรม ก่อนจะค่อยๆ ไล่เรียงไปถึงประสบการณ์และอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน เหนือสิ่งอื่นใดคือ หนังชวนคนดูเข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้พิจารณาความผิดของเด็กหนุ่มเจ้ากรรม เราจะพินิจอาชญากรรมที่เขาทำด้วยท่าทีแบบไหน และไม่ว่าเขาจะผิดหรือไม่ผิดจริงนั้น เราพร้อมจะทำความเข้าใจเขาหรือเปล่า ทั้งยังพาคนดูสำรวจภูมิทัศน์เรื่องความยุติธรรมกับอคติของมนุษย์ ตลอดจนประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและเสียงข้างมากที่ถูกคัดง้างโดยเสียงข้างน้อย ไปจนถึงการสำรวจตำแหน่งแห่งหนด้านศีลธรรมของแต่ละคน
หนังพิจารณาคดีคลาสสิกอีกเรื่องที่แม้จะไม่ได้ร่วมขบวนเข้าฉายในโรงหนังบ้านเราในปีที่แล้ว แต่จะไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้ คือ A Few Good Men (1992) หนึ่งในหนังที่เขียนบทได้เดือดดาลระดับพระกาฬของ อารอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin) ผู้ที่ในเวลาต่อมาจะทั้งเขียนและกำกับหนังคอร์ตรูมสุดเดือดอีกเรื่องอย่าง The Trial of the Chicago 7 ในปี 2020 โดยสำหรับเรื่องนี้ บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อนายทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกลงโทษทางวินัยซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Code Red (หรือคือถูกซ่อม) จนถึงแก่ความตาย โดยทหารรุ่นพี่ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรม ทว่าพวกเขากลับยืนกรานว่า ไม่มีเจตนาจะสังหารพลทหารรุ่นน้อง หากแต่เขาทำตาม ‘คำสั่ง’ ที่ได้รับมาจากเบื้องบนต่างหาก
แดเนียล (แสดงโดย ทอม ครูซ) ผู้เป็นทนายความรับหน้าที่ดูแลคดีนี้ ยังผลให้เขาต้องลงมือสืบสวนว่าเบื้องบนที่ว่านั้นเป็นใคร ก่อนที่ผลลัพธ์จะพาเขาไปเจอกับ พันเอกเจสเซป (แสดงโดย แจ็ก นิโคลสัน) นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาของเขาด้วยท่าทีไม่ยี่หระ
สิ่งที่ทำให้ A Few Good Men แตกต่างไปจากหนังพิจารณาคดีเรื่องอื่นๆ คือการที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่กลางเรื่องว่า พันเอกเจสเซปคือผู้อยู่เบื้องหลังการออกคำสั่ง Code Red และความตายของนายทหารชั้นผู้น้อย หากแต่ความเดือดดาลถึงขีดสุดคือ การที่แดเนียลต้องหาทางบีบให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเหนือกว่าเขาทุกทิศทางจนตรอกและยอมรับผิดให้ได้ หนังจึงไม่ได้ชวนคนดูตั้งคำถามต่อระบบศีลธรรมหรือข้อกฎหมาย หากแต่ชวนพินิจถึงความบิดเบี้ยวของโครงสร้างในกองทัพ (ซึ่งดูจะเป็นปัญหาในหลายๆ ประเทศ) เพราะถึงที่สุด สิ่งที่ตกค้างอยู่ในใจหลายคนคือ ท่าทีของนายทหารรุ่นพี่ที่ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมนายทหารรุ่นน้อง เพราะพวกเขาลงมือทำด้วยการไม่ฉุกคิด ไม่เข้าใจ และให้เหตุผลที่ว่า พวกเขาก็เพียงแต่ทำตามคำสั่งที่หัวหน้าสั่งมาเท่านั้น
ดังนั้น สิ่งที่หนังทำงานกับคนดูจึงไม่ได้ชวนคนดูพิเคราะห์ในฐานะลูกขุนหรือผู้พิพากษา แต่เป็นสถานะของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกดด้วยอำนาจ และลงเอยด้วยการเหยียบย่ำทำลายกันและกันเป็นทอดๆ เท่านั้น
Tags: Anatomy of a Fall, 12 Angry Men, Saint Omer, A Few Good Men, courtroom films, People Also Watch