ว่ากันในกลุ่มนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวูด ชื่อของ อดัม ไดรเวอร์ (Adam Driver) ถือว่า เป็นชื่อที่น่าสนใจเป็นลำดับต้นๆ ด้วยบุคลิกไอ้หนูเก้งก้างที่เล่นละครเวทีสมัยเรียนมัธยม พยายามสร้างกลุ่มคลับใต้ดินตามรอยหนัง Fight Club (1999) แล้วพังไม่เป็นท่า และอีกไม่กี่ปีต่อมา หลังเหตุวินาศกรรม 911 เขาเข้าร่วมกองทัพนาวิกโยธินอยู่ 2 ปีกว่า แล้วปลดประจำการด้วยอาการบาดเจ็บ (ระหว่างการปั่นจักรยาน) ถึงได้กลายมาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ได้ชื่อว่า ฝีมือดีมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุคสมัย

“ตอนสมัยเรียน ผมไม่ได้เล่นกีฬาอะไรเป็นพิเศษ ไม่ใช่ว่าไม่ชอบนะ แค่ผมเล่นกีฬาอะไรไม่ได้เรื่องเลย

“จะมีก็แค่บาสเกตบอล ถึงที่สุดผมก็ไม่ใช่เด็กที่จะหันไปบอกเพื่อนๆ ว่า ‘เฮ้ย วันนี้ไปเล่นอเมริกันบอลกันเถอะ’ แบบนั้น ไม่ใช่เด็กประเภทหัวโจกด้วย นึกออกใช่ไหมว่า สมัยเรียนจะมีเด็กผู้ชายที่มักบอกว่า ‘เราเป็นผู้ชาย วันนี้เราจะไปเขมือบเนื้อกัน’ ผมไม่รู้ว่า พวกเด็กผู้ชายใช้ชีวิตกันแบบไหน ไม่เคยรู้จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในกองทัพ ในนั้นผมติดแหง็กอยู่กับพวกแก๊งชายแท้สุดขั้วเป็นโขยง” เขาเล่า

ภายหลังออกจากกองทัพ ไดรเวอร์ตัดสินใจดิ่งไปยังสถาบันสอนการแสดง เพื่อพบว่า ‘โลกพลเรือน’ แตกต่างไปจากระเบียบปฏิบัติที่ใช้ชีวิตในกองทัพสุดขั้ว เขามักนิยามว่า ช่วงปีแรกๆ ของการสร้างตัวในฐานะนักแสดงอาชีพนั้นลุ่มๆ ดอนๆ ไดรเวอร์เริ่มจากการเล่นละครบรอดเวย์และละครเวที ก่อนจะหันไปรับเล่นหนังสั้นกับซีรีส์ประปราย โดยแทบไม่เห็นแนวโน้มว่า จะมีชื่อเสียงขึ้นมาสักกี่มากน้อย แต่เขาในวัยที่อายุยังนำหน้าด้วยเลขสอง ก็ไม่ได้มองมันเป็นปัญหาใหญ่ อันเนื่องมาจากฐานความคิดเดียวคือ ชีวิตในกองทัพมอบประสบการณ์สุดขีดคลั่งให้มากพอ จนไม่กลัวว่า โลกนอกกฎระเบียบจะโยนอะไรที่ยากเกินกว่าที่เขาจะรับมือได้มาให้ 

“การเข้าเรียนการแสดงถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมนะ ผมไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย เอาจริงๆ ผมโชคดีด้วย เพราะได้เรียนการแสดงละครเวทีที่สถาบันจูลิอาร์ด (โรงเรียนสอนการแสดงชื่อดังในนิวยอร์ก) การที่เคยเป็นทหารมาก่อนโคตรได้เปรียบเลย เพราะการแสดงละครเวทีใช้ร่างกายเยอะ

“ตอนอยู่ในกองทัพ เราเจอสถานการณ์โหดหินตลอดเวลาแหละ ตอนที่ออกจากการเป็นนาวิกฯ ผมเลยคิดว่า ย้ายไปนิวยอร์กแล้วไปเป็นนักแสดงดีกว่า ถ้าไม่รอด ก็แค่ไปอยู่ในสวนเซ็นทรัลพาร์ก เทียบกับตอนอยู่ในกองทัพแล้ว เรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากเย็นอะไร” เขาว่า “ถึงที่สุดก็คงไปนอนซุกในที่ทิ้งขยะสักแห่ง กระเสือกกระสนเอาชีวิตรอด ชีวิตของพลเรือนมันไม่ยากมากนัก ถ้าเทียบกับตอนเป็นทหาร ตอนนั้นผมคิดแบบนั้นแหละ ซึ่งมันไม่ถูกหรอก”

หลังจากแสดงละครบรอดเวย์ ไดรเวอร์ค่อยๆ ขยับมารับแสดงซีรีส์มากขึ้น เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากการปรากฏตัวในซีรีส์ Girls (2012-2017) และรับบทสมทบในหนังของผู้กำกับชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น คลินต์ อีสต์วูด (Clint Eastwood) สมัยที่ทำ J. Edgar (2011), Frances Ha (2012) หนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมงานกับโนอาห์ บอมบาช (Noah Baumbach) ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นคนทำหนังเจ้าประจำของไดรเวอร์อีกคน รวมทั้งเขายังไปอยู่ใน Lincoln (2012) หนังสุดอีพิกของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และปีต่อมาก็เป็นนักดนตรีเศร้าๆ ใน Inside Llewyn Davis (2013) ของพี่น้องโคเอน (Ethan Coen, Joel Coen)

“ผมรู้ว่า คนมักจะคิดว่า ถ้าคุณเป็นนักแสดง เป้าหมายของคุณคือ การมีชื่อเสียงโด่งดังและร่ำรวย ซึ่งก็แน่นอนว่า เราอยากโด่งดังและร่ำรวยอยู่แล้ว ซึ่งมันดีจะตายใช่ไหม เพราะมันเปิดโอกาสให้คุณได้ทำอย่างใจอยากตั้งหลายอย่าง แต่ส่วนหนึ่งของการทำงานแสดงคือการเป็นคนนิรนาม ได้ใช้ชีวิต ได้สังเกตผู้อื่นมากกว่าถูกสังเกต เรื่องนี้สำคัญนะ การเป็นคนดังดูจะขัดกับงานที่ผมทำ จริงๆ มันออกจะประหลาดอยู่แหละ เวลาคุณเดินเข้าไปในห้องสักห้องหนึ่ง แล้วพบว่า ผู้คนมีภาพคุณไว้ในใจอยู่ก่อนแล้ว”

พูดอย่างชัดที่สุด ไดรเวอร์เป็นหนึ่งในนักแสดงที่เลือกเส้นทางการเติบโตของสายงานตนเองอย่างแม่นยำ และอาจกล่าวได้ว่า เขาน่าจะเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ได้ร่วมงานกับผู้กำกับมือรางวัลมากหน้าหลายตามากกว่าใครในรุ่นอายุเดียวกัน ยิ่งล่าสุดที่เขาปรากฏตัวใน Megalopolis (2024) โคตรหนังมหากาพย์ของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) หรือปีก่อนหน้าที่รับบทนำใน Ferrari (2023) ของคนทำหนังที่โลกรักอย่าง ไมเคิล มานน์ (Michael Mann) ยิ่งน่าจะเห็น ‘ภาพใหญ่’ ของเส้นทางการทำงานของไดรเวอร์ 

“ผมอยากร่วมงานกับผู้กำกับเก่งๆ มาตลอดแหละ” เขาว่า “ผมออดิชันเป็นบ้าเป็นหลัง เพราะอยากร่วมงานกับคนทำหนังที่ผมชื่นชม และเรื่องมันก็แค่ว่า ผมได้งาน บางทีอาจจะแค่โชคเข้าข้างก็ได้”

ช่วงที่ไดรเวอร์แสดงใน Inside Llewyn Davis อาจยังไม่ใช่ช่วงที่เขาโด่งดังเต็มที่นัก แต่การปรากฏตัวในฐานะนักดนตรีตกอับ ที่ออกมาร้องแค่ท่อน Outer Space ก็ดึงสายตาคนดูอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นที่นักวิจารณ์นิยามไดรเวอร์ซึ่งเวลานั้นอายุเพียง 30 ปีว่า เป็น ‘จอมขโมยซีน’ ที่น่าจับตา 

ทั้งนี้หนังว่าด้วยเรื่องของ เลวีน เดวิด (แสดงโดย ออสการ์ ไอแซ็ก) นักดนตรีโฟล์กที่เคยโด่งดังจากการออกอัลบั้มกับคู่หู ก่อนที่ทุกอย่างจะพลิกผันเมื่อเกิดเหตุเศร้าขึ้น จนเขาต้องกลายเป็นศิลปินเดี่ยว กระเสือกกระสนหาเงินเลี้ยงชีพ หนักไปกว่านั้นเขายังทำ จีน (แสดงโดย แครีย์ มัลลิแกน) สาวที่เป็นคนรักของ จิม (แสดงโดย จัสติน ทิมเบอร์เลก) เพื่อนสนิทที่เป็นนักดนตรีเช่นเดียวกันท้อง เลวีนจึงต้องดิ้นรนหาเงินให้จีนยุติการตั้งครรภ์ ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานั้นคือ การไปร่วมบันทึกเสียงกับจิมและโคดี (แสดงโดย ไดรเวอร์) นักร้องเพลงโฟล์กอัธยาศัยดี ที่เลวีนมาพบภายหลังว่า โคดีเองก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับเขา 

กล่าวคือเป็นนักดนตรีตกอับที่ยังเก็บแผ่นเสียงขายไม่ออกของตนเองไว้ในบ้านอยู่เป็นลังๆ 

หลายคนคิดว่า การที่เขาจบจากสถาบันจูลิอาร์ดทำให้การร้องเพลงน่าจะเป็นเรื่อง ‘กินหมู’ สำหรับไดรเวอร์ แต่ไม่ใช่เลย “ภาคขับร้องอยู่คนละส่วนกับภาคการแสดง แม้จริงๆ ผมจะเป็นนักดนตรี เติบโตในโบสถ์ และร้องเพลงประสานเสียงประจำ เล่นเปียโนที่โรงเรียนด้วย แต่คงไม่อาจเรียกตัวเองว่า เป็นนักดนตรีอาชีพได้เมื่อเทียบกับตัวละครในหนัง ผมมีเครื่องดนตรีติดอยู่ที่บ้าน เอาไว้เล่นกับเพื่อนๆ ก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรเท่าไรหรอก

“ตอนออดิชัน พวกเขาให้ผมร้องเพลงที่คุณได้ยินในหนัง แล้วมันกดดันมากๆ ซึ่งหลายคนน่าจะพอนึกออก เพราะมันไม่ใช่แค่ต้องแสดงฉากใดฉากหนึ่ง แต่เราต้องร้องเพลง แถมยังเป็นการร้องเพลงให้พี่น้องโคเอนฟังอีกต่างหาก” ไดรเวอร์บอก

จุดที่ทำให้ไดรเวอร์กลายเป็นนักแสดงดังที่หลายคนคุ้นหน้าคือ การรับบทนำในหนังแฟรนไชส์เจ้าใหญ่อย่าง Star Wars: Episode VII – The Force Awakens (2015) ในบท ไคโล เรน เจไดหนุ่มที่เติบใหญ่ขึ้นมาภายใต้การฝึกสอนของ ลุค สกายวอล์กเกอร์ หากแต่ความขมขื่นของชีวิตก็ผลักให้เขาเข้าสู่ด้านมืดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง 

ไคโล เรน ยังเป็นบทสำคัญของภาคต่ออีก 2 เรื่องคือ Star Wars: Episode VIII – The Last Jedi (2017) และ Star Wars: Episode IX – The Rise of Skywalker (2019) ลำพังการเข้าไปอยู่ในหนังซึ่งเป็นส่วนขยายต่อของหนึ่งในแฟรนไชส์ ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูด ก็ถือเป็นเรื่องหนักหนาแล้ว หากแต่ไคโล เรนยังเป็นหนึ่งในบทบาทที่ซับซ้อน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเส้นเรื่องทั้งองคาพยพ 

“ส่วนตัวแล้วผมพบว่า ตัวละครทุกตัวที่ผมรับบท ไม่ใช่แค่ใน Star Wars คือเราต้องหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวละครเชื่อมโยงกับเนื้อตัวคุณให้มากที่สุด” ไดรเวอร์บอก “และสิ่งที่ผมพบในตัวละครนี้คือ ความเจ็บปวดอันล้ำลึกซึ่งผมเชื่อมโยงด้วยได้ และหวังจะเก็บงำเรื่องนี้ไว้แค่กับตัวเองเท่านั้น” 

การรับบทไคโล เรน ทำให้ไดรเวอร์กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงเบอร์ใหญ่ ที่เล่นหนังกระแสหลักและได้รับการจดจำเป็นวงกว้าง ในลักษณะเดียวกันกับที่ วิกโก มอร์เตนเซน (Viggo Mortensen) ปรากฏตัวในไตรภาค The Lord of the Rings หรือซิกัวร์นีย์ วีเวอร์ (Sigourney Weaver) หัวเรือใหญ่แห่งแฟรนไชส์ Alien ที่ประสบความสำเร็จเป็นวงกว้าง แล้วหายไปรับงานแสดงเรื่องเล็กๆ อื่นๆ 

“ผมไม่ได้มองเรื่องนี้ในแง่ความสำเร็จอะไรเท่าไร ผมยังต้องทำงานอยู่ดี” ไดรเวอร์บอก “บ่อยครั้ง คุณอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่พยายามหาทางแก้ปัญหาตรงหน้า ขณะที่ตัวคุณเองก็ต้องตระหนักและมองตัวเองให้ชัดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เรื่องราวแบบไหนที่คุณอยากบอกเล่า เรากำลังปล่อยให้อีโก้ครอบงำเราอยู่หรือเปล่า หรือความรู้สึกไม่มั่นคงของเรากำลังมีอำนาจอยู่เหนือตัวเรา ไม่อย่างนั้นเป็นไปได้ไหม ที่ความคาดหวังจากคนอื่นเป็นฝ่ายกดดันเราอยู่ หรือเราอาจไม่ได้ฟังใครเลยทั้งสิ้น ผมว่า มันมีเรื่องที่ไม่ถูกพูดถึง เรื่องการหาสมดุลให้ตัวเองเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ”

หลังจากนั้น ไดรเวอร์กระโจนไปร่วมงานกับผู้กำกับระดับตำนานของฮอลลีวูดอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ในหนัง Silence (2016) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันในปี 1966 เขียนโดย ชูซากุ เอ็นโด (Shusaku Endo) เล่าถึง บาทหลวงเฟอร์เรรา (แสดงโดย เลียม นีสัน) ที่ออกเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ยังประเทศญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 17 ก่อนจะหายตัวไปจนเกิดเสียงเล่าลือกันว่า บาทหลวงเฟอร์เรราได้ทอดทิ้งพระเจ้าไปแล้ว บาทหลวงโรดิเกซ​ (แสดงโดย แอนดรูว การ์ฟิลด์) กับบาทหลวงการูเป (แสดงโดย ไดรเวอร์) ผู้เป็นลูกศิษย์จึงออกเดินทางไปยังญี่ปุ่นเพื่อตามหาเฟอร์เรรา และต้องรับมือกับวิกฤตศรัทธาที่หมายถึงความเป็นความตายด้วย

Silence นับเป็นหนังอีกเรื่องที่สกอร์เซซีวาดฝันจะทำขึ้นมาให้ได้ ตั้งแต่อ่านงานเขียนของเอ็นโดเมื่อปี 1989 “สกอร์เซซีเป็นคนทำหนังประเภทที่อยากให้คุณมีส่วนร่วมกับงานแสดงของตัวเอง เขาจ้างคุณเพราะอยากฟังความเห็นคุณต่อบทบาทนั้นๆ” ไดรเวอร์บอก “เขาอยากให้คุณขบถ อยากให้คุณทำในสิ่งที่เขาคาดไม่ถึง ก็เขาอยากทำหนังเรื่องนี้มาตั้ง 28 ปีนี่นา แล้วก็ยังไม่มีทางที่ ‘ถูกต้อง’ ที่สุดด้วย ผมว่านี่แหละ เจ๋งไปเลย”

บาทหลวงการูเปถือเป็นอีกหนึ่งบทโหดหินของไดรเวอร์ เขาตะบี้ตะบันลดน้ำหนักไปราว 22 กิโลกรัมก่อนถ่ายทำ และระหว่างถ่ายทำก็ยังลดลงไปอีกราว 9 กิโลกรัม “ตอนหนังเริ่มเรื่อง ตัวละครใช้เวลา 2 ปี ออกเดินทางจากโปรตุเกสไปยังมาเก๊า ล่องเรือไปรอบแอฟริกา ต้องเจอกับโรคภัยมากมาย อาหารก็ไม่พอ” ไดรเวอร์สาธยาย 

แม้การลดน้ำหนักจะเป็นเรื่องหนักหน่วงทั้งก่อนและหลังเปิดกล้อง แต่ไดรเวอร์ก็พบว่า เขาสนุกสนานกับการท้าทายตนเองอยู่เนืองๆ “ก็ผมควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นตอนถ่ายทำไม่ได้นี่นา สิ่งที่ผมควบคุมได้คือ การกินของตัวเอง แล้วภาพร่างกายของผมก็เป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องด้วย ว่าไปก็ไม่คิดว่า ตัวเองจะเคยทำอะไรสุดโต่งขนาดนี้มาก่อนเหมือนกัน ผมว่าน่าสนใจดี”

Silence ไม่ใช่หนังเรื่องสุดท้ายที่ไดรเวอร์รับบท ‘สานฝัน’ ให้ผู้กำกับที่ง้างอยากทำหนังที่ตัวเองอยากทำแต่ทำไม่ได้สักที เพราะ The Man Who Killed Don Quixote (2018) หนังชวนหัวร่อของ เทอร์รี กิลเลียม (Terry Gilliam) ก็ตกอยู่ในสถานะใกล้เคียงกับหนังของสกอร์เซซี กล่าวคือ มันเป็นหนังที่กิลเลียมตั้งใจจะสร้างมาร่วม 3 ทศวรรษ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะติดขัดมาตั้งแต่กระบวนการสร้าง หนังดัดแปลงมาจาก Don Quixote วรรณกรรมมหากาพย์สัญชาติสเปนของ มิเกล เด เซรบานเตส (Miguel de Cervantes) หนังว่าด้วย โทบี (แสดงโดย ไดรเวอร์) ผู้กำกับหนังที่อยากทำโฆษณาเล่าเรื่องของ ดอน กิโฆเต ที่ชีวิตจับพลัดจับผลูหลุดเข้าไปยังโลกแฟนตาซี พาให้เขาได้เจอกับอัศวินสติเฟื่อง และชายเจ้าของลาบ้องตื้นที่ทำให้การทำหนังของเขากลายเป็นสิ่งชวนเหวอขึ้นทุกที

หนังได้รับเสียงวิจารณ์ไม่ดีนัก ด้านหนึ่งหลายคนพิจารณาว่า มันอาจเป็นผลมาจากความช้ำที่ถูกดองไว้นานเกินไป หรือการที่มันผ่านกระบวนการพัฒนาบทซ้ำซ้อนมาหลายสิบปี มิหนำซ้ำยังทำเงินแทบไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาว่า มันเป็นหนังที่ทำให้กิลเลียมได้ ‘บรรลุ’ ภาพฝันของเขา และไดรเวอร์ก็ได้ร่วมงานกับคนทำหนังที่เขาเคารพอีกหนึ่งคน ความสำเร็จและไม่สำเร็จในเรื่องอื่นๆ ก็อาจเป็นสิ่งรองลงมา

ไดรเวอร์กลับมาร่วมงานกับบอมบาชอีกครั้งใน Marriage Story (2019) และเส้นเรื่องอันแสนเรียบง่าย เมื่อมันว่าด้วยผู้กำกับละครเวที (แสดงโดย ไดรเวอร์) กำลังจะปิดฉากชีวิตคู่ของเขากับเมีย (แสดงโดย สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน) และกระบวนการหย่าร้างอันยาวนานก็ทำให้พวกเขาพินิจเห็นกันและกันมากขึ้นในยามที่ความรักอับปางลง

พ้นไปจากการแสดงอันยอดเยี่ยมของนักแสดง (และการได้กลายเป็นมีมแสนไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ต) Marriage Story ถูกชื่นชมในแง่ของการเป็นหนังที่สำรวจประเด็นการแตกหัก หย่าร้าง และกระบวนการทางกฎหมายที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง “อย่างฉากที่ตัวละครทะเลาะกันมันก็อยู่ในสคริปต์ อยู่ในตัวนักแสดง อยู่ในสิ่งที่เราซักซ้อมและทำซ้ำกันมาไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ” เขาว่า “ยิ่งเราทำบ่อยขึ้น เรายิ่งเปิดรับรายละเอียดใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น แล้วโนอาห์เขาก็เป็นผู้กำกับที่เก่งมากๆ เพราะเขาไม่ปิดกั้นไอเดียอะไรคุณสักอย่าง” อย่างไรก็ดี ฉากที่เขาร้องเพลงบรอดเวย์ ไดรเวอร์ถ่ายทำเทกเดียวผ่าน “เอาจริงๆ ผมว่า การร้องเพลงมันก็น่ากลัวของมันเองอยู่แล้ว สมมติคุณขอให้ผมร้องเพลงของเอลวิสสักเพลง ผมก็หลอนจะแย่แล้ว แต่โชคดีที่การถ่ายทำฉากนั้น เราจับจ้องไปยังตัวละครเป็นหลัก แล้วโนอาห์ก็บอกแค่ว่า ให้ร้องเพลงนี้เพราะต้องร้อง เพลงมันมีความหมาย มีนัยของมัน)

และหนังลำดับล่าสุดที่เขาแสดงนำ Megalopolis ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ หากมันก็เป็นหนังอีกเรื่องที่เขาอาสาพาคนทำหนังไปถึงฝั่งฝัน ด้วยการผลักมันให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง หลังมันเป็นโปรเจกต์ที่คอปโปลาวาดหวังอยากปั้นออกมานานหลายสิบปี หากแต่ทั้งวาระและโอกาสไม่เคยอยู่ข้างเขา 

คอปโปลาเจียดเงินส่วนตัว เข็น Megalopolis โดยไม่แยแสนายทุนและสตูดิโอไหน ด้านหนึ่งนี่ก็เป็นความทะเยอทะยานและความบ้าพลังที่ทั้งนักแสดง ทีมงานและคนดูเองเป็นประจักษ์พยาน “ตั้งแต่วันแรกที่ถ่ายทำ ฟรานซิสบอกแนวทางการกำกับให้คนทั้งห้องฟังว่า ‘พวกเรายังกล้าหาญกันไม่พอ’ ซึ่งผมว่า เป็นแง่มุมการกำกับที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้รับมาเลย” ไดรเวอร์ว่า “เขาไม่ได้อยากทำหนังที่ใครๆ เคยเห็นกันมาก่อน เขาอยากผลักเขตแดนบางอย่างไปให้ไกลขึ้น ให้มันเป็นภาพยนตร์และดูสนุก แต่ก็ยังทะเยอทะยาน ขยับเส้นแบ่งของการแสดงออกไปให้กว้างขึ้นด้วย”

สำหรับโปรเจกต์ถัดไปของไดรเวอร์ เขาหวนกลับมาร่วมงานกับกิลเลียมอีกหน ในหนังพล็อตชวนเหวอ (ตามประสากิลเลียน) ว่าด้วยคืนวันที่พระเจ้าพิโรธและตัดสินใจล้างบางมวลมนุษยชาติในคราวเดียว คนที่พยายามรั้งไม่ให้พระเจ้าก่อการเด็ดขาดกลับเป็นซาตาน ผู้อ้างว่า ในโลกอันบัดซบนี้ยังมีมนุษย์อยู่ 2 คนที่จะกู้วิกฤตศรัทธาให้พระเจ้าได้ และโปรเจกต์กับ จิม จาร์มุช (Jim Jarmusch) (ที่ว่าไปก็ถือเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับคู่บุญของไดรเวอร์) ว่าด้วยพี่น้องที่ต้องกลับมารวมตัวกันอย่างไม่เต็มใจนัก และต้องรับมือกับบรรยากาศมึนตึงที่พ่อกับแม่ผู้ห่างเหินของพวกเขาก่อขึ้นมา

Tags: , , , , , , ,