ผู้คนไม่ค่อยจะพูดคำว่า “ขอบคุณ” เมื่อได้รับการช่วยเหลือกันเท่าไรนัก แถมบางภาษาก็ไม่มีคำว่าขอบคุณ
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society Open Science ศึกษาบันทึกการสนทนากว่าหนึ่งพันบทสนทนาจากทั่วโลก ดูรูปแบบการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันในภาษาที่ต่างกัน 8 ภาษาจาก 5 ทวีป พบว่า ผู้คนไม่ค่อยจะสนองตอบการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ อย่างการส่งขวดเกลือให้ ด้วยการกล่าวคำขอบคุณ และรวมๆ แล้ว ผู้คนแสดงความขอบคุณเพียง 1 ใน 20 ครั้ง
นักวิจัยวิเคราะห์บทสนทนา 1,057 บทสนทนาที่บันทึกโดยการติดกล้องและไมโครโฟนภายในบ้านและสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่คนในชุมชนมารวมตัวกัน จากทั้ง 8 ภาษา ได้แก่ ภาษา Cha’palaa ในเอกวาดอร์ ภาษา Siwu ในกานา ภาษาลาว ภาษาโปลิช ภาษารัสเซียน ภาษา Murrinh-Patha ในออสเตรเลีย ภาษาอิตาเลียน และภาษาอังกฤษ
พวกเขาพยายามใช้คำนิยามอย่างกว้างเพื่อจับเอาวลีที่แสดงให้เห็นถึงการขอบคุณเมื่อได้รับการช่วยเหลือที่ร้องขอ เช่น ในภาษาอังกฤษ ก็จะรวมถึงคำว่า ‘sweet’ หรือ ‘good job’ รวมทั้ง ‘thank you’ ส่วนในภาษา Murrinh-Patha นั้นมีคำขอบคุณอย่าง ‘Yukuy murruwurInyima’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ใช่แล้ว คุณช่างงดงาม”
ผลก็คือ บันทึกการสนทนาแสดงให้เห็นว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือผู้อื่นสูงเมื่อได้รับการร้องขอ เฉลี่ยแล้วตอบสนองเท่ากับ 88% แสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมใจจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แม้การช่วยเหลือกันจะเป็นบรรทัดฐานของสังคม แต่การกล่าวขอบคุณกลับไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำกันเป็นปกติ
คำ ‘ขอบคุณ’ เหล่านี้ ปรากฏมากที่สุดในภาษาอังกฤษ (14.5%) และอิตาเลียน (13.5%) แต่น้อยมากๆ ในภาษาโปลิช (2%) และ Siwu (0.8%) ส่วนบางภาษาก็ไม่มีคำว่า ‘ขอบคุณ’ ให้ใช้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่า ไม่ใช่เรื่องประหลาดแต่อย่างใด
นักวิจัยบอกว่า ผลการศึกษานี้ให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีทางภาษามากกว่าจะตัดสินกันเรื่องมารยาท และชี้ให้เห็นว่า ในวัฒนธรรมต่างๆ กลุ่มคนที่สนิทชิดเชื้อกัน มักจะช่วยเหลือกันและกันเป็นเรื่องธรรมดา จนการพูดคำว่าขอบคุณกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น และฝ่ายที่ช่วยเหลือก็มักจะไม่ได้คาดหวังคำขอบคุณเช่นกัน
“นี่ไม่ได้หมายความว่าคนเราไร้มารยาทกันอย่างเป็นสากล และไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษสุภาพกว่าคนพูดภาษาอื่นๆ” นิค เอ็นฟิลด์ หัวหน้าคณะนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแห่งซิดนีย์กล่าว “เราไม่ควรเชื่อมโยงระดับความรู้สึกกตัญญูรู้คุณว่าเท่ากับการแสดงมันออกมา”
บทสนทนาทั้งหมดอยู่ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ และเกิดขึ้นระหว่างคนที่รู้จักกันและกันดีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเพื่อนหรือคนในครอบครัว ส่วนในสถานการณ์ที่เป็นทางการกว่านี้ เช่น การซื้ออาหารในร้านค้า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการแสดงความขอบคุณออกมาจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่านี้อย่างแน่นอน
งานวิจัยยังทิ้งคำถามเอาไว้ให้คิดว่า เพราะเหตุใดในบางสถานการณ์ ผู้คนจึงเลือกที่จะพูดคำว่าขอบคุณออกมา
“สำหรับปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน การร่วมมือกันนั้นถือเป็นกฎ ชีวิตในทางสังคมอยู่รอดได้ เพราะธรรมชาติของเราคือการขอความช่วยเหลือและการตอบแทน มากกว่าการใช้คำพูด” เอนฟิลด์กล่าว “มันคือข้อตกลงที่ไม่ต้องพูดออกมา ว่าพวกเราพร้อมจะช่วยเหลือกัน”
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/science/2018/may/23/people-rarely-say-thank-you-when-others-help-them-out-scientists-say
- https://www.nytimes.com/2018/05/22/arts/23thank-you.html