การขอกลับประเทศของ ‘ผีน้อยเกาหลี’ ราว 5,000 คนในห้วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 ก่อให้เกิดกระแสถกเถียงในสังคม (โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดีย) เป็นวงกว้างถึงมาตรการในการกักตัวผีน้อย การจะรับหรือไม่รับผีน้อยกลับไทย และสถานการณ์ขณะนี้ยังบานปลายกันไปถึงการล่าผีน้อย ที่ไม่ยอมทำตามมาตรการกักตัวของภาครัฐแล้วโพสต์ลงสื่อโซเชียลฯ หรือแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
‘ผีน้อยเกาหลี’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ที่ลองเสี่ยงโชคไปทำงานหาเงินในต่างแดน เมื่อหลายสิบปีก่อนเราคงเคยได้ยินคำว่า ‘โรบินฮู้ด’ ที่ใช้เรียกแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการเรียกแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเหล่านี้ว่า ‘ผีน้อย’ หรือ ‘โรบินฮู้ด’ นั้นล้วนแล้วแต่เป็นคำเรียกคนที่มีสถานภาพแบบเดียวกันแต่อยู่ในคนละสถานการณ์ ส่งผลไปถึงปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อพวกเขาเหล่านี้ด้วย
บทความนี้จึงต้องการหาคำตอบว่าทำไมคนไทยเหยียด ‘ผีน้อย’ แต่มีความรู้สึกร่วมและเห็นใจ ‘ปรสิต’ และชื่นชม ‘โรบินฮู้ด’ ผ่าน Framing Effect Theory เพื่อชี้ให้เห็นว่า สื่อ ภาษา วัฒนธรรมล้วนมีผลต่อการนิยามคำบางคำขึ้นมา เช่นเดียวกันกับที่สื่อ ภาษาและวัฒนธรรมเหล่านั้นเป็นผลของสังคม วัฒนธรรมและการเมือง
ความสำเร็จของภาพยนตร์ ‘ชนชั้นปรสิต’ สู่ความเข้าใจ ‘ปรสิต’
กระแสของภาพยนตร์เรื่อง ‘Parasite’ หรือ ‘ชนชั้นปรสิต’ กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อชนชั้นปรสิต ผลงานของบงจุนโฮผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ปีล่าสุด คอหนังชาวไทยต่างตอบรับกระแสดังกล่าวเป็นอย่างดี เห็นได้จากการที่โรงภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์ดังกล่าวมาฉายซ้ำ
ทั้งยังมีบทความภาษาไทยเขียนวิเคราะห์ชนชั้นปรสิตในสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งก่อนที่ภาพยนตร์ได้รางวัล เช่น “Parasite ในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ ใครกันน่าโกรธที่สุด”, “บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นที่ต่าง ใครกันแน่ที่เป็นปรสิต?” และ “Parasite ชนชั้นปรสิต อะไรที่เปลี่ยนเราให้เป็นพยาธิ” และหลังจากที่ภาพยนตร์ได้รางวัล เช่น “Parasite ที่สุดของออสการ์! ชนชั้นปรสิต จากพรมแดงถึงหลังม่าน”, “ชนชั้นปรสิต ออสการ์ กับความเหลื่อมล้ำบ้านเรา” และ “5 ยอดเยี่ยม ปรสิตพิชิตออสการ์สำเร็จแล้ว”
ความสำเร็จของภาพยนตร์ส่งผลให้คำว่า ‘ปรสิต’ กลายเป็นคำที่ชาวโซเชียลฯ ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน สำหรับชาวโซเชียลฯ แล้วปรสิตนั้นเป็นคำที่ใช้เรียกคนจน หรือชนชั้นล่าง (แม้ในความเป็นจริงแล้วปรสิตอาจไม่ใช่ครอบครัวคิม–คนจนในภาพยนตร์แต่เป็นครอบครัวพัค–คนรวยต่างหาก) อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเมื่อ ‘ผีน้อย’ อยากกลับบ้านสถานการณ์ความเห็นอกเห็นใจต่อ ‘ปรสิต’ กลับแทบจะจางหายไปในทันที กระแสการเหยียดเหล่าผีน้อยกลับมาแทนที่ เป็นเพราะอะไรกัน?
อะไรคือ Framing Effect Theory
Framing Effect Theory คือทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เกิดจากการวิจัยของนักจิตวิทยา Tversky and Kahneman’s ในปี 1979 เพื่อชี้ให้ว่าเห็นวิธีการตั้งคำถามนั้นส่งผลต่อคำตอบ
Framing Effect Theory เป็นหลักการที่ตัวเลือกในการตัดสินใจของเราได้รับอิทธิพลจากวิธีที่ถูกล้อมกรอบด้วยคำพูด ทิศทางและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเวลาชักจูงใครขอให้นำเสนอสิ่งที่เรากำลังพยายามจะชักจูงให้เป็นบวกอย่างชัดเจนกว่าอีกทางหนึ่ง เช่น การเสนอความเสี่ยงของการสูญเสีย 10 จากทั้งหมด 100 ชีวิต กับการที่จะเสนอว่าสามารถรักษาชีวิตได้ 90 จาก 100 ชีวิต หรือการโฆษณาว่าเนื้อนี้มีปริมาณเนื้อถึง 95% กับการโฆษณาว่าเนื้อมีไขมัน 5%
กล่าวโดยสรุป ในการตัดสินใจของคนๆ เดียวกันนั้นจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเลือกที่เขาต้องตัดสินใจนั้นเน้นไปทางบวกหรือลบ อันนำไปสู่การตัดสินใจของคนเรา หรือลักษณะของการนำเสนอตัวเลือกนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนเราในสถานการณ์เดียวกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับระบบความคิด
สำหรับในกรณี ‘ผีน้อย’ ‘ปรสิต’ และ ‘โรบินฮู้ด’ นั้น นอกจาก Framing Effect Theory แล้วยังมีประเด็นเรื่องการอุปลักษณ์เข้ามาเสริมในการตัดสินใจอีกด้วย ตัวอย่างการศึกษาหนึ่งที่สะท้อนเรื่องการอุปลักษณ์ได้อย่างชัดเจนคือวงเสนองานวิจัยและเวทีเสวนาเรื่อง ‘คอร์รัปชันในสังคมไทย’ ระบุชัดว่าภาษาที่ใช้ในสื่อมีผลกระทบต่อความเข้าใจและการรับรู้ของผู้เสพสื่อ เนื่องจากสิ่งที่แฝงอยู่ในข่าวสองข่าวคืออุปลักษณ์ หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับสิ่งหนึ่งโดยที่ทั้งสองสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและระบบความคิดของมนุษย์ เชื่อมโยงกับสังคม การเมืองและวัฒนธรรมของคนที่พูด
เช่น สื่อไทยมีการใช้คำอุปลักษณ์ว่าสงคราม กองทัพ อาวุธ ความตาย การกินอิฐ หิน ปูน ทราย เป็นต้น เพื่อระบุถึงการคอร์รัปชันในสังคมไทย ซึ่งมีการใช้แบบเจาะจงเป็นรายกรณี และสนับสนุนให้เกิดดราม่า ในขณะที่สื่ออินโดนีเซียมีการใช้คำอุปลักษณ์ว่ากฎหมาย ระเบียบ ผิดจริยธรรม สื่อ หนังสือ อาชญากรรม การมีส่วนร่วม เป็นต้นเพื่อสื่อถึงการคอร์รัปชัน ความแตกต่างระหว่างการใช้คำอุปลักษณ์ของสื่อไทยและอินโดนีเซีย ล้วนเป็นผลมาจากสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่ต่างกันของทั้งสองประเทศ
ดังนั้นการเรียกคนจนในเชิงอุปลักษณ์ว่า ‘ปรสิต’ แล้วแฝงไปด้วยความเห็นใจ และมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเป็นผลมาจากกระแสภาพยนตร์ในสังคมที่คนรับรู้ร่วมกัน ปรสิตจึงเป็นคำเรียกเชิงบวก ขณะที่การเรียกแรงงานผิดกฎหมายสหรัฐอเมริกาว่า ‘โรบินฮู้ด’ ซึ่งมีความหมายมาจากภาพยนตร์เรื่องโรบินฮู้ดว่าเป็นลักษณะของการปล้นคนรวย (เอาเงินจากสหรัฐอเมริกา) มาช่วยคนจน (ส่งเงินกลับไทย) เป็นไปในทางบวกเช่นกันเนื่องจากมีความหมายเชิงบวกที่อิงอยู่กับภาพยนตร์
ซึ่งเป็นการตอบรับที่ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘ผีน้อย’ เพราะสำหรับคนไทยแล้ว ‘ผี’ นั้นเป็นคำที่สื่อความหมายในแง่ลบ โดยมีคำที่เกี่ยวข้องกับผีมากมาย เช่น ผีห่าซาตาน ผีเปรต ผีทะเล ผีบ้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงเข้ากับเรื่องที่ไม่ดีสำหรับคนไทยทั้งสิ้น และคำว่าผียังมาพร้อมกับกริยาที่เป็นไปในแง่ลบอีกด้วย เช่น ผีหลอก การเรียกแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่ไปทำงานอยู่ในเกาหลีว่า ‘ผีน้อย’ ผ่านสื่อต่างๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำ สร้างดราม่าเหยียดหยามพวกเขามากขึ้น
เพราะภาษาและการนิยามมีนัยของการเมือง วัฒนธรรม ชุดคุณค่าการรับรู้ในสังคมร่วมกัน และการตัดสินใจของคนนั้นจะโน้มเอียงไปในทางบวกเลี่ยงผลทางลบ
ทางออกสำหรับความขัดแย้ง เกลียดชัง เหยียดหยามแรงงานผิดกฎหมายชาวไทยที่กลับมาจากเกาหลีประการหนึ่งที่สามารถทำได้ทันทีคือการหยุดเรียกพวกเขาในเชิงอุปลักษณ์ว่า ‘ผีน้อย’ เพื่อลดทอนความเกลียดชังที่นับวันจะรุนแรงขึ้นจากสื่อและโซเชียลฯ จนพวกเขาแทบจะไม่เหลือความเป็นมนุษย์มีแต่ความเป็น ‘ผีน้อย’ ที่ควรจะสวดไล่ หรือหาหมอผีมาจัดการไล่ไปให้พ้นจากแผ่นดินไทย
อ้างอิง
1) Kahneman, D., & Tversky, A. (1979). Prospect theory: An analysis of decision under risk. Econometrica, 47, 263-291.
2) “วงเสวนาเผย ภาษา วัฒนธรรมมีผลแก้ไขคอร์รัปชัน ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูล” เข้าถึงได้จาก https://
3) https://www.behavioraeconomics.com/resources/mini-encyclopedia-of-be/framing-effect/4
4) https://thedecisionlab.com/biases/framing-effect/
Tags: ผีน้อย, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, แรงงานไทยในเกาหลีใต้