3
ดุจดาว วัฒนปกรณ์ เป็นนักจิตบำบัด อาชีพที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคย หากจะมีคำสั้นๆ อธิบายขยายความอาชีพนี้ ฉันคงใช้คำว่า ‘นักเยียวยา’
นักเยียวยาไม่ใช่หมอ จ่ายยาไม่ได้ ออกใบรับรองแพทย์ไม่ได้ แต่นักเยียวยามีความรู้ด้านจิตวิทยา รับฟังคุณได้ เมื่อคุณตกอยู่ในปัญหา นักเยียวยาจะช่วยกันสำรวจหาทางออกไปด้วยกัน
หน้าที่การงานเคยพัดพาให้ฉันได้สนทนากับดุจดาวเกี่ยวกับเรื่องจิตบำบัด ฉันจดจำความรู้สึกที่ได้จากน้ำเสียงของเธอได้ เธอช่วยให้ฉันรู้สึกถึงพลังในตัวเองผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างน่าอัศจรรย์ พูดถึงดุจดาวเมื่อใดก็ปรากฏภาพผู้หญิงพิเศษที่มีทั้งพลังและความอ่อนโยน จากประสบการณ์ส่วนตัวดังนี้ ฉันเลยดีใจที่ดุจดาวเขียนหนังสือสักที
ขอออกตัวว่า ฉันไม่คาดหวังจะได้อ่านเรื่องราวของนางฟ้าหรือหญิงผู้อารี แต่ถึงอย่างนั้น ดุจดาวก็ทำให้เซอร์ไพรส์ฉันอยู่ดี ฉันคาดไม่ถึงว่าจะได้รับรู้ชีวิตของดุจดาวในแบบที่จริงแสนจริงขนาดนี้ ภายใต้พลังที่เธอส่งผ่านมาให้ฉันในฐานะนักจิตบำบัด ยังมีเรื่องราวการแตกสลาย ความอ้างว้าง ความชั่วร้าย ความเกรี้ยวกราด น้ำตา ความรู้สึกผิด และอื่นๆ อีกมากมาย ไหลเวียนอยู่ในตัวเธอ หายใจไปพร้อมเธอ
ในความสั้นกระชับของหนังสือ ความรู้สึกในนั้นอัดแน่นตั้งแต่ฉากแรกๆ และประสบการณ์ร่วมในหลายบรรทัดก็สั่นสะเทือนให้มีน้ำตา
2
เปิดฉาก ดุจดาวก็พาฉันย้อนอดีตไปไกลถึงวัยเด็กตั้งแต่จำความได้ เธอบรรยายฉากชีวิตวัยเด็กเหมือนภาพยนตร์ มากกว่านั้น เธอบอกเล่ามรดกตัวตนบางอย่างที่ก่อเกิดในวัยเด็กด้วย เช่น กฎระเบียบที่ได้มาจากบ้านคุณย่าซึ่งทำให้เธอเจอความยากลำบากในการเข้าสังคมเมื่อเติบโตขึ้นมา
ในทางทฤษฎีจิตบำบัด ชีวิตวัยเด็กมีความสำคัญมากในการหล่อหลอมมนุษย์คนหนึ่ง เราจึงสนใจว่าวัยเด็กของคนๆ นั้นเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอย่างไร มันอาจบอกใบ้ถึงรากของนิสัยบางอย่างที่ติดตัวมาจนปัจจุบัน
ดุจดาวค่อยๆ ถ่ายทอดรายละเอียดของคนรอบกายเธอให้ผู้อ่านเห็น ทั้งแม่ผู้วุ่นวายกับการทำงานจนทำให้เธอในวัยเด็กรู้สึกเหมือนไม่มีตัวตนในสายตา พ่อที่เธอแสนรักแต่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากนัก หากเปรียบเป็นองก์ในบทละคร องก์ที่ 1 ของหนังสือก็คือชีวิตวัยเด็กของดุจดาวที่เธออธิบายตนเองว่าเป็นเด็กหญิงสล็อตผู้เชื่องช้า และคล้ายจะทำอะไรก็ไม่ถูกใจใครสักอย่าง
ทุกรายละเอียดในเนื้อหา เธอเชื่อมโยงที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ในชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนโต ให้พื้นที่กับการขุดค้นต้นตอความรู้สึกทางลบที่เกาะแน่นเป็นส่วนหนึ่งในตัวตน อย่างความรู้สึกที่แฝงตัวเป็นเงาในใจว่า “ฉันไม่ดีพอ”
บางถ้อยคำที่เธอเลือกใช้ ฉันในฐานะผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด หรือความรู้สึกของการบดขยี้บางสิ่งบางอย่างภายในตัวเอง
เมื่ออ่านไป คุณอาจสังเกตได้ถึงธรรมชาติมนุษย์ว่าคนเรามีวิธีตอบสนองต่อบาดแผลในใจต่างกันไป อย่างเช่นสำหรับฉันแล้ว ความรู้สึก ‘ไม่ดีพอ’ ทำให้กดตัวเองให้รู้สึกต่ำต้อย ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง แต่สำหรับดุจดาว มวลก้อนความเจ็บปวดได้พัฒนาเป็นความโกรธ มันอยู่กับดุจดาวเรื่อยมา ล่วงมาสู่องก์ที่ 2 ที่ว่าด้วยชีวิตวัยรุ่นที่ได้ไปเปิดโลกในต่างประเทศ ทั้งสมัยไปแลกเปลี่ยนและช่วงปริญญาโทที่เธอก้าวเข้าสู่หนทางของนักจิตบำบัด
ฉันเห็นภาพดุจดาวที่มีพลัง แต่ในวันนั้น มันเป็นพลังที่ร้อนแรงจนเผลอผลาญสิ่งที่อยู่รอบข้าง ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
เธอตีแผ่ให้เราร่วมเข้าใจว่า ความรู้สึกเจ็บปวดและไม่มั่นคงทำให้เธอเลือกวิธีการปกป้องตัวเองด้วยการโยนก้อนความรู้สึกออกไปใส่คนอื่นรอบข้าง บ้างก็ไม่ใส่ใจความรักและห่วงใยที่อีกฝ่ายมีให้ ก่อนสิ่งต่างๆ ที่ทับถมไว้ภายในจะมาขมวดรวมกันในองก์ที่ 3 ที่ว่าด้วยความแตกสลายในการแต่งงานครั้งแรก
ความแตกสลายที่พาให้หญิงสาวนักจิตบำบัดต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าเสียเอง
1
มีหลายความรู้สึกเกิดขึ้นระหว่างฉันอ่านเรื่องราวของนักจิตบำบัดคนนี้
อย่างแรกสุดคือ ในที่สุดก็มีหนังสือแบบนี้ออกมาเสียที หนังสือที่เล่าถึงตัวเองอย่างยอมรับในความรู้สึกทั้งบวกและลบ พอแล้วกับการพยายามฉายภาพฉากชีวิตสวยๆ เธอชำแหละความรู้สึกออกมาให้เห็นกันจะจะ ว่าเวลานั้นเธอคิดอะไร รู้สึกอะไร เจ็บปวดอย่างไร ก่นด่าอย่างไร มั่นหน้าอย่างไร หลีกหนีอย่างไร ต้องการอะไร ปรารถนาอะไร สืบสาวราวเรื่องจนเห็นเส้นด้ายความรู้สึกที่เชื่อมโยงและชักนำชีวิต
บางสิ่งที่เธอเคยเจอ ฉันก็เจอ บางสิ่งที่เธอเคยทำ ฉันก็ทำ ดุจดาวเคยเทความรู้สึกอัดอั้นใส่คนรักเก่าอย่างไร ฉันก็เคยทำเพราะอยากให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าในใจมันเจ็บแค่ไหน
แม้ประสบการณ์ในรายละเอียดจะต่างกัน แต่มีหลายจังหวะที่อยากพูดกับดุจดาวว่า ฉันก็เป็นแบบเธอ ขอบคุณนะที่เล่าให้ฟัง
ขอบคุณที่เธอบอกคนอ่านทุกคนผ่านเรื่องราวด้วยว่า นักจิตบำบัดก็คนธรรมดานี่แหละ(วะ) เรามีทุกข์ มีจุดอ่อน มีวันที่เละเทะเหมือนกัน โดยพื้นฐานแล้วเราไม่ได้ต่างจากพวกคุณเลย
แต่มีผลลัพธ์ที่เราได้เพิ่มมาจากการเรียน นั่นคือหนทางในการอยู่กับความผุพัง การพยายามสำรวจตัวเองว่าฉันเป็นอะไร เกิดอะไรขึ้นในใจฉัน ทำให้ฉันโกรธคนอื่นไปทั่ว ทำให้ฉันมัวแต่ร้องไห้ เราถูกสอนให้มองเข้าไปในใจตัวเองเสมอ แต่แน่ล่ะ เราทุกคนต่างไม่อยากมองสิ่งอัปลักษณ์ภายในตัวเอง
แต่แม้มันจะยากแสนยาก เราก็ต้องพยายามมองมันให้ชัด ต้องยอมเปิดแผลออกมาดู เมื่อเข้าใจที่มาที่ไปและยอมรับในความจริง เราถึงจะเริ่มโอบกอดมันได้ โอบกอดทั้งที่ยังมีน้ำตานี่แหละ เพราะหากไม่ใช่เราแล้ว ใครจะเริ่มทำสิ่งนั้นให้เราได้ เมื่อทำได้ แม้เจ็บปวด เราก็เติบโต
ดุจดาวพยายามสื่อสารสิ่งนี้ผ่านทุกตัวหนังสือของเธอ
ทั้งชีวิตจริงและการเรียนบอกฉันว่า ประสบการณ์ก้าวผ่านความเจ็บปวดนี้เอง คือเครื่องมือหนึ่งในการเยียวยา นอกจากเยียวยาตัวเอง เรายังสามารถใช้มันเยียวยาผู้อื่นได้ด้วย
บาดแผลของคุณมันล้ำค่ากว่าที่คิด เชื่อฉันเถอะ
0
แน่นอนว่าเรื่องราวในองก์ที่ 3 ไม่ใช่จุดสุดท้ายของชีวิตดุจดาว
เธอก้าวผ่านการมอดไหม้ในครั้งนั้นมาได้ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างในเวลานี้สวยงาม เธอยังก้าวต่อไปข้างหน้าพร้อมความพยายาม
ชื่อหนังสือ ปีแสง ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับมิติเวลาของชีวิตในลักษณะที่ “จะว่ายาวก็ยาว จะว่าสั้นก็สั้น” เมื่อมองย้อนไปยังจุดเริ่มต้นที่ความทรงจำได้สั่งสม ชีวิตคนเราก็ดูยาวนาน แต่หากสัมผัสจากความรู้สึกในปัจจุบัน อะไรๆ ก็ผ่านมารวดเร็ว เหมือนเพียงกะพริบตาแล้วเราก็แค่มาปรากฏอยู่ ณ วันนี้ ผ่านพ้นแต่ละพายุในชีวิตมาได้ และยังคงเดินทางต่อไปข้างหน้าพร้อมกาลเวลา
หนังสือเล่มนี้คงเหมือนการมองย้อนกลับไปที่จุดกำเนิดที่ทำให้ดุจดาวเป็นดุจดาวในวันนี้
ประโยคที่ดุจดาวเขียนไว้ว่า “เปลวไฟเป็นส่วนหนึ่งของการเกิด” ทำให้ฉันนึกถึงแสงจากจุดกำเนิดอย่างดวงอาทิตย์ มันร้อนแรง แต่มันก็เป็นพลังงานที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้
บางครั้ง คุณอาจรู้สึกว่าความทุกข์ความเจ็บปวดมันคล้ายจะแผดเผาใจให้ตายลงช้าๆ ไม่แปลกเลย เพราะฉันเองก็เคยรู้สึก
แต่หากเรากล้ามอง กล้าเสี่ยงที่จะก้าวเข้าไปยังใจกลางเปลวไฟนั้น เพื่อใช้มัน เรียนรู้จากมัน
ไม่แน่ เราอาจกลายเป็นคนใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
Tags: ปีแสง, นักเยียวยา, หนังสือ, ดุจดาว วัฒนปกรณ์