“การมีอยู่ของร้านหนังสือเดินทาง น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่คิดฝันอยากมีร้านหนังสือมีกำลังใจมากขึ้นว่า ร้านหนังสืออิสระสามารถอยู่ได้นะ”
ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ร้านหนังสืออิสระเล็กๆ แห่งหนึ่งถือกำเนิดขึ้นบนถนนพระอาทิตย์ ในยุคที่โลกดิจิทัลยังไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และผู้คนยังนิยมซื้อหนังสือจากร้านหนังสือเชนใหญ่ มากกว่าจะรู้จักคอนเซปต์ของร้านหนังสืออิสระ แต่ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ กลับได้รับการตอบรับจากเหล่านักอ่านอย่างอบอุ่น ด้วยความเป็นกันเองของบรรยากาศร้าน การคัดเลือกหนังสือ และการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดของผู้คนที่มาเยี่ยมเยือน
4 ปีถัดมา ร้านหนังสือเดินทางย้ายสู่สถานที่แห่งใหม่บริเวณถนนพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่ตั้งจนถึงปัจจุบันนี้ ผ่านความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มีนักอ่านมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาเยือนทุกฤดูกาลตลอดเวลาที่ผ่านมา และทำหน้าที่เป็นบ้านหลังที่สองของนักอ่านอย่างเข้มแข็งมาจนปัจจุบันนี้
ในยุคที่ใครๆ ต่างมองว่า ‘คนเข้าร้านหนังสือน้อยลง’ หรือ ‘คนหันไปซื้อหนังสือบนร้านค้าออนไลน์กันหมดแล้ว’ ความคิดดังกล่าวกลับตรงข้ามจากสิ่งที่ หนุ่ม-อำนาจ รัตนมนี เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง ได้พบเห็นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเขามองว่าอย่างไรเสีย ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ เราก็ยังต้องการปฏิสัมพันธ์แบบเป็นมนุษย์อยู่ ซึ่งหมายถึง นักอ่านยังคงเดินเข้าร้านหนังสืออิสระ และร้านหนังสืออิสระยังอยู่ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขาพิสูจน์มาแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
“เราคิดว่าเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่จะมาทำให้ธุรกิจหนังสือล้มหายไปโดยสิ้นเชิง แต่ว่ามันจับคู่กันไปต่างหาก”
ปัจจุบัน ร้านหนังสือเดินทางจะยังคงทำหน้าที่เป็นบ้านหลังที่สองของนักอ่านอยู่ที่ถนนพระสุเมรุจนถึงสิ้นปีนี้ ก่อนจะเตรียมแพ็กกระเป๋าเพื่อ ‘ออกเดินทาง’ อีกครั้ง โดยจะย้ายไปยังสถานที่ใหม่ (ในบริเวณที่ไม่ไกลจากร้านเดิมนัก) พร้อมเรื่องราวของการเดินทางใหม่ๆ แต่ยังคงความอบอุ่นและเป็นมิตรไม่ต่างจากวันวาน
ปัจจุบัน ร้านหนังสือเดินทางย้ายร้านมาแล้ว 1 ครั้ง โดยที่ตั้งแรกคือบนถนนพระอาทิตย์ (4 ปีแรก) ส่วนที่ตั้งปัจจุบันคือถนนพระสุเมรุ ซึ่งเป็นทำเลที่นักอ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยมากที่สุด เนื่องจากอยู่บริเวณนี้มากว่า 16 ปีแล้ว
ด้วยบรรยากาศย่านเมืองเก่าที่เงียบสงบ สองฝั่งของถนนมีบ้านเรือนและร้านค้าเล็กๆ ตลอดทาง เรียงรายไปกับต้นไม้ที่ร่มรื่น ทั้งยังใกล้กับสถานที่สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ของฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้ร้านหนังสือเดินทางเป็นหมุดหมายของทั้งนักอ่านและนักเดินทาง ที่อยากแวะเวียนมาสัมผัสบรรยากาศร้านหนังสืออิสระที่แสนอบอุ่นแห่งนี้สักครั้ง
อำนาจ รัตนมนี หรือ ‘พี่หนุ่ม’ เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง อดีตพนักงานองค์กรระหว่างประเทศ ผู้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพื่อตามความฝันในการเปิดร้านหนังสืออิสระเมื่อ 20 ปีก่อน เล่าว่าสิ่งที่ทำให้เขาเลือกเส้นทางความชอบ นอกจากความรักในการอ่านแล้ว คือต้องการพิสูจน์ว่าจะสามารถเอาสิ่งที่รักมาเป็นอาชีพได้หรือไม่
“เราคิดว่ามีสองประเด็นหลักที่ท้าทายเรามาก ประเด็นที่หนึ่ง เป็นไปได้ไหม ถ้าจะเอาสิ่งที่เรารักมาเป็นอาชีพ สอง ถ้าสิ่งที่เรารักคือร้านหนังสือ เราจะอยู่รอดไหม ในบริบทการอ่านแบบไทยๆ หรือในบริบทที่หากใครสักคนหนึ่งไม่ได้มีทุนทรัพย์มากมาย แต่อยากจะทำร้านหนังสือขึ้นมา
“ถ้าถามว่า ถึงวันนี้เราตอบความท้าทายสองอย่างนี้อย่างไร เราตอบว่า ทำได้ทั้งคู่ เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า 20 ปีที่ผ่านมา ร้านยังยืนหยัดอยู่ได้”
พี่หนุ่มเล่าว่า ร้านหนังสือเดินทางเกิดขึ้นมาในยุคที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับร้านหนังสืออิสระ แต่จะรู้จักร้านหนังสือที่เป็นเชนสโตร์มากกว่า ดังนั้นจึงต้องทำร้านให้มีความแตกต่าง โดยเป็นความแตกต่างจากสิ่งที่ตนเองเชื่อ เป็นอยู่ และศรัทธา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาผ่านการตกแต่งและบรรยากาศของร้าน
“เราถามตัวเองว่า หนังสือประเภทไหนที่เราชอบ เราอธิบายได้ เราจึงกลับมาดูไลฟ์สไตล์ที่เราชอบ แล้วจากนั้นก็พิจารณามิติที่มันกว้างขึ้น เลยได้ขอบเขตว่า เราจะทำร้านหนังสือเกี่ยวกับการเดินทาง แต่คำว่าหนังสือเดินทางของเรา กินความมากกว่าแค่ไกด์บุ๊กหรือสารคดีท่องเที่ยว แต่อาจจะเป็นเรื่องสั้น เป็นนิยาย บทความ หรือสารคดีอะไรก็ได้ มันคือหนังสือที่กระตุ้นให้คนอยากเดินทาง”
“เราเลยกำหนดคำว่าการเดินทางของเราเป็นสามขั้นตอน คือเริ่มจากหนังสือที่กระตุ้นให้คนออกไปดูโลกกว้าง หนังสือที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม และหนังสือที่ทำให้คุณได้รู้ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งนั้นหลังการเดินทาง ร้านของเรามีสามอย่างนี้เป็นตัวคุมหลัก มันเลยทำให้ชัดเจนมากว่าหนังสือประเภทไหนที่เราควรจะมีในร้าน
หากใครเคยมาเยือนร้านหนังสือแห่งนี้ คงคุ้นเคยกับบรรยากาศที่เงียบสงบของร้าน ซึ่งโอบล้อมไปด้วยหนังสือที่เรียงรายอยู่เต็มชั้นวาง จนแทบไม่มีจุดว่างหลงเหลือ รวมถึงของฝากกระจุกกระจิกและโปสต์การ์ดที่ติดสอยห้อยอยู่ตามข้างผนังหรือราวบันได ผนวกรวมกับเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ที่เป็นไม้ ก็ทำให้มวลรวมของร้านหนังสือขนาดย่อมแห่งนี้ดูอบอุ่นและน่าละเลียดใช้เวลาอย่างน่าประหลาด
ในอดีตช่วงที่ร้านหนังสือเดินทางเพิ่งเริ่มต้น ไม่ใช่แค่นักอ่านที่ยังไม่ค่อยเข้าใจคอนเซปต์ของร้านหนังสืออิสระ แต่สำนักพิมพ์หรือสายส่งก็เช่นกัน บางครั้งจึงเกิดปัญหาที่สำนักพิมพ์อาจไม่เลือกส่งหนังสือมาขายที่ร้านหนังสืออิสระ อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปและร้านหนังสืออิสระหลายร้านเริ่มเป็นที่รู้จัก รวมถึงบริบทของการทำหนังสือที่เปลี่ยนไป ทำให้ร้านหนังสืออิสระได้รับการต้อนรับมากขึ้น
“หนังสือที่ร้านเรามากมาย สำนักพิมพ์เก็บกลับไปลดราคา แต่ร้านเรายังขายเต็มราคาได้ด้วยซ้ำไป มันทำให้สำนักพิมพ์ที่เคยมองข้ามร้านหนังสืออิสระเมื่อก่อน เริ่มคิดว่า มันมีอะไรบางอย่างที่คุณต้องใส่ใจในรายละเอียดเหมือนกัน เมื่อก่อนอาจจะมีภาวะเหมารวม เพราะร้านหนังสืออิสระอาจเป็นเรื่องใหม่ในคอนเซปต์ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว” พี่หนุ่มกล่าว
“ร้านหนังสือเดินทางอยากให้คนมาใช้เวลาอยู่ได้นานที่สุด เป็นร้านที่มีมากกว่ากิจกรรมการซื้อขายหนังสือ แต่ทำอย่างไรถึงจะกลายเป็น Cutural destination หรือเป้าหมายทางวัฒนธรรม เช่น ถ้าคุณออกจากบ้าน แต่ไม่อยากไปห้าง ร้านหนังสือจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้คุณ นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวัง และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น”
คำว่าบ้านหลังที่สองของนักอ่านสำหรับร้านหนังสือเดินทางไม่ใช่แค่การมาเลือกซื้อหนังสือ แต่ที่นี่ยังมีบริการเครื่องดื่มและเมนูง่ายๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ฝากท้องเบาๆ เคล้าไปกับการใช้เวลาอยู่กับหนังสือตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มของพี่หนุ่ม ที่ไม่ต้องการให้บรรยากาศของร้านหนังสือดูเคร่งเครียดมากเกินไป แต่ให้ผู้มาเยือนได้รู้สึกผ่อนคลาย
บนชั้นสองของร้านหนังสือเดินทางที่มีหนังสือมากมาย โดยเฉพาะหมวดหมู่ภาษาต่างประเทศ และโต๊ะ เก้าอี้ ไว้บริการสำหรับผู้มาเยือน บนผนังตกแต่งด้วยกรอบรูปภาพเล็กใหญ่สลับกันไป พร้อมแสงสว่างที่เพียงพอจากหน้าต่างบานใหญ่
สิ่งหนึ่งที่นักอ่านที่มาเยือนร้านหนังสือเดินทางจะรู้กันดี คือที่นี่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ซึ่งพี่หนุ่มเล่าว่า เป็นสิ่งที่เขาตัดสินใจตั้งกฎให้ชัดเจน เพื่อลูกค้าที่ตั้งใจมาเสพบรรยากาศของร้านหนังสือจริงๆ
“เราตอบคำถามเยอะเหมือนกัน เรื่องห้ามถ่ายรูป โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย เพราะเคยมีกรณีคนเปิดประตูเข้ามา เดินถ่ายวิดีโอรอบร้าน แล้วก็เปิดประตูออก เราเคยคิดว่าไม่เป็นปัญหา จนกระทั่งมีครั้งหนึ่งที่มีคนมาขออนุญาตถ่ายรูป เราเข้าใจว่าคงถ่ายรูปสองรูป หลังจากนั้น เขาก็เปิดประตูแล้วถ่ายพรีเวดดิ้งกันเลย
“บางร้านที่เขาทำไว้เพื่อการถ่ายรูปก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าการมีอยู่ของร้านหนังสือเดินทาง เรามีไว้เพื่อจำหน่ายหนังสือ ลูกค้าคนอื่นที่มาซื้อหนังสือก็เลิ่กลั่ก เราก็ต้องปกป้องเขาใช่ไหม สุดท้ายเราเลยเขียนป้ายห้ามถ่ายรูปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีวาระพิเศษก็ไม่มีปัญหา ซึ่งกลับกลายเป็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือพอเขาถูกบังคับให้ได้วางมือถือลงสักพัก เขาจะเริ่มสัมผัสสิ่งที่มี สิ่งที่เห็นตรงหน้า เขาได้สัมผัสสิ่งที่เราตั้งใจให้เขาได้สัมผัสจริงๆ”
ปัจจุบันร้านหนังสือเดินทางได้เดินทางเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว และผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายครั้ง โดยเฉพาะการดิสรัปต์ของโลกดิจิทัล และเมื่อไม่นานมานี้กับโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจและทุกชีวิตทั่วโลก
“ถามว่าร้านหนังสือเดินทางรับมือได้ด้วยวิธีใด หรืออยู่มาได้ด้วยกลยุทธ์แบบใด เรากลับมองย้อนกลับไปแล้วค้นพบอย่างหนึ่ง คือตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ เรายังต้องการปฏิสัมพันธ์แบบเป็นมนุษย์อยู่ เราอาจจะอยู่กับบ้าน อาจจะซื้อของออนไลน์ อาจจะอ่านคอนเทนต์สั้นๆ มากมาย แต่สุดท้ายเราเชื่อว่าลึกๆ คุณยังต้องการการเจอกันแบบตัวเป็นๆ คุณยังต้องการการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้า
ร้านหนังสือเดินทางจะยังคงอยู่ที่บริเวณถนนพระสุเมรุจนถึงสิ้นปีนี้ ก่อนจะออกเดินทางอีกครั้งในปีหน้า หากใครที่อาจจะรู้สึกเสียดายกับบรรยากาศของย่านเมืองเก่าก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะพี่หนุ่มบอกว่า ทำเลใหม่ของร้านจะยังคงอยู่ในย่านใกล้เคียงกับจุดเดิม
“บางคนเคยบอกว่าจะย้ายร้านไปที่ไหนก็ไม่ต้องกังวล เพราะมันยังเป็นจิตวิญญาณเดิมๆ เราก็เชื่อแบบนั้นเหมือนกัน อาคารเป็นแค่ตึก แต่ความสัมพันธ์ที่ลูกค้ามีให้กับร้าน เราคิดว่ามันเข้มข้นเพียงพอ”
Fact Box
นักอ่านหรือผู้ที่อยากไปเยี่ยมเยือนร้านหนังสือเดินทางก่อนจะออกเดินทางครั้งใหม่อีกครั้ง สามารถแวะไปสูดบรรยากาศและเลือกซื้อหนังสือได้ที่
- ที่ตั้ง: 523 ถนน พระสุเมรุ แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
- เฟซบุ๊ก: ร้านหนังสือเดินทาง - Passport Bookshop
- โทรศัพท์: 0-2629-0694
- เวลาเปิด-ปิด: วันอังคารถึงอาทิตย์ ตั้งแต่ 11.30-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)