‘Omo sanza lettere’ เป็นคำที่ศิลปินชื่อก้องอย่าง เลโอนาร์โด ดาวินชี ใช้นิยามตัวเอง ความหมายตรงตัวของมันคือ ‘คนที่ไม่ได้รับการศึกษาจากสถาบัน’ แต่ความหมายซ่อนเร้นนั้นอาจคือ ‘คนที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับความเป็นสถาบันการศึกษา’ ซึ่งเป็นสถาบันที่ยึดติดกับประเพณี และมีความอนุรักษ์นิยมสูง การที่ดาวินชีพยายามแยกตัวออกจากสถาบันนี้จึงเป็นการแสดงตนว่า เขาไม่ได้เป็นคนอนุรักษ์นิยม ว่าแต่ขั้วตรงข้ามของอนุรักษ์นิยมคืออะไร ทำไมดาวินชีจึงต้องใส่ใจมัน และสิ่งนั้นกลายมาเป็นใจความสำคัญของยุคเรอเนสซองส์ได้อย่างไร เหล่านี้คือสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจนัก
ในบ่ายวันหนึ่งที่ร้านกาแฟริมน้ำในบริเวณของ River City Bangkok ที่กำลังมีนิทรรศการศิลปะมัลติมีเดีย Italian Renaissance จัดแสดงอยู่เราได้นั่งคุยกับอาจารย์เปาโล ยูรอน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะยุคเรอเนสซองส์ ซึ่งจบปริญญาเอกด้านสุนทรียศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโบโลญญา และเคยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบในเรื่องที่สงสัย และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะไปฟังบรรยายพิเศษของเขาในหัวข้อ Leonardo: Art, science, and the image of the modern human being และ Art and nature in Michelangelo ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23-24 สิงหาคมนี้ ที่ RCB Forum
สภาพแวดล้อมทางสังคมแบบไหนที่ทำให้เกิดศิลปินที่ยิ่งใหญ่อย่างดาวินชีและมิเคลันเจโล
ทุกวันนี้ เรามองว่ายุคเรอเนสซองส์เป็นยุคในอุดมคติ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นยุคที่เต็มไปด้วยความลำบาก ความสูญเสีย และความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงในที่นี้คือโอกาสของคน ชีวิตของคนในยุคนั้นราคาถูกมาก เราคิดว่าลีโอนาร์โด มิเคลันเจโล บอตติเชลลีเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เพราะพวกเขาวาดภาพให้สันตะปาปาและกษัตริย์ แต่อันที่จริงแล้วสันตะปาปาและกษัตริย์ไม่ได้สนใจศิลปะ พวกเขาสนใจอำนาจ ขณะที่ศิลปินเหล่านี้ต้องต่อสู้กับความยากจน พวกเขาต้องดิ้นรนให้อยู่รอด ผมจะอธิบายประเด็นนี้ในเลคเชอร์ของผม
สิ่งสำคัญที่เราควรเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางสังคมนี้คือ ผู้รู้ นักปรัชญา และศิลปินนั้น ร่วมกันสร้างลัทธิมนุษย์นิยม (Humanism) ขึ้นมา มนุษย์นิยมคือความเชื่อที่เกิดขึ้นก่อนยุคเรอเนสซองส์ โดยมีเป้าประสงค์ที่จะบอกว่า สิ่งที่เป็นสารัตถะคือมนุษย์ มนุษย์คือจุดศูนย์กลางของจักรวาล มนุษย์มีอิสระ มันคือสถานการณ์ที่เอื้อให้เรามีอิสระที่จะตัดสินชะตาชีวิตของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องมองว่านี่คือยุคในอุดมคติ แต่เราต้องมองเห็นสารัตถะของมัน นั่นคือเกียรติของมนุษย์และอิสรภาพ คุณมีอิสระและความภูมิใจที่จะได้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง คุณมีอยู่เพื่อสร้างสรรค์ตัวของคุณเอง ศิลปินเรอเนสซองส์ต่างยึดถือความเชื่อนี้
ถ้าเราไม่มองว่าศิลปินเหล่านี้เป็นตัวแทนของอุดมคติ แล้วแง่ลบของพวกเขาคืออะไร
ผมเพิ่งพูดถึงเกียรติของมนุษย์ นั่นคือความเชื่อที่ว่าคุณเป็นอิสระและสามารถรังสรรค์ตัวเองขึ้นได้ นี่คือปัจเจกนิยม (Individualism) แบบตะวันตก ปัจเจกนิยมคือผลลัพธ์ของมนุษย์นิยม และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโมเดิร์น ในขณะเดียวกัน ปัจเจกนิยมก็สร้างปัญหาในบางพื้นที่ หากพูดถึงในประเทศไทย คนไทยไม่นับว่ามันเป็นคุณค่าที่ควรยึดถือ ปัจเจกนิยมสุดโต่งแบบมิเคลันเจโลจะเป็นปัญหาอย่างมากในไทย เพราะศิลปินมักจะต่อต้านสังคม พวกเขาไม่แคร์อะไรหรือใครทั้งนั้น นี่คือมุมมองของศิลปินในยุคเรอเนสซองส์รวมถึงคนตะวันตกโดยทั่วไป ผมไม่อยากบอกว่านี่คือข้อเสียของศิลปินเหล่านี้ แต่ถ้าเรามองจากมุมมองของสังคมที่อยู่กันเป็นหมู่คณะ การเป็นตัวของตัวเองอย่างสุดโต่งอาจเป็นปัญหา
ในฐานะอาจารย์ คุณมองนักเรียนของคุณ การศึกษา และศิลปศาสตร์ ในบริบทของไทยอย่างไรบ้าง
นักเรียนไทยของผมต่างจากนักเรียนตะวันตกในหลายแง่มุม นักเรียนไทยของผมสุภาพมาก ให้เกียรติผมมาก และผมมีความสุขมากที่ได้ทำงานกับพวกเขา แต่พวกเขาไม่ค่อยอยากรู้อยากเห็น ไม่ค่อยสงสัย หรืออาจจะสงสัย แต่ไม่พูดอะไรออกมา
แต่ในโลกของสุนทรียศาสตร์ การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมบอกนักเรียนของผมเสมอว่า คำตอบไม่สำคัญ คำถามต่างหากที่สำคัญ ถ้าคุณถามคำถามที่ถูกต้อง คุณก็ได้คำตอบไปแล้วครึ่งหนึ่ง ถ้านักเรียนไทยเรียนรู้ที่จะตั้งข้อสงสัย อยากรู้อยากเห็น เปิดใจรับสิ่งรอบตัวมากกว่านี้ และไม่กลัวที่จะตั้งคำถาม พวกเขาก็จะมีโอกาสในชีวิตมากขึ้นในอนาคต เพราะอนาคตคือสังคมโลกาภิวัฒน์ที่ผลักให้เราต้องแข่งขันกับคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ
อีกประเด็นหนึ่งคือ จะมีนักเรียนจากคณะอักษรศาสตร์บางคนพูดว่า พวกเขาสนใจวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะวิทยาศาสตร์พูดถึงโลกแห่งความเป็นจริงและนำเสนอความจริง นี่คือความเข้าใจและความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก วิทยาศาสตร์นั้นสำคัญแน่นอน แต่ความรู้ที่วิทยาศาสตร์มีให้นั้นมีจำกัด มันมีขอบเขตที่ชัดเจน ในทางกลับกัน ถ้าคุณอยากเป็นหมอ คุณก็ควรได้เรียนด้านศิลปศาสตร์ด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะสื่อสารกับผู้อื่นอย่างไร คิดอย่างไร โน้มน้าวใจผู้อื่นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อจะได้เข้าใจว่าโลกมันหมุนไปอย่างไร เราไม่ควรแยกวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ออกจากกันโดยสิ้นเชิง กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่หลายคนก็มีพื้นฐานทางมนุษยศาสตร์ที่แข็งแรง พวกเขาเรียนภาษาและปรัชญา ไม่ใช่เพื่อใช้ในการทำงาน แต่เพื่อเข้าใจว่าจะขยายมโนทัศน์ของตัวเองอย่างไร
ยุคเรอเนสซองส์ถูกมองว่าเป็นยุคที่ความรู้ สติปัญญา และความจริง เป็นสิ่งสำคัญ คุณมองว่าเราจะใช้สิ่งเหล่านี้ทำให้สถานการณ์การระบาดของข่าวเท็จและการปล่อยข้อมูลผิดๆ ให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ทุกวันนี้ดูเหมือนเราจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลต่างๆ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะรู้และส่งต่อความรู้นั้นให้คนรอบข้าง แต่เมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดีย การสื่อสาร และอินเทอร์เน็ต ผมมองว่า สื่อได้ถูกครอบงำโดยผลประโยชน์ไปแล้ว ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนรู้และเข้าใจเรื่องนี้ดี และแน่นอนว่าเราทำอะไรไม่ได้เพราะผลประโยชน์ทางการเงินนั้นมีอำนาจล้นเหลือ แต่ความรู้จะช่วยเราได้แน่นอน
ถ้าคุณตระหนักเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสื่อแล้ว คุณก็จะรู้สึกตะหงิดใจขึ้นมากับข้อมูลที่ได้รับ เพราะฉะนั้น ถึงยุคเรอเนสซองส์จะไม่ใช่ยุคในอุดมคติ แต่วิธีคิดแบบศิลปินเหล่านี้ก็ยังสำคัญในแง่ที่พวกเขาแสดงให้เห็นว่าเราสามารถเข้าใจโลกได้ และเข้าถึงความรู้ได้ ผมคิดว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสังคมตะวันตกและสังคมไทย นักเรียนไทยและประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงกว่า พวกเขาบางคนมีความไร้เดียงสาและพร้อมที่จะยอมรับสถานการณ์ที่มีคนกำลังหลอกใช้พวกเขาอยู่ ทุกวันนี้ทุกคนพูดถึงการคิดเชิงวิเคราะห์ แต่ไม่มีใครนำมันมาใช้จริงๆ
ในฐานะนักปรัชญาสุนทรียศาสตร์และศิลปะ ผมอยากให้คุณเรียนรู้ที่จะเพลิดเพลินกับสิ่งใหม่ เพลิดเพลินกับศิลปะ เพลิดเพลินกับสิ่งที่ยากแก่การเข้าใจและแตกต่างออกไป เวลาชมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน หนังบล็อกบัสเตอร์ หนังซูเปอร์ฮีโร่ จงดูมัน และลองพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่องนั้น นี่คือจุดเด่นของมนุษย์นิยมที่มีพื้นฐานจากยุคเรอเนสซองส์ อ่านและดูให้หมดทุกอย่าง แต่ต้องคิดวิเคราะห์กับมันด้วย
เมื่อทำเช่นนั้น คุณจะเพลิดเพลินกับมัน เพลิดเพลินกับความงามของมัน ความงามในที่นี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความรุนแรง ตรงข้ามกับการใช้ประโยชน์จากกันและกัน ถ้าคุณไม่คิดว่าสิ่งนั้นสวยงาม พูดมันออกมา ถ้ามีคนเห็นว่ามันสวยงาม จงถามเขาว่าทำไม คุณมีอิสระเพราะคุณคิด นี่คือแก่นแท้ของยุคเรอเนสซองส์
Fact Box
- การบรรยายพิเศษโดยศาสตราจารย์เปาโล ยูรอน ณ RCB Forum ชั้น 2 River City Bangkok ในหัวข้อ Leonardo: Art, science, and the image of the modern human being จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม เวลา 16:00-17:30 น. และหัวข้อ Art and nature in Michelangelo จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม เวลา 14:00-15:30 น.
- ทั้งสองหัวข้อบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ มีการแปลเป็นภาษาไทยตลอดรายการ และไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าเต็มจำนวนทั้งสองวัน แต่ยังเปิดให้ผู้ที่สนใจ walk-in เข้ามาได้
- การบรรยายพิเศษครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปในประเทศไทย และ River City Bangkok เพื่อสนับสนุนแง่มุมเกี่ยวกับการศึกษาให้กับนิทรรศการมัลติมีเดีย Italian Renaissance ที่จัดขึ้นระหว่าง 8 สิงหาคม ถึง 31 ตุลาคม 2562 สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการบรรยายพิเศษครั้งถัดไปในเดือนกันยายนและตุลาคมได้ที่ Facebook: European Union in Thailand และ River City Bangkok