ทุกวันนี้ เราสามารถพบเห็นสตูดิโอโยคะและคลาสโยคะตามฟิสเนสต่างๆ เป็นจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของชาวเมืองที่ใส่ใจสุขภาพ จึงอาจไม่น่าแปลกใจเกินไปนัก ที่กระแสของการฝึกโยคะในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่างๆ ก็เริ่มได้รับความนิยมตามมาเช่นกัน ในราว 5 ปีที่ผ่านมานี้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในยุโรปและอเมริกาต่างก็ออกโปรแกรมหรือทัวร์ที่ผนวกการฝึกท่าอาสนะต่างๆ ของโยคะ และ/หรือการทำสมาธิ ไปพร้อมๆ กับการดื่มด่ำบรรยากาศของศิลปวัตถุในคอลเลคชั่นของตน ในฐานะชาวพิพิธภัณฑ์ที่รักและใส่ใจสุขภาพ (ของตนเองและท่านผู้อ่านด้วย) เราเลยอยากชวนไปสำรวจที่มาที่ไปของแนวคิดแหวกขนบนี้กัน

ดูงานศิลปะไปด้วย สงบจิตไปด้วย

พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่ง ที่สามารถเอื้อให้เกิดการขบคิดอย่างลึกซึ้งได้ ผ่านการมองงานศิลปะอย่างเพ่งพิจารณาและหันมาสำรวจตัวเราเองและโลกโดยรอบ ดังนั้น การทำโยคะจึงเป็นส่วนผสมที่ช่วยชูคุณลักษณะนี้ของพิพิธภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ขอยกตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Royal Museums of Fine Arts of Belgium (RMFAB) ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 ได้เปิดอาร์ตสเปซใหม่ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการ The Awakening of Consciousness (การตื่นรู้ของจิตสำนึก) โชว์ผลงานบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ 6 ผืนของศิลปิน Gao Xingjian ซึ่งสื่อสารไอเดียว่าด้วยการเดินทางทางจิตวิญญาณระหว่างตะวันตกและตะวันออก

โดยตัวศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื้อสายจีนผู้นี้ มองตัวเองว่าอยู่ระหว่างกลางโลกตะวันออกที่สร้างอัตลักษณ์ของเขาขึ้นมา และโลกตะวันตกที่นำมาซึ่งความสมัยใหม่ ทั้งตัวผลงานและสเปซที่จัดแสดงนั้นเชิญชวนให้ผู้มาเยี่ยมชมเกิดการขบคิดอย่างลึกซึ้ง พิพิธภัณฑ์จึงเสริมประสบการณ์นี้ด้วยการจัดคลาสโยคะเดือนละสองหน ตลอดระยะเวลาที่จัดแสดงนิทรรศการนี้ โดยรับผู้เข้าร่วมครั้งละ 25 คน ปรากฏว่ามีคนจองเต็มทุกรอบ

“เราคิดว่าโยคะเป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ย้ำเตือนเราว่า ตามประวัติศาสตร์แล้ว พิพิธภัณฑ์เป็นที่มารวมกันของการสร้างสรรค์และนวัตกรรมอยู่เสมอ วัฒนธรรมช่วยทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างและความเอื้อเฟื้อ ซึ่งนี่เป็นหลักการพื้นฐานที่เข้ากันได้ดีกับโยคะและการทำสมาธิ” Gladys Vercammen-Grandjean ผู้ช่วยด้านการสื่อสารและการศึกษาแห่ง RMFAB กล่าว

หรืออีกเคสหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Rubin Museum of Art แห่งนิวยอร์กก็น่าสนใจไม่แพ้กัน พิพิธภัณฑ์นี้รวบรวมวัตถุทางศิลปะและวัฒนธรรมจากบริเวณเทือกเขาหิมาลัย (ที่ราบสูงทิเบตเป็นหลัก) และภูมิภาคโดยรอบเช่นเนปาล อินเดีย และมักจะจัดคลาสที่เชื่อมโยงคอลเลคชั่นเหล่านี้กับการส่งเสริมสุขภาวะ เช่น คลาสนั่งสมาธิโดยเลือกศิลปวัตถุมาเป็นธีม อาทิ แตรหอยสังข์จากศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้จากความงัวเงียและความไม่รู้ (อวิชชา) ภาพของวัตถุชิ้นนี้จะถูกฉายขึ้นบนจอ ขณะที่ผู้นำสมาธิดำเนินคลาสโดยใช้เวลาราว 40 นาที จากนั้นจะตามด้วยช่วงถามตอบสั้นๆ ก่อนที่จะมีการนำชมพิพิธภัณฑ์ เริ่มจากแตรหอยสังข์ชิ้นนี้เป็นอันดับแรก

คลาสสมาธินี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่มาเป็นประจำ เพราะพบว่ามันช่วยให้รับมือกับความเครียดจากงานและอาการกระวนกระวายใจได้เป็นอย่างดี ส่วนทางพิพิธภัณฑ์มองว่านี่คือการเชื่อมโยงคอลเลคชั่นกับธรรมเนียมปฏิบัติแบบพุทธซึ่งส่งเสริมสุขภาวะของแต่ละคน กิจกรรมเหล่านี้จึงมีส่วนในการสร้าง personal connection ระหว่างผู้ชมและงานศิลปะของที่นี่อีกด้วย

สร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะ สร้างแรงบันดาลใจ ใช้เวลากับครอบครัว

สำหรับคนบางกลุ่ม การผนวกโยคะเข้ากับศิลปะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้ประสบการณ์ทางสุนทรียะ และยังเป็นการเชื่อมโยงกับงานศิลปะหรือประวัติศาสตร์ในมิติใหม่ด้วย ที่ประเทศอิตาลี มีทัวร์ชมโบราณสถานชนิดพิเศษสำหรับนักฝึกโยคะโดยเฉพาะ ชื่อ Yoga Tour ซึ่งจะเริ่มด้วยการฝึกโยคะยามเช้า ต่อด้วยทัวร์เดินชมโบราณสถานหรือสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และตามด้วยเวิร์คชอปกับครูโยคะชื่อดัง ซึ่งผู้เข้าร่วมกล่าวว่าเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างสุขภาวะอย่างเป็นองค์รวมด้วยการรวมการผ่อนคลายกับศิลปะไว้ด้วยกัน โปรแกรมนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2015 โดย Italian National Trust ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีหน้าที่ดูแลและอนุรักษ์มรดกทางศิลปะและธรรมชาติของอิตาลี โดยทัวร์แรกจัดที่ปราสาท Castello della Manta ในเมือง Cuneo ซึ่งมีประวัติเก่าแก่ย้อนไปถึงศตวรรษที่ 12

Kristina Reutskaya ครูโยคะชาวอิตาเลียนที่สอนโยคะในมิวเซียมและหอศิลป์ในโรม เล่าว่าแต่ละคนก็มีจุดประสงค์ในการฝึกโยคะที่ต่างกันออกไป บ้างก็ฝึกเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงและยืดหยุ่น บ้างก็ฝึกตามกระแส ในขณะที่บางคนทำจนเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ไปแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนความต้องการที่หลากหลายของผู้ฝึกโยคะ ดังนั้น การขยายขอบเขตของสถานที่ฝึกโยคะออกไปนอกห้องสี่เหลี่ยมของสตูดิโอจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ และควรเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป

“ตัวเมืองโรมก็คือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งดีๆ นี่เอง! และคลาสโยคะกลางแจ้งก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้” Kristina กล่าว และเสริมอีกว่า “สถานที่ทางประวัติศาสตร์นั้นมีพลังที่พิเศษและความสุนทรีย์ที่สามารถจะเปลี่ยนห้องเรียนที่จำเจให้เป็นประสบการณ์ได้”

การมาบรรจบกันของสองศาสตร์จึงทั้งลดความตึงเครียดในการฝึก และสร้างแรงบันดาลใจได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากโรมแล้ว ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งที่จัดคลาสโยคะในลักษณะดังกล่าว เช่น Victoria and Albert Museum ที่ลอนดอน ซึ่งจัดโยคะในสวนกลางพิพิธภัณฑ์และในห้องศิลปะยุคกลางและเรอเนสซองส์ หรือที่ห้องแกลเลอรี่ของพิพิธภัณฑ์ Frye Art Museum ในเมืองซีแอตเทิล ในขณะที่พิพิธภัณฑ์บางแห่งก็มองว่าโยคะเป็นกิจกรรมครอบครัวที่สามารถมาทำที่พิพิธภัณฑ์ได้ โดยไม่เกี่ยงว่าจะต้องมาขบคิดความหมายของชีวิตหรือดื่มด่ำกับความสุนทรีย์โดยเฉพาะ เช่น ที่ Asian Art Museum ในเมืองซานฟรานซิสโก ที่มีคลาส Yoga Flow และ Yoga kids ให้เด็กๆ ได้มาออกกำลังพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ ทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการมาพิพิธภัณฑ์ไปด้วย หรือคลาสโยคะที่ Dali Museum ในฟลอริดา ที่จัดต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์ซึ่งเอื้อต่อการมาใช้เวลาร่วมกันของครอบครัว

โยคะและพิพิธภัณฑ์

แม้จะมีกลุ่มคนจำนวนมากที่สนับสนุนการเข้ามาของกิจกรรมโยคะในพิพิธภัณฑ์ แต่ก็มีเสียงบางส่วนที่กังวลว่าการจัดกิจกรรมออกกำลังในมิวเซียมเช่นนี้จะทำให้บทบาทของพิพิธภัณฑ์และงานศิลปะถูกลดทอนลงไปเป็นเพียงฉากประกอบ ในขณะที่ความสนใจของผู้คนไปอยู่ที่ผู้นำกิจกรรมมากกว่าจะเป็นตัวงานศิลปะ หรืออีกเสียงก็สะท้อนว่า แม้คนจะให้เหตุผลว่าการออกกำลังทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และทำให้คนมีสมาธิจดจ่อกับงานศิลปะได้มากขึ้น แต่การที่เอาการออกกำลังกายมาเป็นข้ออ้างเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสมาธิสั้นเวลาดูงานศิลปะนั้นดูจะผิดประเด็น และการออกกำลังกายไม่ควรมาแทนที่การพินิจพิจารณางานศิลปะแต่อย่างใด ซึ่งก็นับว่าสมเหตุสมผล ส่วนตัวเราในฐานะคนรักพิพิธภัณฑ์และรักสุขภาพ คิดว่าปรากฏการณ์นี้เป็นการขยายขอบเขตความเป็นไปได้ ที่จะต่อยอดประสบการณ์ต่องานศิลปะหรือโบราณวัตุ ให้กว้างขึ้นและหลากหลายขึ้น ทั้งยังสะท้อนกระแสความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างรอบด้านที่เพิ่มมากขึ้นของคนยุคนี้อีกด้วย ดังนั้น หากพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่เราสามารถจะเสพงานศิลปะ ฝึกโยคะ และฝึกสติได้ด้วย ก็น่าจะเป็นเรื่องน่ายินดี หรือท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร?

อ้างอิง:

https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-rise-workout-classes-museums-worry-art-lovers?fbclid=IwAR0JRfDAKzB8ah2XZSsnx6SAsJF-O7yBnZbYfS-maqoGRguSWcXO72SDef8

https://www.museeum.com/practice-your-favourite-yoga-asanas-in-these-museums-around-europe/?fbclid=IwAR3ctE39m78Yrn3EEPZ2tYJuZhNtNfmuLQG972Jjc_JohYChWKPmGUq1ha0

https://www.yogajournal.com/blog/yoga-at-the-museum?fbclid=IwAR0tuV9DhK2_K2etSwUevxGn3n42tkIwBdzlv7H292EVAtnBND-HDlMY3Yw

https://www.nytimes.com/2017/11/22/nyregion/namaste-museumgoers.html

Tags: , , ,