เป็นสัญญาณดีว่าเมืองไทยยังมีอารมณ์ขัน เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีออกมาบอกว่าจะประกาศให้เรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 2561-2562

ใครฟังแล้วก็ต้องหัวเราะร่วน ก็เพราะสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแบบอนาถาที่สุดของมนุษย์ ก็คือขอแค่ให้ได้มีชีวิต ยังไม่ต้องไปพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือคุณภาพชีวิตใดๆ แต่มติ ครม. นี้เกิดขึ้นมาย้อนแย้งกับข่าวที่กำลังร้อนตลอดสัปดาห์นี้ กับเรื่องราวของ เมย – ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารอายุ 19 ปี ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในโรงเรียนเตรียมทหาร

 

เสียงสุดท้ายของเมย

เมยเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อ 17 ต.ค. 60 ครอบครัวได้รับแจ้งว่าเขาตายเพราะหัวใจวายเฉียบพลัน แต่เรื่องราวดูซับซ้อนมากขึ้นเมื่อพ่อของเมยออกมาเปิดเผยผ่านสื่อว่า ก่อนหน้าวันตาย เมยถูกฝึกในแบบที่เรียกว่า ‘ถูกธำรงวินัย’ หรือที่เรียกว่า ‘ถูกซ่อม’ จนต้องเข้าโรงพยาบาล และก่อนเสียชีวิตราวสองชั่วโมง เมยโทรศัพท์คุยกับพ่อ บอกพ่อว่าอาการไม่ดีขึ้น และพูดว่า “อย่าไว้ใจผู้พัน” ก่อนที่สายจะหลุด จากนั้นครอบครัวก็ได้รับแจ้งข่าวว่า เมยอาการแย่แล้ว

เมื่อเสียชีวิต ทางโรงเรียนเตรียมทหารเป็นผู้ดูแลจัดการงานศพ และให้ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นผู้ชันสูตร (รอบแรก) แต่ครอบครัวเฉลียวใจ จึงปล่อยให้จัดงานศพและพิธีฌาปนกิจหลอก จากนั้นก็ส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์

สิ่งที่ค้นพบจากการชันสูตรรอบสองไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าเป็นรายงาน เพราะข้อค้นพบคือ อวัยวะสำคัญของเมยหายไป ทั้งสมอง หัวใจ กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ

กรมกิจการพลเรือน กองบัญชาการกองทัพไทย ไม่นิ่งนอนใจ เปิดแถลงข่าวโดยทันทีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 60 ที่ผ่านมาว่า ทีมแพทย์ที่ชันสูตรพบว่ากระดูกซี่โครงซี่ที่สี่ทางขวาหักและมีรอยช้ำที่ชายโครง แต่ความผิดปกติเหล่านี้ไม่สามารถเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ จึงต้องเก็บอวัยวะเอาไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อทำสไลด์ แต่ก็ลงรายงานไปว่า หัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งต้องรอการตรวจระดับลึก

 

เราต่างรู้ว่านี่ไม่ใช่กรณีแรกและกรณีสุดท้าย

แน่นอนว่า เรื่องอวัยวะที่หายไปเป็นจุดดึงความสนใจจากผู้คนได้มากที่สุด เพราะไม่ว่าจะมีเหตุผลที่ฟังขึ้นสักเพียงใด สิ่งที่ไม่ควรต้องรอให้เรียกร้องเพราะถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ก็คือ กองทัพและคณะแพทย์ ต้องแจ้งข้อมูลให้ครอบครัวผู้เสียหายรู้รายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องเหตุผลของการตาย และการเก็บชิ้นส่วนของร่างกายเอาไว้ก่อนฌาปนกิจ

ไม่เช่นนั้นแล้ว คนก็จะคิดเตลิดไปไกล เช่นว่า อวัยวะสำคัญหายตอนไหน หายไปก่อนตายหรือหลังตาย มีเหตุผลอะไรถึงต้องแยกอวัยวะออกไปจากร่าง อวัยวะนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับการตาย แล้วถ้ายังใช้ตรวจสอบหาสาเหตุการตายไม่ได้ ทำไมจึงต้องรีบสรุปว่าตายเพราะหัวใจวาย​

คำแถลงครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความหละหลวมของกระบวนการชันสูตรว่า การบอกสาเหตุการตายทำนองว่า หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หรือหยุดหายใจ เป็นเพียงคำตอบแก้ขัดของสิ่งที่หาคำอธิบายไม่ได้ หรือมีเหตุให้อธิบายไม่ได้

ภาพจากรายการ ทุบโต๊ะข่าว ช่อง Amarin TV

เรื่องของเมย เป็นเหมือนการเอาหนังเก่ามาฉายซ้ำ การซ้อมทรมานและการทำโทษด้วยวิธีรุนแรงไม่ได้เกิดเพียงกับการฝึกทหารหรือกับนักเรียนทหารเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ในสามจังหวัดภาคใต้มานานกว่าทศวรรษ

กรณีที่เป็นข่าวดังคือเรื่องของพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งถูกรุมซ้อมในค่ายทหารจนเสียชีวิตเมื่อปี 2554 ครั้งนั้น หลานสาวของพลทหารวิเชียร คือ นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ไม่หยุดอยู่เฉย ออกมาโพสต์ข้อมูลและภาพถ่ายการถูกซ้อมผ่านทางโซเชียลมีเดีย ผลคือ เธอถูกฟ้องว่าหมิ่นประมาทและเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ที่เวลานี้ยังเป็นคดีความไม่จบสิ้น

อีกกรณีเกิดขึ้นเมื่อกลางปีนี้เอง เมื่อพลทหารนภดล วรกิจพันธ์ ทหารกองประจำการ มทบ. 45 เสียชีวิต ในสภาพที่แพทย์ชันสูตรศพบอกว่า มีเลือดคั่งในทรวงอก ปอด หัวใจฉีก และม้ามแตก

 

ไม่เพียงมีผู้เสียชีวิต แต่คนที่ออกมาเปิดเผยเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เสี่ยงอยู่ในอันตราย เหมือนกรณีของนริศราวัลถ์ที่ถูกฟ้องคดี การออกมาเปิดเผยข้อมูลอาจทำให้เธอต้องติดคุกสูงสุดถึงห้าปี หรือกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความของลูกความสี่คนในคดีปล้นปืน ที่เมื่อปี 2547 ออกมาเปิดเผยเรื่องการซ้อมทรมานในเรือนจำ เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ทนายสมชายก็หายตัวไปจนถึงวันนี้​

ดังที่รู้กันดีว่าเรื่องแบบนี้เหมือนการฉายหนังซ้ำ นานวันคนก็ชาชิน เช่นกรณีของเมย ซึ่งที่จริงครอบครัวเริ่มเอะใจจึงอาศัยวิธีบอกผ่านสาธารณะมาตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่เวลานั้น กระแสผู้คนยังไม่ได้ฮือฮาเท่ากับเมื่อมีข้อเท็จจริงล่าสุดว่า อวัยวะต่างๆ หายไป และมีก้อนทิชชู่มาเติมอยู่ในพื้นที่กะโหลกแทนสมอง

เรื่องแบบนี้ เรียกร้องกับทหารหรือก่นด่าวัฒนธรรมการใช้อำนาจของทหารแบบที่ทำกันซ้ำๆ คงไม่ค่อยให้ผลอะไร แต่หากกระแสที่สนใจติดตามเรื่องนี้เกิดขึ้นได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ก็น่าจะช่วยป้องกันความรุนแรงในอนาคต เป็นเกราะให้คนที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล และช่วยตรวจสอบไม่ให้คนก่อเหตุลอยนวลหรือทำผิดซ้ำได้อีก

 

อ้างอิง:
https://www.khaosod.co.th/politics/news_641414
https://www.prachachat.net/general/news-75092
https://www.dailynews.co.th/crime/593086
https://prachatai.com/journal/2017/04/70894
https://www.youtube.com/watch?v=sTAW7chKitI

Tags: , , , , , ,