ผู้ที่คุ้นเคยกับการถกเถียงทางการเมืองคงทราบดีว่าหลายครั้งที่มีการถกเถียงเกี่ยวกับทหารไทยในโลกออนไลน์ มีโอกาสสูงที่การถกเถียงที่ว่านี้จะกลายเป็นการโต้เถียงโดยมีอารมณ์ความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผลค่อนข้างมาก ยิ่งถ้ามีใครวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารอย่างเผ็ดร้อน ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่เราจะเห็นการยกคุณงามความดีสารพัดของทหารไทยมาตอบโต้ ไม่ว่าจะเป็นการลงรูปภาพของทหารที่มีชีวิตยากลำบากในป่าเขา หรือภาพทหารลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม อันนำมาซึ่งการสรุปว่าทหารไทยเสียสละอุทิศตนเพื่อประเทศชาติอย่างไม่ต้องมีข้อสงสัยใดๆ

​ แน่นอนว่าลักษณะการถกเถียงเช่นนี้เป็นการตอบคำถามไม่ตรงประเด็น เพราะคนที่วิจารณ์ทหารก็ไม่ได้ปฏิเสธความดีของหลายสิ่งที่ทหารทำ แต่ผู้ที่คอยปกป้องทหารกลับยกเอาความดีที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่คนวิจารณ์มาปกป้องทหารจากคำวิจารณ์ ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ได้สร้างความเข้าใจหรือข้อสรุปใดๆ ให้เกิดขึ้น และทำให้การถกเถียงจบลงไปโดยไม่ได้สาระหรือคุณค่าอะไรนัก

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนนี้ไม่ได้ต้องการจะวิจารณ์ทหารไทย แต่ต้องการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับสถานะของทหารในสายตาของสังคม เพราะเราน่าจะกล่าวได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนคอยปกป้องทหารไทยอยู่ตลอด เป็นเพราะทหารไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นที่ยกย่องเชิดชูอย่างมากในสายตาของประชาชนหลายกลุ่ม จนทำให้บางครั้งคนที่รักทหารก็อาจจะกล่าวถึงทหารอย่างใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจะใช้เหตุผล

ยิ่งถ้ามีใครวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของทหารอย่างเผ็ดร้อน
ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่เราจะเห็นการยกคุณงามความดีสารพัดของทหารไทยมาตอบโต้

 

ภาพลักษณ์ที่ดีของทหารไม่ใช่เรื่องแปลก

​ ซามูเอล ไฟเนอร์ (Samuel Finer) นักวิชาการที่โด่งดังมากในด้านการศึกษาบทบาทของทหารในทางการเมือง ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 50 ปีก่อนว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ทหารในหลายประเทศก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมือง ก็คือการที่ทหารอยู่ในสถานะเป็นที่ยกย่องเชิดชูของสังคม อันทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะยินยอมหรือคล้อยตามการกระทำต่างๆ ของทหาร แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

​ เมื่อดูสาเหตุว่าทำไมทหารในประเทศต่างๆ จึงมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดีแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะผู้คนในหลายประเทศมองว่าทหารคือผู้เสียสละ ทำงานหนัก พร้อมจะปกป้องประเทศชาติของตนด้วยชีวิต เหตุผลแบบนี้เรียกได้ว่าพบเห็นได้แทบจะทั่วโลก แต่ขณะเดียวกัน ในบางประเทศก็มีลักษณะพิเศษบางอย่างที่ส่งเสริมสถานะของทหารมากไปกว่าเหตุผลที่กล่าวมา เช่น ทหารอินโดนีเซียได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากชาวดัตช์เมื่อกว่า 70 ปีก่อน ชาวอินโดนีเซียจึงยกย่องกองทัพอย่างยิ่งใหญ่ว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดชาติ และหลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราช กองทัพก็ยังช่วยทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นอยู่ร่วมกันได้ เพราะประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมอย่างอินโดนีเซียนั้นมีแนวโน้มที่จะแตกแยกกันได้ง่าย ทหารจึงมีความสำคัญในการพิทักษ์รักษาประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าภาพลักษณ์ที่ดีของทหารอินโดนีเซียนั้นมาจากภาระหน้าที่การเป็นผู้พิทักษ์ความอยู่รอดของชาติทั้งก่อนและหลังการได้รับเอกราช แม้ว่าในเวลาต่อมา ผลพวงจากระบอบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตจะทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสื่อมลงไปมากพอสมควรก็ตาม

ผู้คนในหลายประเทศมองว่าทหารคือผู้เสียสละ ทำงานหนัก
พร้อมจะปกป้องประเทศชาติของตนด้วยชีวิต

ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือในประเทศตะวันตกที่ถูกยกย่องเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็มีการยกย่องเชิดชูกองทัพอย่างมากเช่นกัน ทหารอเมริกันถูกมองว่าเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องประเทศ เสียสละความสุขส่วนตัวในการทำหน้าที่เพื่อชาติ เมื่อมีกิจกรรมการกุศลเพื่อหาเงินช่วยเหลือทหารผ่านศึก ชาวอเมริกันก็มักให้ความร่วมมือด้วยดี หลายครั้งงานที่จัดเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารผ่านศึกมีผู้เข้าร่วมมากถึงขนาดต้องจัดในสนามกีฬาขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพอเมริกันก็ยังช่วยให้อดีตทหารที่เข้าสู่แวดวงการเมืองสามารถขายภาพความรักชาติของตนแก่ประชาชนได้ และนักการเมืองที่เคยผ่านศึกสงครามหลายคนก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในเส้นทางการเมือง เช่น อดีตประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน (John McCain) ก็เคยร่วมรบในสงครามเวียดนามและถูกจับเป็นเชลย รวมถึงแทมมี ดักเวิร์ธ (Tammy Duckworth) นักการเมืองหญิงลูกครึ่งไทยที่ปัจจุบันเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์ ก็เป็นทหารผ่านศึกจากสงครามในอิรัก

​ ส่วนในอังกฤษก็มีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ การเคารพยกย่องทหารเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่ชาวอังกฤษ Help for Heroes เป็นองค์กรการกุศลที่มีชื่อเสียงซึ่งทำงานด้านการช่วยเหลือทหารผ่านศึก และกิจกรรมที่องค์กรนี้จัดขึ้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้มีหน้ามีตาในสังคม ขณะที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก็นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับทหารในแง่มุมที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการสู้รบเสมอไป มีทั้งการถ่ายทอดการแสดงดนตรีโดยวงดุริยางค์ทหาร ไปจนถึงการนำทหารมาออกรายการประกวดร้องเพลงทางโทรทัศน์ เรียกได้ว่าทหารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนชาวอังกฤษในระดับที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ความรักทำให้มองข้ามทุกอย่าง?

​ อย่างไรก็ตาม มีผู้กล่าวไว้เช่นกันว่าความรักและการยกย่องทหารของผู้คนในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะการที่สังคมชูประเด็นความเสียสละและบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของทหาร ก็มักจะนำไปสู่การกลบเกลื่อนคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ไปเสียหมด มีการตั้งข้อสังเกตว่ายิ่งผู้คนรู้สึกซาบซึ้งกับความเสียสละและความรักชาติของทหาร ก็ยิ่งทำให้ผู้คนมองการสู้รบทุกครั้งว่าเป็นเรื่องดีงาม จนไม่ได้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วการส่งทหารไปรบในสมรภูมิต่างๆ นั้นสมควรกระทำในทุกครั้งหรือไม่ เพราะบางครั้งเราก็จำเป็นต้องมีคำถามว่าเราส่งทหารไปสู้รบเพื่ออะไร การกระทำบางอย่างของทหารในภาวะสงครามเป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่าเหตุบ้างหรือไม่

อย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษส่งกองทัพไปรบในต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าการรบทุกครั้งจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจ การทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้นเป็นภารกิจที่ยากลำบากกว่าที่ผู้กำหนดยุทธศาสตร์คาดการณ์ไว้มาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นการกระทำบางอย่างของทหารที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาว เช่น มีการทิ้งระเบิดใส่ผู้บริสุทธิ์ รวมถึงการปฏิบัติต่อเชลยอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งหากกระแสสังคมไปมุ่งเน้นที่ความเสียสละของทหาร ก็อาจทำให้เราไม่ได้คิดจะตั้งคำถามถึงเป้าหมายและความเหมาะสมของการทำศึกสงคราม

การที่สังคมชูประเด็นความเสียสละและบทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของทหาร
ก็มักจะนำไปสู่การกลบเกลื่อนคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ไปเสียหมด

 

​ โดยสรุป ความรักและความรู้สึกยกย่องชื่นชมที่ประชาชนมีให้แก่ทหารนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก และการที่ทหารเป็นผู้เสียสละทำหน้าที่ปกป้องชาติบ้านเมืองก็เป็นประเด็นปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้เสมอ แต่การเชิดชูทหารก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่ทหารทำนั้นเป็นเรื่องถูกต้องทุกครั้งทุกเรื่อง เราชื่นชมทหารที่สละแรงกายและความสุขส่วนตนเพื่อการทำภารกิจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องห้ามวิจารณ์หรือตั้งข้อสงสัยต่อการกระทำบางอย่างของกองทัพ

​ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวิจารณ์ทหารไม่ได้แปลว่าไม่รักทหาร หากสังคมไทยเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น ก็น่าจะช่วยให้เราถกเถียงเรื่องบทบาทของทหารไทยได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นไม่น้อย

Tags: , ,