“ไม่อยากกินยาแก้ปวด เพราะเป็นโรคกระเพาะ(อาหาร)อยู่” คุณลุงท่านหนึ่งเปรยขึ้น หลังจากผมแจ้งว่าอาการปวดชายโครงซ้ายของคุณลุงน่าจะเกิดจากโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ สามารถรักษาด้วยการกินยาแก้ปวด

แกเล่าว่าเมื่อ 2-3 วันก่อนก็ไปหาหมอที่คลินิกมาแล้ว จ่ายยาแก้ปวดให้เหมือนกัน แต่คุณลุง “ไม่กล้ากิน” เพราะคิดว่ายาแก้ปวดจะกัดกระเพาะอาหาร อาการปวดเลยยังไม่หาย ใจหนึ่งแกก็กังวลว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า ซึ่งพยาบาลได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของคุณลุงไว้ให้ก่อนแล้ว ไม่พบลักษณะของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อีกใจหนึ่งคือเรื่องยาแก้ปวด ผมเลยบอกคุณลุงไปว่า “ยาแก้ปวดแบบที่ไม่กัดกระเพาะก็มีนะครับ”

คุณลุงทำสีหน้าสนใจขึ้นมาทันที

ถ้าลองค้นหาใน google จะเจอบทความที่ให้คำตอบว่ามียาแก้ปวดอยู่ 3-4 ประเภท แบ่งตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งถูกต้องตามที่เรียนมาตำราเดียวกัน แต่คุณลุงคงไม่สนใจหรอกว่าเมื่อกินยาตัวใดไปแล้วจะไปออกฤทธิ์ตรงไหน ทว่าคุณลุงและผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็สนใจผลข้างเคียงของยา เช่น “ยาจะกัดกระเพาะหรือไม่” “กินแล้วไตจะวายรึเปล่า” “ถ้ากินมากจะ(เสพ)ติดมั้ย” มากกว่า ผมเลยเล่าให้คุณลุงฟังต่อว่า “ถ้าจะแบ่งยาแก้ปวดตามความเชื่อของคนไข้ ผมก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กินแล้วไม่กัดกระเพาะทุกคนกินได้ คนสูงอายุกินแล้วปลอดภัย กับอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่กินแล้วกัดกระเพาะซึ่งนอกจากจะระคายเคืองกระเพาะแล้ว ก็ยังอาจกัดไต ทำให้ไตวายได้อีก”

กลุ่มที่กินแล้วไม่กัดกระเพาะอาหาร

ได้แก่ ยาพาราเซตามอล และยากลุ่มมอร์ฟีน

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)” ส่วนเวลาถามคนไข้ว่า “มียาพารากินอยู่แล้วรึยัง” ผมมักจะเจอคำตอบกึ่งประโยคคำถามกลับทำนองว่า “ที่บ้านมีไทลินอล (Tylenol)/ซาร่า (Sara) กินได้มั้ยคะ” ซึ่งชื่อยาที่พูดมาก็คือชื่อการค้าของยาพาราเซตามอลนั่นเอง สำหรับผมแล้วไม่ว่าจะยาพาราเซตามอลยี่ห้อไหนก็สามารถใช้รักษาอาการปวดและลดไข้ได้ทั้งนั้น เพราะก่อนที่บริษัทจะผลิตยาเลียนแบบออกมาจำหน่ายก็ต้องมีการทดสอบชีวสมมูลของยา (Bioequivalence) ว่ามีความใกล้เคียงกับยาต้นแบบเรียบร้อยแล้ว

นอกจากจะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่บางคนซื้อไว้เป็นกระปุกใหญ่ติดไว้ที่บ้านแล้ว ยาพาราเซตามอลยังเป็นยาสามัญประจำถุงยาที่หมอจ่ายให้ด้วย เนื่องจากเป็นยารักษาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่มีความปลอดภัยมากที่สุด

บันได 3 ขั้นสำหรับรักษาความเจ็บปวด (ดัดแปลงจาก: แนวทางพัฒนาการระงับปวดเฉียบพลัน, สมาคมศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทย)

และในแผนบันได 3 ขั้นในการรักษาความเจ็บปวดขององค์การอนามัยโลก (WHO’s analgesic ladder) ก็แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเป็นบันไดขั้นแรก ในขนาดที่ถูกต้อง คือครั้งละ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่เกินวันละ 4 กรัม เพราะฉะนั้นขนาดสูงสุดในผู้ใหญ่คือ ครั้งละ 1 เม็ด เวลาปวดทุก 4 ชั่วโมง หรือครั้งละ 2 เม็ด เวลาปวดทุก 6 ชั่วโมง (เพราะถ้ากินครั้งละ 2 เม็ด ซ้ำทุก 4 ชั่วโมงจะทำให้ได้รับยาเกินขนาดต่อวัน สำหรับผมเอง ถ้าเป็นคนที่มีน้ำหนักเกิน 50 กิโลกรัม ผมจะแนะนำให้กินครั้งแรก 2 เม็ด หลังจากนั้นจึงกินครั้งละ 1 เม็ด)

บางคนอาจเคยได้ยินมาทำนองว่า “กินยาพาราเซตามอลเยอะจะทำให้ตับวาย” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะถึงแม้ยาจะถูกสลายที่ตับก็จริง แต่ถ้ากินในขนาดที่ผมแนะนำข้างต้นก็จะไม่เป็นพิษต่อตับแต่อย่างใด

ความเชื่อนี้อาจเกิดจากการที่เคยมีญาติเป็นคนไข้กินยาพาราเซตามอลเกินขนาดแล้วต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการตับวาย ทั้งนี้ คนไข้คนนั้นจะต้องกินยาพาราเซตามอลมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หรือเกิน 7.5 กรัม ซึ่งเท่ากับ 15 เม็ดเลยทีเดียว (คนที่ทะเลาะกับคนใกล้ชิดแล้วจะกินยาประชด รบกวนนับจำนวนเม็ดยาก่อนกินนะครับ)

ยากลุ่มมอร์ฟีน หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า “โอปิออย (opioid)” มีที่มาจาก “opium” แปลว่า “ฝิ่น”  เป็นยาแก้ปวดในบันไดขั้นถัดมาสำหรับอาการปวดปานกลางถึงมาก แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยตามความแรงในการออกฤทธิ์ ได้แก่ ชนิดอ่อน (weak opioid) และชนิดแรง (strong opioid)

ในที่นี่ผมจะขอแนะนำให้รู้จักกับทรามาดอล (Tramadol) เพียงตัวเดียว เพราะเป็นยากลุ่มมอร์ฟีนที่สามารถซื้อจากร้านขายยาได้ เนื่องจากมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีน 5-20 เท่าจึงจัดเป็นชนิดอ่อน และไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ อีกทั้งยังเป็นยาที่ผมมักจ่ายเสริมให้กับคนไข้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น โรคไตเรื้อรัง หากกินยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่หายปวด เช่น ปวดเข่า หรืออย่างกรณีคุณลุงที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น

ขนาดยาที่แนะนำคือครั้งละ 50-100 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง แต่ไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม หรือ 200 มิลลิกรัมในคนไข้ที่มีปัญหาของตับหรือไต ดังนั้นขนาดที่ผู้ป่วยที่มักจะได้รับการสั่งจากหมอคือ ครั้งละ 1 เม็ด เวลาปวด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น รวมวันละ 150 มิลลิกรัม และเนื่องจากเป็นยาที่สามารถเสพติดได้ จึงควรหยุดใช้ให้เร็วที่สุดเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว

“กินแล้วอาเจียนตลอดเลย” ไม่แน่ใจว่าเภสัชกรได้แจ้งคนไข้ไปหรือไม่ แต่ผู้ป่วยบางคนก็สังเกตได้ด้วยตัวเองว่ายาทรามาดอลมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจท้องผูกได้ ถ้าอาการปวดเป็นเยอะก็อาจให้กินร่วมกับยาแก้คลื่นไส้อาเจียนได้ ผลข้างเคียงอื่นที่สำคัญคือกดการหายใจ (หลับแล้วตายได้)

นอกจากนี้ยาทรามาดอลก็คือยาแคปซูลสีเหลืองเขียวตัวเดียวกับที่มีข่าวในสื่อออนไลน์เป็นระยะ ถ้ามีเด็กวัยรุ่นมาโรงพยาบาลด้วยอาการชักเกร็งก็ต้องซักประวัติถึงยาตัวนี้ก่อนเลย เพราะมักจะซื้อขายกันผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้เรียกกว่า “สูตรยาโปรฯ” กินแล้วทำให้มึนเมา จึงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ จากการศึกษาย้อนหลังพบว่าผู้ป่วยที่กินยาทรามาดอลแล้วมีอาการชัก ส่วนใหญ่กินยาตัวนี้ร่วมกับสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่น เช่น ยาจิตเวช ยานอนหลับ และแอลกอฮอล์

ดังนั้นจึงไม่ควรกินยาเกินขนาดที่กำหนด และห้ามนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์

กลุ่มที่กินแล้วกัดกระเพาะ

ได้แก่ ยากลุ่มเอ็นเสด และยาเถาวัลย์เปรียง (แถม)

  ยากลุ่มเอ็นเสด (NSIADs) ไม่ใช่ชื่อเล่น แต่เป็นชื่อจริงที่ย่อแล้วของยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steriodal anti-inflammatory drugs) ใช้สำหรับรักษาอาการปวดน้อยถึงปานกลาง ถ้าย้อนกลับขึ้นไปดูแผนบันได 3 ขั้นจะพบว่าอยู่ที่ขั้นแรกเดียวกับยาพาราเซตามอล แต่จะรักษาอาการปวดจากการอักเสบ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ ได้ดีกว่ายาพาราเซตามอล เพราะยาจะไปยับยั้งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ขณะเดียวกัน ด้วยกลไกนี้เองที่ยาจะไปกัดกระเพาะอาหารและไตด้วย แต่ยาจะไม่มีผลต่อไตในคนปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นหากอายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคกระเพาะอาหารอย่างที่คุณลุงกลัว กินยาต้านเกล็ดเลือดหรือละลายลิ่มเลือดหรือเป็นโรคไตเรื้อรัง ก็ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่มนี้

ส่วนถ้าพูดชื่อยาในกลุ่มนี้ขึ้นมา เชื่อว่าหลายคนก็ต้องร้อง “อ๋อ” เพราะยาหลายตัวเป็นยาที่เรารู้จักกันดีและอาจเคยใช้อยู่หลายครั้ง ได้แก่

  • แอสไพริน (Aspirin) ปัจจุบันใช้เป็นยาต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) หรือโวลทาเรน (Voltaren) มักจะคุ้นเคยในรูปแบบยานวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือบรูเฟน (Brufen) ยาแก้ปวดเม็ดสีชมพูแปร๋น บางครั้งใช้เป็นยาลดไข้สูง
  • ไพร็อกซีแคม (Piroxicam) หรือเพียแคม (Pircam) – “เพีย” สะกดอย่างนี้นะครับ
  • เมเฟนามิค (Mefenamic acid) หรือพอนสแตน (Ponstan) ยาแก้ปวดประจำเดือน

เนื่องจากยาทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกันทั้งสิ้น จึงไม่มีประโยชน์ที่จะกินยาในกลุ่มนี้หลายตัวพร้อมกัน แต่ก็มีผู้ป่วยหลายคนกินยากลุ่มนี้ซ้ำซ้อนกันโดยไม่รู้ตัวจากการซื้อ “ยาชุด” ตามร้านขายของชำหรือร้านขายยาบางร้านมากินแก้ปวด เมื่อกินติดต่อกันหลายวัน ผลเสียที่ตามมาคือยากัดกระเพาะอาหารจนเป็นแผล อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดแสบร้อนท้อง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหมือนยางมะตอย หรืออาการมากจนกระเพาะอาหารทะลุ มีอาการปวดลิ้นปี่ขึ้นมาเฉียบพลันและปวดมากอย่างไม่เคยปวดมาก่อนก็ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดที่โรงพยาบาล

แม้ยาแต่ละชนิดมีขนาดที่เหมาะสมเป็นมิลลิกรัมไม่เท่ากัน แต่บริษัทยาได้ปรับขนาดให้จำง่ายคือสามารถกินครั้งละ 1 เม็ด เวลาปวด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที เช้า-กลางวัน-เย็น ได้

นอกจากผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและไตที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การใช้ยากลุ่มนี้บางตัวในขนาดสูงยังส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ไดโคลฟีแนค และไอบูโพรเฟน ในขณะที่ยานาพรอกเซน (Naproxen) กลับพบว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงแต่อย่างใด* ยานาพรอกเซนจึงเป็นยาเอ็นเสดที่ปลอดภัยในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยถึงปานกลาง แต่ยังมีความเสี่ยงต่อระบบทางเดินอาหารอยู่ ก็ต้องกินคู่กับยาลดกรด เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) ด้วย

อย่างไรก็ตามมียาเอ็นเสดอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่กัดกระเพาะอาหาร คือยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) หรือเซเลเบรค (Celebrex) จึงสามารถใช้ยานี้ได้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือแม้กระทั่งไม่มีโรคประจำตัวแต่มีเงินจ่ายค่ายาราคาแพงนี้ได้

ยาเถาวัลย์เปรียง ที่ผมวงเล็บว่า “แถม” ข้างต้นก็เนื่องจากยาตัวนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนยากลุ่มเอ็นเสด จึงนำมาใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยมีงานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบกับยาไดโคลฟีแนคพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดหลังได้ไม่ต่างกัน

คุณลุงยอมกินยาแก้ปวด (แบบที่ไม่กัดกระเพาะอาหาร)

ความจริงแล้วความกังวลต่อยาแก้ปวดระหว่างผมกับคุณลุงไม่ต่างกัน เพราะเวลาผมเลือกใช้ยาแก้ปวดก็คำนึงถึงผลข้างเคียงเป็นสำคัญ เพียงแต่คุณลุงรู้จักยาแก้ปวดไม่ครบทุกกลุ่มเท่านั้น (ส่วนผู้ที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็น่าจะรู้จักเกือบครบแล้ว) โดยค่อยเป็นค่อยไปตามแผนบันได 3 ขั้นในการรักษาความเจ็บปวดขององค์การอนามัยโลก เริ่มจากยาพาราเซตามอลก่อน หากเป็นผู้ป่วยอายุน้อย (น้อยกว่า 65 ปี) ไม่มีโรคประจำตัวก็อาจเพิ่มยากลุ่มเอ็นเสดให้ เพราะช่วยลดอาการปวดได้มากขึ้น แต่ถ้ามีโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ ก็จะเดินขึ้นบันไดเลี่ยงไปใช้ยากลุ่มมอร์ฟีนแทน

ทั้งนี้ยังมียาแก้ปวดเฉพาะระบบที่ผมยังไม่ได้พูดถึง เช่น ยาแก้ปวดระบบประสาท ยาแก้ปวดท้อง (เคยพูดถึงในบทความโรคกระเพาะอาหาร โรคที่เกิดก็เพราะอาหาร การกินยา และแผลในกระเพาะฯ แล้ว) รวมถึงการรักษาอาการปวดโดยไม่ใช่ยา เช่น การประคบร้อนและเย็น การกดจุดและการนวด และการฝังเข็มที่อาจใช้ผสมผสานกันได้

 

 

แหล่งข้อมูล

Tags: , , , ,