อาการจุกเสียดแสบร้อนท้องบริเวณลิ้นปี่ปลุกคนไข้ตื่นขึ้นมาโรงพยาบาลกลางดึก พร้อมกับปลุกผม-หมอเวรลุกขึ้นมาตรวจคนไข้ด้วยเช่นกัน

“ปวดตรงนี้ๆ”

คนไข้ใช้ฝ่ามือลูบบริเวณท้องด้านบนเหนือสะดือขึ้นมา พร้อมกับเล่าอาการปวดให้ฟังว่าเสียดท้องเป็นๆ หายๆ มาหนึ่งเดือนแล้ว มักเป็นหลังจากกินอาหาร คืนนี้มีอาการแสบร้อนร่วมด้วย

ความจริงลักษณะและตำแหน่งของอาการปวดเช่นนี้ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงกับโรคที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ “โรคกระเพาะอาหาร” ในคนอายุน้อยหรือวัยทำงานที่มีอาการเช่นนี้มักไม่ใช่โรคร้ายแรงหรืออันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาการปวดแน่นมากจนทนนอนต่อไปไม่ไหว บางครั้งอาการเป็นมากถึงขนาด “แน่นเหมือนลมตีขึ้นจนหายใจเข้าไม่ได้” เลยก็มี ถึงอย่างไรคนไข้ก็จะมา “ห้องฉุกเฉิน” ให้หมอรักษาให้ได้

โดยปกติแล้วชื่อโรคที่มีชื่อของอวัยวะควรจะมีคำกริยาต่อท้าย เช่น โรคคอหอยอักเสบ โรคปอดติดเชื้อ เพื่อบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับอวัยวะนั้นๆ ในขณะที่ “โรคกระเพาะอาหาร…” ไม่มีคำกริยาต่อท้าย แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่าคือโรคอะไร ในขณะที่ภาษาหมอด้วยกันคือโรค “ดิสเพปเซีย (Dyspepsia)” ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษากรีก dys- (ไม่) และ pepsis (การย่อยอาหาร) ราชบัณฑิตยสถานจึงบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยแทนว่า “อาหารไม่ย่อย” หรืออีกคำหนึ่งว่า “ธาตุพิการ”

ส่วนผมถนัดใช้คำว่า “โรคกระเพาะอาหาร” ตามความเข้าใจของคนทั่วไปมากกว่า

สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคกระเพาะอาหารมี 2 สาเหตุหลัก คือ

  1. แผลในกระเพาะอาหาร ประมาณ 2 ใน 10 คน อาจเกิดจากการกินยาแก้ปวดชนิดแรง เช่น ไดฟีลีน (ไดโคลฟีแนค), บรูเฟน (ไอบูโพรเฟน), เพียแคม (ไพร็อกซิแคม) ขณะท้องว่างหรือติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้กลไกการป้องกันเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเสียไป หรือ “กัดกระเพาะฯ” นั่นเอง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งสามารถทนความเป็นกรดของน้ำย่อย และสร้างสารมาทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารจนเกิดแผล คนไทยเกือบครึ่งหนึ่งมีเชื้อนี้อยู่แต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากติดต่อผ่านการกินอาหารจากพ่อแม่สู่ลูกตั้งแต่วัยเด็กและระหว่างเด็กเล็กด้วยกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2548
  2. ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มากถึง 7 ใน 10 คนที่มีอาการ แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายกลไก เช่น การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นที่ผิดปกติ การรับรู้สิ่งกระตุ้นไวกว่าปกติ การหลั่งกรดในปริมาณมาก ความผิดปกติของฮอร์โมนในทางเดินอาหาร ความเครียด อาหารที่กิน และวิถีชีวิต ผมจึงสันนิษฐานว่าด้วยเหตุผลที่ฉันไม่มีเหตุผล… (#เพลงมา) เอ้ย! สาเหตุที่ไม่มีสาเหตุนี้เอง ที่ทำให้ “โรคกระเพาะอาหาร” ยังไม่มีคำกริยาต่อท้ายมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากตรวจร่างกายยืนยันว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือเป็นโรคอื่นที่อาจมีอาการคล้ายกันได้ เช่น โรคกระเพาะอาหารทะลุ โรคถุงน้ำดีอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด (หมออาจตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพิ่มเติมสำหรับคนไข้ที่อายุมากหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้) ผมก็จะซักถามถึงสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ตามที่ทำตัวเอียงไว้ใน 2 ย่อหน้าข้างบน และแนะนำให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “ก็เพราะอาหาร” ก่อนเป็นอย่างแรก ได้แก่

  • “กินข้าวตรงเวลาไหม”
  • “กินอาหารรสจัด ของหมักดอง น้ำอัดลมมั้ย”
  • “กินกาแฟรึเปล่า”
  • “กินอิ่มจนเกินไป หรือกินเสร็จแล้วนอนเลยใช่มั้ย”
  • “กินเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือไม่”
  • “สูบบุหรี่อยู่หรือเปล่า”

หากมีข้อใดข้อหนึ่งก็ขอให้หลีกเลี่ยงหรือถ้างดได้ก็ยิ่งดี นอกจากนี้หากมีน้ำหนักเกินก็ควรออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก และไม่ควรใส่กางเกง กระโปรง หรือคาดเข็มขัดที่รัดแน่นท้องจนเกินไป รวมถึง…

  • “ช่วงนี้มีอาการปวด แล้วซื้อยาแก้ปวดหรือยาชุดกินเองอยู่ไหม”

หากกำลังกินอยู่ก็ต้องหยุดยา และเปลี่ยนไปกินยาแก้ปวดพาราเซตามอลแทนเนื่องจากเป็นยาแก้ปวดที่ปลอดภัยที่สุด แต่ถ้าหากปวดมากก็อาจขอยาแก้ปวดในกลุ่มเดียวกับมอร์ฟีนซึ่งไม่กัดกระเพาะฯ จากหมอกลับบ้านไปด้วย

“แล้วหมอมียาฉีดให้มั้ย”

คนไข้ชิงตัดบทเพราะเห็นผมพูดเสียยืดยาว

“ครับ คืนนี้หมอฉีดยาให้” ผมไม่ปล่อยให้คนไข้กลับบ้านไปมือเปล่าแน่นอน

ยาที่หมอมักฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อรักษาโรคที่ห้องฉุกเฉิน และจ่ายกลับให้ไปกินต่อที่บ้านจะประกอบด้วย 4-5 กลุ่มยา ได้แก่

  1. ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งแบ่งเป็นอีก 2 กลุ่มย่อยตามกลไกการออกฤทธิ์ คือ กลุ่มที่ยับยั้งการขับโปรตอนซึ่งเป็นองค์ประกอบของกรดโดยตรง (proton pump inhibitor) เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) ซึ่งเป็นยาที่ใช้บ่อยมากในห้องฉุกเฉินตัวหนึ่ง มีทั้งชนิดฉีดและชนิดกิน โดยที่ชนิดฉีดสามารถฉีดซ้ำได้ทุก 12 ชั่วโมงหากอาการยังไม่ดีขึ้น แต่ถ้าหากอาการดีขึ้นแล้วหมอก็จะจ่ายชนิดแคปซูลกลับไปให้กินต่อวันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า

    ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งยับยั้งตัวรับของสารฮิสตามีนชนิดที่ 2 (H2 receptor antagonist) เช่น แรนิทิดีน (Ranitidine) ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยอ้อม ทำให้ได้ผลน้อยกว่ากลุ่มแรก มีทั้งชนิดฉีดและชนิดกิน หมอบางท่านใช้เป็นยาเสริมเพิ่มเติมจากกลุ่มแรก หรืออย่างโรงพยาบาลชุมชนที่ผมทำงานอยู่กำหนดให้ใช้เป็นยาฉีดตัวแรก เนื่องจากมีราคาถูกกว่าประมาณ 4 เท่า ส่วนยาที่พัฒนาจากสมุนไพรอย่างขมิ้นชันบรรจุในแคปซูลก็มีสาร curcumin ที่ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งเดียวกันนี้
  2. ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร (prokinetic drug)  เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) เป็นยาฉีด มักฉีดร่วมกันกับยาลดกรด ช่วยลดอาการแน่นท้องเมื่อมารักษาที่ห้องฉุกเฉินได้ สามารถฉีดซ้ำได้ทุก 8 ชั่วโมง หากอาการดีขึ้นแล้วหมอก็จะจ่ายยาดอมเพอริโดน (Domeridone) กลับไปกินต่อครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร แต่เนื่องจากฉลากยามักจะระบุว่าเป็น “ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน” ทำให้คนไข้มักเข้าใจผิดว่าถ้าไม่มีอาการดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องกิน ทั้งที่หมอจ่ายยากลุ่มนี้เพื่อช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นทำงานได้ดีขึ้น
  3. ยาแก้ท้องอืด เช่น ไซเมตทิโคน (Simethicone) หรือชื่อการค้าที่รู้จักกันดีคือแอร์เอ็กซ์ (Air-X) ช่วยลดการเกิดโฟมจากการทำปฏิกิริยากันระหว่างอาหารและน้ำย่อย เมื่อเคี้ยวครั้งละ 1 เม็ดแล้วกลืนหลังมื้ออาหาร วันละ 3 เวลา จะทำให้ของเหลวและแก๊สในโฟมแยกตัวกัน และลดแรงตึงผิวของฟองแก๊สเล็กๆ ให้ระบายออกมาทางหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น อาการจุกเสียดท้องจึงลดลง สรรพคุณนี้น่าจะเทียบได้กับยาธาตุน้ำขาว-ยาสามัญประจำบ้านที่มีส่วนประกอบช่วยขับลมเช่นกัน
  4. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (ไม่ได้ลด “การหลั่ง” เหมือนยากลุ่มแรก) ออกฤทธิ์สะเทินกรดในกระเพาะอาหารโดยตรง ช่วยลดอาการแสบร้อนได้ เช่น อลัมมิล (Alum milk) กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะหลังอาหาร 3 มื้อ โดยสรรพคุณน่าจะเทียบได้กับยาธาตุน้ำแดง-ยาสามัญประจำบ้านที่รู้จักกันดีอีกตัวซึ่งมีโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) ที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง และสมุนไพรอื่นๆ ประกอบอยู่ด้วย

“หมอจะให้กลับบ้านแล้วนะครับ”

ผมถามคนไข้ที่ผล็อยหลับไปแล้วหลังจากฉีดยาไปได้สักพักใหญ่ๆ แสดงว่าอาการจุกเสียด แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่น่าจะดีขึ้นแล้ว แต่หลังจากนี้คนไข้จะต้องกินยา 2 กลุ่มแรกเป็นหลัก ต่อเนื่อง 4-8 สัปดาห์ตามแนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาอาการให้หายขาด แต่เท่าที่สังเกต หมอส่วนใหญ่จะจ่ายยาให้เพียง 1 สัปดาห์แล้วนัดมาดูอาการซ้ำก่อน หากอาการดีขึ้นแต่ยังไม่หายขาดถึงค่อยจ่ายยาให้กินต่อจนครบ

ทว่าถ้าหากอาการปวดท้องแย่ลงให้รีบมาพบหมอก่อนนัด หรือถ้ากินยาต่อจนครบ 1-2 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องส่งต่อหมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหาร เพื่อตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องเข้าไปดูว่าในกระเพาะอาหารว่ามีแผลติดเชื้อเอชไพโลไร หรือสาเหตุอื่นอีกหรือไม่

และที่สำคัญคือ “ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามที่แนะนำไป ไม่ว่าจะมาฉีดยาที่โรงพยาบาลบ่อยๆ หรือเปลี่ยนยาแรงแค่ไหน ก็จะไม่หายขาดแน่นอน” ผมย้ำกับคนไข้ก่อนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อนในคืนนั้น

 

แหล่งข้อมูล:

Fact Box

สาเหตุอื่นของโรคกระเพาะอาหารที่คนไข้หลายคนมักกังวลคือโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถพบได้ 2 ใน 1,000 คนที่มีอาการ และมักจะมีประวัติที่ชวนให้หมอสงสัย ได้แก่

  1. เริ่มมีอาการครั้งแรกอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  2. อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
  3. ซีด
  4. อิ่มเร็วกว่าเดิม เช่น กินได้เพียงครึ่งหนึ่งจากที่เคยกินอิ่มก็กินต่อไม่ได้แล้ว
  5. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหต
  6. อาเจียนตลอดเวลา หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหารแต่ละมื้อ
  7. มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

หากมีประวัติข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น หมอก็จะส่งต่อไปรับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นตั้งแต่แรก ไม่ต้องรอรักษาด้วยยากินก่อน

Tags: