เรื่องเล่า ‘ผีตีนเดียว’ ในตำนานดงพญาไฟที่แค่ได้ยินชื่อก็พลอยทำให้เด็กๆขนหัวลุก คือหนึ่งในความทรงจำที่ป๊ามักใช้เล่าเวลาขับรถผ่านเส้นถนนมิตรภาพเพื่อเดินทางไปเยี่ยมอาม่าที่ปากช่อง รถกระบะคันเก่าจะออกเสียงคำรามยามเร่งเครื่องขึ้นเนินไปตามช่องเขา ทำเอาทุกคนในรถพากันลุ้นจนแทบหายใจไม่ทั่วท้อง ฉันในตอนนั้นคิดได้แต่ว่าเรากำลังนั่งบนรถไฟเหาะที่รวมบ้านผีสิงไว้ด้วยกัน รถทั้งคันจะตกอยู่ในภวังค์ความเงียบจนกว่าจะลงเนินได้ การเดินทางไปเขาใหญ่วันนี้ไม่มีอะไรที่เหมือนวันวานอีกแล้ว โดยเฉพาะเงาวืดๆ ของป่าดิบครึ้มยามต้องลมที่ชวนให้หลับตาทุกครั้งเมื่อจ้องมองผ่านกระจกรถยนต์ แต่ก็ยังคงเป็นความสดชื่นเสมอเมื่อนึกถึงปลายทาง

ช้างป่าระหว่างสู่ผาเดียวดาย

ดูเหมือนว่า กลุ่มนักนิยมไพรและเหล่านักปั่นน่องเหล็กทั้งหลาย มักเลือกเส้นทางสู่เขาใหญ่ด้วยเส้นทางกรุงเทพฯ นครนายก ปราจีนบุรี เข้าสู่หน้าด่านเนินหอม หากออกรถแต่เช้ามืดก็จะถึงหน้าด่านเนินหอมเวลาประมาณเกือบ 8 โมงเช้า รถของเราค่อยๆ ขับแซงนักปั่นเสือภูเขามาดเท่ทั้งหลาย คารวะในพลังกายและใจของทุกคนจริงๆ

นกเงือก

เขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ถูกประกาศขึ้นในปี พ.ศ. 2505 เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จุดหมายแรกที่ทุกคนตั้งใจจะแวะและวาดฝันเอาไว้นั่นคือ การได้เห็นสายรุ้งผ่านละอองน้ำของน้ำตกเหวนรกที่มีความสูงกว่าร้อยเมตร แม้จะรู้ตัวว่าไม่ได้มาตรงกับฤดูฝนเท่าไร แต่ยังแอบมีความหวังไว้ในใจ ปาฎิหาริย์อาจเกิดขึ้นได้เสมอถ้าเรามองหามัน

น้ำตกเหวนรก

จากจุดจอดรถ ใช้ระยะเดินเพียง 1 กิโลเมตร ก็จะพบกับศัตรูของคนอ้วน นั่นคือบันได! ต้องเดินลงไปยังตัวน้ำตกอีกราว 200 ขั้น ฟังดูอาจไม่เท่าไร แต่พอเห็นทางลงสุดชันเท่านั้นล่ะ กลุ่มแก๊งเริ่มออกอาการลังเล ถ้าใครเคยไปถึงซำแฮกของภูกระดึงก็จะเข้าใจความเหนื่อยหอบจนต้องอุทานแบบฝรั่งว่า What the hell!  สันนิษฐานแบบคิดเองเออเองเลยว่า ชื่อน้ำตกเหวนรกคงมาจากความยากลำบากของการลงบันไดนี่ล่ะ แต่จริงๆ แล้วเป็นการพูดถึงที่นี่ว่าเป็นดั่งสุสานช้างป่า เนื่องจากความชันที่ทำให้ช้างพลัดตกลงมาได้ง่ายจนสังเวยชีวิตไปนับไม่ถ้วน

ข้อเข่าลั่นกึ๊ดๆ แต่แรงใจยังไหว เพราะความยิ่งใหญ่ของน้ำตกเหวนรก นั้นรอเราอยู่ น้ำตกมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร เสียงน้ำตกดังซู่ๆ เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากชั้นนี้จะไหลลงสู่หน้าผาชั้นที่ 2 และ 3 ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่นำทาง ทางเราขออยู่แค่ชั้น 1 ชื่นชมภาพของธรรมชาติสีเขียวของผืนป่า ถูกผ่ากลางด้วยสายน้ำขาวใส ไหลหลั่งซ่านกระเซ็นเย็นตา สายน้ำตกยิ่งใหญ่ไหลจากผาสูง ส่งพลังความชุ่มฉ่ำเหมือนน้ำทิพย์ได้ลดลงตรงกลางใจ เราทุกคนสูดโอโซนและหาจุดนั่งพักก่อนที่ขาจะสั่นพั่บๆ ไปมากกว่านี้

ไหนๆ มาแล้วตามไปเก็บอีกสักน้ำตก (ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่างไม่เกี่ยว) จุดหมายต่อไปของเราจึงอยู่ที่น้ำตกเหวสุวัต แม้จะเล็กกว่าน้ำตกเหวนรกแบบเทียบกันไม่ได้ แต่ก็มีความงามไปอีกแบบ น้ำตกเหวสุวัตเกิดจากห้วยลำตะคองไหลตกผ่านหน้าผาสูงราว 25 เมตร ทั้งยังมีแอ่งน้ำไว้ให้ว่ายเล่นชุ่มฉ่ำใจ เมื่อมาในฤดูน้ำน้อยอย่างเราก็สามารถเดินลัดเลาะเพื่อเข้าไปยังโพรงถ้ำเล็กๆ ใต้หน้าผาน้ำตกได้  

หอดูสัตว์หนองผักชีที่ทำให้เราพบสัตว์หลายชนิด

มิชชั่นน้ำตกผ่านพ้น รถทุกคันมุ่งสู่จุดชมวิวผาเดียวดาย เส้นทางนี้ล่ะที่ตกเป็นภาพข่าวพบเห็นช้างป่าออกมาเดินตามถนน และแล้ววันนี้เราก็ได้เป็นผู้บันทึกภาพนั้นด้วยตัวเอง คนขับต่างชะลอรถไปตามถนนเส้นเล็กๆ ปล่อยให้เจ้าป่าเดินอย่างองอาจไปเรื่อยๆ แม้จะทั้งตื่นเต้นและตกใจกับสถานการณ์ที่เจอตรงหน้า แต่ดึงสติไว้ได้ เพราะก่อนที่จะผ่านด่านมา เจ้าหน้าที่มีป้ายแนะนำเรียบร้อยหากปฏิบัติตามก็จะทำให้เราเข้าใจและปลอดภัย คือใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อพบช้างหรือสัตว์ป่าอื่นให้เว้นระยะห่าง ไม่ส่งเสียงดังหรือบีบแตร และไม่ให้อาหารสัตว์ พอดูจังหวะที่รถผ่านได้ ให้ขับผ่านไป หากมีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ตรงนั้นก็ดูสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ เข้าหลักปฏิบัติการ “4 ม.ขอไม่มาก” นั่นคือ “ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ให้อาหารสัตว์ และไม่ทิ้งขยะ”

ผาเดียวดาย

ตอนรถค่อยๆ ผ่านช้างพลายรูปงาม พวกเราทุกคนหุบปากเงียบอย่างพร้อมเพียงกัน ทุกคนยกเว้นคนขับพากันหยิบกล้องและมือถือขึ้นมาแชะรัวๆ จากความหวาดกลัวเริ่มยกมือไหว้ขอบคุณที่ชอช้างใจดีออกมาปรากฎโฉมเหมือนได้เข้าสู่การท่องซาฟารี รถทุกคันต่างเคารพกฎ ฟังคำแนะนำ และปฎิบัติตาม คนกับช้างจึงสามารถใช้เส้นทางร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

จุดชมวิวผาเดียวดาย

ผ่านมาถึงด่านตรวจเขาเขียว เราเลี้ยวขวาเข้าสู่เส้นทางขึ้นยอดเขาเขียว ระหว่างทางเป็นทุ่งหญ้าสวยงามก่อนจะขึ้นเขาเข้าสู่เส้นทางลาดชัน ระยะทางก่อนถึงยอดประมาณ 1 กิโลเมตร คือจุดชมวิวผาเดียวดาย ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ หากทุกคนร่วมใจไม่ส่งเสียงดังรบกวน บริเวณผาเดียวดายจะเป็นที่ส่องสัตว์ชั้นยอด โดยเฉพาะเลียงผากับไก่ฟ้าหลังเทา น่าเสียดายที่นักท่องเที่ยวคนอื่นยังไม่เห็นความสำคัญของการเคารพพื้นที่ธรรมชาติมากพอ เราจึงไม่ได้มีโอกาสเห็นสัตว์ใดๆ แต่ข้อดีของเส้นทางนี้คือมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณต่างๆ มากมาย เส้นทางเดินง่ายเพราะทางเจ้าหน้าที่ทำเส้นทางปูทางเดินไม้ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เรานัดแนะกันว่า พรุ่งนี้จะมาเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดในเขตอุทยานกันที่ผาเดียวดายนี่แหละ

อ่างเก็บน้ำสายศร

นอกจากจุดชมวิวตามผาต่างๆ แล้ว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยังมีอ่างเก็บน้ำสายศร เพื่อสำหรับใช้ภายในบริเวณอุทยานฯ และเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า ซึ่งนักถ่ายภาพหลายคนต่างพกเล่นส์ซูมมารอสัตว์ต่างๆ และคิวโชว์วันนี้ได้แก่เจ้าหมาไน สัตว์ผู้ล่าลงมากินน้ำและนอนพักริมน้ำด้วยมาดสบายใจ

เที่ยวเขาใหญ่ทุกครั้งเรามักจะได้พลังบวกจากผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้เสมอ สิ่งที่ทุกคนควรทำร่วมกันนอกจากเคารพพื้นที่ของเจ้าถิ่น และปฏิบัติตามกฎของอุทยานฯอย่างเคร่งครัด การเคารพนักเดินทางในสถานที่เดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่มุ่งหวังให้ทุกคนเห็นความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


เครดิตภาพ: โน้ต ไชยสิทธิ์

Fact Box

  • หากอยากเจอสัตว์หลากชนิดเจ้าหน้าที่อุทยานแนะนำให้ไปหอดูสัตว์หนองผักชี เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผากล้วยไม้ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกกองแก้ว หรือขออนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำทางไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย  
  • ติดต่อศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ http://www.khaoyainationalpark.com/752/  โทร.086-0926529
  • จองที่พักได้ที่ http://nps.dnp.go.th/reservation.php?fbclid=IwAR3iTqa02S1fcFnzwQ54CkXG-qUaRMnOIdUvprvpRy99RDy9ABzQWbsFIbw
  • การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ สามารถเลือกได้ 2 เส้นทาง

1. ถนนพหลโยธินผ่านรังสิตถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพผ่านมวกเหล็กและเลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งตรงทางแยกก่อนถึงอำเภอปากช่องตรงกิโลเมตร ที่ 58 เข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2090 (ถนนธนะรัชต์) ประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจจากนั้นขึ้นเขาไปอีก 14 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 200 กิโลเมตร

2.ถนนรังสิต นครนายก ปราจีนบุรี จากถนนพหลโยธิน รังสิต เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 มุ่งสู่ตัวเมืองนครนายก แล้วเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) ถึงสี่แยกเนินหอมหรือวงเวียนนเรศวร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนปราจีนบุรี-เขาใหญ่ หมายเลข 3077 รวมระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร

 

Tags: , , ,