เสื้อผ้าและเนื้อตัวที่เปรอะเปื้อน เส้นผมที่จับตัวเป็นก้อน เหงื่อไคลที่หมักหมมจนส่งกลิ่น อีกทั้งท่วงท่าและแววตาที่ไม่ตรงตามมาตรฐานของ ‘คนปกติ’ จนบางครั้งสร้างความหวั่นใจให้คนผ่านไปมา บางคนนิ่งเงียบราวปฏิเสธสิ่งมีชีวิตโดยรอบ บางคนมากด้วยเรื่องเล่าและบทสนทนา หากอยู่ใกล้ในระยะเห็นสีหน้าและได้ยินเสียงพูด คุณอาจพบเรื่องราวหลากอารมณ์ บ้างขบขัน บ้างโกรธเกรี้ยว บ้างโศกเศร้า หรือบ้างสลับอารมณ์ไปมา แต่ต่อให้มีเรื่องราวเกิดขึ้นรอบตัว เขาและเธอก็มักสนทนาอยู่เพียงลำพัง เนื้อหาไร้ความเชื่อมโยงกับชีวิตคนทั่วไป อาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวไพร่กับเจ้านายผู้สูงศักดิ์ อาจเป็นผีสาง เทวดา นางฟ้า เทพเจ้า หรืออาจพ้นไปจากจินตนาการที่คาดเดาได้

เหล่านั้น เป็นจุดร่วมของคำว่า ‘คนบ้า’ ที่คนจำนวนมากรับรู้ และเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย

ทั้งที่เป็นคำเรียกที่จนติดปาก แต่เว็บไซต์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกลับไม่มีความหมายของคำว่า ‘คนบ้า’ คำที่มีคือคำว่า ‘บ้า’ เป็นคำวิเศษณ์ ความหมายคือ เสียสติ วิกลจริต สติฟั่นเฟือน หลงใหลหรือมัวเมาในสิ่งนั้นๆ จนผิดปรกติ เช่น บ้ากาม บ้ายศ บ้าฟุตบอล

หากมองเขาและเธอผ่านความรู้ทางการแพทย์ ความหมายที่จับต้องได้คือ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ (คำว่า ‘จิตเวช’ เป็นคำที่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาการ) นั่นคือผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตหรือสมอง อาจเป็นลุงป้าที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม คนหนุ่มสาวที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่เป็น ‘โรคจิตเภท’ (Schizophrenia) ที่น้อยคนจะมีความรู้เกี่ยวกับโรคที่อยู่ในมุมมืดเพื่อจะทำความเข้าใจความ ‘ฟั่นเฟือน’ ของโรคนี้

ผมเคยขอตามไปดูการทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา งานของโครงการฯ คือการติดตามผู้ป่วย ค่อยๆ หาทางพูดคุย ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจิตเวชเพื่อส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาล แม้วันนั้นผมจะเห็นไม่ครบทุกขั้นตอน แต่ถือเป็นหนึ่งวันที่เปิดโลกอย่างมาก

ยอมรับว่าระหว่างวันเต็มไปด้วยคำถาม เริ่มเป็นโรคนี้ได้อย่างไร อาการเป็นอย่างไร ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอย่างไร ฯลฯ แต่การพูดคุยกับ ‘ผู้ป่วยจิตเภท’ เพื่อทำความรู้จัก ‘โลก’ ของพวกเขาอย่างเป็นเหตุเป็นผล วิธีการเดียวคือ เขาต้องเป็นผู้ป่วยที่หายแล้ว หรืออย่างน้อย อาการต้องดีขึ้นในระดับคุยรู้เรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเจอคนๆ นั้น ยิ่งกว่านั้น การถูกตีตราว่าเป็น ‘คนบ้า’ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ก็ทำให้คงมีเพียงน้อยคนที่จะเต็มใจบอกเล่าความเจ็บป่วยของตัวเองอย่างเปิดเผย

“ผมมีเพื่อนเคยป่วยเป็นจิตเภทนะ แต่ตอนนี้รักษาจนดีขึ้น และกลับมาทำงานได้แล้ว” หลังจากตอบข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ของผมอยู่สักพัก สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน เอ่ยขึ้นมา

ผมแสดงความสนใจว่าอยากคุยด้วย เขาอาสาไปถามความสมัครใจ ผ่านไปหนึ่งวัน เขาส่งข้อความมาว่าเพื่อนคนนั้นยินดีให้สัมภาษณ์

 

ปมในใจจากวัยเด็ก

นอกจากชื่อเล่นและเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลที่มีคือ เป็นผู้หญิง เคยป่วยเป็นจิตเภท อาการดีขึ้นแล้ว (ไม่แน่ใจว่าหายขาดหรือเปล่า) และปัจจุบันทำงานภาคสังคมที่ต้องเดินทางไปพม่าอยู่บ่อยครั้ง

เมื่อมีข้อมูลอย่างจำกัด ผมจึงร่างคำถามจำนวนหนึ่งขึ้นมา – เป็นคำถามผ่านสายตาคนทั่วไปที่สงสัยในโรคๆ นี้

ต้นเดือนมิถุนายน เรานัดหมายกันที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ย่านเจริญนคร ผมไปก่อนเวลาเล็กน้อย หันซ้ายหันขวาว่าเธอคือคนไหน ไม่เห็นมีใครที่บุคลิกแตกต่างจากคนทั่วไป คะเนจากคนบริเวณนั้น อาจเป็นผู้หญิงคนที่นั่งคุยกับชาวต่างชาติอย่างออกรสก็ได้

ผู้หญิงผิวเข้ม ตัดผมสั้น ท่าทางทะมัดทะแมงลุกจากเก้าอี้ แล้วเอ่ยทักทาย

เธอคือคนที่เรานัดหมาย

ช่างภาพกำลังจะเดินทางมาถึง ผมพลิกข้อมือดูนาฬิกา เห็นว่ายังอยู่ในเวลา เลยขอรอช่างภาพก่อน ผมนั่งลงพักเหนื่อย ในใจเริ่มคิดถึงภาพแรกที่เห็น ลักษณะภายนอกของเธอต่างจากภาพผู้ป่วยจิตเภทในที่สาธารณะมากทีเดียว ยังไม่ได้เริ่มคุยก็เห็นความเข้าใจผิดของตัวเองแล้ว  

“เล่าให้ฟังหน่อยว่าก่อนจะป่วยเป็นโรคจิตเภท เรียนที่ไหน ทำงานอะไรมาบ้าง ผมอยากเห็นภาพความเป็นมาของความป่วยที่เกิดขึ้นน่ะครับ” หลังจากแนะนำตัวเองและอธิบายความตั้งใจ ผมเปิดบทสนนาด้วยคำถามกว้างๆ

“ขอย้อนไปวัยเด็กเลยได้ไหม เพื่อจะได้รู้ว่าต้นสายปลายเหตุมาจากอะไรบ้าง” เธอเริ่มต้นเรื่องราวของตัวเอง

..

.

เอ๋-อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล (ชื่อเดิมคือ อาภัสสร) เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกรที่จังหวัดนครราชสีมา แม้ไม่ถึงกับลำบากยากเข็ญ แต่ชีวิตต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดพอสมควร พ่อแม่ปลูกผักสวนครัวต่างๆ แล้วนำไปขายที่ตลาดแต่เช้าตรู่ เป็นอาชีพที่เลี้ยงดูลูกสาวคนโต ลูกชายคนกลาง และเธอ-ลูกสาวคนเล็ก

“เรามีปมในใจตั้งแต่เด็กแล้ว” เธอพูดถึงความทรงจำในวัยเด็ก

“แม่ชื่นชมและแสดงความรักกับพี่ชายมากกว่า แต่กับเราไม่ค่อยทำแบบนั้น เลยคิดว่าแม่ไม่รัก เราไม่สนิทกับใครในบ้านเลย พอขึ้น ม.ปลาย พี่สาวไปเรียนที่หนึ่ง พี่ชายไปเรียนที่หนึ่ง ส่วนเราไปอยู่ราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนชายล้วนมาก่อน คนมาเรียนส่วนใหญ่คือผู้ชาย ผู้หญิงเป็นส่วนน้อย เวลาตอบคำถามในห้องไม่ได้ เพื่อนผู้ชายจะหัวเราะ เป็นความแปลกแยก เราเลยกลายเป็นคนพูดน้อย ไม่มั่นใจในตัวเอง และแอนตี้ผู้ชาย”

แม้ความรู้สึกแปลกแยกจะชัดเจนอยู่ภายใน แต่เธอเลือกเก็บความรู้สึกนั้นไว้เพียงลำพัง ทั้งที่เกรดเฉลี่ยไม่ดีนัก แต่สุดท้ายเธอตั้งใจอ่านหนังสือจนสอบติดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ตอนรู้ว่าลูกสาวเอนท์ติด แม่ดีใจไหม” ผมถาม

“ไม่ดีใจ” เธอตอบสวนทันที

“เรายังจำภาพได้เลย ช่วงนั้นแม่ขายรองเท้าที่ทำจากยางรถยนต์ กำลังเตรียมของไปขายที่ตลาดนัด เราดีใจที่สอบติด พอบอกแม่ เขาตอบกลับว่า ‘เออ’ ไม่แสดงความดีใจอะไรทั้งสิ้น พ่อก็เหมือนกัน ตอนนั้นลึกๆ อยากให้เขาดีใจนะ แต่มองย้อนไป เขาคงกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนมาส่ง ทั้งพี่สาว พี่ชาย และเรา หลังจากเริ่มเรียนไปแล้ว เราเลยตัดสินใจกู้ กยศ. เป็นการกู้เงินมาเรียนรุ่นแรกเลย” เธอพูดถึงความรู้สึกในอดีต ที่มองย้อนกลับไปด้วยความเข้าใจ

จากลูกสาวคนเล็กที่รู้สึกว่าไม่มีใครรัก และนักเรียนหญิงที่แปลกแยกกับนักเรียนชาย เธอฟื้นความเชื่อมั่นให้ตัวเองโดยทำสารพัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เป็นประธานค่าย ประธานคณะสังคมสงเคราะห์ เล่นกีตาร์ โบกรถ ปีนเขา ค่ายวิชาการ ค่ายสร้าง ค่ายสอน และด้วยบุคลิกที่หนักแน่นและมั่นใจ เพื่อนๆ รอบตัวจึงให้การยอมรับ กราฟความเชื่อมั่นไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ค่อนข้างห่างเหิน นานๆ เธอจะกลับบ้านสักที และนอกจากโทรศัพท์และเขียนจดหมายเพื่อขอเงิน ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่-ลูกแทบไม่มีบทสนทนาในเรื่องอื่น

“ลึกๆ เราคงปิดบังความอ่อนไหวในใจ เราต้องการเป็นผู้นำ เพราะอยากได้รับการยอมรับ และภายใต้บุคลิกภาพที่ดูแข็ง เรากลับขี้น้อยใจมาก เราได้รับการเติมเต็มจากเพื่อนก็จริง แต่รูโหว่ในใจยังมีเหมือนเดิม”

หลังจากเรียนจบ เธอเริ่มการทำงานประเด็นป่าชุมชนที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ใช้ชีวิตในหมู่บ้านกะเหรี่ยงเพื่อเก็บข้อมูลมาทำแผนที่การจัดการป่า หลังจากทำได้ 1 ปีก็ย้ายไปเรียนรู้งานภาคสังคมที่ประเทศฟิสิปปินส์อยู่ 9 เดือน ด้วยทักษะด้านภาษาอังกฤษยังไม่ดีนัก การเรียนรู้เลยติดขัดพอสมควร ความมั่นใจครั้งเรียนมหาวิทยาลัยก็พังทลาย เป็นความรู้สึกที่ติดค้างในใจแต่ไม่เคยได้พูดออกมา เธอเลยใช้เวลาช่วงนั้นกับการเรียนและฝึกภาษาอย่างเอาจริงเอาจัง

พอครบกำหนดก็กลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง ทำงานประเด็นเดิมแต่เปลี่ยนบทบาท เป็นการประสานงานเครือข่ายที่เจอคนหลากหลาย แต่ผ่านไปเพียง 1 ปีก็ตัดสินใจลาออกด้วยความน้อยใจเพื่อนร่วมงาน ก่อนจะกลับมาทำงานกับ มอส. อีกครั้ง เป็นเจ้าหน้าที่โครงการเยาวชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เดินทางไปหลายประเทศในภูมิภาค ที่นี่เธอทำทั้งหมด 3 ปี

“คนรอบตัวสะท้อนถึงเราว่า เป็นสาวมั่น จริงจัง และเครียดกับงาน เราก็มีอีโก้ แต่ลึกๆ เป็นคนขี้น้อยใจด้วย” เป็นภาพที่คนอื่นมองเข้ามาและเธอมองตัวเอง

เมื่ออาการปรากฏ

แม้บางครั้งการแสดงออกภายนอกและความรู้สึกภายในจะสวนทางกัน แต่ชีวิตโดยรวมไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป สุข เศร้า กดดัน ภูมิใจ สมหวัง และผิดหวัง เป็นอารมณ์ขึ้นลงตามปกติของมนุษย์ ไม่มีวี่แววของความป่วยทางจิตใจมาก่อน จนกระทั่งอายุผ่านวัยสามสิบมาไม่นานนัก เธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควบคู่ไปกับการทำงานประเด็นปัญหาพม่า จนกระทั่งต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต

“ตอนทำงานโครงการเยาวชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราทำงานที่ลาวเป็นส่วนใหญ่ แล้วลาออกไปเรียนคอร์สด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในลุ่มน้ำโขงที่เชียงใหม่อยู่ 7 เดือน จนช่วงปี 2551 เรากำลังเรียน ป.โท เกิดเหตุการณ์พายุนาร์กิสที่พม่า เลยช่วยกันระดมทุน เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวประเด็นอื่น เราอินกับปัญหาในพม่า เรื่องการเมือง สงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน จนมาได้งานประเด็นพม่าที่ต้องประจำอยู่บาหลี

“ตอนไปอยู่ฟิลิปปินส์ พอปรับตัวไม่ได้ เราคงซึมเศร้าแล้วล่ะ ย้ายมาบาหลีได้ภาษาอังกฤษแล้วก็จริง แต่ความอ่อนแอในใจยังอยู่ ปรับตัวกับงานไม่ได้อีก รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ตอนนั้นห่างบ้านห่างเพื่อน ก็เริ่มเหงา แอบรักเจ้านายแล้วผิดหวัง ภายนอกมีบุคลิกแบบนึง แต่ในใจมีความอ่อนไหวไม่มั่นคง

“ช่วงนั้นนอนไม่หลับ ไอมาก หาหมอแผนปัจจุบันก็ไม่ดีขึ้น มีคนแนะนำหมออายุรเวท เป็นคนอินเดียที่มาอยู่เมืองอูบุด หาแล้วได้ยาสมุนไพรมากิน อาการค่อยๆ ดีขึ้น พอรู้ว่านอนไม่หลับ ครั้งต่อมาเลยให้เล่าเรื่องวัยเด็ก หมอรับฟัง สัมผัส และส่งพลังผ่านมือ พอเล่าก็กระทบความรู้สึกข้างใน เราระเบิดร้องไห้ออกมา โล่งเลยนะ ครั้งสุดท้ายหมอถามว่าอยากล้างจักระไหม เราไม่รู้ว่าคืออะไร ตอนนั้นไว้ใจหมอแล้ว ทำก็ทำ เขาใช้น้ำอุ่นๆ กลิ่นเหมือนน้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวจนหอม เอามาล้างตัวและวนรอบหัวเป็นชั่วโมงเลย อุ่นๆ หอมๆ ทำแล้วผ่อนคลาย

“บาหลีกับอูบุดห่างกันพอสมควร ต้องอาศัยคนขับรถพามา พอคนขับรถรู้ว่าเรามาล้างจักระ ก็แนะนำให้ไปเปิดจักระ ‘ลุงลองทำมาแล้ว ดีมากเลย’ ตอนนั้นรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำแล้ว ไปก็ไป ตกเย็นก็มารับไปสำนักนั้น เขาให้เรานั่งสมาธิ แล้วมาเปิดจักระ ให้เรานึกตามคล้ายสะกดจิต ทำจิตให้เล็ก ให้ใหญ่ เชื่อมต่อกับจักรวาล พระเจ้า ธรรมชาติ เราก็เคลิ้ม บรรยากาศที่นั่นไม่ได้น่ากลัวเลย พอเสร็จก็กลับบ้าน แล้วคืนนั้นก็มีอาการ”

“กลางวันยังปกติอยู่เลย แถมผ่อนคลายด้วยนะ กลางคืนก็มีอาการเลยเหรอ” ผมสงสัย

“ใช่ เราตื่นขึ้นกลางดึก ระเบิดเสียงร้องไห้ เริ่มมีอาการหลอน สัมผัสได้ว่ามีวิญญาณมาขอความช่วยเหลือ ขอให้เราช่วยปลดปล่อยวิญญาณ คุยกับวิญญาณทั้งคืน แทบไม่ได้นอนเลย ตื่นมาก็รู้สึกว่าตัวเองมีพลังวิเศษ ปลดปล่อยวิญญาณได้ ในหัวมีเสียงบอกแบบนั้น ตอนนั้นเชื่อว่าคือความจริงด้วย

“หลังจากนั้นไม่กี่วันเราต้องบินไปประชุมที่เนเธอร์แลนด์ อยู่บนเครื่องประมาณสิบชั่วโมง ไม่ได้นอนเลย คอนเน็คตัวเองกับจักรวาลตลอด แต่ไม่ได้แสดงอาการออกมา พอไปถึงก็เข้าห้องพัก เรารู้สึกว่าต้องปลดปล่อยวิญญาณ อยู่ๆ มือก็รำเหมือนคนทรงเจ้า หัวหน้าชาวเนเธอร์แลนด์มาหา ก็เล่าอาการให้ฟัง เขาเริ่มกังวล จนการประชุมต้องยกเลิกหมดเลย

“หัวหน้าพาไปอยู่บ้านพ่อแม่ของเขา อยู่ๆ เราก็รำเหมือนองค์ลง กลัววิญญาณมาทำร้าย กรี๊ดๆๆ แล้วลงไปกองกับพื้น จนพ่อแม่ของหัวหน้าต้องมาปลอบ น้องชายของหัวหน้าเป็นจิตแพทย์ ก็ให้ยานอนหลับมากิน แต่เราไม่ได้ไปหาหมอ ด้วยความเป็นคนต่างชาติ มันมีความยุ่งยาก พอกลับมาบาหลี คนที่เปิดจักระไม่เคยเห็นคนเป็นแบบนี้ ก็บอกว่า ‘คุณมีวิญญาณเข้า’ ซึ่งอินโดนีเซียก็เชื่อเรื่องแบบนี้อยู่แล้วด้วย”

 

ด้วยข้อจำกัดของบทสัมภาษณ์ที่อาจคลี่ให้เห็นทุกสาเหตุของ ‘โรคจิตเภท’ ได้ไม่ครบถ้วน อีกทั้งประสบการณ์ก่อนอาการกำเริบก็อยู่นอกเหนือวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดการตีความจากหลายมุม จึงขอยกข้อมูลทางการแพทย์มาประกอบเพื่อให้เห็นต้นสายปลายเหตุมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากนิตยสาร เพื่อนรักษ์สุขภาพจิต ฉบับที่ 60 (กรกฎาคม-กันยายน 2558) เขียนโดย แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ อธิบายว่า โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ผู้ป่วยจะมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาการหลงผิด อาการประสาทหลอน พูดจาสับสน ฯลฯ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เชื่อว่าเป็นกลุ่มอาการที่มาจากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ สาเหตุทางชีวภาพ เช่น ความผิดปกติของระบบสารเคมีในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมน การติดเชื้อ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในครอบครัวและสภาพแวดล้อมทางสังคม

แนวคิดที่ยอมรับกันในปัจจุบัน stress-diathesis model เชื่อว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มหรือจุดอ่อนบางอย่างอยู่แล้ว เมื่อพบกับสภาพกดดันบางประการ ทำให้เกิดอาการของโรคจิตเภทขึ้นมา โดยอาจเป็นเรื่องทางร่างกาย ยาหรือสารต่างๆ เรื่องของจิตใจหรือสภาพแวดล้อมที่กดดัน หรือจากหลายปัจจัยร่วมกัน

“คุณเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง แล้ววินาทีที่เกิดอาการ ในใจรู้สึกยังไง” ผมลองถาม

“รู้ตัว เชื่อว่าเป็นความจริง แต่ก็กลัวผีกลัววิญญาณนะ เริ่มจากเราคุยกับวิญญาณก่อน เขาอยากให้ช่วยปลดปล่อย หลังจากนั้นวิญญาณก็เข้าร่าง เราควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเองไม่ได้ ตัวก็ขยับ เรากลัวเลยกรี๊ดเสียงดัง ต้องต่อสู้กับวิญญาณที่เข้ามา เหนื่อยมาก นอกจากเรื่องวิญญาณ เราเชื่อว่าคุยกับมนุษย์ต่างดาว ระลึกชาติ เคยเป็นคนนั้นคนนี้ บางทีหัวเราะคนเดียว บางทีร้องไห้คนเดียว ตอนอาการเริ่มเป็นที่บาหลี เรายังเป็นไม่เยอะ พอไปเนเธอร์แลนด์เป็นหนักขึ้น บางวันอาการมีแทบทั้งวัน บางวันเป็นช่วงๆ ตอนไม่เป็นก็คุยรู้เรื่องบ้าง พอมีอาการหลอนก็อยู่ในโลกของตัวเอง”

“ตอนกลับมามีสติ มองตัวเองเมื่อไม่กี่นาทียังไง” ผมอยากเห็นโลกด้านในของเธอ

“มันเบลอๆ มึนๆ เหนื่อยๆ ง่วงๆ กลัวๆ เป็นอาการที่แย่อย่างบอกไม่ถูก ตอนนั้นเป็นความเชื่อล้วนๆ ไม่เคยคิดว่าเป็นการป่วยเลย”

เดือนตุลาคม 2553 อาการของโรคจิตเภทปรากฏตัวเป็นครั้งแรก หลายเดือนหลังจากนั้น อาการเป็นๆ หายๆ แต่โดยรวมหนักขึ้นเรื่อยๆ อาการที่เกิดขึ้นทำให้ไม่ได้นอน แม้จะทำงานได้บ้าง แต่ประสิทธิภาพก็ลดลง ไม่มีสมาธิ คิดช้า สิ่งที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ เริ่มสูญเสียความมั่นใจ เล่าอาการที่เป็นให้ใครฟัง คำตอบก็ไม่ต่างกัน แทบทุกคนมองเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ จนกระทั่งเกิดความเข้าใจผิดบางอย่างในองค์กร สุดท้ายเธอถูกให้ออกจากงาน และกลับมาตั้งหลักที่เมืองไทยอีกครั้ง

“ตอนนั้นเฟลมาก ทั้งอาการที่เป็น แถมโดนไล่ออก กลับบ้านทั้งที่ไม่ได้เก็บของเลย” เธอพูดถึงจุดตกต่ำของชีวิต

 

ด้วยรักและรักษา

เดือนเมษายน 2554 เธอพาร่างกายที่ซูบผอม อาการที่เข้าใจว่าเป็นวิญญาณ ความผิดหวัง และภาวะสูญเสียความมั่นใจ เดินทางกลับมาบ้านเกิด-โคราชอีกครั้ง เธอเล่าอาการให้คนในครอบครัวฟัง แต่ไม่มีใครเข้าใจ

อยู่บ้านได้ไม่นาน เธอขอย้ายไปเชียงใหม่ อยู่กับเพื่อนที่เคยทำงานภาคสังคมด้วยกัน เพื่อนบางคนเข้าใจว่าคือ ‘โรค’ แต่ไม่มีใครยืนยันเด็ดขาดแล้วพาไปโรงพยาบาล ด้วยความหวังดี เพื่อนบางคนพาไปวัด รดน้ำมนต์ นั่งสมาธิ อาการมีแต่แย่ลงเรื่อยๆ จนทุกคนลงความเห็นให้กลับไปอยู่กับครอบครัว

“เราย้ายจากเชียงใหม่ไปอยู่บุรีรัมย์กับพี่ชาย ตอนเด็กๆ ไม่สนิทกัน แต่เขาเข้ามาชุบชีวิตเลยนะ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

“พี่ชายพาไปหาหมอโรคทางประสาท ได้ยาคลายประสาทมา หลังจากนั้น พี่ชายแอบไปหาจิตแพทย์ที่คลินิกคนเดียว เพราะถ้ามาบอกตรงๆ เราคงไม่ไปหรอก พอเล่าอาการให้ฟัง หมอให้ยามาตัวนึง เป็นยาน้ำ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น พี่ชายแอบผสมในน้ำให้กิน ตอนนั้นเราไม่รู้ เขาเพิ่งมาเล่าตอนหลังนะ เราเริ่มนอนหลับมากขึ้น จากแทบไม่ได้นอน พอได้นอนอาการก็ดีขึ้น เราเริ่มคุยรู้เรื่อง พี่ชายเลยตะล่อมให้ไปหาจิตแพทย์ เราก็ยอมไป แล้วได้ยามาสองสามตัว ซึ่งกว่าจะได้รับการรักษาอย่างเป็นทางการก็เป็นเวลานับปีหลังจากเริ่มมีอาการครั้งแรก

“กินยาแล้วนอนเยอะมาก นอนสามทุ่มตื่นเก้าโมง มีอาการท้องผูกอย่างหนัก และน้ำหนักขึ้นเร็วมาก อารมณ์เป็นโมโนโทน ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไม่พูด ช่วงนั้นแม่ย้ายจากโคราชมาอยู่ด้วย ขอร้องให้กินยาต่อเนื่อง พูดกับเราว่า ‘อย่าหยุดยานะลูก’ ช่วงนั้นนอนกอดแม่ นอนร้องไห้ เริ่มสนิทกันมากขึ้น แสดงความรักต่อกันและกันมากขึ้น นอกจากยา เรารู้สึกว่าเป็นการรักษาด้วยความรักจากแม่และพี่ชาย ความสัมพันธ์ที่เคยเป็นรูโหว่ในใจได้รับการเติมเต็ม เราเหมือนได้ชีวิตใหม่ เป็นช่วงชีวิตที่ดีมาก เรากราบเท้าพี่ชายเลยนะ”

“แม่กับพี่ชายมีความหมายกับคุณมากเลยนะ” ผมกึ่งถามกึ่งสะท้อนความรู้สึกของตัวเอง

“พลิกชีวิตไปเลย ปมในใจตั้งแต่เด็กได้รับการคลี่คลาย เราทำงานในประเทศ-ต่างประเทศ คนรอบตัวให้การยอมรับ แต่ในใจยังมีรูโหว่ พอป่วยเลยได้กลับมามองตัวเองและครอบครัวและความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปเลย”

หลังเข้ารับการรักษาประมาณสองสามเดือน อาการที่ย่ำแย่ค่อยๆ ดีขึ้น เธอสามารถช่วยพี่ชายขายเสื้อผ้าได้ การได้เจอคน ได้คิดเงินทอนเงินเป็นกิจกรรมหลักในตอนนั้น จนเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปี อาการหลอนต่างๆ หายไปเกือบหมด

แต่ชีวิตไม่ได้ราบรื่นไปทั้งหมด สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความสามารถในเรื่องต่างๆ ที่ลดลง เธอคิดช้า พูดช้า ทำช้า น้ำหนักตัวขึ้นมามาก ความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองเหือดแห้งราวคนละคน

เธออยากกลับมาทำงานอีกครั้ง จึงสมัครงานองค์กรภาคสังคมแห่งหนึ่ง สัมภาษณ์ครั้งแรกผ่าน แต่ครั้งที่สองกลับไม่กล้าไป ท้อแท้ หมดหวัง สูญเสียความมั่นใจ จนกระทั่งเสมสิกขาลัยกำลังหาคนมาทำงานประเด็นพม่า เธอจึงได้ไปสัมภาษณ์งานที่นั่น และเริ่มต้นอาชีพแบบที่คุ้นเคยอีกครั้ง

“เราบอกก่อนเริ่มงานว่า ‘เอ๋เคยหูแว่วประสาทหลอนนะ’ เขาคงไม่ได้เข้าใจมาก แต่ก็ให้โอกาสได้ลองทำ” นอกจากเป็นโอกาสในการได้ทำงาน โอกาสครั้งนั้นยังหมายถึงการฟื้นความเชื่อมั่นกลับมาด้วย

หลังจากผ่านมรสุมชีวิตมาหลายปี เดือนมกราคม 2556 อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล เริ่มทำงานที่เสมสิกขาลัย เป็นเจ้าหน้าที่โครงการทำงานติดตามด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองทวาย ประเทศพม่า ต้องเดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อประสานงานกับองค์กรต่างๆ เป็นงานที่ต้องเจอคนหลากหลาย แม้ศักยภาพที่เคยทำได้จะลดลงพอสมควร แต่ด้วยบรรยากาศการทำงานและเพื่อนร่วมงานที่เอื้อเฟื้อ เปิดโอกาส และยอมรับกันและกัน เธอจึงผ่านช่วงยากๆ ในการเริ่มต้น และเข้าสู่ปีที่ 5 ในการทำงานที่นี่

“เทียบกับเมื่อก่อน ตอนทำงานแรกๆ เราได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์ ปกติโปร 3 เดือน กว่าเราจะผ่านก็ 6 เดือน ตอนผ่านก็ดีใจนะ แต่เรายังไม่มั่นใจ บอกคนรอบตัวเสมอ ‘เราช้านะ’ งานข้อมูลเยอะๆ ทำไม่ได้ ผ่านไปประมาณ 3 ปี เราถึงรู้สึกว่าตัวเองกลับมาสัก 70-80 เปอร์เซ็นต์ ต้องขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาสเลย”

สำหรับเธอ เส้นแบ่งของคำว่า ‘ป่วย’ และ ‘หายป่วย’ มี 2 ระดับ คือ ทางร่างกาย อาการหูแว่วและหลงผิดหายไป ไม่มีเสียงแปลกประหลาด ไม่มีวิญญาณ ไม่มีมนุษย์ต่างดาว และทางจิตใจ คือการฟื้นฟูความภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) และความมั่นใจในตัวเอง (Self-confidence)

“ตอนนี้ไม่มีอาการต่างๆ แล้ว ความสามารถในการทำงานเหมือนเดิมไหม” ผมอยากรู้สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เหมือนเดิมนะ เราไม่พร้อมทำงานวิจัย อ่านข้อมูลเยอะๆ ไม่ค่อยได้ เราช้าลง เป็นล่ามแปลสดไม่ได้แล้ว แต่ไม่ได้คาดหวังแล้วล่ะ เอาเท่าที่ได้ เราทำได้ดีที่สุดในศักยภาพของตัวเอง ถึงจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แบบเดิม แต่เราผ่านการพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำงานได้”

ตอนเริ่มต้นการรักษา เธอต้องกินยา 4 ประเภท คือ ยาต้านจิตเภท ยาต้านซึมเศร้า ยาปรับอารมณ์ และยานอนหลับ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงยาต้านจิตเภทอย่างเดียว หรือบางครั้งบางคราวนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนสถานที่นอน เธอก็อาศัยยานอนหลับมาช่วยบ้าง ส่วนในอนาคตจะหยุดยาทั้งหมดไหม ต้องรอให้จิตแพทย์เป็นคนสั่งอีกครั้ง

อาจไม่เหมือนเดิมทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับวันแรกๆ ที่อาการปรากฏ ด้วยความรักจากคนรอบตัว และการรักษาที่ต่อเนื่อง เธอกลับมาทำงานที่รักได้อย่างมั่นคง และสามารถเรียบเรียงความทรงจำเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างละเอียดทีเดียว

 

คือคนป่วย ไม่ใช่คนบ้า

“ตั้งแต่เป็นโรคจิตเภท คุณเจอคำพูดไม่ดีบ้างไหม” ผมชวนเธอทบทวนสิ่งที่พบเจอมา

“เจอน้อย เป็นคำพูดเชิงโจ๊กมากกว่า แม้แต่คนมีความรู้ยังพูดเลย ‘เอ๋มันเคยบ้ามาแล้ว’ เป็นการพูดเล่นๆ พูดแซวๆ แต่มีนัยยะเชิงลบ เราเองไม่ได้โกรธอะไร แต่คำพวกนี้แหละที่สร้าง stigma ฝังโรคนี้ไว้ในสังคม เป็นแบบนี้คือบ้า ไม่ต้องสนใจ ทำอะไรไม่ได้แล้ว สุดท้ายก็ไม่เกิดการรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งที่จริงๆ มันคือโรค! รักษาได้! และเกิดกับใครก็ได้ ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวเป็น ควรมีความรู้ในการจัดการ”

ไม่ใช่แค่ความเข้าใจผิดแบบปากต่อปากเท่านั้น ละครไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังปฏิเสธความรู้ทางการแพทย์และผลิตซ้ำความเข้าใจผิดอย่างต่อเนื่อง จับอาการป่วยมาแต่งกายด้วยเรื่องราวแบบกฎแห่งกรรม คนดีควรได้พบเจอเรื่องดีๆ ขณะที่คนเลวต้องกลายเป็นบ้า! เป็นการส่งสารที่แนบเนียน กลมกลืน และขวางกั้นการทำความเข้าใจที่ถูกต้อง

“ละครไทยนะ พอตัวโกงทำอะไรไม่ดี สุดท้ายมักกลายเป็นบ้า คนป่วยเลยกลายเป็นคนที่ถูกปล่อยปละละเลย ปิดกั้นความรู้ ไม่มีการรักษา น้อยคนจะรู้ว่า อาการแบบนี้คือป่วย ยิ่งถ้าครอบครัวไม่เอาด้วย ก็อาจต้องออกมาใช้ชีวิตข้างถนน กลายเป็นชายขอบของชายขอบ เรายังโชคดีที่คนรอบตัวให้การช่วยเหลือ”  

“คุณไม่ได้ไปโกงใครมาใช่ไหม” ช่วงท้ายบทสนทนา ผมพูดหยอกออกไป

“ไม่เคย” คำตอบของเธอมาพร้อมเสียงหัวเราะ   

“ชอบชีวิตตัวเองตอนนี้ไหม” เป็นคำถามหลังๆ ที่เราคุยกัน

“ชอบมาก” เธอตอบขึ้นมาทันที

เมื่อผมทำหน้าสงสัยในน้ำเสียง เจอเรื่องหนักๆ มาขนาดนี้ ชอบชีวิตตัวเองได้ยังไงกัน เธอเลยขยายความต่อ

“เราได้ชีวิตใหม่กลับมา เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต  ความป่วยเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิต เป็นบททดสอบ เป็นความทุกข์ที่มะรุมมะตุ้มมาก พอผ่านจุดต่ำที่สุดมาได้ ชีวิตก็ง่ายขึ้น ไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว เราบุคลิกเปลี่ยนไปเลยนะ จากคนเคยมั่นใจและจริงจังกับการทำงาน บางครั้งซีเรียสมาก ตอนนี้เฮฮากับเพื่อนมากขึ้น พยายามทำให้เต็มที่ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เรากลายเป็นคนพร้อมให้ความรักกับคนอื่น และอ่อนโยนกับตัวเองมากกว่าเดิม”

เป็นการยอมรับและอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่ผมประทับใจมาก

ทั้งจากการพูดคุย หาข้อมูลเพิ่มเติม และค่อยๆ เรียบเรียงเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล่าของหนึ่งคน แต่ผมกลับได้สำรวจ ‘โลก’ ของผู้ป่วยจิตเภท และทำความเข้าใจ ‘โรค’ มากยิ่งขึ้น พร้อมกับสำรวจตัวเองในมิติต่างๆ ทั้งในความสัมพันธ์ในครอบครัว การเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามา และการยอมรับและลุกขึ้นเพื่อมีชีวิตต่อ

การพยายามทำความเข้าใจ ‘โรค’ และ ‘โลก’ ของเขาและเธอ ก็เพื่อการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย และหากปลายทางคือ ‘ความเข้าใจ’ ยอมรับว่าระหว่างทางไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย

แต่ตราบที่ยังไม่หยุดเดิน ผมเชื่อว่าทุกคนจะไปถึงปลายทางได้สักวัน

ใช่ ผมเองก็กำลังออกเดิน

Tags: ,