ความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่ลงรอยกันในประเด็นต่างๆ ทางสังคม หลายครั้งนำไปสู่คดีความและการต่อสู้ในชั้นศาล คดีจำนวนมากใช้เวลาต่อสู้กันยาวนานเป็นมหากาพย์เกินสิบปีกว่าจะรู้ผล คดีจำนวนมากเมื่อเกิดขึ้นก็เป็นกระแสที่สังคมสนใจ แต่นานวันเข้าก็ถูกลืมเลือน กว่าจะถึงปลายทางสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม ประเด็นต้นทางความขัดแย้งก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
ก่อนปี 2561 จะผ่านพ้นไป ลองชวนย้อนดูคดีความสำคัญ ที่เป็นที่สนใจกันอย่างมากตลอดปีที่ผ่านมา หลายคดียังคงดำเนินไปต่อในปี 2562 และอาจจะยาวนานต่อไปอีกหลายปีหลังจากนั้น บางคดีที่ต่อสู้มายาวนานก็ทราบผลสิ้นสุดคดีในปีนี้
ผลคำพิพากษา การนำสืบข้อเท็จจริง การริเริ่มดำเนินคดี ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่ดีต่อภาพรวมของสังคมว่า ในแต่ละปีคนที่มีอำนาจและคนที่ถูกกระทำกำลังคิดอะไร กำลังต่อสู้กันในเรื่องอะไร รวมทั้งสังคมกำลังรับรู้เรื่องราวปัญหาต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร
คนอยากเลือกตั้งที่ยังไม่ได้เลือกตั้ง
130 คน 11 คดี จาก 6 กิจกรรม คือ จำนวนผู้ต้องหาคนอยากเลือกตั้งและจำนวนคดีที่เกิดขึ้นภายในปี 2018 โดยเริ่มจากการชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์กหน้าห้าง MBK ในเดือนมกราคม พร้อมสโลแกน “เลือกตั้งปีนี้” ตามคำสัญญาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับปากกับนานาชาติว่าจะจัดการเลือกตั้งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561
เหตุการณ์นี้นำมาสู่การดำเนินคดี 39 คน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในชื่อคดีที่เรียกกันง่ายๆ ว่า MBK39 โดยอีก 9 คนถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงด้วย
จากนั้นก็มีการชุมนุมทวงถามถึงการเลือกตั้งเรื่อยมา ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ถนนราชดำเนิน ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดือนมีนาคมที่พัทยาและหน้ากองบัญชาการกองทัพบก และครั้งล่าสุดในวาระครบรอบ 4 ปี การรัฐประหารของ คสช. กลางเดือนพฤษภาคม ที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ ทั้งหมดนี้นำมาสู่การดำเนินคดี โดยจำเลยหลายคนมีคดีมากกว่า 1 คดี และยังผูกพันต้องมีภารกิจไปศาลกันข้ามไปถึงปีหน้าหรืออีกหลายปี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่อาจเกิดขึ้นจริง เมื่อปี 2561 กำลังจะผ่านพ้นไปโดยไม่มีการเลือกตั้ง และยังคงไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในปี 2562
ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึงของเสือดำ
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เปรมชัย กรรณสูต ซีอีโออิตาเลียนไทย และพวก 3 คน เข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี ก่อนถูกจับกุมพร้อมอาวุธและซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หนึ่งในนั้นคือซากเสือดำซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของคดีนี้
คดีเปรมชัยและเสือดำปลุกกระแสการอนุรักษ์สัตว์ป่าไปพร้อมกับการจับตามองการทำงานของกระบวนการยุติธรรมอย่างใกล้ชิด นี่อาจเป็นคดีที่มีคนเฝ้าติดตาม ทวงถาม และกังวลใจในความล่าช้าและความโปร่งใสตลอดสายธารของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ จนถึงชั้นศาลมากที่สุดคดีหนึ่ง
คดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้นวันที่ 26 ธันวาคม ศาลจังหวัดทองผาภูมินัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 มีนาคม 2562 ทำให้เรื่องนี้ยังคงต้องตามกันต่อไปจนถึงปีหน้า
ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน
ช่วงกลางปี เป็นช่วงที่ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอในพื้นที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พอจะมีข่าวดีเล็กๆ จากการที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ‘กระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ’ กรณีเผาไล่รื้อที่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีความร้ายแรงกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิในการดำรงชีวิตและสิทธิในทรัพย์สินอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี
แม้คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไม่อาจช่วยให้ ‘ปู่คออี้’ หรือโคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณวัย 107 ปี และชาวกระเหรี่ยงกลับสู่ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นที่อยู่ถิ่นฐานดั้งเดิมที่ถูกบังคับให้ต้องย้ายออกมา แต่คดีความที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 นี้ก็ช่วยขีดเส้นให้ชัดขึ้นอีกนิดว่า เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจในการปฏิบัติการได้เพียงใด และช่วยให้เกิดการเยียวยาจากการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ
การต่อสู้คดีนี้กินต้นทุนเวลาไปยาวนานหลายปี นำมาซึ่งความสูญเสียมากมาย รวมถึงการหายตัวไปของ “บิลลี่” หนึ่งในหลานที่ช่วยประสานงานเรื่องคดี หลังรู้ผลคำพิพากษาได้ไม่นาน ปู่คออี้ก็จากไปในเดือนตุลาคม
คดีหมิ่นประมาทเบื้องสูง ข้อสอบทางการเมืองที่ยากจะคาดเดาคำตอบ
ปลายเดือนมิถุนายน ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีที่ประเวศ ประภานุกูล ทนายความผู้กลายมาเป็นจำเลยข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ และ ‘หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์’ จากการโพสต์เฟซบุ๊กยืนยันว่า การเรียกร้องการปกครองแบบสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐสามารถทำได้
16 เดือน คือเวลาจำคุกที่ศาลกำหนดโทษให้ในความผิดฐาน ‘ยุยงปลุกปั่น’ ซึ่งในที่นี้หมายถึง แสดงความเห็นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน สร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน (มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา) และการปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามคำสั่งคณะปฏิวัติปี 2549 เท่านั้น
ส่วนข้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง (มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา) ศาลยกฟ้องโดยไม่ระบุเหตุผล ถือเป็นการเปลี่ยนแนวคำพิพากษาในฐานความผิดนี้ที่เคยลงโทษจำคุกในอัตราโทษสูงมาตลอดหลายปี
การยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในคดีนี้ยิ่งน่าประหลาดใจมากขึ้นไปอีก เพราะทนายประเวศใช้วิธีพิเศษในการสู้คดี เขาปฏิเสธอำนาจศาล ไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการใด ๆ ตามปกติ ไม่ยอมให้การ ไม่ถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ ไม่หาพยานจำเลยมานำสืบหักล้างเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่ลงชื่อในเอกสารใดทั้งสิ้น ขณะที่ศาลไม่ให้ประกันตัวและพิจารณาคดีเป็นการลับ
ทนายประเวศรับโทษครบและได้รับอิสรภาพในเดือนสิงหาคม คดีนี้กลายเป็นคดีแรกๆ ก่อนที่จะมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 112 คดีอื่น ที่ตามมาด้วยเหตุผลอันน่าประหลาดใจอีกอย่างน้อย 6 คดี ภายในปี 2561
ล่าสุดคือคดี ‘อานันท์’ (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และหมิ่นประมาทบุคคล จากการพูดพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพฯ และพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษาเมื่อ 27 ธันวาคม ว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลตามมาตรา 326
อย่างไรก็ดี มาตรา 326 ว่าด้วยเรื่องหมิ่นประมาทนั้น เป็นความผิดระหว่างบุคคลที่จะต้องแจ้งความร้องทุกข์โดยผู้เสียหายเท่านั้น ผลพิพากษาเช่นนี้จึงถือเป็นการพลิกหลักกฎหมายและสร้างแนวคำพิพากษาใหม่ เพราะถือเป็นผิดระหว่างบุคคลที่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แก้ใหม่ ใช้เหมือนเดิม
เกือบสองปีที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ บนเจตนารมณ์ที่ต้องการเอาผิดในเรื่องฉ้อโกง หรือหลอกลวงกันทางไซเบอร์ และแก้ไขไม่ให้นำมาใช้ดำเนินคดีการหมิ่นประมาททางสื่อออนไลน์ เพราะเดิมกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาใช้ตั้งข้อหากับคนที่โพสต์ด่าทอกัน รวมถึงดำเนินคดีต่อผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs
ทว่าต้นปีก็เริ่มด้วยข่าวการดำเนินคดีต่อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากการโพสต์ภาพกระเป๋าหรูของภริยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาด้วยกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ใช้ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กล่าวหานักเรียนมัธยมที่วาดภาพอนุสาวรีย์สามกษัตริย์สวมผ้าปิดปากเพื่อสะท้อนปัญหาหมอกควัน รวมไปถึงการตั้งข้อหาต่อนักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช. อย่างตรงไปตรงมา อาทิ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่, เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวช พรรคเสรีรวมไทย, พิชัย นริพทะพันธุ์ พรรคไทยรักษาชาติ, และ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ตั้งโต๊ะแถลงผลงาน คสช. ต่อเนื่องมาตลอดปี 2561
กระทั่งปลายปี เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ที่พูดถึงประเด็นร้อนแรงทางสังคมการเมืองเริ่มได้รับความนิยม ผู้คนแชร์มิวสิควิดีโอต่อ ๆ กันทางออนไลน์ จนได้รับการกล่าวขวัญผ่านสื่อมวลชน ก็เคยถูกผู้มีอำนาจในรัฐบาลออกมาตอบโต้ ถูกนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สลับกันออกมาประกาศว่าจะเอาผิดทั้งผู้สร้างและแชร์เพลงนี้ แต่เมื่อกระแสสังคมตีกลับว่าเนื้อหาเพลงไม่มีส่วนไหนที่เป็นข้อความเท็จที่จะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ได้ จึงดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครถูกดำเนินคดีจากการแชร์เพลง และปัจจุบันยอดชมมิวสิควิดีโอก็พุ่งสูงเกือบ 50 ล้านครั้งบน YouTube
ล่าสุด ว่าที่ผู้สมัคร สส. พรรคพลังประชารัฐ แจ้งความเอาผิดผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่ผู้มารับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต้องสมัครสมาชิกพรรคประชารัฐด้วย หากไม่สมัครสมาชิกพรรคจะไม่ได้รับบัตร ขณะที่ พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า ควบคุมตัวบุคคลที่ถ่ายคลิปวิดีโอดังกล่าวไปสอบสวน
แม้การดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีมากนัก แต่การแจ้งความและข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี ไปจนถึงการควบคุมตัว ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องการได้ยินหรือไม่อยากให้ปรากฏ ก็สร้างความหวาดกลัวและเป็นภาระในการต่อสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ต่างอะไรกับการซุกปัญหาไว้ใต้พรมและลงโทษคนที่พยายามเก็บกวาดมันออกมา
สหพันธรัฐไท: เสื้อสีดำทำความมั่นคงของรัฐสะเทือน
เดือนกันยายน 2561 วรรณภา สาววินมอเตอร์ไซค์แม่ลูกสอง ถูกทหาร 7-8 นายเข้าควบคุมตัวจากบ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการไปไว้ในค่ายทหาร เพราะสงสัยว่าวรรณภาเกี่ยวข้องกับการรับส่งเสื้อยืดสีดำที่มีแถบสีแดง-ขาว อันเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ‘สหพันธรัฐไท’ บริเวณหน้าอก
นอกจากวรรณภาแล้ว ทหารยังควบคุมตัวบุคคลอีกอย่างน้อย 5 คน จากกรณีเดียวกัน นำไปสู่การตั้งข้อหา “อั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งหกคนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว แต่บางส่วนก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเข้าค่ายทหารซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นถึงการคงอยู่ของอำนาจพิเศษและสถานการณ์ไม่ปกติที่มีมานับตั้งแต่ คสช. ก้าวเข้าสู่อำนาจ ทำให้ทหารรยังสามารถควบคุมตัวบุคคลได้ตามอำเภอใจ แม้คดีความจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วก็ตาม
คดีฆ่าแขวนคอยุคสงครามยาเสพติด: ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อประชาชนต่อกรกับเจ้าหน้าที่รัฐ
14 ปี คือเวลานับแต่ครอบครัวถิตย์บุญครองสูญเสียลูกชายวัย 17 ปี จากการฆาตกรรมแล้วแขวนคออำพรางศพ อันเป็นผลพวงจากนโยบายสงครามยาเสพติด สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ช่วงปี 2547-2548 ที่คล้ายเปิดไฟเขียวให้ตำรวจใช้อำนาจวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ หลายพันชีวิตในช่วงเวลานั้นถูกฆาตกรรมโดยไม่มีการรื้อคดีมาสะสาง
ทว่าครอบครัวถิตย์บุญครองตัดสินใจต่อสู้คดี นำไปสู่การเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรมอันยาวนาน ในคดีที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นจำเลย ผู้เสียหายต้องพบกับอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรม พวกเขาเดินทางร้องเรียนหลายหน่วยงาน เกิดการคุกคามญาติและพยานอยู่บ่อยครั้ง พยานสำคัญบางส่วนหายตัวไป และบางรายเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ แต่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างก็ยังพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดจริง
ตุลาคม 2561 เป็นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอันเป็นที่สุด แต่ดูเหมือนจะทอดคำถามไม่จบสิ้นในใจสำหรับผู้เสียหาย เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาสวนทางกับทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่เคยให้ประหารชีวิตจำเลย เป็นยกฟ้องจำเลยที่เป็นตำรวจทั้งหกคน ในข้อหาซ้อมทรมานและฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และนำศพไปอำพรางโดยแขวนคอไว้กับต้นไม้ เพราะพยานคนหนึ่งให้การให้การกับพนักงานสอบสวนในลักษณะที่แตกต่างจากให้การไว้ต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและต่อศาล จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
แม้ญาติของผู้ตายจะมีจิตใจไม่ยอมแพ้ เดินหน้าต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากหลายหน่วยงานและจากสังคมโดยไม่เกรงกลัวอำนาจอิทธิพลใด แต่น่าสนใจว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่นั้นสามารถปกป้องและเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อเหยื่ออาชญากรรมได้หรือไม่ โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจเป็นผู้ลงมือกระทำเสียเอง
บ้านป่าแหว่ง คดีความที่ผู้พิพากษาลงมาเป็นคู่ขัดแย้ง
หลังภาพถ่ายมุมสูงภาพแล้วภาพเล่าบริเวณดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เผยให้เห็นการก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่กินพื้นที่ลึกขึ้นไปในผืนป่าดอยสุเทพปรากฏต่อสาธารณะ กระแสความไม่พอใจก็บังเกิดขึ้น แม้การใช้ที่ดินดังกล่าวจะเป็นไปตามกฎหมาย แต่ผลที่เกิดขึ้น กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนผู้รักสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ความไม่พอใจเหล่านี้ก่อตัวเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในนาม “เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้รื้อบ้านพัก และต่อต้านผู้พิพากษาที่จะเข้าไปพักอาศัย เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับคืนมา
ขณะที่โครงการยังเดินหน้าก่อสร้างในครึ่งปีแรก ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับผู้พิพากษาลุกลามกลายเป็นคดีความ เมื่อทั้งผู้พิพากษาและผู้อำนวยการสำนักงานศาลยุติธรรมเข้าร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อแกนนำเครือข่ายฐานหมิ่นประมาท จากการทำป้ายเผยแพร่ชื่อและภาพผู้พิพากษาที่เข้าไปอยู่ในบ้านพัก โดยมีการแจ้งความไว้ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร
แม้ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีนี้อาจไม่ใช่ผู้พิพากษาผู้เสียหายโดยตรง แต่เมื่อความขัดแย้งลุกลามจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลเป็นระดับสถาบันตุลาการเสียแล้ว น่าสนใจว่ากระบวนการยุติธรรมที่คู่ขัดแย้งเป็นผู้ตัดสินคดีเช่นนี้ จะมีกระบวนการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร และคดีนี้อาจเป็นอีกบทพิสูจน์ใหญ่ของสถาบันศาลว่าจะคงไว้ซึ่งความเป็นกลางและเที่ยงธรรมได้หรือไม่
นักฟุตบอลบาห์เรน สถานะไทยในสายตาสากล
นอกจากคดีความที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภายในประเทศแล้ว ยังมีคดีความที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ คือกรณีการจับกุม ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ผู้ได้สถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยพร้อมภรรยา
ฮาคีม อัล อาไรบี เคยถูกจับกุมและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่บาห์เรนเนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพี่ชายเมื่อปี 2555 ระหว่างเหตุการณ์อาหรับสปริง ก่อนถูกกล่าวหาว่าทำให้สถานีตำรวจเสียหาย ศาลพิพากษาลับหลังลงโทษจำคุกเขา 10 ปี เมื่อปี 2557 แต่ขณะเกิดเหตุ ฮาคีม อัล อาไรบี เป็นตัวแทนทีมชาติบาห์เรนแข่งฟุตบอลอยู่ที่ประเทศกาตาร์
หากถูกส่งกลับไปที่บาห์เรน ฮาคีม อัล อาไรบี อาจถูกซ้อมทรมานอีกครั้งเพื่อให้รับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำ
ปัจจุบันฮาคีม อัล อาไรบี ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีตามคำสั่งของศาลอาญามีกำหนด 60 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว คำสั่งดังกล่าวทำให้ทั้งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียต้องออกมาแสดงความกังวลต่อการจับกุมดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา เพราะการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทำไม่ได้ หากสถานะของผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้รับการยืนยันแล้ว
นี่ไม่ใช่กรณีแรกที่ไทยถูกสังคมโลกประณามจากมาตรฐานสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกรณีผู้ลี้ภัยที่ตกต่ำ ปี 2557 ไทยเคยส่งตัวอาลี ฮารูน กลับบาห์เรน ทำให้เขาถูกซ้อมทรมานและถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่เป็นข่าวใหญ่และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอีกครั้ง คือคราวส่งกลับชาวอุยกูร์ 109 คน ให้ทางการจีนซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่าสร้างค่ายกักกันชาวอุยกูร์นับล้านคนเมื่อปี 2558 และอาจเป็นชนวนให้เกิดเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ นอกจากนี้ ยังมีการส่งกลับกรณีผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์จากเวียดนาม และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากกัมพูชาที่หลบหนีจากบ้านเกิดออกมาเพื่อเอาชีวิตรอดอีกด้วย
เหมืองแร่เมืองเลย
การต่อสู้ของชาวบ้านอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” อาจเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่กินเวลายาวนานมากว่าสิบปี เมื่อเหมืองแร่ทองคำมาดำเนินกิจการใกล้บ้าน ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ น้ำในลำธารมีสารปนเปื้อน และไม่สามารถปลูกพืชผักได้อีกต่อไป ชาวบ้านหลายร้อยคนจึงลุกขึ้นคัดค้านการทำเหมือง นำมาซึ่งคดีความที่ผู้ได้รับสัมปทานเหมืองยื่นฟ้องชาวบ้านมากกว่าสิบคดี ทั้งทางแพ่งเรียกค่าเสียหายหลายสิบล้าน และทางอาญาด้วยข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ข่มขืนจิตใจ รวมทั้งข้อหาหมิ่นประมาทจากการที่ชาวบ้านพูดว่า เหมืองแร่ทำให้ลำน้ำปนเปื้อน
ระหว่างที่ตกเป็นจำเลยอยู่นับสิบคดี ชาวบ้าน 165 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่าเหมืองแร่ทองคำทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ผ่านมา 12 ปี เดือนธันวาคม 2561 ศาลจังหวัดเลยก็พิพากษาว่า เหมืองก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิชุมชน ให้เหมืองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและชดเชยให้ชาวบ้าน 149 ครอบครัว ครอบครัวละ 104,000 บาท
ถัดจากคดีสิ่งแวดล้อมไม่กี่วัน ศาลจังหวัดเลยก็มีคำพิพากษาในคดีที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 คน ฟ้องกลับเมืองที่กลั่นแกล้งดำเนินคดีต่อชาวบ้านหลายคดี ศาลพิพากษาคดีนี้ว่า แม้การใช้สิทธิทางศาลเป็นสิทธิที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่การใช้สิทธิที่มีความมุ่งหมายหรืออาจจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย โดยอาศัยศาลเป็นเครื่องมือกำบังแกล้งกล่าวหาบุคคลอื่น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ให้เหมืองแร่ทองคำชดใช้ค่าเสื่อมเสียชื่อเสียงและเสื่อมเสียสุขภาพจิตแก่ฅนรักษ์บ้านเกิดคนละ 80,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเข้าต่อสู้คดีทั้งหมดคนละ 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี
แม้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำจะล้มละลายไปแล้ว จนไม่แน่ใจว่าจะบังคับเอาทรัพย์สินมาชดเชยให้ชาวบ้านได้จริงหรือไม่ แต่คำพิพากษานี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า สิ่งที่ชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องมานานนั้นเป็นความจริง ไม่สูญเปล่า แม้ความยุติธรรมจะต้องใช้เวลากว่าจะเดินทางมาถึง
เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร: การชุมนุมทางการเมืองไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
เกือบ 5 ปี ภายใต้ยุค คสช. ประเทศไทยถูกควบคุมด้วยคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมาโดยตลอด และคำว่าการเมืองนั้นก็ถูกตีความกว้างจนทำให้นักศึกษาและนักวิชาการที่ไปร่วมงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับประเทศและสังคมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกผู้ช่วยอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 33 แจ้งความฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จากการแสดงความไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน โดยไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่ขออนุญาตผู้จัดงาน และส่งเสียงดังรบกวน จนต้องติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”
คดีถูกฟ้องและเริ่มสืบพยานในศาลแขวงเชียงใหม่ช่วงต้นเดือนธันวาคม ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. มายกเลิกข้อหาดังกล่าว ศาลจึงยกเลิกการสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาเมื่อ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เพราะการชุมนุมทางการเมืองไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
คดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารจะเริ่มเป็นบรรทัดฐานให้อีกอย่างน้อย 42 คดี จำเลยอีกอย่างน้อย 336 คน ซึ่งถูกตั้งข้อหานี้ ส่วนใหญ่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจากการรณรงค์ประชามติและเรียกร้องการเลือกตั้ง มีโอกาสจะหมดภาระทางคดีผ่านการยกฟ้องเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีเหล่านี้อาจถูกตัดโอกาสที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เมื่อ คสช. ระบุให้การกระทำที่ผ่านมาตามมาตรา 44 ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด
นี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า คสช. ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จแม้จะมีรัฐธรรมนูญใหม่และกำลังไปสู่การเลือกตั้งแล้วก็ตาม
‘แหวนมารดา-นาฬิกาเพื่อน’: เรื่องที่ไม่มีโอกาสเป็นคดี
ส่งท้ายปลายปีด้วยการตรวจสอบทุจริตเกี่ยวกับ ‘แหวนมารดา-นาฬิกาเพื่อน’ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า พล.อ.ประวิตร ไม่มีความผิดกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ
เรื่องนี้เริ่มจากการเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีที่แล้ว เมื่อมีคนสังเกตเห็นว่า นาฬิกาหรูและแหวนเพชรที่ พล.อ.ประวิตร สวมขณะถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2560 ไม่ได้อยู่ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่แจ้งไว้ต่อ ป.ป.ช. ซึ่งภายหลังพบว่ามีนาฬิกาถึง 22 เรือน และแหวน 12 วง ที่ไม่ถูกระบุในบัญชีดังกล่าว
โดย พล.อ.ประวิตร ออกมาชี้แจงต่อสังคมในเรื่องนี้ว่า มีเพื่อนนักธุรกิจให้ยืมนาฬิกาหรูแต่ได้ส่งคืนทั้งหมดแล้ว ส่วนแหวนนั้นเป็นมรดกตกทอดที่มารดาให้ยืมใส่ในวันที่ถ่ายภาพ จึงไม่จำเป็นต้องระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินแต่อย่างใด
ทว่าประชาชนดูจะไม่เชื่อถือคำอธิบายของ พล.อ.ประวิตร มากนัก หลายคนปักใจว่าการปรากฏขึ้นของแหวนมารดา-นาฬิกาเพื่อน คือหลักฐานอันชัดแจ้งของพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ เกิดเป็นกระแสกดดันจนทำให้ให้ ป.ป.ช. ต้องส่งหนังสือเรียก พล.อ.ประวิตรมาให้คำชี้แจง และใช้เวลาปีกว่าเพื่อไต่สวนและมีความเห็น
เมื่อมติ ป.ป.ช. 5 ต่อ 3 ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่มีมูล ก็ดูจะไม่ได้เกินความคาดหมายของสังคมเช่นกัน เพราะเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คสช. ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศโดยไร้ฝ่ายค้านในสภา และเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตโดยกองทัพหรือรัฐบาล ผลการตรวจสอบก็มักจะไม่พบการทุจริตอยู่ร่ำไป เป็นต้นว่าโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ การจัดซื้อไมโครโฟนรัฐสภา หรือเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) ที่ลงโทษได้เฉพาะผู้นำเข้าเท่านั้น
เรื่องทำนองนี้นี่เอง ที่ไม่เคยได้มีโอกาสเป็นคดี ไม่มีโอกาสได้กางข้อเท็จจริงมาพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม.
Tags: แก่งกระจาน, ทนายประเวศ, สหพันธรัฐไท, บ้านป่าแหว่ง, เสื้อดำ, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, เหมืองแร่เมืองเลย, คนอยากเลือกตั้ง, บาห์เรน, ปู่คออี้