บ่ายแก่ๆ วันหนึ่งของหน้าร้อนเดือนเมษายน ย่านวงเวียน 22 กรกฎา ด้านหน้าตึก Arai Arai ตึกเล็กๆ ไม่กี่คูหา ที่ตั้งร้าน Vacilando Bookshop (วาซิลันโดบุ๊กช็อป) ของ ‘ปิ่น’ – วิทิต จันทามฤต ช่างภาพผู้เสาะแสวงหาภาพถ่ายอันล้ำค่าตามสถานที่ต่างๆ และอดีตโปรเจกต์เมเนเจอร์บริษัทโฆษณา รวมถึงเป็นนักตามหาโลเคชันใ
‘Read Books, Buy Books, Buy Local’ ข้อความบนผนังปูนเปลือย ฝังด้วยชั้นวางไม้ที่มีหนังสือตั้งเรียงราย ไม่ว่าจะหันซ้ายหรือขวาก็มีหนังสือที่ภาพสวย โปรยปกน่าอ่านไปเสียหมด
“ร้านเกิดขึ้นจากการที่เราเดินทางไปหลายๆ ที่ แล้วเราชอบซื้อหนังสือมือสองมาเก็บสะสม” ปิ่นเริ่มต้นบทสนทนา เล่าถึงที่มาที่ไปของร้านหนังสือที่ก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 5
“นอกจากซื้อมาเก็บสะสมเอง เราชอบที่จะซื้อหนังสือมาฝากเพื่อนบ้าง เป็นของขวัญให้เพื่อนบ้าง จนกระทั่งถึงปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่เราเสร็จโปรเจกต์กับงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องหนึ่ง และเป็นช่วงที่เรามีเวลาว่างอยู่ ก็เลยคิดเล่นๆ ว่าจะทำอะไรดี เลยนึกถึงหนังสือที่เราซื้อเก็บมาไว้เต็มไปหมด จึงตัดสินใจว่าจะเอาหนังสือที่มีอยู่มาขาย โดยเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ชื่อว่า Vacilando Bookshop บนอินสตาแกรม และโปรโมตว่าจะขายหนังสืออะไรบ้างจนกลายเป็นจุดกำเนิดแรกของร้าน
“ช่วงแรกเราไม่ได้ลงขายหนังสือถี่แบบที่เห็นทุกวันนี้ บางเดือนลงโปรโมตขายแค่เดือนละครั้ง เพราะตอนนั้นเรายังทำงานประจำเกี่ยวกับโฆษณาอยู่ จนกระทั่งปี 2562 เราได้มาเจอกับพี่โย (กิตติพล สรัคคานนท์) พี่นักเขียนที่รู้จักกัน แล้วพี่เขาก็เปิดร้านหนังสือ Book & Belongings ตรงบางจากอยู่พอดี เลยตัดสินใจขอนำหนังสือบางส่วนไปวางขายที่นั่น”
“ด้วยความที่ว่าหนังสือของเราเองหรือของพี่โยต่างก็มีธีมและจุดประสงค์คล้ายคลึงกันในการคัดเลือกหนังสือเฉพาะทางมาเล่าให้กับลูกค้า อย่างของพี่โยก็เป็นหนังสือที่พูดถึงปรัชญา วรรณกรรม ทฤษฎี ผ่านภาษาอังกฤษ ส่วนของเราเป็นโฟโต้บุ๊กที่เล่าเรื่องราวการเดินทางผ่านวิชวล เลยมองว่าถ้าวางขายร่วมกันน่าจะทำให้ดึงดูดลูกค้ามากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราเองก็อยากให้ลูกค้าได้สัมผัสกับงานประเภทนี้ ไม่ใช่วางขายให้เฉพาะกับคนที่ทำงานด้านช่างภาพอย่างเดียว รวมถึงลูกค้าของหนังสือทั้งสองกลุ่มก็จะได้พื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”
กระทั่งถึงช่วงต้นปี 2563 ที่ร้าน Vacilando Bookshop เริ่มเติบโตเป็นที่รู้จักและกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนรักหนังสือภาพถ่าย จนไปถึงหูกลุ่มช่างภาพแถบอาเซียน แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าถัดจากนั้นเพียงชั่วพริบตา โลกก็เปลี่ยนไปตลอดกาล การมาถึงของโควิด-19 ส่งผลให้ร้านของปิ่นเองก็ต้องชะลอโปรเจกต์การส่งหนังสือออกสู่ตลาดนอกประเทศไปด้วย พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อต้องย้ายออกจากบ้านหลังเดิม และขยับขยายเพิ่มจากการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มาเปิดหน้าร้านเป็นของตัวเองแบบเต็มตัวที่ตึก Arai Arai ย่านวงเวียน 22 กรกฎา
“เรามองว่าพื้นที่ตรงนี้มันเหมาะกับเรานะ ชั้นแรกเป็นร้านกาแฟ ชั้นสองเป็นร้านหนังสือของเรา ส่วนชั้นสามก็เป็นพื้นที่ของคนทำงานเกี่ยวกับดีไซเนอร์และอีเวนต์ เกี่ยวกับงานชุมชน ซึ่งหนังสือของเราเองก็เล่าในมุมมองที่หลากหลาย ทั้งชาติพันธุ์ การเดินทาง อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางให้ใช้งาน แถมอยู่ใจกลางเมืองเข้าถึงคนง่ายกว่ามาก เลยตัดสินใจย้ายมาที่นี่
“ด้วยความที่เราเป็นช่างภาพมาก่อน เราสามารถอธิบายวิธีการทำงานของหนังสือเล่มนั้นๆ ให้ลูกค้าได้ดื่มด่ำและเข้าใจว่าเขาซื้อหนังสือเล่มนี้ไปแล้วเขาจะได้อะไร ซึ่งจุดเด่นของร้านเราคือสามารถคุยกันได้เป็นแนวระนาบ ลูกค้าสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเราว่าชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร”
หนังสือที่วางขายอยู่บนชั้นของร้าน Vacilando Bookshop ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยหนังสือเฉพาะทางที่เล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่าย หรือรู้จักกันดีในชื่อ ‘โฟโต้บุ๊ก’ ที่ส่วนใหญ่ล้วนผ่านการคัดสรรก่อนนำออกมาวางขายด้วยตัวปิ่นเอง รวมถึงยังเป็นการคัดเลือกหนังสือที่เกิดจากความต้องการของลูกค้าเมื่อได้พบปะพูดคุยกันทั้งทางหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ ซึ่งวิธีเช่นนี้กลายเป็นจุดแข็งของร้านที่เกิดจากการเอาใจใส่ ประกอบกับการศึกษาไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เข้ามา เพราะหากสังเกตให้ดี ถ้าเป็นร้านหนังสือทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ เชื่อว่าคงแทบจะหาได้น้อยที่จะมีเจ้าของร้านเดินมาช่วยเลือกหนังสือที่กำลังเล็งหาอยู่
หลังได้พูดคุยกันถึงความพิเศษและความใส่ใจของร้าน Vacilando Bookshop ทาง TheMomentum ได้ขอให้ปิ่นเลือกหนังสือแนะนำเราโดยให้โจทย์ว่า หนังสือในมือที่เขามีอยู่เล่มไหนบ้างที่เหมาะกับสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ที่เราต่างต้องกักตัวอยู่บ้านด้วยความจำเป็น และโหยหาอิสระและความสวยงามของโลกภายนอกเต็มทน
โดยหนังสือเล่มแรกที่เขาหยิบมาแนะนำเราคือหนังสือที่มีชื่อว่า The Parameter of Our Cage หนังสือประกอบภาพถ่ายที่เขียนขึ้นโดย อเล็กซ์ ซ็อท (Alex Soth) ช่างภาพผู้ชื่นชอบถ่ายทอดเรื่องราวด้วยหนังสือผ่านประสบการณ์โร้ดทริปของเขาไปยังที่ต่างๆ จนวันหนึ่งเขาได้มีโอกาสรับจดหมายของแฟนๆ ที่ชื่นชอบในผลงานของเขา และมาสะดุดตากับจดหมายฉบับหนึ่งที่ถูกส่งมาโดย ซี. ฟอสโต คาเบรรา (C. Fausto Cabrera) นักโทษชายที่ใช้ชีวิตอยู่ในคุก ก่อนทั้งสองจะได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์และเขียนหนังสือเล่มร่วมกัน จากมุมมองการใช้ชีวิตของคนสองคน ระหว่างคนที่ได้โลดแล่นอยู่ข้างนอกอย่างเสรี และคนที่ต้องใช้ชีวิตผ่านรั้วกรงขัง
“มันแทบจะเป็นมายาคติเลยนะ ที่ช่างภาพจะได้มาคุยกับนักโทษ อย่างภายในหนังสือ ซี. ฟอสโต คาเบรรา ตอบกลับอเล็กซ์ ซ็อทว่า คุณไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่านักโทษรู้สึกอย่างไรกับห้องแคบๆ ที่เขาถูกคุมขังอยู่ จนกระทั่งการมาของโรคโควิดที่ทำให้ผู้คนเท่ากันหมด เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้ หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนประเด็นคนผิวสีจากเหตุการณ์ของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) เราก็จะได้เห็นมุมมองเรื่องนี้จากคนที่อยู่ในคุก นี่จึงเป็นการเล่าเรื่องราวผสมผสานกันระหว่างภาพถ่ายและตัวอักษร” ปิ่นอธิบายถึงหนังสือเล่มดังกล่าว
หนังสือ The Parameter of Our Cage
หนังสือเล่มต่อมาที่ปิ่นแนะนำคือหนังสือที่มีชื่อว่า A BOOK ON BOOKS ซึ่งเป็นหนังสือที่ฉีกขนบเดิมๆ จากโฟโต้บุ๊กทั่วไป ว่าด้วยการหยิบเล่าเรื่องราวของโฟโต้บุ๊กจากรอบโลก มาชำแหละกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มถ่ายจากสตูดิโอ ส่งต่อผ่านมันสมองของดีไซเนอร์สำนักพิมพ์นั้นๆ จนกระทั่งผลิตออกมาสู่มือของผู้อ่าน และที่สำคัญคือหนังสือเล่มนี้ยังมีกรรมวิธีการพิมพ์อันพิถีพิถัน ซึ่งรู้สึกได้จากเนื้อสัมผัสของกระดาษที่มันวาว เรียบนุ่มต่อมือ ประกอบการพิมพ์ 4 สีตลอดทั้งเล่ม ซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น
“A BOOK ON BOOKS เป็นหนังสือที่ชื่นชมหนังสือด้วยกัน ซึ่งจะเผยให้เรารู้ถึงวิธีการคิด วัตถุดิบ ความละเมียดละไมของหนังสือแต่ละเล่มบนโลกที่บางเล่มเองก็อยู่ในร้านของเรา เพราะเรามักจะไม่ค่อยได้เห็นกรรมวิธีของคนทำหนังสือกัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่เป็นดีไซเนอร์ไปจนถึงเจ้าของโรงพิมพ์”
หนังสือ A BOOK ON BOOKS
ก่อนจะจากกัน ปิ่นยังแย้มความตั้งใจกับเราว่า หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นเมื่อไหร่ เขาพร้อมที่จะทำให้ Vacilando Bookshop กลายเป็นร้านหนังสือที่สามารถเปิดพื้นที่ให้แก่นักอ่านทั้งหลายไม่ว่ารุ่นใดก็ตาม ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแชร์มุมมองต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะแต่การอ่านเท่านั้น รวมถึงริมหน้าต่างมุมห้องที่สามารถดัดแปลงเป็นงาน ‘บุ๊กแฟร์’ เล็กๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับคนทำหนังสือรายย่อยได้เข้ามาจัดอีเวนต์กัน
ทว่าตอนนี้อาจจะยังต้องอดใจรอกันสักเล็กน้อย และหวังว่าสถานการณ์โรคระบาดนี้จะดีขึ้นภายในเร็ววัน แต่ถึงอย่างไร ช่องทางออนไลน์ร้าน Vacilando Bookshop ยังพร้อมต้อนรับนักอ่านอยู่เสมอ
Fact Box
- ร้าน Vacilando Bookshop ตั้งอยู่ที่ตึก Arai Arai บนถนนไมตรีจิตร ย่านวงเวียน 22 กรกฎา เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
- เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตอนนี้มีการจำกัดคนเข้าในแต่ละวัน/เวลา สามารถติดต่อสอบถามเพื่อจองคิวรอบเข้าร้านได้ที่เบอร์ 08-6775-8977 หรือติดต่อและสั่งซื้อหนังสือแบบออนไลน์ได้ทางเฟซบุ๊ก Vacilando Bookshop และอินสตาแกรม vacilandobookshop