มิลค์เชก 5 ดอลลาร์ฯ
เมื่อเอ่ยถึงมิลค์เชก (Milkshake) หนึ่งในภาพจำของวัฒนธรรมป็อบคือฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction (1994) ที่ อูมาร์ เธอร์แมน (Uma Thurman) สั่งมิลค์เชกราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาดูดดื่มด้วยท่วงทีเสรีเอร็ดอร่อยมากจน จอห์น ทราโวตา (John Travolta) ขอชิม เพราะอยากรู้ว่ามิลค์เชก (บ้า) อะไร ถึงราคาแพงตั้ง 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ฉากนี้กลายเป็นฉากคลาสสิกเมื่อผู้คนต้องการเทียบเคียงว่า ค่าเงินในปัจจุบันเฟ้อไปถึงไหนแล้วเมื่อเทียบกับ ยุค 90s ที่มิลค์เชก 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นของแพง
สำหรับปี 2024 หากเปรียบเทียบกับค่าเงินปัจจุบันรวมเงินเฟ้อ มิลค์เชกแก้วนั้นจะมีราคาราว 11 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 400 บาท แต่ที่ร้าน 25 Degrees Burger, Wine & Liquor Bar โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จี (Pullman Bangkok G) เราดื่มมิลค์เชกสูตรเดียวกันเป๊ะๆ นี้ได้ในราคาเพียง 189 บาท ซึ่งเป็นถึงมิลค์เชกวานิลลาคลาสสิก ที่มีส่วนผสมหลักเพียงแค่ 2 อย่าง คือไอศครีมวานิลลา 2 สกู๊ป กับนมสดราว 150 มิลลิลิตร ปั่นเข้าด้วยกันด้วยเครื่องปั่นมิลค์เชกโดยเฉพาะ ราดซอสคาราเมล ท็อปด้วยครีมและเชอร์รี เรียบง่าย นุ่มแน่น หอมหวาน
“เราได้ตำรับมิลค์เชกมาจากร้าน 25 Degrees ที่ฮอลลีวูด ที่เปิดมา 20 ปีแล้ว มิลค์เชกของเราเป็นสูตรอเมริกันคลาสสิก ที่ไม่เสริมเติมแต่งมาก และเอาจริงๆ กินมิลค์เชก ถ้าเรากินเบอร์เกอร์กับมันฝรั่งทอดด้วยจะเข้ากันมาก เมนูเด็กอ้วนของเราครบถ้วนมากๆ” อรุณี สงครินทร์ ผู้จัดการร้าน 25 Degrees Burger, Wine & Liquor Bar กล่าว
มิลค์เชกไม่ได้ใสซื่อมาตั้งแต่เริ่มแรก
เครื่องปั่นมิลค์เชกซึ่งทำงานมายาวนานตั้งแต่วันเปิดร้านเมื่อ 11 ปี ที่แล้ว ตั้งอยู่ท่ามกลางทิวแถวของขวดเหล้าสารพันชนิดและแทปคราฟต์เบียร์ ในร้านที่ไม่เคยขาดหายกลิ่นหอมจากการกริลเนื้อเบอร์เกอร์ ลักษณะเด่นของ American Diner อย่างโซฟารถไฟ โซดา เบียร์ และเมนูของทอดหลากหลาย นั้นมาครบ แต่ทวิสต์หยอดความแกลมด้วยเฟอร์นิเจอร์สีดำ วอลเปเปอร์สีแดง โคมไฟสไตล์สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมให้แสงสลัว พร้อมภาพดาราฮอลลีวูดรายรอบ คือบรรยากาศของร้าน 25 Degrees Burger, Wine & Liquor Bar
25 Degrees มีสาขาแรกตั้งอยู่ที่ฮอลลีวูด ลอสแอนเจลิส ก่อนจะเปิดอีก 2 สาขาที่ไทยในบริเวณโรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จี ถนนสีลม และประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีเพียงแค่ 3 สาขาในโลก โดยร้านมีดาวเด่นคือเบอร์เกอร์ ส่วนมิลค์เชกนับว่าเป็น Hidden Gem ของร้าน ที่มีเมนูมิลค์เชกให้เลือกหลากหลายราว 10 เมนู ทั้งมิลค์เชกหมวด ‘Classic’ อย่างมิลค์เชกวานิลลา, ดับเบิลช็อกโกแลต, สตรอว์เบอร์รี, ช็อกโกแลต และกล้วย เป็นเมนูชวนอุ่นใจและคุ้นเคย โดยทั้งหมดราคาแก้วละ 189 บาท ซึ่งเป็นราคารวมภาษีและเซอร์วิสชาร์จเรียบร้อยแล้ว นับเป็นมิลค์เชกที่จริงใจทั้งรสชาติ คุณภาพ และราคา
แต่ถ้าใครอยากผจญภัยขึ้นมาอีกนิด ที่นี่มีมิลค์เชกหมวด ‘Boozy’ หรือมิลค์เชกหมวดมึนเมา (Boozy มีความหมายว่า เครื่องดื่มปั่นที่มีแอลกอฮอลล์) ราคาที่แก้วละ 350 บาท ซึ่งการผสมเหล้าในมิลค์เชกนี้นับว่า เป็นการกลับไปหารากฐานของมิลค์เชกแต่แรกเริ่ม
มิลค์เชกไม่ใช่เครื่องดื่มซื่อใสมาตั้งแต่แรก เพราะการปรากฏคำนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1886 ใน The Atlanta Journal-Constitution มิลค์เชกเป็นส่วนผสมระหว่างวิสกี้ ไข่ ครีม และโทนิก คล้ายคลึงกับ Eggnog และเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ใหญ่อย่างชัดเจน ก่อนที่ต้นศตวรรษที่ 19 เหล้าจะถูกแทนที่ด้วยน้ำเชื่อม สารให้ความหวาน และผงนมมอลต์
เกิดหลายปรากฏการณ์ที่นำไปสู่วิวัฒนาการนี้ ปี 1920 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ ออกกฎหมายห้ามผลิตและขายสุรา บาร์ในโรงแรมหลายแห่งเปลี่ยนไปเป็นร้านไอศครีม เช่นเดียวกับโรงเหล้าที่เปลี่ยนเป็นโรงงานไอศครีม ปลายศตวรรษที่ 19 บริษัทวิลเลียม ฮอร์ลิก พัฒนาผงนมมอลต์ (Malt Milk) เพื่อเป็นอาหารเสริมย่อยง่ายสำหรับเด็กและผู้ป่วย ในผงนี้ประกอบไปด้วยข้าวบาร์เลย์ แป้งวีต กลายเป็นผลิตภัณฑ์แห่งการปฏิวัติ ซึ่งทำให้คนได้รับเครื่องดื่มที่เข้มข้นด้วยสารอาหารเพียงแค่เติมน้ำลงไป ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อสหรัฐฯ อยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
ในทศวรรษนี้นับเป็นยุคทองของตู้กดน้ำอัดลมในร้านขายยา (Soda Fountain) และเกือบทุกร้านขายนมมอลต์ โดยผสมนมมอลต์ นม และน้ำเชื่อมช็อกโกแลตเข้าด้วยกัน ทว่าวันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อต่อมามีการเติมไอศครีมลงไปในนมมอลต์ ซึ่งเป็นการมาถึงของ ‘มิลค์เชก’ ในความหมายปัจจุบัน จนกลายเป็นเครื่องดื่มในเดตแสนหวานของวัยรุ่น รางวัลแก้วโตของเด็กอ้วน และทุกคนที่รักในความเข้มข้นหอมมัน
กระบวนการทำมิลค์เชกสูตรคลาสสิกนั้นง่ายดาย โดยเริ่มจากตักไอศครีมรสที่เราชอบ เพิ่มนมเข้าไปแล้วปั่น โดยทดลองสัดส่วนตามชอบ
“การปั่นมิลค์เชกสำคัญ เนื้อสัมผัสต้องไม่เหนียวจนดูดไม่ขึ้น หรือเหลวจนคล้ายนมเกินไป เราจะไม่เสริมน้ำเชื่อมเลย ความหวานมาจากตัวไอศครีมเท่านั้น และเราใช้ไอศครีมตำรับฝรั่งเศสที่คุณภาพดี เราพยายามทำให้เรียบง่ายและคลาสสิกที่สุด” อรุณีกล่าวถึงจุดที่ทำให้มิลค์เชกร้าน 25 Degrees เป็นมิลค์เชกที่แข็งแกร่งมากที่สุดเจ้าหนึ่งในกรุงเทพฯ
ส่วนมิลค์เชกหมวด Boozy ต้องใช้ทักษะมิกโซโลจิตส์ (Mixologist) เข้ามาเติมอีกนิด บาร์เทนเดอร์ที่เป็นทั้งผู้ทำค็อกเทลและมิลค์เชกค่อยๆ เลื่อนแก้วมิลค์เชกในหมวด Boozy แก้วหนึ่งเข้ามาตรงหน้าบาร์พร้อมอธิบายคาแรกเตอร์ของมิลค์เชกที่ดื่มแล้วเมานิดๆ ได้ แก้วนี้ว่า
“มิลค์เชกตัวนี้ส่วนผสมหลักคือกล้วย นอกจากจะใส่เหล้าที่มีกลิ่นกล้วยเข้าไปเสริม แล้วก็ต้องเลือกกลิ่นของเหล้าอย่างดาร์กรัม (Dark Rum) ที่หนักหน่วงเข้าไปผสมกันเพื่อให้เกิดความหอม ผสมกับไอศครีมแล้วพอดี เราจะไม่ใส่ไวท์รัม (White Rum) ที่หวานเกินไปครับ”
บาร์เทนเดอร์บอกส่วนผสมของ ‘มิลค์เชกกล้วย’ (Banana Shakes) ที่ยังคงมีวัตถุดิบยืนพื้นคือ ไอศครีมและนม เพิ่มเติมคือใส่กล้วยสุกกำลังดีลงไปด้วย จากนั้นแต่งกลิ่นด้วยดาร์กรัมและเหล้ากล้วย แล้วปั่นเข้าด้วยกัน มิลค์เชกในหมวด Boozy ยังมีมิลค์เชกสำหรับคนรักการนอนดึก (Night Owl) ซึ่งผสมเหล้าคาห์ลัวหอมกลิ่นกาแฟและซอสช็อกโกแลตเข้ากันอย่างลงตัว มิลค์เชกมะพร้าว (Coconut Shake) ที่แมตช์เหล้ามาลิบูเข้ากับกะทิ มินต์เชก (Mint Shake) มิลค์เชกที่ให้ความสดชื่นเป็นพิเศษด้วยมินต์ เหล้าบาคาร์ดี และเหล้าหวานกลิ่นมินต์ (Crème De Menthe)
มิลค์เชกโอวัลตินขวัญใจวัยเด็ก
“เรานึกถึงเมนูวัยเด็กที่พูดชื่อแล้วไม่ต้องคิดมากว่าคืออะไร เป็นรสชาติที่ทุกคนน่าจะเข้าถึงได้มากที่สุด แล้วเราจับ 2 อย่างนี้มาทำ” อรุณีกล่าวถึงมิลค์เชกโอวัลติน หนึ่งในเมนูพิเศษที่ทำขึ้นทุก 2 เดือน ซึ่งเป็นสูตรที่ทางร้านคิดขึ้นมาเอง
มิลค์เชกโอวัลตินแบบไม่ใส่เหล้า มีส่วนผสมคือไอศครีมวานิลลา โอวัลตินครีมกรอบ ผงโอวัลตินและคุกกี้ ส่วนโอวัลตินมิลค์เชกแบบมึนเมา จะมีส่วนผสมของคาห์ลัวเพิ่มเข้ามา
บาร์เทนเดอร์เลื่อนมิลค์เชกแก้วนี้ มาวางให้ตรงหน้าแล้วกล่าวว่า “ไอศครีมวานิลลาของเราไม่หวานโดด แล้วเรามิกซ์ในสไตล์ของเราเอง ใส่ผงโอวัลตินนิดๆ ใส่โอวัลตินครีมกรอบที่มีความครัมเบิล เพื่อเพิ่มรสสัมผัส กินแล้วเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งครับ”
ร้าน American Diner ที่เชฟเคยทำเบอร์เกอร์ลาบไก่ขาย
มิลค์เชกโอวัลติน ไม่ใช่การสร้างสรรค์ครั้งแรกที่ร้าน 25 Degrees พยายามนำประสบการณ์ของคนไทยมาผสมผสานกับความเป็นอเมริกัน ย้อนกลับไปหลายปีก่อน หนึ่งในเชฟร้าน 25 Degrees ได้รับแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งจาก ‘ลาบไก่’ ขณะเขามาเยี่ยมประเทศไทย และนำไปขายเป็นเมนูพิเศษอยู่ราว 2 เดือน ที่ร้าน 25 Degrees สาขาสิงคโปร์ซึ่งปิดตัวไปแล้ว
“เบอร์เกอร์นี้ได้รับการรังสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจล้ำลึกจาก ‘ลาบไก่’ ที่เชฟได้ลิ้มลองระหว่างมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย ไก่สับและรสชาติไทยๆ จะได้รับการเสิร์ฟด้วยประสบการณ์การของเชฟ โปรดเตรียมตัวรับแรงกระแทกจากรสเผ็ดเมื่อคุณกัดแฮมเบอร์เกอร์คำนี้ แต่ไม่ต้องห่วง กะหล่ำปลีที่ฉ่ำหวานจะดูดซับความเผ็ดที่เผาไหม้จากซอสสูตรลับอันร้อนแรงนี้เอง” คือคำโฆษณาในเมนู ‘เบอร์เกอร์ลาบไก่’ ของร้าน 25 Degrees สาขาสิงคโปร์ที่แสดงให้เห็นความประทับใจต่อเมืองไทยของเชฟไม่มากก็น้อย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกรุงเทพฯ จึงเป็นที่ตั้ง 1 ใน 3 แห่งของร้าน 25 Degrees ทั่วโลกในขณะนี้
หากใครเป็นคนนอนดึก หรือต้องการชาร์จพลังหลังคืนแฮงเอาต์ที่ยาวนาน ด้วยเบอร์เกอร์แบบบิสโทร มันฝรั่งทอด และมิลค์เชก ร้าน 25 Degrees เป็นร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง และยังกำหนดให้ ช่วงตี 2-4 เป็นช่วง Happy Hour มีโปรโมชันหมุนเวียนมาเป็นประจำ เช่น โปรโมชันซื้อแฮมเบอร์เกอร์ 1 แถม 1 ในเดือนนี้
และไม่ว่าซัดเซมาจากไหน มิลค์เชกเข้มข้น นุ่มเนียน และหวานมัน จะเยียวยาเราได้เสมอ
Fact Box
ร้าน 25 Degrees Burger, Wine & Liquor Bar ตั้งอยู่ในโรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จี ถนนสีลม เปิดร้านทุกวัน พร้อมให้บริการตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดได้ทาง https://www.randblab.com/restaurants-bars/25-degrees-bangkok/