เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในของโรงแรมไมอามี่ (Miami Hotel) ในย่านสุขุมวิทที่วุ่นวาย เรารู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลาไปในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ด้วยบรรยากาศที่สงบเงียบ ทั้งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และโครงสร้างของโรงแรมที่ยังคงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ ห้องพัก การตกแต่ง และสระว่ายน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ ราวกับได้ใช้เวลาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ที่บรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์และกลิ่นอายของยุค 60s ไว้ในรูปแบบโรงแรมที่พัก ซึ่งได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
โรงแรมขนาดย่อมในบรรยากาศ Mid Century Vintage แห่งนี้ เปิดมาตั้งแต่ปี 2508 หรือเกือบ 60 ปีก่อน โดยคุณบัญชาและคุณมาลี แซ่ตั้ง (ตัณศิริชัยยา) สองสามีภรรยาจากซัวเถา ประเทศจีน ปัจจุบันดำเนินการโดยคุณสุพล ตัณศิริชัยยา สถาปนิกหนุ่มผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 กับโจทย์ในการปรับปรุง ซ่อมแซมโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ของโรงแรมให้มีความสะดวกสบายและทันสมัยขึ้น พร้อมกับรักษาคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นของโรงแรมไว้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ย้อนกลับไปหกสิบปีก่อน ธุรกิจโรงแรมไทยในยุคนั้นต้องต้อนรับเหล่าทหารจีไอบ่อยครั้ง จึงนิยมตั้งชื่อโรงแรมเป็นชื่อเมืองหรือสถานที่สำคัญในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการต้อนรับและง่ายต่อการจดจำของแขกผู้มาเยือน บังเอิญกับปีที่โรงแรมไมอามี่เปิดเป็นปีที่มีจัดประกวดนางงามจักรวาลที่หาดไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยมีตัวแทนคือ อาภัสรา หงสกุล ที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล ชื่อหาดไมอามีจึงเป็นที่รู้จักและจดจำของชาวต่างชาติรวมถึงคนไทย ทางโรงแรมจึงเลือกใช้ชื่อไมอามี่นับตั้งแต่นั้น
เกร็ดที่น่าสนใจคือ หากสังเกตป้ายโรงแรมดีๆ จะเห็นว่ามีรูปของมงกุฎอยู่เป็นกิมมิกที่ถูกเลือกใช้ในยุคนั้น
ปัจจุบันหลังทำการปรับปรุงใหม่ ห้องพักของโรงแรมไมอามี่มีให้เลือกพักหลายแบบ รวมถึงที่พักแบบ Miami Signature ซึ่งมีเพียง 4 ห้องเท่านั้น แต่ละห้องตกแต่งต่างกันทั้งสีสันและเฟอร์นิเจอร์ แต่ยังคงความคลาสสิกในสไตล์วินเทจไว้อย่างครบครัน นอกจากส่วนของห้องพัก สระว่ายน้ำกลางแจ้งอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีตัวหนังสือ ‘MIAMI’ บริเวณพื้นกระเบื้องสระที่มองเห็นได้ชัดจากทุกมุม ก็เป็นอีกจุดที่ผู้เข้าพักสามารถใช้บริการได้ ส่วนในอนาคตอันใกล้ก็กำลังจะมีการดึงเอาฟังก์ชันสุดคลาสสิกของโรงแรมที่เคยปิดไปในอดีตไปอย่างร้านอาหาร คอฟฟีช็อป และพูลบาร์กลับมาอีกครั้ง
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมแห่งอื่นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงแรมขนาดย่อมแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ก็ยังสามารถประคับประคองผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ จนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้นบ้างในปัจจุบัน โดยไม่มีการเลย์ออฟพนักงาน (บางคนเป็นพนักงานมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งโรงแรม) ซึ่งยิ่งทำให้โรงแรมสุดคลาสสิกที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2563-2564 แห่งนี้ มีมนต์ขลังและดึงดูดให้น่าเข้ามาพักอย่างยิ่ง
ในยุคที่โรงแรมที่เปิดมาในยุคเดียวกันหลายแห่งต้องล้มเลิกกิจการไปตามกาลเวลา แต่โรงแรมไมอามี่ยังคงยืนหยัดเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวที่ตามมา การได้ลองมาเปิดประสบการณ์ในโรงแรมที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และมนต์เสน่ห์แห่งยุค 60s ถูกบรรจุไว้ในทุกรายละเอียด ท่ามกลางความสงบเงียบเป็นส่วนตัว ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศมาใช้เวลาพักผ่อนในวันสบายๆ ในโรงแรมที่มีคาแรกเตอร์ชัดไม่น้อยทีเดียว
จุดเริ่มต้นของโรงแรมไมอามี่ต้องย้อนกลับไปในปี 2508 เมื่อคุณบัญชาและคุณมาลี แซ่ตั้ง (ตัณศิริชัยยา) สองสามีภรรยาจากซัวเถา ประเทศจีน เริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ในเมืองไทยโดยการให้เช่าจักรยานสามล้อถีบ จนกิจการรุ่งเรือง ก่อนจะประสบวิกฤติใหญ่ เพราะรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้น ออกกฎยกเลิกสามล้อถีบในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อภาพลักษณ์ของประเทศ
สองสามีภรรยาจึงปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจให้เช่าสามล้อเครื่องแทน แต่ต่อมาก็มีข่าวลือว่ารัฐบาลจะออกกฎไม่ให้สามล้อเครื่องมาวิ่งในเมืองอีก ทั้งคู่จึงต้องคิดหาลู่ทางใหม่อีกครั้ง กระทั่งจุดเปลี่ยนคือการที่มีผู้เช่าสามล้อเครื่องเล่าให้สองสามีภรรยาฟังว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาแล้ว หากสนใจเปิดโรงแรมก็จะส่งลูกค้ามาให้
หลังจากปรึกษากัน ทั้งคู่จึงตัดสินใจขอคำปรึกษากับสมาคมจีนแคะ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำธุรกิจโรงแรม โดยมีสมาชิกจากสมาคมจีนแคะซึ่งเป็นผู้จัดการโรงแรมคอยให้คำแนะนำ กระทั่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนทำโรงแรมไมอามี่
ปัจจุบันโรงแรมไมอามี่ดำเนินการโดยคุณสุพล ตัณศิริชัยยา สถาปนิกหนุ่มผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 หลังจากรับช่วงต่อมาจากคุณพ่อซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 กับโจทย์ในการปรับปรุง โครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ของโรงแรมให้ทันสมัยขึ้น พร้อมกับรักษาคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นของโรงแรมไว้
“ตั้งแต่เกิดเราก็มาว่ายน้ำเล่นที่นี่ประจำ ได้เจอลูกแขกต่างชาติที่มาพัก เหมือนได้เจอเพื่อนใหม่ทุกวัน สมัยก่อนบ้านเราก็อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงแรม เราเลยมีความผูกพันกับตัวอาคารและสถานที่มาก เหมือนเติบโตมากับโรงแรมไมอามี่ คุณพ่อคุณแม่ก็แต่งงานที่นี่” สุพลเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็ก
“เราอยากปรับปรุงให้โรงแรมมีความทันสมัยขึ้น แต่ก็ยังรักษาคาแรกเตอร์โรงแรมซึ่งเป็นซิกเนเจอร์เอาไว้ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคสมัยใหม่จะชอบอะไรที่มีประวัติศาสตร์ มีที่มาที่ไป มีเรื่องราว บวกกับกระแสวินเทจที่กลับมา เราก็มองเห็นว่าโรงแรมแห่งนี้วินเทจของแท้เลย ทำไมไม่จับขึ้นมาทำความสะอาดให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”
บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมที่ราวกับหลุดมาจากฉากในภาพยนตร์ในยุค 60s ทั้งสีสัน ลวดลายบนพื้น โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์และโครงสร้างที่เป็นไม้ รวมถึงด้านหลังล็อบบี้ก็เป็นบล็อกใส่กุญแจสำหรับพนักงานที่จะมอบให้กับแขกผู้มาเยือน ถือเป็นอีกมุมที่แขกมาพักนิยมถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก
สุพลเล่าว่าโรงแรมไมอามี่สร้างในยุค 60s ในสไตล์ Mid century Vintage ตัวอาคาร สถาปัตยกรรม จึงมีฟอร์มที่เป็นโครงสร้างตรงไปตรงมา เลย์เอาต์ทุกอย่างของโรงแรมถูกรักษาไว้แบบดั้งเดิม ทั้งกำแพง หน้าต่าง และมีการดึงคาแรกเตอร์จากกระเบื้องในห้องพัก ตามทางเดิน สีสันทางเดิน ใส่เข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางให้ดูมีลูกเล่นสดใสมากขึ้น รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็เป็นแบบออริจินอลทั้งหมด
“น่าเสียดาย เฟอร์นิเจอร์เก่าอย่างเก้าอี่ที่เป็นขาเหลาพังไปหลายตัวเหมือนกัน” สุพลเล่าติดตลก “แต่พักที่นี่เหมือนได้อยู่กับประวัติศาสตร์ในยุค 60s แล้วไม่ตกเทรนด์ด้วย เพราะตอนนี้วินเทจไวบ์มันกำลังกลับมา”
ลิฟต์เป็นอีกจุดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากลวดลายและการใช้สีแล้ว โครงสร้างก็เป็นแบบดั้งเดิม แต่เปลี่ยนทางเข้าลิฟต์ให้เป็นแบบใหม่ สุพลเล่าให้ฟังว่า หากเป็นสมัยก่อน ทางเข้าลิฟต์จะเป็นแบบซี่กรงเปิดปิดเหมือนที่เรามักเห็นในภาพยนตร์ยุคเก่า
สระว่ายน้ำกลางแจ้งที่โอบล้อมด้วยตัวอาคารที่พักถือว่าเป็น Iconic ของโรงแรมไมอามี่ โดยบริเวณพื้นกระเบื้องของสระว่ายน้ำจะมีตัวหนังสือ ‘MIAMI’ ซึ่งเป็นชื่อของโรงแรมอยู่ ส่วนบริเวณพื้นที่ใช้สอยด้านล่างอาคารรอบสระว่ายน้ำ กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อทำเป็นคอฟฟีช็อปสำหรับให้แขกได้มานั่งพักผ่อน
หลายคนอาจเคยเห็นสระว่ายน้ำแห่งนี้ตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง เพราะกองถ่ายมิวสิกวีดิโอ โฆษณา ภาพถ่ายแฟชั่น หรือสื่อภาพยนตร์หลายเรื่อง นิยมใช้โลเคชันของโรงแรมไมอามี่ในการถ่ายทำ เช่น มิวสิกวีดิโอเพลง เหงาเหงา ของ อิ้งค์ วรันธร, ภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่ Netflix Series ทำร่วมกับบีบีซี เรื่อง The Serpent (2021) หรือภาพยนตร์เรื่อง Kate (2021)
สุพลเล่าว่าการมาของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนัก เพราะเป็นสิ่งที่เคยไม่เคยเจอมาก่อน “เราผ่านมาทุกเหตุการณ์ ทั้งซารส์ หวัดนก สึนามิ แต่ตอนนั้นแค่ปิดบางประเทศ ครั้งนี้ทุกประเทศห้ามเดินทาง เราก็พยายามประคับประคองตัวเอง พนักงานที่นี่ก็ยังจ้างทุกคน เพราะเราอยู่กันแบบครอบครัว เป็นเจเนอเรชันต่อเจเนอเรชัน เรามีที่พักให้เขาอาศัยอยู่ที่นี่เลย”
“ที่ผ่านมาโรงแรมเล็กค่อนข้างลำบาก เพราะส่วนใหญ่พวกโครงการที่รัฐสนับสนุน โรงแรมใหญ่จะค่อนข้างได้ประโยชน์หมด อย่างโครงการ ‘เที่ยวด้วยกัน’ ที่ช่วยคนพักครึ่งหนึ่ง คนก็อยากไปพักโรงแรมใหญ่ที่หากเป็นราคาปกติอาจจะสูงจนเข้าพักไม่ไหว เราเลยรู้สึกว่าโครงการพวกนี้มันไปถึงโรงแรมใหญ่มากกว่า แต่โรงแรมเล็กกับโรงแรม SMEs กลับเข้าไม่ถึง”
“หลังสถานการณ์คลี่คลาย เราก็หวังว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา แต่คงไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะพฤติกรรมคนก็เปลี่ยนไปแน่นอน โรงแรมเล็กอาจจะมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือจำนวนคนไม่หนาแน่นเหมือนโรงแรมใหญ่ๆ ซึ่งบางทีอาจจะควบคุมลำบากกว่า ในฐานะที่โรงแรมเราเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่สามารถดูแลได้ทั่วถึง” สุพลกล่าว ภารกิจต่อจากนี้ของเขาคือการเปลี่ยนแปลงและปลุกโรงแรมไมอามี่กลับมาพร้อมให้บริการอีกครั้ง พร้อมความสะดวกสบายและทันสมัยมากขึ้น
คุณป้าอุไร พูลสวน ชาวจังหวัดสมุทรปราการพนักงานรุ่นดั้งเดิมของโรงแรมไมอามี่ ที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับมาตั้งแต่เจ้าของรุ่นแรก ซึ่งวันนี้เธอก็ยังประจำการอยู่ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ตรงล็อบบี้โรงแรมเล่าว่า “ป้าทำมาตั้งแต่ยังสาวๆ ตอนอายุ 23-24 ปี ตอนช่วงสงครามเวียดนาม ถึงตอนนี้ก็ 40 กว่าปีแล้ว ที่นี่อยู่กันแบบครอบครัว ไม่มีสิ่งพิเศษที่ป้าชอบที่สุด เพราะป้าชอบทุกอย่างที่เป็นไมอามี่”
เราลองให้คุณป้าอุไรนึกถึงประสบการณ์ครั้งไม่ลืมที่โรงแรมไมอามี่ เธอนิ่งคิดเล็กน้อย และเล่าว่าสิ่งที่ประทับใจที่สุดคือแขก “แขกที่เคยพักแล้วกลับมาพักอีกมีเยอะจนจำไม่ได้ บางทีเขาจำเราได้ ทั้งที่เราจำไม่ได้ พอเขาเอารูปที่ถ่ายกับป้ามาให้ดูก็ยิ้มกันไป”
“ตอนนี้อายุป้าก็เยอะแล้ว แต่ก็จะทำงานที่นี่จนป้าทำไม่ไหว หรือจนกว่าเขาจะให้ป้ารีไทร์นั่นแหละ” คุณป้าอุไรพูดและหัวเราะ
ทางเดินภายในอาคารจะมีทั้งแบบที่มีห้องอยู่ฝั่งเดียว (Single Corridor) และแบบที่มีห้องอยู่สองฝั่ง (Double Corridor) แต่ละชั้นจะตกแต่งด้วย ‘สี’ ที่ต่างกัน จุดที่น่าสนใจคือทางเดินทุกชั้นจะมีช่องลมและหน้าต่างช่วยในการระบายอากาศ ให้รู้สึกเย็นสบายได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ รวมถึงมีแผงกันแดดภายในและภายนอกอาคาร แต่ก็ยังมีแสงธรรมชาติที่สาดส่องเข้ามาในตัวอาคารได้
ห้องพักของที่นี่มีทั้งหมด 123 ห้อง รวมถึงห้องแบบซิกเนเจอร์ของโรงแรมไมอามี่ ที่จะมีเพียง 4 ห้อง เท่านั้น โดยแต่ละห้องจะมีการตกแต่ง ลวดลาย เฟอร์นิเจอร์ และการใช้สี ที่แตกต่างกันไป โดยยังคงโครงสร้างแบบออริจินัลในยุคก่อนไว้ แต่ก็มีการปรับปรุงระบบต่างๆ ให้ทันตามยุคสมัย
หนึ่งในห้องซิกเนเจอร์ของโรงแรมไมอามี่ที่มีบริเวณพื้นที่สำหรับพักผ่อน โซฟา รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ตกแต่งแบบย้อนยุค โดยจะสังเกตได้ว่า โครงสร้างของห้องในสไตล์ Mid Century Vintage ที่เน้นความตรงไปตรงมาของสถาปัตยกรรม ทำให้ห้องดูโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง
ใครที่ชื่นชอบความวินเทจแบบแท้ๆ หลงรักงานสถาปัตย์แบบ Mid Century สนใจประวัติศาสตร์ยุค 60s การได้ลองมาเปิดประสบการณ์การพักผ่อนที่โรงแรมไมอามี่สักครั้ง คงจะเป็นความทรงจำไม่ลืม ทั้งยังเป็นการช่วยผู้ประกอบการที่พักขนาดย่อม ในยุคที่วิกฤตโควิด-19 กำลังเขย่าเศรษฐกิจอย่างหนัก และจะช่วยให้เจ้าของกิจการธุรกิจที่พัก พนักงาน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมได้มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อไป
Fact Box
- โรงแรมไมอามี่ (Miami Hotel) ตั้งอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 13 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (ใกล้สถานีรถไฟฟ้านานา)
เฟซบุ๊ก: facebook.com/thaimiamihotel
เว็บไซต์: www.thaimiami.com/en/home