“โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา”

เอ่ยบทสวดข้างต้น 9 จบ พร้อมถวายดอกไม้ นมสด ผลไม้จำพวกกล้วย อ้อย หรือมะพร้าวอ่อน พลางจุดกำยานส่งกลิ่นหอมรัญจวนคละคลุ้ง ก่อนจะขอพรแก่ ‘พระพิฆเนศ’ เทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ให้ท่านประทานพรผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเรื่องการงาน การเงิน หรือความรักก็ตามใจปรารถนา

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงทำให้เทพแห่งความสำเร็จองค์นี้เป็นที่นิยมสักการะบูชาของกลุ่มผู้เลื่อมใสศรัทธา หรือที่เรียกว่า ‘สายมู (เตลู)’ อีกนัยหนึ่งนอกจากการขอพรยังเป็นการเสริมความมั่นใจให้กล้าเผชิญกับเป้าหมายตรงหน้า และสลัดพ้นจากความลังเลในใจ

อย่างไรก็ดี ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นอกจากจะบูชาพระพิฆเนศในแง่ของความศรัทธา ขณะเดียวกันยังต่อยอดท่านในรูปแบบ ‘พุทธศิลป์’ ที่ออกแบบด้วยความประณีต จนบังเกิดเป็นผลงานที่วิจิตรงดงาม ทว่าไม่ใช่รูปหล่อองค์ใหญ่ตามที่เราเห็นในวัดแขกหรือวัดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่เป็นรูปแบบองค์จำลององค์เล็ก ที่บรรจุลงในแคปซูล ‘กาชาปอง’ ให้ได้ลุ้น ได้เก็บสะสมกัน

เมื่อความศรัทธา พุทธศิลป์ และกลยุทธ์การสุ่มขายที่อิงมาจากญี่ปุ่น ถูกนำมาหลอมรวมเจ้าด้วยกันจึงเกิดเป็นความแปลกใหม่ ในชื่อ ‘คชาปอง’ (Kachapon) หรือกาชาปองสุ่มหาพระพิฆเนศในปางและอิริยาบถต่างๆ โดยเฉพาะ

คอลัมน์ Out and About คราวนี้ ขอชวนผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายไปสำรวจร้าน ‘มหาคณปติ’ (Maha Ganapati) ร้านกาชาปองพระพิฆเนศ สาขาชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ย่านเยาวราช-สำเพ็ง พร้อมพูดคุยกับ หนึ่ง-ชัยวัฒน์ คฤหาสน์สุวรรณ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านดังกล่าว ที่ไม่ได้ออกแบบเทพองค์นี้แค่ในแง่ความสวยงาม แต่ยังศึกษาตามหลักพิธีอย่างลึกซึ้ง

“จุดเริ่มต้นของมหาคณปติเกิดจากความชอบของเราในตัวพระพิฆเนศ เราเรียนสายเพาะช่างก็เห็นพระพิฆเนศมาตลอด สนใจว่าเทพองค์นี้มีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจโดยเฉพาะเศียรที่เป็นช้าง หลังจากนั้นเราจึงไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับท่านต่อ จนรู้จากตำราพราหมณ์ของไทยว่า พระพิฆเนศมีทั้งหมด 32 ปาง เราเลยอยากทำให้คนเห็นว่า พระพิฆเนศทั้งหมด 32 ปาง มีหน้าตาเป็นอย่างไร” 

ชัยวัฒน์ ผู้ก่อตั้งแฟรนไชส์คชาปอง มหาคณปติ เริ่มทบทวนความทรงจำถึงจุดเริ่มต้นความสนใจในพระพิฆเนศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชัยวัฒน์เรียนมาในสายวิชาเพาะช่าง จึงผูกพันกับเทพองค์นี้เป็นพิเศษ ขณะเดียวกันเขารู้จักศาสตร์การวาดลาย ออกแบบงานปั้น ไปจนถึงการขึ้นรูปหล่อ กรรมวิธีสำคัญในการทำพุทธศิลป์ ทำให้ความชอบทั้งสองเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน

ถึงกระนั้น ใช่ว่าการเผยแพร่ให้ผู้คนเห็นถึงรูปลักษณ์ของพระพิฆเนศทั้ง 32 ปางจะเป็นเรื่องง่าย ไหนจะผู้คนที่ไม่สนใจเทพสายมูเป็นทุนเดิมยิ่งยากทวีคูณ แต่ด้วยความที่ ณ เวลานั้น ชัยวัฒน์เริ่มออกแบบงานจำพวกอาร์ตทอย (Art Toy) ร่วมกับทาง The Art One เขาจึงตัดสินใจนำความสนุกและสีสันแบบอาร์ตทอย มาผสมผสานพุทธศิลป์ จนเกิดเป็นงานคชาปองดังที่เห็นในมหาคณปติ กล่าวคือ มีทั้งความงาม ความขลัง และความสนุกในการลุ้นเก็บสะสมองค์พระพิฆเนศจำลอง

ทั้งนี้ คำว่าคชาปองมาจากการเล่นคำระหว่าง ‘คชา’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘ช้าง’ มาผสมกับคำว่า ‘กาชาปอง’ (Gashapon) ที่ชื่อเรียกตู้สุ่มแคปซูลของเล่น ที่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1960

“ถ้าเป็นงานอาร์ตทอยทั่วไปจะใช้การขึ้นรูปแบบเรซิ่น แต่ด้วยความที่วัสดุอย่างเรซิ่นถ้าเก็บไว้นานมีโอกาสแตกชำรุดง่าย เราจึงอยากเปลี่ยนจากเรซิ่นมาใช้เป็นวัสดุจำพวกบรอนซ์ (Bronze) คือทองแดง 80% ผสมกับโลหะ โดยสูตรที่เราใช้เป็นของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสูตรบรอนซ์ที่ดีที่สุดในโลก”

ชัยวัฒน์อธิบายให้เราฟังถึงวัสดุที่นำมาใช้ในการสร้างคชาปองพระพิฆเนศ ที่แม้จะเห็นว่าเป็นองค์จำลองขนาดเล็กแต่คุณภาพคับแก้ว สำคัญคือแต่ละองค์มีการผสมมวลสารมงคลที่ผ่านการปลุกเสกจากพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญถูกต้องตามหลักพิธี ผู้ซื้อจึงสามารถนำไปเก็บสะสมหรือบูชาได้ตามใจต้องการ

ที่น่าสนใจคือชุดคชาปองของมหาคณปติ อย่างพระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง ชัยวัฒน์ต้องศึกษาและค้นคว้าอยู่หลายปีพอสมควร กว่าจะมั่นใจและเริ่มปั้นทีละองค์ออกมาตั้งแต่ปี 2021 โดยอาศัยความประณีตและความมุ่งมั่น 

ที่ต้องกล่าวเช่นนั้น เพราะหากปั้นพระกร ท่าทาง หรือพาหนะที่ประทับผิดองศาไปนิดเดียว ก็แทบจะต้องรื้อเริ่มใหม่ทั้งหมดจนกว่าจะถูกต้องตามตำรา เพราะนี่เป็นเป้าหมายสำคัญของซีอีโอแห่งมหาคณปติ ที่อยากทำให้ผู้คนรู้จักพระพิฆเนศทั้ง 32 ปางอย่างถูกต้องตามที่มีบันทึกไว้ในตำราพราหมณ์ไทย

“ข้อมูลของพระพิฆเนศทั้ง 32 ปางค่อนข้างหายาก ต้องเก็บข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและตำราของพราหมณ์อย่างละเอียด เพราะถ้าจุดใดผิดนิดเดียว เช่นถืออาวุธผิดมือ เขาจะไม่นับเป็นพระพิฆเนศ แต่จะเรียกเป็นช้างทันที 

“เช่นเดียวกับที่เราได้ยินกันว่า พระพิฆเนศมีปางเสวยสุข ปางมหาเศรษฐี แท้จริงต้องเรียกพระพิฆเนศแบบนั้นว่า ‘รุ่น’ เพราะตามตำราท่านมีแค่ 32 ปางเท่านั้น แต่เราก็ต้องมีปรับบ้างเช่นปางที่อุ้มพระชายาคู่  ความจริงงวงของท่านต้องไปอยู่ที่อวัยวะเพศพระชายา เพราะเป็นปางที่เกี่ยวข้องกับการขอบุตร แต่เราก็ปรับอริยาบทให้เข้ากับบริบทความเป็นไทย ด้วยการเปลี่ยนจุดวางงวงเป็นตรงเอวแทน” ชัยวัฒน์ระบุพลางผายมือไปยังรูปปั้นจำลองต้นแบบของพระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง ที่ตั้งโชว์อยู่บนชั้นวางห่างไปไม่ไกล

ตู้เครื่องไขคชาปองที่วางเรียงรายอยู่ในร้านมหาคณปติ สาขาชุมเลื่อนฤทธิ์ น่าจะเป็นร้านไขแคปซูลเสี่ยงดวงเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีแบบจำลองพระพิฆเนศให้เลือกสุ่มหลายรูปแบบ แน่นอนว่าซิกเนเจอร์ที่ใครมาก็ต้องเล่น คือพระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง โดยแต่ละปางมีความหมายประจำตัว เช่น ปางพระบาล คณปติ (Bala Ganapati) ที่เหมาะแก่การบูชาสำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลที่กำลังดำเนินกิจการใหม่

หรือปางพระวีระ คณปติ (Veera Ganapati) ปางที่พระพิฆเนศทรงถือศาสตราวุธครบมือเพื่อต่อกรกับศัตรู โดยปางดังกล่าวเป็นปางประจำตัวของคนเกิดวันอาทิตย์ ที่ตามตำราระบุว่า คนเกิดวันอาทิตย์มักมีอุปสรรคมากกว่าคนเกิดวันอื่น ดังนั้น การบูชาพระวีระ คณปติ จะเป็นการช่วยเสริมความมั่นใจ ขณะเดียวกัน ตามตำราพราหมณ์ยังระบุว่า พระวีระ คณปติจะอัญเชิญใช้ในพิธีถอนศาล หรือล้างสิ่งอัปมงคล

เมื่อไขตู้คชาปองเสร็จเรียบร้อย ก็สามารถบิดไขลูกแคปซูลว่าได้รับพระพิฆเนศปางใด โดยที่บริเวณมุมซ้ายมือของร้านจะมีป้ายบอกตัวเลขประจำปางนั้นๆ จนถึงเกร็ดข้อมูลให้ดู

หรือใครที่อยากได้พระพิฆเนศรูปแบบอื่นๆ ไว้เก็บสะสม ที่นี่ก็มีให้เลือก เช่น พระพิฆเนศในวัยเยาว์ พระพิฆเนศในอิริยาบถต่างๆ เช่น ประทับบนหนูที่เป็นพาหนะหลัก จนถึงพระพิฆเนศกับเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ โดยมีให้ไขเก็บสะสมเป็นเซ็ต เซ็ตละ 5-7 แบบ คล้ายกาชาปองทั่วไปตามตลาด ทั้งมีปางลึกลับ (Secret) แบบพิเศษลงสี ที่มีโอกาสสุ่มเจอ 1 ใน 100 เท่านั้น

ราคาตู้คชาปองของที่นี่มีตั้งแต่หลัก 200 บาท ไปจนถึง 300 บาท ตามแต่ละประเภทของตู้นั้นๆ โดยตู้สีขาวจะเป็นตู้สุ่มจี้พระพิฆเนศองค์เล็ก ที่สามารถนำไปใส่กรอบคล้องคอติดตัวได้ ส่วนตู้สีแดงคือแบบจำลององค์เล็กของพระพิฆเนศตามที่เกริ่นไปในข้างต้น เรียกว่าราคาสมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพงาน และถูกกว่าคชาปองที่มีอยู่ในตลาดทั่วไป

ชัยวัฒน์กล่าวกับเราด้วยรอยยิ้มว่า ใครที่มีกำลังทรัพย์ไม่มากแต่ไขแล้วไม่ได้พระพิฆเนศปางที่อยากได้หรือปางที่ตรงกับวันเกิดก็ไม่เป็นไร เพราะหากมีจิตศรัทธานั่นหมายความว่า พระพิฆเนศได้เลือกปางที่เราสุ่มได้ให้แล้ว

(ซ้าย) เกร็ดทราย วัฒนารุ่งกิจ (ขวา) ชลทิพย์ พันฤทธิ์ เพื่อนซี้และผู้ร่วมก่อตั้งแฟรนไชส์มหาคณปติ ร่วมกับชัยวัฒน์ที่ยืนอยู่ตรงกลาง ทั้งสามคนผูกพันกับพระพิฆเนศเป็นพิเศษ โดยที่ก่อนหน้านี้ แทบไม่เคยบูชาหรือสนใจในเรื่องสายมูมากนัก กระทั่งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของเทพฮินดูองค์นี้ จนเกิดเป็นความศรัทธา และเชื่อว่าสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่เป็นพรที่ท่านประทานให้ ทั้งการได้พื้นที่ร้านในชุมชนเลื่อนฤทธิ์ การได้ลงมือปั้นพระพิฆเนศที่ประดิษฐานอยู่หน้าห้างฟอร์จูนทาวน์ เป็นที่รู้จักจากการไปออกบูธในมิวเซียมสยาม และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าหัวเรือใหญ่ของมหาคณปติ คือชัยวัฒน์ที่เชี่ยวชาญในการปั้นและออกแบบ แมร์รีน่าก็คือผู้เสริมไอเดีย โดยแนะนำชัยวัฒน์ให้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์หรืออิริยาบถของพระพิฆเนศให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ส่วนเกร็ดทรายมีหน้าที่ดูแลในส่วนของโซเชียลมีเดียให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก รวมไปถึงการสร้างชุมชนนักสะสมคชาปอง ที่มีการแลกเปลี่ยน หรือที่ศัพท์นักสะสมเรียกว่า ‘เทรด’ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นอกจากคชาปอง ภายในร้านมหาคณปติ สาขาชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ยังมีวัตถุน่าเก็บสะสมที่เกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศอีก เช่น เหรียญพระศรีคเณศวร ที่ชัยวัฒน์ระบุว่า ต้องการทำออกมาในลักษณะเหรียญเก็บสะสม คล้ายยามได้รับเป็นของที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหรือสวนสนุกในประเทศต่างๆ

ไปจนถึงแผ่นทองเปลวประทับตราพระพิฆเนศที่แบรนด์ออกแบบเอง โดยสามารถติดไว้หลังเคสสมาร์ตโฟนเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยแผ่นทองเปลวดังกล่าว ถูกทำออกมาในลักษณะแผ่นเล็กขนาดพอๆ กับเหรียญสิบบาท สาเหตุที่ทำออกมาในขนาดเล็กเพื่อป้องกันสมาร์ตโฟนระบายอากาศไม่ดีจนเกิดอาการเครื่องร้อน นับว่าเป็นการศึกษาปัญหาของผู้ใช้งานมาเป็นอย่าง

ขณะเดียวกัน รูปลักษณ์ของพระพิฆเนศยังถูกนำไปปรากฏบน ‘ไพ่ยิปซี’ ที่ตั้งโชว์รอจำหน่ายบนตู้กระจกของร้านมหาคณปติ โดยเป็นการนำศาสตร์ไพ่ยิปซีมาผสมผสานกับพระพิฆเนศ จนเกิดเป็นความสวยงามที่ลงตัว และใช้ดูดวงได้เหมือนไพ่ยิปซีปกติทั่วไป

ช่วงท้าย ชัยวัฒน์และเพื่อนของเขาอีก 2 คนกล่าวว่า เมื่อเป้าหมายแรกที่ต้องการทำให้ผู้คนรู้จักพระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง สำเร็จ เป้าหมายต่อไปจึงเป็นการทำให้ผู้คนหันมาสนใจพระพิฆเนศมากขึ้น ด้วยการนำรูปลักษณ์ของท่านมาปรับเข้ากับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในไทย อย่างการนำพระพิฆเนศมารวมกับสัญลักษณ์ประจำจังหวัดนั้นๆ เช่น พระพิฆเนศขี่ไดโนเสาร์ของจังหวัดขอนแก่น พระพิฆเนศถือดอกกระเจียวนั่งบนบัลลังก์นาคของจังหวัดชัยภูมิ พระพิฆเนศขี่กุ้งเผาของจัวหวัดอยุธยา และพระพิฆเนศสวมชุดโนราห์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการแตกไลน์สินค้าให้น่าสนใจ เช่น ขนมลาดูสำหรับใช้ไหว้พระพิฆเนศที่ทำมาจากข้าวแต๋น โดยปรับสูตรรสชาติหวานน้อยเหมาะแก่ปากคนไทย หรือบอร์ดเกมประชันกันระหว่างทัพพระพิฆเนศกับกองทัพอสูร จนถึงทองคำที่ทำกับร้านทองเยาวราช

“ในฐานะที่เรียนด้านศิลปะมา เรามองพระพิฆเนศในฐานะเทพแห่งศิลปะ มองความสวยงามลงตัวของท่านในแบบงานอาร์ต เพียงแต่เราอยากทำให้ทั่วประเทศ รวมถึงทั่วโลกได้รู้จักท่านทั้ง 32 ปาง ตามที่มีในเฉพาะตำราพราหมณ์ไทย โดยที่เราไม่ได้ทำเพื่อหวังพรจากท่าน เราทำด้วยความตั้งใจ เพราะสุดท้ายความสำเร็จจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราลงมือทำเอง” ชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายด้วยการเน้นย้ำความตั้งใจของตนเอง

Fact Box

สำหรับใครที่อยากมาลุ้นความศักสิทธิ์กับคชาปอง สามารถเดินทางมาที่ร้านมหาคณปติ ณ ซอยชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช-สำเพ็ง ห้อง 342 เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 11.00-19.00 น. (หยุดทุกวันอังคาร) แผนที่ https://maps.app.goo.gl/JGEHVBesXzCdbk9k9

หรือสามารถแวะที่สาขาอื่นได้ อาทิ สาขาหน้าห้างฟอร์จูนทาวน์ รัชดา (ติดกับ MRT พระราม 9) และสาขาใหม่ที่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ติดตามความเคลื่อนไหวของมหาคณปติได้ทางเฟซบุ๊ก MAHA Ganapati และพระพิฆเนศ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ หรือติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ 08-2488-0498

Tags: , , , ,