หากพูดถึง ‘เจริญกรุง’ โดยทั่วไป ผู้คนคงรู้จักในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับเหล่าฮิปสเตอร์ โดยเฉพาะความนิยมในเทศกาล Bangkok Design Week และ Awakening Bangkok ที่เหล่าวัยรุ่นต่างพกกล้องฟิล์มคู่ใจเก็บภาพความทรงจำในย่านนี้บ่อยครั้ง ทั้งยามกลางวันและค่ำคืน

แต่หากพินิจย่านเจริญกรุงอย่างลึกซึ้ง พื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจนานัปการ ทั้งการผสมผสานวัฒนธรรมของผู้คน 3 กลุ่ม ได้แก่ จีน โปรตุเกส และมุสลิม ซึ่งฉายภาพผ่านสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เช่น ป้ายเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนในโบสถ์กาลหว่าร์ หรือศิลปะแบบตะวันตกในมัสยิดฮารูน รวมถึงหนึ่งจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ผู้คนต่างหลงใหล คือการคงอยู่ของ ‘สิ่งใหม่’ อย่างลงตัวในพื้นที่เก่า 

หนึ่งในนั้นคือ ‘Mad Sugar Bakery&More’ ร้านพาสต้าและขนมเค้กสไตล์โฮมเมด ที่ตั้งในซอยเจริญกรุง 26 ท่ามกลางบ้านเรือนในชุมชนเล็กๆ หากแต่เมื่อก้าวเข้าสู่ร้าน บรรยากาศจะเปลี่ยนไปราวกับก้าวเข้าสู่อีกโลกหนึ่งทันที

ไม่เพียงแต่ชื่อเสียงของพาสต้าสูตรเฉพาะ และเมนูขนมเค้กอันแปลกประหลาดที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อนอย่าง ‘เค้กส้มตำ’ หรือ ‘เค้กคาโบนารา’ ซึ่งเป็นที่เลื่องชื่อในโซเชียลมีเดียตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะภายใต้ความน่ารักสไตล์โก๊ะๆ ของร้านแห่งนี้ ยังมีพื้นที่เปิดกว้างเรื่องราว ‘การเมือง’ ให้กับประชาชนทุกคนที่รักประชาธิปไตย และยึดถือในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

The Momentum พาผู้อ่านทุกท่านไปเปิดโลกแห่ง ‘พาสต้า ขนมเค้ก และการเมือง’ กับ Mad Sugar แห่งนี้ผ่าน ตูน-สุจิตรา อุ่นเอมใจ เจ้าของร้านผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวความอร่อยของพาสต้า ความแปลกของเค้ก และความกล้าหาญในการเรียกร้องการแก้ปัญหาสังคมจากรัฐผ่านธุรกิจที่เธอทำ

ทันทีที่ก้าวเข้าสู่ร้าน Mad Sugar สิ่งที่สะดุดตาเป็นอันดับแรก คือการตกแต่งด้วยสีสันสดใส โดยมีสีม่วงและชมพูเป็นหลัก และมีการวาดลวดลายให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในวิชาศิลปะ สนุกสนาน น่าค้นหา ซุกซน แต่เป็นกันเองกับผู้มาเยือน 

สุจิตราเผยกับ The Momentum ว่า เหล่านี้คือจุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของ Mad Sugar ในเวอร์ชันใหม่ หลังจากเธอมีโอกาสขยับขยายร้าน จากห้องเล็กๆ ที่ถูกเรียกว่า Hidden Gem ในซอยเจริญกรุง 28 เพราะให้บริการลูกค้าได้เพียง 3 โต๊ะ โดยต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น มาสู่การเปิดหน้าร้านที่รองรับผู้คนได้มากขึ้น

เธออธิบายเรื่องราวความเป็นมาของร้านใหม่ รวมถึงความตั้งใจตกแต่งร้านอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อสะท้อนตัวตนของ Mad Sugar โดยมีจุดประสงค์สร้างบรรยากาศอันน่าสบายใจสำหรับเธอและผู้มาเยือนที่สุด

“ด้วยความเป็นร้านลับ คือมันน่าสนใจ น่าค้นหา สวยก็จริง แต่ยอดขายเรามันก็จำกัดแค่นั้น วันนึงสามโต๊ะ สี่รอบ เราคิดว่าในที่สุดแล้ว ถ้าเราอยากได้ลูกค้าประจำ เราควรจะทำตัวให้ง่าย

“เอาจริง Mad Sugar ไม่ได้มีสไตล์แน่นอน หรือทำให้มันลงตัวหรือสวย มันคือความโก๊ะ ยำแบบมั่วๆ มากกว่า ซึ่งลูกค้ามา ด้วยความที่เป็นตูนด้วย เราไม่ได้มีฟอร์ม เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกสบาย สามารถคุยกันนานเท่าไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องแต่งตัวสวยก็ได้ เป็นตัวเองในแบบที่ชอบ” 

สำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ย่อมรู้จัก Mad Sugar ในฐานะร้านพาสต้าสูตรโฮมเมดเฉพาะ และขนมเค้กสุดฮิปอันเป็นเอกลักษณ์ หลังจากร้านแห่งนี้กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ชั่วข้ามคืน เพียงเพราะ ‘เค้กแวนโก๊ะหูขาด’ ที่สุจิตราทำขึ้นเพื่อเซอร์ไพรส์วันเกิดเพื่อน

“จริงๆ แล้ว มีความสนใจศิลปะอยู่ค่ะ แต่การทำเค้ก ไม่มีประสบการณ์หรือสกิลใดๆ เลย ไม่เคยได้เรียน แต่มีอยู่วันหนึ่ง ใกล้วันเกิดเพื่อน เราก็เลยทำเค้กแวนโกะห์ให้ เอารูปภาพแวนโกะห์มาเทียบ ผสมสีกับบัตเตอร์ครีม เอาพู่กันวาดเลย ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 

“นอกจากวาดเค้กแล้ว เรายังปั้นฟองดองต์ (น้ำตาล) เป็นรูปหูของแวนโกะห์แปะบนเค้ก มีเลือดๆ เหมือนแวนโกะห์ตัดหูตัวเอง อันนั้นเป็นไวรัลมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่คนรู้จักร้าน

แต่ความจริงแล้ว หนทางของ Mad Sugar ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบดังที่ใครหลายคนคิด เพราะกว่าจะมีวันนี้ได้ คุณตูนเล่าว่า ร้านพาสต้าและขนมเค้กโฮมเมดของเธอเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลก คือโรคระบาดโควิด-19 

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย เธอตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดเริ่มต้นกับ Mad Sugar ในฐานะร้านพาสต้า แม้ว่าชื่อร้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักในนามของร้านเค้กแห่งโลกออนไลน์ที่เปิดให้สั่งนอกเวลางานประจำของเธอ แต่เป็นเพราะไม่อยากให้ลูกค้าสับสนชื่อและโลโก้ของแบรนด์ จึงยังคงใช้ชื่อ Mad Sugar เหมือนเดิม

เธออธิบายสาเหตุการขายอาหารคาว คือพาสต้า แทนที่จะเป็นเค้ก สืบเนื่องจากเพราะวิกฤตโรคระบาด ทำให้ผู้คนไม่ซื้อเค้กวันเกิดให้กัน จึงตัดสินใจเริ่มต้นด้วยการไปเรียนทำพาสต้าเส้นสด ในขณะที่อาศัยประสบการณ์สั่งสมจากการเป็นเชฟส่วนตัวนับ 10 ปี รังสรรค์ซอสสุดพิเศษในแบบฉบับของเธอออกมา

สำหรับเมนูพาสต้าที่ Mad Sugar เลือกมาให้ The Momentum ลิ้มลอง คือ ราวิโอลีเบคอนพาสต้า (Ravioli Bacon Arrabiata) มีจุดเด่นสะดุดตาคือเบคอนรมควันชิ้นหนา กินคู่กับราวิโอลีพาสต้าเส้นสดสอดไส้ด้วยผักโขม หอมใหญ่ ผสมรีคอตตาชีส 

เมื่อกินไปแล้ว เมนูจานนี้มีรสชาติกลมกล่อม หอมหวานมัน ประสานกับกลิ่นรมควันเบคอน แต่ตัดความเลี่ยนด้วยซอสอะราบิอาตารสมะเขือเทศ ผสมกับผักหลายชนิดที่ร้านเคี่ยวเอง แทรกด้วยรสชาติเผ็ดนิดๆ ไม่จัดจ้านเกินไปตามสไตล์อาหารยุโรป

ส่วนเมนูที่สอง พาสต้าเส้นสดทรัฟเฟิลเนื้อปู (Crab Meat Truffle Pasta) ซอสของพาสต้าชนิดนี้ ทำจากครีม ชีส พาเมซานชีส และซอสทรัฟเฟิล จับคู่กับเนื้อปู 

กลิ่นหอมของชีสลอยมาทักทายก่อนกิน สัมผัสแรกของพาสต้าจานนี้ คือ รสชาติครีมผสมทรัฟเฟิลชัดเจน แต่สัมผัสนุ่มนวล ละมุนลิ้น เนื้อปูมีรสหวานและสด เส้นพาสต้ายังคงอยู่ดี แม้จะทิ้งเป็นระยะเวลานาน อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า รสชาติพาสต้าทั้งสองชนิดของ Mad Sugar ที่ได้ชิมนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตามสไตล์โฮมเมดของร้าน ซึ่งหากินที่ไหนไม่ได้ ต้องมาเยือนที่แห่งนี้โดยเฉพาะเท่านั้น

ด้านธุรกิจเค้กในโลกออนไลน์ในวันนั้น ก็พัฒนามาเป็นของหวานตบท้ายล้างปากเมนูพาสต้าในวันนี้ หลังจากลูกค้าประจำของร้านถามถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยเมนูที่เปิดฉากการลิ้มรสของหวานเป็นครั้งแรกของวัน คือเค้กส้มตำ 

หลายคนอาจจะแปลกใจกับชื่อเมนูดังกล่าวและครุ่นคิดในที่มา สุจิตราเผยว่า จุดกำเนิดของเค้กส้มตำมาจากการถามความเห็นของพนักงานในร้านว่า ควรทำเค้กรสชาติใหม่อย่างไรดี สุดท้ายมีคนเสนอไอเดียให้ลองทำเค้กส้มตำขึ้นมา เธอจึงเริ่มทำด้วยวิธีการแยกส่วน โดยอ้างอิงวัตถุดิบของส้มตำไทย ได้แก่ มะละกอ น้ำตาล มะนาว และถั่วลิสง 

สำหรับส้มตำในเวอร์ชันเค้ก เธอใช้แอปเปิลแทนมะละกอ ส่วนรสชาติของถั่วลิสงเกิดขึ้นมาจากพีนัตบัตเตอร์ ตามด้วยครัมเบิลกุ้งแห้งปั่น ปิดท้ายด้วยเยลลี่มะเขือเทศใส่เลมอน คาราเมลรสน้ำปลา และบีบน้ำมะนาวพร้อมเสิร์ฟ

ทันทีที่กิน ก็ต้องอุทานขึ้นมาในใจเลยว่า “นี่มันรสชาติส้มตำไทย” เพราะกลิ่นอายความเป็นส้มตำจางๆ ไม่รุนแรงเกินไป มาจากคาราเมลรสน้ำปลา เยลลี่มะเขือเทศ และมะนาว แต่ก็ไม่ถึงกับแปลกจนกินไม่ได้ เพราะเมื่อกินไปเรื่อยๆ สุดท้าย เค้กส้มตำจะกลายเป็นเค้กพีนัตบัตเตอร์ที่ผสมความหอมมันของถั่ว และความหวานของแอปเปิล ซึ่งเข้ากันได้อย่างลงตัวเหมือนมีเวทมนตร์ 

นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญแต่อย่างใด เพราะสุจิตราเผยว่า เป็นความตั้งใจของตนเองที่สร้างสรรค์เมนูเค้กที่แปลก แต่กินได้ คุ้มค่าทุกการเสียเงิน ตามจุดเด่นหลักของ Mad Sugar คือความสะดุดตา

“เราพยายามทำรสชาติให้คนเข้าใจง่าย เราไม่ได้ทำรสให้มันโดด ไม่คุ้มเงินที่จะจ่าย คือแค่ชิม แต่ไม่กินให้หมด ก็ไม่ใช่ คือก็ออกแบบรสมาให้คนเข้าใจง่าย” เจ้าของร้านพาสต้า-เค้กโฮมเมดอธิบาย

และเมนูเค้กสุดท้าย คือเค้กช็อกโกแลตเหล้ารัมและโค้ก ‘Rum & Coke’ ที่คุณตูนเพิ่งคิดค้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีเบื้องหลังคืออยากลองทำเค้กที่มีกลิ่นโค้ก และความชอบส่วนตัวต่อกลิ่นเหล้ารัม 

จุดเด่นที่สุดของเค้กเมื่อชิมในคำแรก คือรสชาติช็อกโกแลตกับเหล้ารัม ตามด้วยกลิ่นโค้กจางๆ อร่อยและลงตัว ชนิดที่ไม่เคยกินที่ไหนเหมือนกับเค้กส้มตำ นี่จึงเป็นกิมมิกในการทำเค้กของร้าน Mad Sugar ที่จะไม่ทำซ้ำใคร แปลกใหม่ และนำจินตนาการมาปั้นแต่งให้กลายเป็นความจริง

และเนื่องในโอกาสสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ The Momentum ยังมีโอกาสสนทนาเรื่องราวการเมืองกับสุจิตราเพราะจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ Mad Sugar เกิดขึ้นจากการนำสัญลักษณ์การเมืองมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะผ่านอาหาร 

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกด้วยการเพนต์ ‘เค้กคณะราษฎร’ หรือ ‘เค้กวัคซีนแอสตรา’ รวมถึงการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาต่อประเด็นสังคมในขณะนั้น เช่น อาหารของกลุ่มทหารเกณฑ์ ด้วยโปรเจกต์ ‘ถาดหลุมในร้านพาสต้า-เค้ก’ หรือการประกาศว่า ไม่มีนโยบายใช้กัญชาในอาหาร รวมถึงยังรณรงค์ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าอีกด้วย

เค้กคณะราษฎร (ที่มา: Facebook Mad Sugar Bakery&More)

หญิงสาวผู้เป็นเจ้าของร้านโฮมเมดเริ่มเล่าสาเหตุการแสดงออกทางการเมืองด้วยสีหน้ามุ่งมั่นกับเราว่า เพราะการเมืองอยู่ในทุกอณูชีวิตของเธอโดยแบ่งแยกไม่ได้ และชีวิตของเธอก็ขึ้นอยู่กับมัน 

“เคยมีที่ปรึกษาบอกว่า ‘ถ้าจะทำร้าน ทำแบรนด์ อย่าเอาไปยุ่งเรื่องการเมือง ไม่อย่างนั้น เราจะเสียลูกค้าทั้งหมด’ แต่เพราะเราอยู่ในประเทศที่มันมีการเมืองทุกๆ อณู ในต้นทุนอาหาร ในเวลาเปิด-ปิดของร้าน เราเลี่ยงไม่ได้เลย  

“เราเชื่อว่า ร้านไม่ใช่แบรนด์อย่างเดียว แต่คือชีวิตเราด้วย ร้านก็เหมือนคน ถ้าเราไม่สามารถอธิบายความคิดของเราให้คนอื่นเข้าใจได้ ก็ไม่สามารถต่อยอดตัวตนของร้าน ผลงานของร้านได้ เช่น เค้ก ถ้าเราไม่แตะเรื่องการเมืองเลย แล้วสมมติวันหนึ่ง เราไม่ไหวแล้ว อยากจะทำเค้กสื่อสารการเมือง คือมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็ต้องพูดอยู่ดี”

แต่เธอก็ยอมรับว่า การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาอาจทำให้สูญเสียลูกค้าบางส่วน และได้รับแรงกระแทกจากผู้ไม่เห็นด้วยในบางกลุ่ม

“เรื่องนี้เราเจอหนักมาก แต่ก็รับมือด้วยการไม่สนใจคนกลุ่มนี้ ก็คือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราโดนถล่มแฟนเพจร้าน โดยโพสต์ที่ถล่มไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลย เป็นโพสต์รับสมัครงาน ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงคุณสมบัติของพนักงาน คือให้ค่าแรงวันละ 600 บาท ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์

“แต่น่าจะเป็นเป้าโจมตีจากคุณสมบัติว่า ‘เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์’ คำนั้นคำเดียว โดนแชร์เป็นพัน”

‘เท่าเทียมแบบนี้ ลูกน้องก็สามารถได้ค่าจ้างเท่าเจ้านายได้สิ’

‘เจอหน้าไม่ต้องไหว้ก็ใช่ไหม’ ส่วนหนึ่งของคอมเมนต์ในโพสต์

อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้าน Mad Sugar เชื่อว่าความเท่าเทียมหรือประชาธิปไตยในระดับประเทศ ต้องเริ่มต้นจากระดับพื้นฐาน เธอให้คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับพนักงานทุกคน 

“คือถ้ารู้สึกงานมันหนักไป ลูกจ้างก็สามารถประท้วงได้ หรือค่าจ้างน้อยไปก็บอก เราจะได้คุยกันว่า อันไหนที่เป็นตรงกลาง คือรู้สึกว่าเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ”

เธอเปิดเผยว่า เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างดี เนื่องจากประสบการณ์ที่เริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ และต้องฝ่าฟันวิกฤตหลายอย่างจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเธอถึงจึงเลือกแสดงออกทางการเมืองผ่านธุรกิจในมือของตน

“เพราะเราไม่ได้มีต้นทุนชีวิตมากมายขนาดนั้น ทุกอย่างสร้างเองหมดเลย ถ้าอยู่จุดนี้โดยที่ไม่ได้มีมรดกพ่อแม่เยอะ เราจะไม่มีวันรวย คือประเทศนี้ ถ้าพ่อแม่คุณไม่รวย คุณไม่รวยหรอก

“ต้นทุนวัตถุดิบก็เยอะ เช่น ตอนเปิดร้านใหม่ๆ ครีมชีสหนึ่งก้อน ราคา 320 บาท ตอนนี้ 490 แล้ว มันคือปีที่แล้วเองนะ เราต้องจ่ายค่าครีมชีสเพิ่มขึ้น ถึงแม้ขนาดจะก้อนเดียวกัน”

สุดท้าย ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร สุจิตราในนามของร้าน Mad Sugar ยังคงเชื่อใน ‘ความหวังของประเทศในระยะยาว’ แม้ว่าหนทางอาจดูมืดมนก็ตาม แต่เธอก็พร้อมยืนหยัดไปกับทุกคน เพื่อร่วมต่อสู้ในการได้มาซึ่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ที่ผ่านมาเราเคยรู้สึกสิ้นหวังนะ เพราะด้วยการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 53 เป็นต้นมา ที่ไม่ว่าประชาชนจะเลือกอะไร ก็จะโดนล้ม หรือเอาการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ไม่ว่าเราจะเลือกด้วยวิธีสุจริตแค่ไหน หรือมีความหวังแค่ไหน แต่ก็จะมีกลวิธีบางอย่าง ทำให้เสียงของเราโดนกลบไปอยู่ดี 

“แต่ว่าระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศหนึ่ง กว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ มันไม่ได้จบที่รุ่นเรา อาจจะใช้เวลาอีก 40-50 ปี จริงๆ เราควรมีความหวังชนิดนี้ไว้ ดำรงความเชื่อของตัวเองต่อไป สู้ต่อไป”

เธอให้เหตุผลประกอบว่า ความหวังเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะพลวัตทางสังคมที่เติบโตขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะจากกระแสความคิดใหม่ๆ จากพรรคการเมือง หรือนักการเมืองหน้าใหม่ 

“มันไม่ใช่แนวคิด แต่มันคือวิถีชีวิตของคนในรุ่นนี้ด้วย เมื่อ 10 ปีก่อน ไม่มีใครคิดว่าผู้ชายกับผู้ชายแต่งงานกันได้ง่ายขนาดนี้ แต่ทุกวันนี้ ทุกคนพูดเรื่อง ‘ทำไมผู้ชายกับผู้ชาย หรือผู้หญิงกับผู้หญิงถึงแต่งงานกันไม่ได้ล่ะ’ มันเป็นเรื่องปกติมากเลย

“แล้วสิ่งนี้กลายเป็นความปกติในสังคม ซึ่งมันเป็นผลพวงจากการพัฒนาแนวคิดประชาธิปไตยของเรา เมื่อตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราโดนล้มแล้วล้มอีก คือความคิดของสังคมมันโต” 

ก่อนจะจากกัน เราถามคำถามสุดท้ายกับเจ้าของร้านพาสต้า-เค้กโฮมเมดแห่งนี้ว่า หากฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ Mad Sugar จะมีโปรเจกต์พิเศษออกมาหรือไม่?

เธอตอบสั้นๆ ทิ้งท้ายพร้อมหัวเราะว่า “มีแน่นอน แต่น่าจะได้ทำเค้กวิจารณ์มากกว่า ซึ่งก็ต้องดูทิศทางการเมืองกันต่อไป”

อ้างอิง

https://www.facebook.com/madsugarbkk/posts/2848282025492698/

https://www.facebook.com/madsugarbkk/posts/2789509171369984/

https://www.sanook.com/news/8577442/

 

Fact Box

ร้าน Mad Sugar ตั้งอยู่ถนนเจริญกรุง 26 เปิดทุกวัน เวลา 11.00-21.00 ยกเว้นวันอังคารติดต่อสอบถามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Mad Sugar Bakery&More หรือทวิตเตอร์ @MadSugarBKK 

Tags: , , , , , , , , ,