เมื่อกล่าวถึงถนนทรงวาดย่อมนึกถึงย่านเมืองเก่าที่รายล้อมไปด้วยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมโบราณ ในเส้นถนนทรงวาดมีตรอกซอกซอยมากมาย หนึ่งในนั้นมีตรอกที่เชื่อมระหว่างสำเพ็ง ย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพฯ กับถนนทรงวาด ชื่อว่า ‘ตรอกสะพานญวน’ ตรอกเล็กๆ แห่งนี้เองที่เชื่อมโยงกลุ่มเพื่อนทั้ง 4 คน อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Hybe Songwat 

ไฮบ ทรงวาด (Hybe Songwat) เกิดจากการรวมตัวของเพื่อน 4 คน ‘แพรว’ – อภิชญา มณีรัตนะพร, ‘นิ้ง’ – นภัสนันท์ เอกวรงค์กุล, ‘เหมียว’ – ปิยาภา วิเชียรสาร และ ‘พิม’ – ชโลชา นิลธรรมชาติ

เดิมทีหุ้นส่วนทุกคนมีธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ หรือร้านเสื้อผ้า ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นและประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน ทำให้อยากทำธุรกิจที่มีสไตล์เป็นของตนเอง เพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น 

“เราอยากทำร้านอาหารที่ลูกค้าต้องจองเข้ามา เพื่อที่จะได้เตรียมอาหารให้พอดีกับจำนวนลูกค้าและไม่ต้องเหลือทิ้ง พอโตขึ้นเราเริ่มคิดว่า ทำไมร้านกาแฟถึงใช้แต่แก้วพลาสติก ทำให้เกิดขยะ เราจึงกลับมาคิดเรื่องการแยกขยะและความยั่งยืนมากขึ้น”

พิม หนึ่งในหุ้นส่วนร้านเล่าให้ฟังถึงการเติบโตของแนวคิดในการทำร้าน เพื่ออธิบายเหตุผลว่าทำไมไฮบ ทรงวาดต้องทำการจองเข้ามาก่อนเท่านั้น 

Hype to Hybe 

‘Hybe’ (ไฮบ) เกิดจากการตั้งคำขึ้นมาใหม่โดยมีพื้นฐานเดิมมาจากคำว่า ‘Hype’ มีการเปลี่ยนตัว P เป็นตัว B คำว่า ‘ไฮป์’ เป็นคำที่รู้จักกันดีในวงการรองเท้าสนีกเกอร์ หมายถึงรองเท้าที่ทำยอดขายได้ดี หากมีรองเท้ารุ่นพิเศษที่ผลิตออกมาจะมีจำนวนจำกัด มีรายละเอียดคุณภาพที่ดี หรือร่วมออกแบบกับศิลปินคนดัง ก็จะยิ่งทำให้รองเท้าเหล่านั้นมีความไฮป์มากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้จึงเลือกใช้คำว่า ‘ไฮบ’ เพื่อสื่อถึงลักษณะความลิมิเตด ความหรูหรา ความเฉพาะตัว ซึ่งถูกต่อยอดเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับร้าน อย่างการทำเพลงขึ้นมาเองโดยได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์เดินทาง โทรทัศน์โบราณหลากหลายเครื่องที่อยู่ทั่วทุกมุมร้านที่ฉายวิดิโอแนวสตรีทเล่าเรื่องราวการเดินทางที่หุ้นส่วนทั้งสี่คนถ่ายทำกันเองระหว่างท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งจานทุกใบก็ถูกดีไซน์มาเฉพาะเพื่ออาหารแต่ละเมนู ทุกอย่างมีล้วนเรื่องราวและที่มา เพื่อเติมเต็มความเป็น ‘ไฮบ ทรงวาด’

กราฟิกและอินทีเรีย

ตึกแถวเลขที่ 393 เคยเป็นโกดังเก่าแก่อายุเกือบยี่สิบปี ซ่อนตัวอยู่ในตรอกสะพานญวน ถนนทรงวาด โดดเด่นด้วยประตูโค้งสีขาวที่เพนต์ด้วยลวดลายกราฟฟิตี้และตัวหนังสือที่บันทึกเรื่องราวความทรงจำประทับใจทั้งหมดที่ได้จากการเดินทาง ด้านข้างของประตูมีป้ายรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำหน้าที่ให้ข้อมูลตึก ถือเป็นกิมมิกเล็กๆ ชั้นแรกเป็นร้านอาหาร ส่วนชั้นสองเป็นบาร์สีชมพู ‘Shuushuu’ ที่มีเหล้าบ๊วยเป็นตัวชูโรง

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาในร้านก็ทำให้รู้สึกประหลาดใจ ด้วยการออกแบบที่เพิ่มความกว้างให้กับพื้นที่ ด้วยการยกเพดานสูงและติดกระจกรูปทรงครึ่งวงกลมไว้ถึงสองแห่ง ด้านในเน้นคงสภาพเดิมที่เป็นเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมตึกเก่าเอาไว้ ตกแต่งด้วยสีเขียว ฟ้า และไม้ เพื่อเพิ่มสีสัน ความทันสมัย ผสมผสานกับกราฟิกการตกแต่งภายในที่เข้ากันได้อย่างลงตัว 

ด้วยคอนเซ็ปต์หลักของร้านที่ตระหนักถึงความยั่งยืน พยายามซื้อของใหม่ให้น้อยที่สุด แม้แต่เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดในร้านก็ใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์มือสอง ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ไม้โซฟายาวก็ถูกรีดีไซน์ให้บุนวมสีเขียวใหม่เอี่ยม ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่นำมาดัดแปลงมาจากร้านกาแฟที่มีอยู่แล้ว ที่แขวนไวน์ หรือโคมไฟที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ มีกิมมิกเล็กๆ อย่างการใช้ตัว H ตามด้วยเลขโต๊ะซึ่ง H ย่อมาจาก Hybe นั่นเอง 

Journey Inspired

แนวคิดหลักของร้านเกิดจากประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ พวกเธอใช้เวลาเกือบ 2 อาทิตย์ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ศึกษา ชิม พร้อมนำวัตถุดิบจากท้องถิ่นกลับมาทำคอร์สในสถานที่เดิมทุกๆ 4 เดือน จากนั้นค่อยเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ไปเรื่อยๆ

แรกเริ่ม ไฮบ ทรงวาดเริ่มต้นเดินทางที่ประเทศเวียดนาม เพราะตรอกสะพานญวนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวเวียดนามมาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางครั้งที่ 3 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาการท่องเที่ยวจังหวัดสกลนครและบึงกาฬ

ถูกใจอะไรใน ‘สกลนคร’

พิม หนึ่งในหุ้นส่วนเล่าว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถออกจากประเทศได้ ขณะเดียวกัน ก็อยากลบคำสบประมาทว่า ‘คนสกลนครชอบกินหมา’ ซึ่งเป็นความคิดที่คนสกลนครโดนจำกัดความไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะพยายามเพาะพืชพันธุ์เกษตร หรือเลี้ยงวัวพันธุ์ดีที่สุดก็ไม่อาจลบล้างคำเหล่านี้ได้ 

เอกลักษณ์อาหารสกลนครคือ วัวดำ ไก่ดำ หมูดำ ที่มีเฉพาะที่จังหวัดสกลนครและบึงกาฬ ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในอีสาน ด้วยวิธีการทำและวิธีการกินอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร 

คำว่า ‘ละเบ๋อ’ คล้ายคลึงกับคำว่า ‘อีหลี’ เป็นคำสร้อยที่จังหวัดสกลนครนิยมใช้ต่อท้ายประโยคบอกเล่า เพื่อย้ำคำพูดนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น เมื่อนำมาเล่นคำประกอบเป็นชื่อคอร์ส จึงคล้องจองกับคำว่า ‘Laboratory’ ที่กลายเป็นห้องทดลองความละเบ๋อ ชวนเปิดประสบการณ์ใหม่กับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปยังจังหวัดสกลนครและบึงกาฬ


LA BÛR (ATORY) ละ-เบ๋อ- (ลา-โท-รี่)

กินหมาก: ไม้ พลู หมาก

เมนูเรียกน้ำย่อยเปิดต่อมรับรสด้วยการกินหมาก ได้แรงบันดาลใจจากอดีต สมัยก่อนเวลามีแขกมาบ้าน เจ้าของบ้านมักจะต้อนรับด้วยหมาก ไม่ต่างจากการเสิร์ฟน้ำเปล่าในสมัยนี้ หมากจึงถูกเลือกเป็นเมนูต้อนรับในคอร์สสกลนคร

วิธีการกินหมากนั้นไม่ใช่เพียงแค่เคี้ยวหมากเฉยๆ แต่ต้องเตรียมตัวก่อนอย่างการเคี้ยวไม้แก่นคูณเพื่อปรับสภาพฟันให้พร้อมสำหรับการเคี้ยวหมาก ร้านไฮบได้แปลงโฉมให้กลายเป็นแครกเกอร์ข้าวคั่วสอดไส้กับตับบดแซ่บที่มีสีน้ำตาลมาแทนไม้แก่นคูณ ตามด้วยข้าวเหนียวร้อนๆ ห่อด้วยใบพลูย่างไฟจนมีกลิ่นหอม กินกับน้ำพริกมะเขือ เสิร์ฟพร้อมซัลซามะเขือเทศกับกะปิ โรยด้วยหอมเจียวทอดแทนลูกหมากสีแดงที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการกินหมาก 

ปลาส้มยำหน่อไม้: ปลาส้มกรอบ ข้าวจี่ ยำหน่อไม้ดอง

หลังจากเปิดต่อมรับรสแล้ว เมนูถัดมาคือปลาส้มยำหน่อไม้ ที่นำเสนอเรื่องการถนอมอาหารของคนอีสาน จานนี้ถูกเสิร์ฟในลักษณะคล้ายซูชิ ด้านล่างเป็นปลาส้มทอด ตรงกลางเป็นข้าวเหนียวจี่ ด้านบนคือยำหน่อไม้ โรยด้วยผักสมุนไพร รสชาติกรอบเปรี้ยวเค็มหวานในคำเดียว

นอกจากนี้ ดีไซน์จานของเมนูปลาส้มยำหน่อไม้ยังถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะเปลือกหอยหลอดผสมดิน แล้วเคลือบธรรมชาติจนเป็นเซรามิกสวยงาม

ขุดดิน: มันหวาน กะทิ ใบมะกรูด ดินกรอบ

จากประสบการณ์จริงที่ได้ลงพื้นที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร พบว่าภาคอีสานไม่ได้แห้งแล้งดังที่คิด สามารถปลูกมันหวานได้ โดยดึงลักษณะจากการลงมือขุดดินมานำเสนอเป็นรูปแบบอาหารที่แปลกใหม่ นำเอามันหวานสกลนครมารังสรรค์เป็นรีซอตโตด้านล่าง แล้วก็ทำเป็นโฟมเอสพูมา โรยด้วยใบมะตูมแขก แม้กระทั่งจานก็มาจากดินสกลนครเคลือบธรรมชาติ ทุกจานทำมาเพื่อแต่ละเมนู

ไก่ดำ: ไก่ดำภูพาน ใบชะมวง ส้มแขก ข้าวเหนียวฮางงอก

เมนูคอร์สจานเด่นของละเบ๋อลาโทรี ที่ดึงเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนครด้วย ‘ไก่ดำภูพาน’ เสิร์ฟพร้อมใบชะมวงและข้าวเหนียวฮางงอก ราดด้วยซอสส้มแขก รสชาติเปรี้ยวหวาน

เมนูทั้ง 9 จานในละเบ๋อลาโทรี ชวนให้คุณลองมาสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวและการเดินทางที่มากด้วยสีสันของจังหวัดสกลนครและบึงกาฬ สามารถเลือกเมนูหลักได้ระหว่างไก่ดำภูพาน ราคา 2,190 บาท หรือเนื้อไทย-วากิว สกลนคร ราคา 2,890 บาท (ราคานี้ยังไม่รวมค่าบริการ 10%) และต้องทำการจองก่อน จำกัดจำนวนลูกค้าต่อวันไม่เกิน 8 ท่านเท่านั้น นอกจากนี้ที่ไฮบยังมีบริการเดลิเวอรี สามารถสั่งได้ที่ LINE: @hybesongwat

 

อ้างอิง

https://www.soul4street.com/1465822434วิวัฒนาการของสตรีทแฟชั่นในช่วง-10-ปีที่ผ่านมา-และอะไรคือความหมายของคำว่า-quot-hype-quot/

Fact Box

Hybe Songwat

ที่ตั้ง: 393 ตรอกสะพานญวน ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100

เวลาทำการ: 19.00 น. - 23.00 น. (ปิดทุกอังคาร)

ไม่มีที่จอดรถ

Instagram: @hybe.songwat 

Facebook: hybe.songwat

สำรองโต๊ะล่วงหน้าและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่: LINE @hybesongwat หรือ โทร. 0-2120-7789 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป

 

Tags: , , , ,