‘บ้านแนวฝรั่งที่ออกแบบผ่านหลักฮวงจุ้ย ใช้ข้าวของที่ดีที่สุดในยุโรป แต่กลับตบแต่งด้วยลวดลายแบบชาวจีน’ หากพิจาณาถึงคำอธิบายเพียงเท่านี้ คงยากที่จะจินตนาการว่าบ้านที่ผสมผสานวัฒนธรรมจีนและยุโรปเข้าด้วยกันในหลากหลายองค์ประกอบ จะหน้าตาแบบไหน และการควบรวมสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน จะทำให้อาคารบ้านเรือนสวยงามได้อย่างไร
ทว่าในปี 2466 ได้เกิดบ้านสไตล์นี้ในจังหวัดภูเก็ตขึ้นมา
บ้านหลังนี้ชื่อว่า ‘ชินประชา’ ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ เป็นบ้านขนาดใหญ่ 2 ชั้น มีลักษณะหน้าแคบ แต่อาคารยาวลึกเข้าไป ตรงกลางบ้านมีบ่อน้ำขนาดใหญ่สวยงาม ที่สำคัญคือลักษณะการตกแต่งเป็นไปตามที่กล่าวข้างต้นคือ มีการผสมผสานระหว่างจีนกับยุโรปในแทบทุกมุมของบ้าน อีกทั้งยังจำกัดความบ้านสไตล์ดังกล่าวเอาไว้ว่า ‘ชิโน-โปรตุกีส’
บ้านหลังนี้เป็นของ พระพิทักษ์ชินประชา ชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาทำธุรกิจในภูเก็ต ซึ่งในปัจจุบัน ชนะชนม์ ตัณฑวณิช คือทายาทรุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ดูแลบ้านในปัจจุบัน
วันนี้บ้านชินประชาตอบคำถามจนสิ้นสงสัยแล้วว่า บ้านสไตล์จีน-ยุโรป ตามความหมายของ ชิโน-โปรตุกีส นั้นงดงามเพียงใด แต่คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ เหตุใดกันเล่า เราจึงต้องเอาความเป็นจีนและยุโรป มาใช้ในการปลูกบ้านในจังหวัดภูเก็ต อะไรคือความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ของทั้งสามพื้นที่นี้
The Momentum ขอชวนผู้อ่านทำความเข้าใจเรื่องราวของ ชาวจีนฮกเกี้ยน และเพอรานากัน ที่สะท้อนผ่านบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส หลักฐานที่บ่งบอกว่า ตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง
คำว่า เพอรานากัน (Peranakan) ชนะชนม์อธิบายว่า หากแปลอย่างตรงตัวหมายถึงกลุ่มคนลูกครึ่งจีน-มลายู ที่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มีพื้นเพอยู่ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย แต่หากขุดคุ้ยในเชิงประวัติศาสตร์จะพบว่า ความหมายของเพอรานากันไม่ได้ครอบคลุมเพียงแค่ด้านวัฒนธรรมเพียงเท่านั้น
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามฝิ่นในเมืองจีน ทำให้ชาวจีนฮกเกี้ยนจากมณฑลฝูเจี้ยน ตัดสินใจเดินทางออกมาจากเมืองจีน เพื่อหาช่องทางทำมาหากิน ชาวจีนกลุ่มนี้เดินทางผ่านสิงคโปร์, มะละกา และปีนังในมาเลเซีย เพื่อค้าขายกับคนในพื้นที่นั้นก่อน
“ซึ่งคุณต้องเข้าใจว่า ย้อนกลับไปตอนนั้น การเดินทางข้ามน้ำ ข้ามทะเล มันอันตรายมากนะ เขาจึงไม่พาลูก พาเมียไปด้วย ชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่เดินทางมาจึงมีแต่ผู้ชายเท่านั้น แต่ในการค้าขาย หากให้มันเจริญรุ่งเรือง ก็ต้องมีหน้า มีตา เป็นที่รู้จักในพื้นที่ใช่ไหม ไหนจะเรื่องลูกเมียที่ไม่ได้เดินทางตามมาอีก
“ทำให้ในช่วงนั้นจะมีเหตุการณ์ที่ชาวจีน เริ่มแต่งงานกับสาวมาเลเซียขึ้น แต่ด้วยความที่ทั้งคู่ ต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ไม่รู้ว่าในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในงานแต่ง รวมถึงเสื้อผ้า การแต่งกาย บ้านเรือนจะใช้แบบจีนหรือมลายูดี ตอนนั้นจึงเกิดการผสมผสาน เอาจีนมาผสมกับมลายู กลายเป็น เพอรานากัน หรือที่แปลว่าเกิดที่นี่ขึ้นมา สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของคนจีนมาอาศัยอยู่คาบสมุทรมลายู” ชนะชนม์เล่า
ก่อนที่ต่อมา ชาวจีนฮกเกี้ยนที่กลายเป็นเพอรานากันเดินทางต่อมายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อทำธุรกิจขุดเหมืองดีบุก และในตอนนั้นเองที่วัฒนธรรมเพอรานากันแพร่เข้าประเทศไทย จนนำไปสู่การเกิดบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ในเวลาต่อมา
หากพูดถึงอาคารและบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ชนะชนม์ให้จำกัดความเอาไว้ว่า ‘บ้านสไตล์ยุโรปที่ตกแต่งด้วยความเป็นจีน’
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในอดีตมาเลเซียเป็นเมืองอาณานิคมของประเทศโปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษตามลำดับ ทำให้ชาวจีนที่กลายเป็นเพอรานากันช่วงเวลานั้น ต้องปรับตัวเพื่อหวังคบค้ากับชาวต่างชาติ ด้วยการเริ่มหันมาแต่งตัวสไตล์ยุโรป พูดภาษาอังกฤษ และเริ่มสร้างบ้านเหมือนกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น
“คุณเป็นคนมาจากประเทศอื่น ถ้าอยากให้เขาเคารพ ก็ต้องทำตัวให้เหมือนเขา ทำตัวให้มีเกียรติ ทำตัวให้ดูรวย ดูมีฐานะ”
แต่ในส่วนของการสร้างบ้านและอาคารนั้น แม้จะต้องปรับให้มีความยุโรปมากแค่ไหน แต่ชาวจีนในยุคนั้นก็ยังคงเก็บรายละเอียดบางอย่างแบบจีนเอาไว้อยู่ บ้านที่เกิดขึ้นมาจึงกลายเป็นการผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรมเข้าด้วย จนกลายเป็นชิโน-โปรตุกีส ขึ้นมา” ชนะชนม์เล่า
ทำให้หลังจากที่ชาวจีนบางส่วนเดินทางจากมาเลเซียมาภูเก็ตเพื่อทำธุรกิจเหมืองดีบุกต่อ ลักษณะการสร้างสไตล์ชิโน-โปรตุกีสจึงเผยแพร่มาตามมาในช่วงปี 1900 ซึ่งมีทั้งเตี้ยมฉู่ที่เป็นตึกแถว และอังม่อหลาวที่เป็นบ้านหรือคฤหาสน์
โดยบ้านชินประชาถือเป็น อังม่อหลาว (แปลว่า บ้านของคนหัวแดงหรือชาวยุโรป) แห่งแรกที่สร้างขึ้นในภูเก็ต
บ้านชินประชาสร้างขึ้นในปี 1903 โดยมีเจ้าของคือ พระพิทักษ์ชินประชา (ตัน ม่าเสียง) ลูกของหลวงบำรุงจีนประเทศ (ตัน เนียวยี่) ข้าราชการทหารจีน ที่เดินทางมาทำเหมืองแร่ดีบุกในเกาะภูเก็ต และทำธุรกิจค้าขายโดยใช้ชื่อบริษัทว่า เหลียนบี้ ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะพระราชทานนามสกุลให้เป็น ตัณฑวณิช ในเวลาต่อมา
โดยปัจจุบัน ชนะชนม์คือทายาทรุ่นที่ 5 มีหน้าที่ดูแล รวมถึงเป็นผู้นำทัวร์ภายในบ้านชินประชา คอยให้ความรู้ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมภูเก็ตผ่านบ้านหลังนี้
สำหรับบ้านชินประชา มีลักษณะเป็นบ้านที่หน้าแคบ แต่ตัวบ้านยาวลึกเข้าไป แบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนหน้า สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน ส่วนกลางเป็นส่วนห้องโถงใหญ่ของบ้าน และส่วนหลังที่เป็นห้องกินข้าวและห้องครัว
เหตุผลที่บ้านต้องมีลักษณะ ‘หน้าแคบ ตัวยาว’ เช่นนี้ ชนะชนม์เล่าว่า เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อกันมาจากมาเลเซีย ช่วงที่เนเธอแลนด์เข้ายึดครอง ในตอนนั้น ชาวดัตช์ออกกฎหมายเก็บค่าที่ดินของบ้านและอาคาร โดยวัดความกว้างจากหน้าบ้าน คนจีนในพื้นที่จึงใช้วิธีสร้างบ้านหรือตึกแถวให้ด้านหน้ายาวไม่เกิน 5 เมตร เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ แต่ก็จะทดแทนความกว้างที่หายไป ด้วยความยาวแทน
‘ของต้องดีแบบยุโรป แต่ต้องจัดวางด้วยฮวงจุ้ยแบบจีนเท่านั้น’ 2 อย่างนี้คือโจทย์สำคัญในการสร้างบ้านชินประชา
คำว่าของต้องดีแบบยุโรปหมายถึง การใช้วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ชั้นเยี่ยมที่สุดเท่าที่จะหาได้ในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่รูปแบบของเสาทรงโรมัน กระเบื้อง โต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องใช้ต่างๆ ทำให้ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ก็ยังใช้งานได้อยู่ แม้เวลาจะผ่านไปกว่าหนึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
ส่วนการจัดวางด้วยฮวงจุ้ยแบบจีน ชนะชนม์เผยว่า นี่คือความชาญฉลาดของชาวจีนในการออกแบบและจัดองค์ประกอบของบ้านให้อากาศเย็น ถ่ายเท ผู้อาศัยสามารถอยู่ได้ เนื่องจากในสมัยก่อนบ้านเรือนไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้
จึงเป็นเหตุให้บ้านชินประชามีการออกแบบประตูในลักษณะ 1-2-1-2 กล่าวคือ หากประตูหน้าบ้านมี 1 บาน ประตูในห้องถัดมาหลังจากนั้นจะต้องมี 2 บาน และประตูในห้องถัดไปจะต้องมี 1 บาน โดยในมุมของฮวงจุ้ยจะถือเป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายไหลเข้าไปในบ้าน แต่ในมุมของนักออกแบบเรื่องนี้คือการทำทางให้อากาศถ่ายเท ตัวบ้านเย็นสบายตลอดทั้งหลัง
รวมถึงการออกแบบในส่วนของหลังบ้านให้ต่ำกว่าตัวบ้าน ที่ในเชิงความเชื่อหมายถึงวิธีการทำให้เงินไหลลงมากองอยู่ในตัวบ้าน ทำให้ผู้อาศัยมั่งคั่ง ร่ำรวย แต่ในมุมนักออกแบบยังหมายถึงการทำให้ผู้ที่นั่งอาศัยอยู่หลังบ้านรู้สึกเย็นสบาย เพราะการออกแบบพื้นให้ต่ำลง จะทำให้อากาศร้อน ลอยตัวสูงไปยังห้องอื่นที่อยู่เหนือกว่า
แน่นอนว่า ฉิ่มแจ้ บ่อน้ำทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ตั้งอยู่กลางบ้านก็สร้างด้วยจุดประสงค์นี้เช่นกัน โดยนอกจากเป็นเอกลักษณ์และความสวยงามของบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีสแล้ว ฉิ่มแจ้ยังมีหน้าที่ช่วยให้อากาศถ่ายเท รวมถึงให้แสงสว่างในช่วงกลางวันกับผู้ที่อยู่อาศัยภายในบ้าน
“ที่ต้องทำแบบนี้เพราะบ้านเราสภาพอากาศไม่เหมือนบ้านเขา จะให้สร้างบ้านแบบยุโรปที่เขาเอาไว้กันลมหนาว เราอยู่ไม่ได้หรอกร้อนตาย เลยต้องอาศัยการออกแบบของจีนเข้ามาช่วย ให้บ้านมันโปร่ง มันสบาย มันอยู่ได้” ชนะชนม์เล่า
ปัจจุบัน บ้านชินประชาย้ายห้องนอนที่ควรอยู่ชั้นบน มาจัดแสดงอยู่ที่ชั้นล่างของบ้านแทน โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ชนะชนม์เล่าว่า ในช่วง ค.ศ. 1992 โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) ผู้กำกับชื่อดังชาวสหรัฐอเมริกา เดินทางมาถ่ายทำหนังเรื่อง Heaven & Earth จึงติดต่อขอเช่าบ้านชินประชา สำหรับเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และหลังจากนั้นบ้านชินประชาก็ได้รับการติดต่อและเช่าสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์มาโดยตลอด
จึงทำให้ชนะชนม์ที่อาศัยอยู่ในบ้านช่วงเวลานั้น ต้องย้ายมานอนที่ชั้นล่างของตัวบ้านแทน เพื่อความสะดวกในการเข้า-ออกห้อง จึงทำให้ห้องอ่านหนังสือที่อยู่บริเวณชั้นล่างของบ้าน กลายเป็นห้องนอนแบบที่เห็นในปัจจุบัน
‘ทำไมบ้านชินประชาที่อยู่ในไทยจึงไม่มีการตกแต่งแบบไทยเลย’
เรื่องนี้ชนะชนม์อธิบายว่า สาเหตุสำคัญคือปัญหาด้านการเดินทาง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะ การเดินทางไปกรุงเทพฯ เมื่อ 100 กว่าปีก่อนใช้เวลานานถึง 10 วัน ซึ่งต้องเดินทางโดยเรือไปยังจังหวัดพังงา สุราษฎร์ธานี แล้วขึ้นไปยังกรุงเทพฯ ต่อ
การเดินทางลงใต้ไปที่ปีนังและมาเลย์ ซึ่งมีการเดินเรือตลอดเวลา เนื่องจากธุรกิจเหมืองแร่ในช่วงนั้น จะเป็นวิธีการที่ง่ายกว่า เพราะใช้เวลาเพียงแค่ 1 วันเพียงเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้บ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส แม้จะอยู่ในไทยก็จะมีการตกแต่งโดยวัสดุและเฟอร์นิเจอร์จีนและยุโรป ที่มีขายในมาเลเซียเป็นหลัก
จนกระทั่งในเวลาต่อมาที่การเดินทางเริ่มสะดวกขึ้น จึงจะเห็นการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบไทยบ้าง อย่างในบ้านชินประชาก็จะมีตู้ทรงไทย ตั้งอยู่ในบ้านเช่นกัน
สรุปต้องเรียกว่าบ้าน สไตล์ชิโน-โปรตุกีส หรือชิโน-ยูโรเปี้ยน
แม้จะมีการตั้งคำถามถึงคำว่า โปรตุกีส ว่าเกี่ยวข้องกับการตกแต่งสไตล์จีนและยุโรปอย่างใด เหตุใดจึงต้องเจาะจงเพียงแค่ประเทศโปรตุเกสเท่านั้น แต่ชนะชนม์ยืนยันว่า คำว่า ชิโน-โปรตุกีส ไม่ได้อธิบายการตกแต่งบ้านของภูเก็ตในเชิงศิลปะ แต่เป็นเชิงประวัติศาสตร์มากกว่า ว่าการตกแต่งสไตล์เพอรานากันนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซียและโปรตุเกสที่เป็นประเทศอาณานิคมในตอนนั้น
“เพราะหากจะใช้คำว่า ชิโน-ยูโรเปี้ยน มันก็ไม่จบอีก มันก็ถามต่อว่ายูโรเปี้ยนไหน ประเทศอะไรก็เป็นคำถามต่ออยู่ดี ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ใช้คำว่า ชิโน-โปรตุกีส เพราะอย่างน้อยมันยังอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ได้ชัดเจนกว่า ในฐานะที่เป็นยุโรปคนแรกที่เข้ามาในมาเลเซีย”
เสน่ห์ของบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีสคืออะไร
ชนะชนม์เผยว่า ที่ผ่านมาตนใช้ชีวิตหลากหลายประเทศทั้งไทย อังกฤษ และมาเลเซีย จึงมีโอกาสได้เห็นศิลปะและสถาปัตยกรรมค่อนข้างหลากหลาย แต่บ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีสมีความโดดเด่นเรื่องการ ‘ผสมผสาน’ ที่ลงตัว
“ผมมองว่าเสน่ห์ของบ้านหลังนี้ คือการที่หลายๆ อย่างมารวมตัวกันได้อย่างลงตัวนะ ทั้งของจีน มาเลเซีย และไทยเองก็ตาม ทุกวันนี้ผ่านมา 120 ปีแล้วยังมีคนเดินเข้ามาแล้วบอกกับผมว่าสวยจัง สวยกว่าบ้านเมืองเขาอีก บางคนก็เป็นฝรั่งด้วยนะ ซึ่งผมก็สงสัยว่าทำไมเขาถึงมองแบบนี้ เพราะบ้านหลังนี้ก็ได้อิทธิพลมาจากเมืองเขาทั้งนั้น (หัวเราะ)”
บ้านชินประชา ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สามารถสอบถามารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ โทร. 076-211 281
Fact Box
สำหรับบ้านชินประชา ตั้งอยู่ที่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์: 076-211-281