หากต้องมีนิยามคำว่าภูเก็ตวันนี้คุณนึกถึงอะไร?

คุณจะมองในแง่บวก ในฐานะจังหวัดที่น้ำทะเลสีมรกตใส เป็นดินแดนที่หาดทรายสีขาว มองเห็นพระอาทิตย์ตกดินสีแดงเรื่อ หรือคุณจะมองในแง่ลบ ในฐานะจังหวัดที่ทุกอย่างแพงลิบลิ่ว นับตั้งแต่จองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม เป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยมาเฟีย เต็มไปธุรกิจสีเทา หรือเป็นดินแดนที่คนไทยไม่ได้เป็นเจ้าของอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นพื้นที่ ‘พหุวัฒนธรรม‘ ของคนหลากเชื้อชาติจากทั่วโลก

อันที่จริงหากย้อนเวลากลับไป ประวัติศาสตร์ของภูเก็ตแทบจะตัดขาดจากพื้นที่อื่นของประเทศนี้ เกาะแห่งนี้มีภาษาบางอย่างเป็นของตัวเองสืบจากวัฒนธรรมผสมจีน-มลายู ตะกร้า ‘เสี่ยหนา’ ตะกร้า-ปิ่นโตแบบจีน ถูกใช้ในงานพิธีมงคลต่างๆ ภูเก็ตมีอาหารอันโอชะเป็นของตัวเอง ทั้งหมี่ฮกเกี้ยน หมี่หุ้น โลบะ และโอต้าว ขณะเดียวกัน ลวดลายกระเบื้องบนเกาะแห่งนี้เป็นลายนกฟีนิกซ์ ไม่ใช่มังกรที่เป็น ‘ของสูง‘ บ่งบอกถึงตำนานนับร้อยปี

และย้อนกลับไปก่อนการเปิดจังหวัดในฐานะเมืองท่องเที่ยว ทุนภูเก็ตจำนวนไม่น้อยล้วนเป็นตระกูลเก่าสืบทอดมาตั้งแต่ยุคกิจการเหมืองแร่เฟื่องฟู คนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน อดีต ‘นายเหมือง’ เหล่านี้ต่างก็มีส่วนร่วมก่อร่างสร้างประวัติศาสตร์

ขณะที่อาคารในตัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นอังม่อหลาว ไม่ว่าจะเป็นอาคารเตี้ยมฉู่ ใจกลางเมืองภูเก็ตล้วนเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความเป็นไป ที่ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนสมาทานความเป็น ‘ครอบครัว’ อันเข้มแข็ง เหนียวแน่น ทุกอย่างผสานรวมกันบ่งบอกว่า ที่นี่คือดินแดนไข่มุกอันดามัน ที่น้ำทะเลเป็นประกายสีมรกตกับฟ้าสีครามบรรจบกัน

The Momentum ลงพื้นที่ภูเก็ต ชวนย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ ฟังเรื่องเล่าจากคนเก่าแก่ หนึ่งในตระกูลสำคัญ ค้นหาความหมาย นัยทางประวัติศาสตร์ของไข่มุกอันดามันจากหลากมุมมอง และร่วมกันมองอนาคตของเกาะแห่งนี้ ทั้งแง่บวกและแง่ลบว่า ยังมี ‘โอกาส’ อะไรที่น่าสนใจอีกหรือไม่ ในซีรีส์ Phuket Cityscape: Faces of the Pearl

ติดตาม Phuket Cityscape: Faces of the Pearl ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน

Tags: , , ,