ชายแดน ลูกหลานผู้ลี้ภัย และประวัติศาสตร์พื้นถิ่น

เหล่านี้คือคำจำกัดความตัวตนของ เฟื่อง-มาริษา ศรีจันแปลง ศิลปินหญิงที่นิยามตนเองว่า เป็นผู้ทำงานในพื้นที่ที่เรียกว่าเส้นพรมแดน ความเป็นปัจเจก ความทรงจำของครอบครัว และสิ่งที่ได้ผลกระทบจากสงคราม 

หากย้อนกลับไปในวัยเด็กของมาริษา เธอคือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตในจังหวัดสุรินทร์ ชายแดนไทย-กัมพูชา ก่อนจะ ‘ออกจากบ้านครั้งแรก’ ด้วยการเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ นั่นทำให้เธอเริ่มตระหนักและตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ทางสังคม จนมีโอกาสกลับมาสำรวจบ้านของตนเองและพบว่า สังคมชนบทถูกครอบด้วย ‘ความไม่เท่าเทียม’ เชิงนโยบายและการกระจายอำนาจ รวมถึงวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาอันมีค่าบางอย่างของท้องถิ่นกำลังเลือนหายไป

มาริษาเติบโตขึ้นมาในบ้านหลังหนึ่งท่ามกลางภาพ ‘กรอบรูปสีขาวดำ’ ของผู้จากไปอย่างไร้สาเหตุ ที่เธอต้องไหว้ก่อนไปโรงเรียนทุกวัน รวมถึงภาพจำของแม่ที่ทำงานหนักตั้งแต่เล็กจนโต คุณยายที่มีอาการป่วยหนัก และเรื่องของคุณน้าที่อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา

ไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งเธอจะได้รับรู้ว่า เบื้องหลังของเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากสงครามและเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2518-2522 นำมาสู่ผลกระทบมหาศาลในครอบครัวของเธอ ตั้งแต่แม่ที่ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูผู้รอดชีวิต อาการป่วยของคุณยายจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภาพกรอบรูปสีดำของผู้จากไปในฐานะเหยื่อของสงคราม หรือแม้แต่ชีวิตของคุณน้าที่สหรัฐฯ ในฐานะ ‘ผู้ลี้ภัย’

จากผลงาน T360174 ที่พูดถึงความทรงจำของครอบครัวในฐานะผู้ลี้ภัย วันนี้ มาริษากลับมาอีกครั้งกับผลงาน ‘ผกา เดอ พลอว’ (Blooms with The Wind Blows) เรื่องราวของดอกไม้ ครอบครัว และผู้คนที่จากไป เพราะสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา 

“เฟื่องอยากพูดถึงการตามหาความทรงจำของครอบครัวที่กระจัดกระจายไปเพราะสงคราม โดยเห็นพื้นที่และความทรงจำของคนธรรมดา ที่เป็นทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูกสาว และที่รักของใครคนหนึ่ง รวมถึงความเป็นปัจเจกบุคคล ผ่านการเดินทางตามหาและถ่ายภาพของดอกไม้ ประกอบกับเรื่องราวพื้นถิ่นที่จะหายไปพร้อมคนรุ่นก่อน เราจึงอยากเล่าเรื่องพวกนี้ให้ทุกคนฟัง แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด แต่ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงไปถึงความเป็นคนธรรมดา หรือความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้แบ่งด้วยเส้นพรมแดนเพียงอย่างเดียว”

1

หากกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของผกา เดอ พลอว ต้องย้อนกลับไปการจัดแสดงผลงานครั้งก่อนของมาริษา คือ T360174 ใน Early Year Project #6 นิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของ BACC ที่บอกเล่าความทรงจำครอบครัวเชื้อสายไทย-กัมพูชาของเธอในชายแดนบริเวณจังหวัดสุรินทร์ ผ่านพิธีกรรม ‘แซนโฎนตา’ หรือสาทรเขมร เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษที่จากไปในเหตุการณ์สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา

หนึ่งในส่วนประกอบของพิธีสาทรเขมร คือ ‘ผกาบายเบ็ณฑ์’ ดอกไม้ในตำนานที่หลงเหลือเพียงคำอธิบายสั้นกระชับว่า เป็นดอกหญ้าชนิดหนึ่ง มีกลีบใบสีขาว และกลิ่นหอมเหมือนดอกมะลิ ซึ่งในระหว่างการทำงาน มาริษาพยายามตามหาดอกไม้ที่ใช้ในพิธีแทนผกาบายเบ็ณฑ์ ผ่านการสอบถามกับผู้ลี้ภัยและครอบครัวว่า สิ่งที่ถูกนำมาไหว้ในปัจจุบันคืออะไร

กระทั่งเมื่อต้องเริ่มโปรเจกต์ใหม่ มาริษาต้องการต่อยอดผลงานชิ้นเดิมจากนิทรรศการ T360174 ด้วยการเล่าเรื่องของคนที่จากไปแล้วในชื่อ ‘ผกา เดอ พลอว’ (การเดินทางของดอกไม้) ผ่านการเดินทางตามหาความทรงจำ ดอกหญ้าที่มาจากผกาบายเบ็ณฑ์ และเรื่องราวของผู้ลี้ภัย

ในจุดเริ่มต้นของเส้นทางของผกา เดอ พลอว มาริษาเล่าว่า เธอนึกถึงค่ายผู้ลี้ภัยในไทยเป็นอันดับแรก และพยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ต จนสะดุดกับการรีวิวสถานที่ใน Google Map ว่า “ฉันจะให้คะแนนที่นี่น้อยได้อย่างไร ที่นี่คือบ้านของฉัน” ในศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขาอีด่าง จังหวัดสระแก้ว ที่ซึ่งเคยเป็นค่ายผู้ลี้ภัยของคนกัมพูชาในสงคราม

เพราะประโยคแสนสั้นแต่ตราตรึง ศิลปินสาวตัดสินใจเดินทางไปที่แห่งนั้น และค้นพบร่องรอยหลายอย่างที่กระตุ้นความรู้สึกส่วนลึก ไม่ว่าจะเป็นสมุดบันทึกการเยี่ยม หรือรายชื่อผู้เสียชีวิตในสงครามกัมพูชา และนั่นเป็นเหตุผลทำให้เธอมีบทสนทนากับแม่ถึง ‘คุณตา’ ของเธอ ที่เป็นผู้ลี้ภัยจากสงครามเช่นเดียวกัน

“การที่มีสมุดบันทึกการเยี่ยมหรือรายชื่อผู้เสียชีวิต ย่อมหมายความว่า ยังมีคนที่ตามหาครอบครัวของเขาในค่ายผู้ลี้ภัย คือเราก็พบว่า มีคนกลับมาที่นี่และเขียนว่า สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญกับคนรักของเขาอย่างไร ซึ่งมันเชื่อมโยงกับความรู้สึกส่วนลึกในใจของเราว่า จริงๆ แล้ว เฟื่องก็ตามหาอะไรเช่นนี้เหมือนกันอยู่นะ ขอใช้คำว่าตามหาอย่างเข้มข้นเลย

“ที่นั่นทำให้เฟื่องคิดถึงคุณตาของเราเอง เรามีความทรงจำเกี่ยวกับเขาน้อยนิดมาก มีเพียงแค่รูปหน้าศพที่เราเห็นตั้งแต่เด็ก และไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใครกันแน่ จนกระทั่งกลับมาคุยกับแม่ จึงรู้ว่าเขาเสียชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านลำพุ จังหวัดสุรินทร์” 

มาริษาเล่าต่อว่า เธอตัดสินใจเดินทางไปค่ายผู้ลี้ภัยบ้านลำพุกับแม่ และได้รับรู้ว่า เธอเป็นคนแรกที่มาเยือนที่แห่งนี้หลังจากปิดตัวลง ขณะที่ผู้ดูแลก็ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า ผู้คนจำนวนมากล้มตายในที่แห่งนี้จากภัยสงคราม และมีการประกอบพิธีแซนโฎนตา เพราะวิญญาณมากมายของผู้ล่วงลับยังไม่สามารถกลับบ้านของตนเองได้

“มันเชื่อมโยงกับพิธีแซนโฎนตาที่เราในงานชิ้นนี้ ประกอบกับแม่ก็เคยเล่าให้ฟังว่า คุณตาเคยมีบ้านเก่าที่กัมพูชา เราก็อยากจะรู้ว่าที่ตรงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง นี่คือส่วนหนึ่งในความทรงจำของเรากับคุณแม่”

นั่นจึงทำให้มาริษาตัดสินใจเดินทางไปพื้นที่ที่เคยเป็น ‘บ้านเก่า’ ของคุณตาในกัมพูชา เพื่อตามหาความทรงจำที่เปรียบเสมือนชิ้นจิ๊กซอว์ที่หายไป และพบว่า ผู้คนบางส่วนยังมีความทรงจำบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวของเธออยู่

ขณะเดียวกัน ในทุกการเดินทางเพื่อตามหาและถ่ายดอกหญ้าในเส้นพรมแดน เธอมักพบเห็น ‘ดอกรัก’ ที่เติบโตคู่กับดอกหญ้าตลอดทาง และมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวตนของเธอเอง จนตัดสินใจใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน

“ต้องเกริ่นว่า เวลาเฟื่องไปถ่ายต้นหญ้า เราค่อนข้างรู้สึกอะไรบางอย่างที่เชื่อมโยงกับผู้ลี้ภัยตั้งแต่งานก่อนแล้ว ทั้งพิธีกรรมและความรู้สึกที่สูญหายไป ซึ่งในอีกแง่หนึ่ง ดอกรักก็ทำให้เรารู้สึกว่า มันมีความคล้ายคลึงดอกหญ้า เพราะมีวิธีการแพร่พันธุ์ที่เหมือนกัน สังเกตได้จากการมีดอกรักต้นใหญ่และต้นเล็กอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เพราะดอกรักมีเมล็ดเกสรที่ปลิวไปเติบโตที่อื่นตามทาง”

มาริษาอธิบายต่อว่า ด้วยลักษณะที่ลอยไปตามลม ทำให้เธอรู้สึกถึงจิตวิญญาณอะไรบางอย่าง รวมถึงคิดถึงคุณตาและคุณยายของตนเอง โดยเปรียบเทียบว่า พู่สีขาวของดอกรักที่ปล่อยเกสรปลิวไปตามสายลม และทำให้ดอกรักอื่นเติบโตขึ้นมาก่อนจะจางหายไป ไม่ต่างจากเรื่องราวของเธอและครอบครัวแม้แต่น้อย

ความแยบยลและรายละเอียดยิบย่อยในผกา เดอ พลอว ที่ไม่อาจถ่ายทอดได้แค่ภาพถ่าย จึงถูกแบ่งและนำเสนอออกมาใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ภาพถ่าย วิดีโอ และประติมากรรม

เริ่มจากผลงานภาพถ่าย มาริษาเปิดฉากแรกของนิทรรศการ ด้วยภาพดอกหญ้าที่เธอประทับใจตั้งแต่แรกเห็น และแต่งเติมความทรงจำในครอบครัว ผ่านกรอบรูปไม้สีน้ำตาลเก่าแก่ที่เคยใส่รูปหน้าศพของคุณตาเพียงหนึ่งเดียวในบ้าน ก่อนจะปิดท้ายด้วยรูปภาพ ‘อุ้งมือ’ ของแม่กับหลานที่มีดอกหญ้าในกรอบภาพขนาดเล็ก เปรียบเสมือนการส่งต่อความทรงจำให้กับคนรุ่นหลัง

   

ในส่วนวิดีโอ มาริษาต้องการถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของดอกรักไปตามสายลมระหว่างที่เดินทางตามหาความทรงจำ โดยเริ่มจากบ้านของเธอที่สุรินทร์ จนถึงพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านของคุณตาในกัมพูชา 

นอกจากดอกรักที่เธอเก็บรวบรวมตามริมทางตลอดการเดินทาง วิดีโอส่วนหนึ่งยังประกอบด้วยบทสนทนาระหว่างคนใกล้ตัวของคุณตา ก่อนจะปิดท้ายด้วยเสียงเรียกบรรพบุรุษในพิธีแซนโฎนตา ที่เปรียบเสมือนการไว้อาลัยและพูดคุยกับ ‘คนที่จากไป’ เพื่อถ่ายทอดชีวิตปัจจุบันของ ‘คนที่ยังอยู่’ 

“ในวิดีโอ เราเจอผู้หญิงจำนวน 3-4 คน มันเป็นบทสนทนาที่มีค่า เหมือนได้พบเจอคุณตาคุณยายอีกครั้ง เพราะเราถามเขาว่า รู้จักคุณตาคุณยายเราไหม เขาก็ตอบว่า เคยได้ยินจากพ่อแม่มาก่อน

“เวลาเราค้นพบเรื่องราวใหม่ในบ้าน มันเหมือนได้การระบายสีลงไปในช่องเล็กของกระดาษขาว ซึ่งไม่มีวันเต็มอยู่แล้ว แต่สำหรับเรา มันไม่จำเป็นต้องเต็มก็ได้ ขอแค่ได้เติมเต็มความรู้สึกและช่องว่างในหัวใจของเราก็พอ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราได้ส่งต่องานนี้ไปยังผู้ลี้ภัยที่ต้องเสียครอบครัวหรือคนรักเช่นกัน” มาริษาแสดงความรู้สึก

และส่วนสุดท้าย คือ ประติมากรรมดอกรักที่เปรียบเสมือนการรวบรวมความทรงจำที่กระจัดกระจายในการเดินทางให้เป็นหนึ่งเดียว โดยรูปแบบของประติมากรรมมีโครงจากกรวยของผกาบายเบ็ณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงพิธีกรรมแซนโฎนตาของบรรพบุรุษ และความทรงจำในการเดินทาง

2

“งานชิ้นนี้เป็นทั้งความรู้สึกการตามหาครอบครัวของเราในฐานะผู้ลี้ภัย และบทสนทนามันทั้งสุขและขม เพราะเราไม่เหลือความทรงจำอะไร นอกจากรูปภาพรูปเดียวของคุณตา”

นอกจากการได้ระลึกถึงความทรงจำของครอบครัว มาริษาอธิบายเพิ่มเติมกับ The Momentum ว่า เธอยังหวังว่าผกา เดอ พลอวจะบอกเล่าเรื่องราวของปัจเจก ซึ่งสื่อสารตั้งแต่ ประวัติศาสตร์ของครอบครัว เรื่องราวพื้นถิ่นที่ไม่ได้ถูกเล่าขานในสังคมกระแสหลัก ความเป็นมนุษย์ มายาคติเส้นพรมแดน หรือแม้แต่สงครามที่กระทบต่อคนตัวเล็กและไม่ปรานีใครก็ตาม

“เรามองว่า เมื่อเราพูดประเด็นใหญ่อย่างผู้ลี้ภัย การลี้ภัย สงคราม คนชนบท มันคือภาพขนาดกว้าง แต่เมื่อเล่าถึงเรื่องชีวิตของคนหนึ่ง เรารู้สึกว่า มันเห็นชีวิตของผู้คนที่ชัดเจนขึ้น เพราะอันที่จริงเราเชื่อว่า ผู้คนล้วนเชื่อมโยงกัน แม้จะไม่ต้องเป็นคนในพื้นที่เดียวกัน แต่เรารู้สึกเศร้าไปกับสงครามที่อยู่ห่างไกลออกไปคนละซีกโลก เพราะความเป็นมนุษย์ที่เห็นอกเห็นใจกัน

“พื้นที่พรมแดนทำให้เราเห็นความเกี่ยวโยงของผู้คนซึ่งกันและกันชัดเจน ไม่เพียงแต่ภาษาหรือวิถีชีวิต แต่รวมถึงผลกระทบจากสงครามด้วย เพราะเราอยู่ใกล้กันกว่าที่คิด แม้จะมีเส้นแบ่งพรมแดนก็ตาม เราปฏิเสธชีวิตที่เชื่อมโยงของผู้คนกันไม่ได้

“เราอยากให้คนใจดีต่อกันมากขึ้นที่ไม่ใช่ในมุมสงสาร แต่มันคือการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ คือรู้สึกเจ็บปวดไปด้วยกันว่า ผู้ลี้ภัยควรได้รับสิทธิในการมีชีวิตที่ปลอดภัย เขาไม่ควรถูกมองว่า เพราะมีเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิวแตกต่าง จึงไม่ควรได้รับการช่วยเหลือ”

 มาริษาระบุก่อนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แม้สถานการณ์ในประเทศจะมีด้านลบจากความเป็นชาตินิยม แต่เธอยังมองเห็นความหวังในการโอบรับผู้คนที่มากกว่าประเด็นผู้ลี้ภัย เพราะคนจำนวนหนึ่งพยายามเป็นกระบอกเสียงเพื่อคนทุกกลุ่มภายใต้ ‘ความเป็นมนุษย์’

“จริงๆ แล้ว เรามีความหวังกับผู้คนอยู่ เพราะเท่าที่สัมผัส คนบางกลุ่มกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสียงของผู้ลี้ภัย หรือประท้วงเพื่อพูดถึงกาซา คองโก ซูดาน หรือแม้แต่สถานการณ์พม่าตอนนี้ ทั้งหมดนี้คือพลังที่ไม่ได้เกี่ยวกับเส้นพรมแดนเลยนะ แต่มันคือการเห็นคนเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ว่าชนชาติใดก็ตาม”

ด้าน เอิร์ธ-ณัฐดนัย ทรงศรีวิลัย ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ อธิบายผลงานชิ้นนี้ในมุมมองของเขาว่า ผกา เดอ พลอวเป็นภาพ 2 ชั้นในงานเดียว โดยแบ่งเป็นภาพใหญ่จากประวัติศาสตร์และสงครามในกัมพูชา ขณะที่เนื้อหาอีกชั้นหนึ่ง คือเรื่องราวครอบครัวของมาริษาในฐานะผู้ลี้ภัย ซึ่งมีดอกหญ้าเป็นสื่อกลาง

“ตามที่ได้พูดคุยกับศิลปิน เขามองว่า ดอกหญ้ามีความคล้ายคลึงกับผู้ลี้ภัยมาก เพราะด้วยลักษณะของมันที่พัดพาไปที่อื่น แต่ผู้คนกลับหลงลืมไปแล้วว่า ดอกหญ้ามาจากไหน” 

ณัฐดนัยอธิบาย และขยายความต่อว่า ดอกหญ้าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ก็จริง แต่ก็ถูกมองว่า ‘แปลกแยก’ จากพื้นที่ ซึ่งไม่ถึงขั้นแปลกปลอม (Alien) คุณสมบัตินี้มาเปรียบเทียบกับผู้ลี้ภัย เพราะคนกลุ่มนี้มักถูกมองในแง่มุมที่ต่ำต้อยกว่าพลเมืองกลุ่มอื่น ซ้ำยังต้องปรับตัวให้เข้าได้กับทุกพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ จุดเด่นสำคัญของผกา เดอ พลอวในมุมของณัฐดนัย คือการไร้คนในภาพถ่าย เพราะยิ่งทำให้เห็น ‘ความเป็นคน’ ผ่านการตีความมากขึ้น จากเดิมที่คนมักกลายเป็น ‘วัตถุ’ ในผลงานหลายชิ้น

“อาจบอกได้ว่า นี่คือมนุษยธรรมที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตของชาติ แค่ทุกคนควรมีมนุษยธรรมต่อกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็เท่านั้น” ณัฐดนัยกล่าวทิ้งท้าย

Fact Box

  • ผกา เดอ พลอว เป็นคำเขมรถิ่นไทย โดยผกาหมายถึงดอกไม้ ซึ่งในภาษาเขมรคือปกา แต่มาริษาใช้คำว่าผกา เพื่อทำให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น ขณะที่เดอพลอวคือการเดินทาง 
  • มาริษานิยามตนเองเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ในฐานะเควียร์ (Queer) และเฟมินิสต์ (Feminist)
  • มาริษาชื่นชอบการดูหนังทุกประเภทและใช้ชีวิตร่วมกับแฟนสาว ที่คบหาดูใจเป็นระยะเวลา 9 ปีเต็ม รวมถึงมีแมว 2 ตัว ชื่อนาอีฟและวาเอล
  • นิทรรศการ ผกา เดอ พลอว จัดแสดงที่ห้อง WHOOP! โซน MunMun Art Destination (MMAD) ชั้น 3 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 21 กรกฎาคม 2567

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,