มหาวิหาร Notre-Dame (นอทร์ ดาม) แห่งกรุงปารีส ไม่เพียงจะเป็นหัวใจของกรุงปารีสเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจของคนทั้งฝรั่งเศสและของชาวโลก ที่แห่งนี้อยู่ร่วมเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ มากมาย เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1789, กบฎ 1831 ซึ่งหลายสิ่งถูกขโมยและถูกทำลายไป ณ ที่แห่งนี้ อดีตประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกลล์ ได้ขับร้องเพลง “Te deum” (เท เดอุม) เพื่อเฉลิมฉลองเมื่อครั้งที่กรุงปารีสได้รับการปลดปล่อยจากการยึดครองของกองทัพนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง และที่แห่งนี้ยังเป็นจุดสำคัญที่ชาวปารีสนัดกันมายืนไว้อาลัยให้กับเหยื่อการก่อการร้ายที่กราดยิงเข้าไปในสำนักงานของหนังสือพิมพ์ ชาร์ลี เอ็บโด ในปี 2015

ปี 2018 ผู้คนกว่า 14 ล้านคน จากทั่วทุกมุมโลก เข้ามาเยือนมหาวิหารเพื่อชื่นชมขุมทรัพย์สำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนา รวมถึงออร์แกนที่มีขนาดใหญ่มหึมา ความงดงามของกระจกสีที่บอกเล่าเรื่องราวพระคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระจกสี Rosace (โรซาส) ซึ่งมีรูปร่างเป็นวงกลม หากแต่ข้างในวงกลมมีลักษณะคล้ายรูปดอกไม้ ที่ตรงกลางมีรูปพระแม่มารี พระเยซูตอนเด็ก และพระเยซูในฐานะผู้ช่วยให้รอดพ้น หรือกษัตริย์บนสวรรค์

850 ปีนอทร์ดาม มหาวิหารเก่าแก่ที่อยู่ระหว่างบูรณะ

ก่อนหน้านี้ แผนงานการบูรณะมหาวิหารนอทร์ดามเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้เวลาบูรณะประมาณ 10 ปี ส่วนที่แผนการบูรณะ ประกอบด้วย 1) ยอดแหลมของมหาวิหาร (Spire / Flèche) ที่มีอายุกว่า 80 ปี ทำจากตะกั่ว  2) ส่วนที่อยู่ด้านในสุด หลังแท่นบูชา (Apse / Chevet) โดยเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุด และสร้างขึ้นช่วง 1163-1180 3) ห้องเก็บเครื่องพิธี (Sacristy / Sacristie)

ทั้งนี้ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ มหาวิหารนอทร์ดามอยู่ในช่วงของการซ่อมแซมยอดแหลมของมหาวิหาร ซึ่งคาดว่าเป็นบริเวณที่เริ่มเกิดเพลิงไหม้

ทุกๆ ปีรัฐบาลฝรั่งเศสจัดสรรเงินจำนวนกว่า 2.4 ล้านยูโร เพื่อซ่อมแซมมหาวิหาร แต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะบูรณะนอทร์ดามซึ่งได้เสียหายตามกาลเวลาและเสื่อมโทรมอย่างหนักจากมลพิษ อัครสังฆมณฑล (Archdiocese) ซึ่งเป็นหน่วยการแบ่งเขตการปกครองในศาสนาจักรโรมันคาทอลิก (เทียบได้กับสำนักงานเขต) ได้เรื่ยไรเงินจำนวน 60 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนงานบูรณะเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่เป็นผู้บริจาคชาวอเมริกันซึ่งเคยช่วยเหลือด้านการเงินในงานบูรณะปราสาทแวร์ซายส์ (Versailles) และพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Louvre) มาก่อนหน้านี้ โดยอัครสังฆมณฑลไม่มีแผนการเก็บเงินจากผู้เยี่ยมชมมหาวิหาร Notre-Dame เนื่องจาก “การเก็บเงินจากการเข้าชม ขัดแย้งกับมติของการให้ ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์”

อัคคีภัยครั้งร้ายแรงของมหาวิหารนอทร์ดาม

เหตุการณ์วันที่ 15 เมษายน 2019 เพลิงไฟเริ่มปะทุขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 18.50 น. ของเวลาท้องถิ่น และลุกลามจนบางส่วนของมหาวิหารแห่งนี้ถูกทำลาย นักผจญเพลิงกว่า 400 ชีวิตเข้ามาช่วยดับเพลิงที่เริ่มไหม้จากบริเวณยอดหลังคาของมหาวิหาร แต่หน่วยกู้ภัยพบว่า การดับเพลิงทางอากาศไม่สามารถใช้ได้ เพราะน้ำที่ปล่อยออกมาจากเครื่องบินอาจยิ่งทำให้โครงสร้างของมหาวิหารถล่มลงมาทั้งหมด

ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ นายพลชอง โคล์ด กาเย่ท์ หัวหน้าหน่วยดับเพลิงรายงานว่า “หอคอยทั้งสอง และโครงสร้างโดยรวม สามารถปกป้องไว้ได้ทั้งหมด” ไฟคุโชนกินเวลานานกว่า 8 ชั่วโมง กว่าที่เพลิงจะสงบลงก็ราวเวลา 3.30 น. ของวันถัดมา

ส่วนโครงไม้ที่รองรับหลังคา (Charpente ในภาษาฝรั่งเศส) ถูกเพลิงไม้เสียหายทั้งหมด ซึ่งโครงสร้างไม้บางส่วนเป็นไม้ตั้งเดิมตั้งแต่ศตวรรตที่ 14 ในขณะที่หลังคาโค้ง (vault / voûte) ที่รองรับน้ำหนักทั้งหมดไม่ได้ถล่มลงมา

อัยการของประเทศฝรั่งเศส ได้ออกมาประเมินสถานการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เหตุเพลิงไหม้ที่มหาวิหารเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุ เนื่องจากไม่พบพิรุธแต่อย่างใด ไม่มีพนักงานที่รับผิดชอบงานคนใดอยู่ในบริเวณที่มีการปรับปรุงบูรณะ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ฤดูร้อนของปี 2018

ในเบื้องต้น คาดว่าจุดที่เกิดเพลิงไหม้น่าจะเป็นส่วนด้านในสุดของบริเวณที่มีการปรับปรุงซึ่งยากจะเข้าไปได้ถึง อย่างไรก็ดี ทางอัยการยอมรับว่า การสืบหาเบาะแสนั้นยากและอาจกินเวลานาน เนื่องจากร่องรอยต่างๆ ได้หายไปกับเพลิงไฟ

ที่คงอยู่และสูญเสีย

สมบัติล้ำค่าส่วนใหญ่ถูกนำมาไว้ในที่ปลอดภัย คาดว่ามีเพียง 5-10 เปอร์เซนต์ของทรัพย์สินที่หายไปกับเปลวเพลิง

สำหรับสมบัติที่ล้ำค่ามากที่สุดในมหาวิหารแห่งนี้ คือ มงกุฎหนามของพระเยซู (Couronne de l’épine de Jésus) ซึ่งเชื่อกันว่าพระเยซูสวมมงกุฎนี้ตอนถูกตรึงกางเขน มงกุฏมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 21 เซนติเมตร ภายในบรรจุด้วยหนาม รวมถึงเสื้อคลุมของกษัตริย์ / นักบุญหลุยส์ สีขาว ที่ตกทอดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8  ซึ่งสมบัติทั้งสองได้ถูกเก็บรักษาไว้ อย่างทันท่วงที ระหว่างที่เพลิงไฟโหมกระหน่ำ

นอกจากนี้ ทางหน่วยกู้ภัยสามารถรักษาวัตถุมีค่าทางศาสนา หรือเสื้อผ้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม (Liturgy) ที่ได้จัดแสดงไว้ใน ห้องซาล์ล ดู เทรซอร์ (Salle du trésor) ทั้งหมด ส่วนรูปหล่ออัครสาวก 12 รูป ที่อยู่รอบๆ ฐานของยอดแหลมของมหาวิหาร (Spire) ได้ถูกนำออกไปแล้วก่อนหน้านี้

ถึงกระนั้น อัฐิของนักบุญ Denis (เดอ นีส์) และนักบุญ Géneviève (เจนเวียฟว์) ซึ่งทั้งคู่เป็นนักบุญประจำเมืองปารีส ได้หายไปกับเปลวไฟเมื่อยอดของ Notre-Dame ถล่มลง ไม่เพียงเท่านั้นรูปภาพที่อาจประเมินค่าได้บางส่วนถูกทำลายไป ขณะที่ไก่ที่อยู่บนยอดแหลมของมหาวิหาร (Spire) ซึ่งบรรจุเศษมงกุฎหนามของพระเยซู ในช่วงแรกคิดว่าสูญหายไปกับเปลวเพลงนั้น แต่ต่อมาพบว่าหล่นลงมาอยู่ท่ามกลางเศษเถ้าจากเพลิงไหม้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือกระจกสีต่างๆ และออร์แกน แม้มองผิวเผิน กระจกสีโรซาสที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 และ 13 มีสภาพสมบูรณ์ แต่ความร้อนอาจทำให้ทองแดงที่ติดอยู่กับกระจกละลายได้ และสร้างความเสียหายให้กับรูปเทวดา นักบุญ หรือรูปเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ในพระคัมภีร์

แม้ว่าออร์แกนใหญ่จะรอดพ้นจากเปลวเพลิง แต่น้ำที่ใช้ดับไฟทำให้ออร์แกนซึ่งทำจากไม้เกือบทั้งหมดเปียกน้ำ ซึ่งสร้างความลำบากใจให้กับผู้เชี่ยวชาญ ออร์แกนที่ Notre-Dame สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 8 และถือเป็นหนึ่งในออร์แกนที่สำคัญที่สุดระดับโลก มิเชล กูซ์ซู (Michel Goussu) ผู้สร้าง / ซ่อม / ดูแล ออร์แกนที่โบสถ์แซงต์ ซุลปิซ (Saint-Sulpice) ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับสองรองจากนอทร์ดามกล่าวว่า “สำหรับการบำรุงรักษาออร์แกน พวกเราต้องใช้เครื่องมือเหมือนกับสมัยก่อน เช่น กาวที่ละลายในน้ำ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า น้ำได้ล้างกาวพวกนี้ออกไป และชื้นส่วนต่างๆ ได้หลุดออกจากกัน”

ในอีกด้านหนึ่ง มิเชล กูซ์ซู คิดว่า ออร์แกนของมหาวิหารนอทร์ดามนี้สามารถซ่อมได้ เขาบอกว่า กลุ่มช่างหมู่ ที่เขาทำงานด้วย “เคยปลุกออร์แกน ที่มีสภาพที่ย่ำแย่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น “ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลา และเงินทุนที่มี”

สำหรับกางเขนสีทองที่ตั้งตระหง่านด้านใน ด้านหลังรูปสลักปิเอต้า (Piéta) นั้น หลังจากที่เพลิงสงบลง แต่กางเขนยังคงอยู่และช่วยยืนยันว่า มหาวิหารนอทร์ดามไม่ได้จากไป “ฉันไม่ตาย ฉันยังมีชีวิต ! ”   

Our lady, มหาวิหารนอทร์ดาม ชาวปารีสจะสร้างเธอขึ้นมาใหม่

สำหรับชาวคริสตชน สัปดาห์นี้ถือว่าเป็นสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เข้าสู่การเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญทางศาสนา : อาหารค่ำเมื่อสุดท้าย การถูกทรมาน การฟื้นคืนชีพของพระเยซู หลังจากถูกตรึง และตายบนกางเขน เหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียใจทั้งกับผู้คนในปารีส ประชาชนชาวฝรั่งเศส และผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในปารีส ที่กำลังจัดเตรียมการเฉลิมฉลองงานเทศกาลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี

มหาวิหารนอทร์ดามถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก (Catholicism) ที่สำคัญที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ช่วงเวลาก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ นอทร์ดามค่อนข้างพลุกพล่าน มีนักท่องเที่ยวและผู้คนเข้าร่วมพิธีมิสซาตอนเย็น โดยในวันจันทร์พิธีมิสซาจะเริ่มเวลา 18.15 น. หนึ่งในผู้ที่อยู่ในพิธี โจฮานน์ เวโซ่ (Johann Vexo) นักเล่นออร์แกนที่มหาวิหารนอทร์ดามมากว่า 15 ปี เล่าว่า “ในมหาวิหาร  มีสัตบุรุษ/ผู้คน เข้าร่วมพิธีมิสซา ส่วนในโถงทางเดิน (ซึ่งอยู่ด้านข้างของบริเวณพิธี) นักท่องเที่ยวต่างเดินชมมหาวิหาร ทุกอย่างแลดูปกติ

จนกระทั่งประมาณ 18.25 น. สัญญาณไฟไหม้ดังขึ้น ไม่มีใครเคยได้ยินสัญญาณนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวง นักร้อง หรือตัวผมเอง…ทุกคนเดินออกไปอย่างสงบ” ทว่าเมื่อเขาเดินออกมาดูข้างนอก ก็เห็นว่านอทร์ดามกำลังลุกไหม้

ชาวคริสต์จำนวนมากออกมาภาวนาตามที่ต่างๆ ทั้งในโบสถ์ บนถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในลานแซงต์ มิเชล (Saint-Michel ) พร้อมยืนมองนอทร์ดามที่กำลังลุกไหม้  “พวกเราภาวนาพร้อมกับน้ำตา” คุณพ่อปิแอร์ แอร์เว่ โกรส์ชอง (Pierre-Hervé Grosjean) จากสังฆมณฑล Versailles ท่องบทสวดพร้อมสายประคำ “Je vous salue Marie. Pleine de Grâce…” (เชอ วู ซาลู มารี แปลน เดอ กราซ – ข้าพเจ้าคำนับมารี ผู้เปี่ยมด้วยหรรษทาน…) นอกจากนี้ เสียงเพลง “Céleste Jérusalem” (เซเลสต์ เยซูซาเล็ม) ก็ดังขึ้นบนท้องถนน เอแซลล์ อายุ 24 ปี เล่าว่า “คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ ก็เข้ามาร้องเพลงกับพวกเรา…พวกเขาถามชื่อเพลง และก็ค้นหาเนื้อร้องบนมือถือ”

แม้ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างไม่แน่นอน ความหดหู่ ความกลัว และความมืดมิดเข้าปกคลุมในใจของผู้คนที่กำลังหลั่งน้ำตาให้กับมหาวิหารนอทร์ดามซึ่งเสียหายจากเพลิงไหม้อย่างหนัก แต่แสงสว่างของความหวังยังคงส่องประกาย ประธานาธิบดีมาครง และ มองเซ็นเยอร์ มิเชล โอเปอตี (Mgr. Michel Aupetit) อาร์คบิชอปแห่งกรุงปารีสต่างให้คำมั่นว่าสัญญาว่า ชาวฝรั่งเศสจะก่อสร้างมหาวิหารนอทร์ดามขึ้นมาด้วยกันใหม่

โทมาส์ (Thomas) ซึ่งเป็น seminarist หรือนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนสงฆ์และเตรียมจะบวชเป็นบาทหลวงเชื่อว่านอทร์ดามจะกลับมาโดยเร็ว เขาพยายามนึกถึงสิ่งที่อยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิล “ทำลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้ ข้าพเจ้าจะสร้างมันภายในสามวัน”

ทั้งนี้ จากการระดมทุนเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์นอทร์ดาม เงินกว่า 700 ล้านยูโรมาจากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศส บริษัทต่างๆ รวมถึงภาครัฐและเทศบาลปารีส Fondation du patrimoine ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงกำไรที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องมรดกในฝรั่งเศส และเว็บระดมทุนของฝรั่งเศสหลายแห่ง ต่างก็เปิดรับบริจาคบนเว็บไซต์เพื่อกอบกู้มหาวิหารแห่งนี้

กว่า 850 ปีที่ผ่านมา มหาวิหารนอทร์ดามแห่งกรุงปารีส หรือ “Our Lady” เป็นมรดกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ต้อนรับผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ทุกศาสนา ทุกชนชั้น ไม่ว่าจะยากไร้หรือร่ำรวย สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ที่นี่ยังเป็น ‘โบสถ์แม่’  ‘วัดแม่พระ’ ที่บอกเล่าเรื่องราวของความเชื่อ ความศรัทธา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่แห่งนี้ยังเป็นมากกว่าผลงานทางศิลปะและสถาปัตยกรรม หากแต่เป็นอนุสรณ์ที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ สวยงาม และการค้นหาทางจิตวิญญาณ

มหาวิหารนอทร์ดาม หรือ “Our Lady” ยังคงอยู่ แต่เธอเต็มไปด้วยบาดแผล ซึ่งดูเหมือนจะเป็นบาดแผลเดียวกันกับแผลในหัวใจของผู้ที่รักมหาวิหารแห่งนี้

ขอขอบคุณ:

Bernard R., Benedetta S., Jacques E., CSG และ Maison Magis

En union avec mes chers frères et sœurs, mes chers amis, et tout le peuple

อ้างอิง:

https://www.paris.catholique.fr/mgr-de-mgr-michel-aupetit-aux.html

https://www.la-croix.com/

https://www.la-croix.com/

https://www.la-croix.com/

https://www.lemonde.fr/

https://www.lepoint.fr

https://www.lemonde.fr/

https://www.ouest-france.fr

https://www.lesechos.fr/

https://www.liberation.fr

Fact Box

กฎหมายปี 1905 ของฝรั่งเศส ว่าด้วยการแยกรัฐออกจากศาสนา กำหนดว่า โบสถ์และวิหารทั้งหมดที่สร้างขึ้นก่อนปี 1905 ตกเป็นของรัฐ กล่าวคือ รัฐเป็นเจ้าของอาคารเหล่านี้ โดยจะออกค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุง บูรณะ และซ่อมแซม ในขณะที่ศาสนจักรฝรั่งเศส มีเพียงสิทธิในการใช้และดูแลสถานที่ ซึ่งแน่นอนว่า การซ่อมมหาวิหารน็อทร์ดามหลังจากเพลิงไหม้ อยู่ใต้ความรับผิดชอบของรัฐทั้งหมด

Tags: , , ,