แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) จับมือคล้องแขนกันออกจากทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ เมื่อ 14 เมษายน 2552 หลังประกาศยุติการชุมนุมบนถนนรอบทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเพิ่มขึ้นจากการปราบปรามของรัฐบาล ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มยุติการปิดล้อมทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่กินเวลาเกือบสามสัปดาห์ และทยอยออกจากทำเนียบ
การชุมนุมดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 โดยมีกลุ่ม นปช. เป็นองค์กรหลักในการชุมนุม ‘แดงทั้งแผ่นดินสัญจร’ ครั้งที่ 6 โดยเริ่มจากการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และเคลื่อนขบวนมาปักหลักชุมนุมอย่างยืดเยื้อบนถนนรอบทำเนียบรัฐบาล โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ องคมนตรีในขณะนั้น 3 ราย คือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์, พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ และชาญชัย ลิขิตจิตถะ ต้องลาออกจากตำแหน่ง, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
การชุมนุมเริ่มยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบ และมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุมกับบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 7-24 เมษายน
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 14 เมษายน 2552 แกนนำ 4 คน ได้แก่ วีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ได้ประกาศยุติการชุมนุมบนถนนรอบทำเนียบและเข้ามอบตัวต่อ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะถูกส่งตัวมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยให้เหตุผลว่า มีผู้ไม่หวังดีแอบแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุม และมีกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมถึงต้องการยุติการชุมนุมก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม เพราะจำเป็นต้องรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไว้
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการออกหมายจับแกนนำ ประกอบด้วย พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร, วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จักรภพ เพ็ญแข, อดิศร เพียงเกษ, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, ณรงค์ ศักดิ์มณี, ชินวัฒน์ หาบุญพาด, พันตำรวจโท ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย, มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ และอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
หลังจากนั้น ทางทหารได้จัดรถโดยสารนำส่งผู้ร่วมชุมนุมที่สมัครใจเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า การส่งผู้ชุมนุมกลับภูมิลำเนาเป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่ต้องการยุติการชุมนุม ยังคงปักหลักอยู่บริเวณแยกวังแดง และเคลื่อนขบวนไปรวมตัวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ท้องสนามหลวง
จากนั้นเมื่อเหตุการณ์สงบลง รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ก่อนที่วันที่ 25 เมษายน แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติรุ่นที่สอง นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้นำกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง และนัดเดินสาย 5 จังหวัด ก่อนรวมพลใหญ่ที่กรุงเทพมหานครอีกครั้งในช่วงครบรอบเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17-20 พฤษภาคม
Tags: The Momentum On This Day, นปช., เสื้อแดง, On This Day