ย้อนกลับไปเมื่อรุ่งเช้าของ วันที่ 9 เมษายน 2553 ขณะที่วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองยังคงร้อนระอุต่อเนื่องตลอดหลายเดือน ฟาก ‘ผู้ชุมนุมนปช.’ หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จากทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวสมทบกันบริเวณ 2 จุด คือ 1. เวทีถนนราชดำเนิน และ 2. เวทีราชประสงค์ ก่อนจะเคลื่อนขบวนด้วยรถจักรยานยนต์ รถเก๋ง และรถกระบะ บุกไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และสถานีดาวเทียมไทยคม ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองนนทบุรี เพื่อทวงคืนสัญญาณการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนเนล ที่ก่อนหน้านั้น 1 วัน ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นสั่งการให้กองทัพเข้ายึดและห้ามการออกอากาศ

ถึงแม้อภิสิทธิ์จะออกโรงแถลงการณ์พิเศษโน้มน้าวให้ประชาชนอย่าออกมาร่วมชุมนุมสมทบกับคนเสื้อแดงด้วยตัวเองแต่ก็ไร้ผล ในเวลานั้นยังคงมีผู้ชุมนุมออกมานับรวมแล้วกว่า 1.3 หมื่นคน โดยมีแกนนำ อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์, สุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน), ขวัญชัย ไพรพนา, พายัพ ปั้นเกตุ และ นิสิต สินธุไพร คอยปลุกเร้า

เวลาล่วงเลยมาถึงช่วงเที่ยง ขบวนผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้เคลื่อนขบวนเต็มช่องทางขาออกสู่ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเฮลิคอปเตอร์ของทหารบินสังเกตการณ์อยู่เป็นระยะ ท่ามกลางเสียงโห่ไล่ของผู้ชุมนุม ขณะเดียวกัน พันตำรวจเอก สมศักดิ์ ชัยอมรส่งเจริญ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี นำเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนหนึ่งมาเจรจาขอเปิดช่องทางเดินรถแต่ก็ไร้ผล ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ยืนยันจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่หน้าสถานีดาวเทียมไทยคม จนกว่าช่องพีเพิลแชนเนลกลับมาออกอากาศได้ตามเดิม

ด้าน พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในตอนนั้น ได้ประกาศห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในสถานีดาวเทียมไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีโดยเด็ดขาด หากยังคงฝ่าฝืน ทางทหารและตำรวจมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากหนักไปเบาตามกฏการใช้กำลัง 7 ข้อ คือ 1. ชี้แจง 2. แสดงกำลัง 3. ผลักดันด้วยโล่และกระบอง 4. น้ำฉีด 5. ใช้เครื่องขยายเสียง 6. แก๊สน้ำตาชนิดขว้าง และ 7. กระสุนยาง ซึ่งก่อนจะใช้แต่ละขั้นตอนจะประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบอย่างชัดเจน

แต่การประกาศก็ไม่อาจปิดกั้นการชุมนุมได้ ขบวนของ นปช. ที่นำโดยณัฐวุฒิ ได้นำมวลชนเผชิญหน้ากับขบวนรถทหารสังกัด กองพันทหารม้าที่ 19 กองพลทหารราบที่ 9 ราว 1 กองพัน ประกอบด้วยรถบัส รถยีเอ็มซี รถฮัมวี่และรถหุ้มเกราะนับสิบคัน ที่บรรทุกทหารปราบจลาจลหลายร้อยนาย บริเวณหน้าบริษัทเรืองอุทัยอุตสาหกรรมไม้ ถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว เพื่อไปยังสถานีดาวเทียมไทยคมเช่นกัน ทำให้นายณัฐวุฒิสั่งการ์ด นปช. ยึดกุญแจรถทั้งหมดและเจาะยาง แม้ผู้บังคับหน่วยจะออกอาการไม่ยินยอม อีกทั้งผู้ชุมนุมบางส่วนยังพบกับรถทหารที่ขนอาวุธสงครามเต็มสูบในซอยใกล้เคียงกัน อาทิ ลูกซอง ปืน M16 และปืนสไนเปอร์ ผู้ชุมนุมจึงนำตัวผู้บังคับหมู่แสดงอาวุธทั้งหมดต่อสื่อมวลชนที่เดินทางติดตามทำข่าว

สถานการณ์หน้าสถานีไทยคมฯ ยังคงตึงเครียดอย่างหนัก หน่วยทหารควบคุมฝูงชน กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 และ กองพันทหารม้าที่ 9 กองพลทหารราบที่ 4 ได้นำรั้วลวดหนามมากั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยังสถานี ขณะที่จตุพรได้ยื่นคำขาดต่อเจ้าหน้าที่ให้ถอนกำลังออกไปทั้งหมดภายใน 30 นาที ระหว่างนั้นแกนนำได้ขึ้นมาสลับกันปราศรัยปลุกเร้าสร้างขวัญกำลังใจ ขณะเดียวกันมีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามว่ายน้ำข้ามฝากไปยังบริเวณรั้วลวดหนามที่ทหารตรึงกำลังเอาไว้ แต่ก็ไม่สามารถปีนเข้าไปได้

หลังเวลาผ่านไป 30 นาที จากที่จตุพรยื่นคำขาดขีดเส้นตายให้ทหารออกจากหน้าสถานีดาวเทียมไทยคม อำเภอลาดหลุมแก้ว กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีจำนวนเยอะกว่าหลังกลุ่มผู้ชุมนุมจากถนนรัตนาธิเบศร์ได้ตามมาสมทบ จึงเริ่มกดดันเข้าลื้อลวดหนาม พลางหยิบก้อนหิน ก้อนอิฐ ขวดน้ำ ท่อนไม้ ใส่แนวตั้งรับของทหารให้ล่าถอยออกไปจนเกิดการปะทะกัน

ไม่ช้าทหารเริ่มเขวี้ยงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม แต่ด้วยทิศทางลมควันจากแก๊สบางส่วนได้พลัดตีกลับใส่ฝั่งทหารจนขบวนแถวแตกกระเจิงถอยล่นมาบริเวณด้านหลังของสถานีไทยคมฯ ผู้ชุมนุมที่โกรธแค้นได้รุกไล่ทหารอย่างหนักพร้อมยึดอาวุธทั้งหมด จนชุลมุนวุ่นวายนานกว่า 20 นาที เมื่อเหตุการณ์สงบลงขบวนผู้ชุมนุมได้เคลื่อนเข้ายังภายในสถานีไทยคมฯ โดยแกนนำพยายามขอร้องให้หยุดการปะทะกับทหาร จนในที่สุด คนเสื้อแดงก็สามารถยึดสถานีไทยคมได้ และในเย็นวันนั้น สถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนเนล ก็กลับมาออกอากาศเป็นปกติ

มีเรื่องเล่าจากคำบอกเล่าของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เล่าว่าแกนนำเสื้อแดงได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจด้านล่าง ให้ขึ้นไปเจรจากับผู้มีอำนาจฝ่ายทหารบนดาดฟ้าตึกที่ยังติดค้างบางส่วน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘บิ๊กแดง’ – พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ยศพันเอกในขณะนั้น) ให้วางอาวุธ และถ้ากล้าคลานหว่างขาคนเสื้อแดงออกมาจะไว้ชีวิต ทว่า พันเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ต่อมาได้รับพระราชทานยศพลเอกหลังเสียชีวิต) ได้ต่อสายตรงไปถึงรองนายกรัฐมนตรี ว่าห้ามถ่ายทอดคำสั่งให้บิ๊กแดงคลานเข่าลอดหว่างขาคนเสื้อแดง เพราะพวกตนเป็นทหารมีศักดิ์ศรี ไม่เช่นนั้นขอตายเสียดีกว่า

เย็นวันนั้น ศอฉ. ได้ออกประกาศหมายจับ 17 แกนนำคนเสื้อแดง ข้อหาฝ่าฝืนกฏ พรก.ฉุกเฉิน ผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และต่อมาวันที่ 10 เมษายน กองกำลังทหารได้เข้าสลายการชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคมฯ อีกครั้ง พร้อมกับยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคมอีกรอบ

แกนนำ นปช. หลายคน เชื่อว่าปฏิบัติการที่สถานีไทยคม ลาดหลุมแก้ว ได้ทำให้ทหารที่คุมกำลังรู้สึก ‘เสียหน้า’ เป็นอย่างมาก และทำให้ทหารเริ่มปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ ด้วยอาวุธหนักในวันที่ 10 เมษายน 2553 หรืออีกหนึ่งวันถัดจากนั้น จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมากในเวลาต่อมา

ภาพ: AFP

Tags: , , ,