“หลายปีต่อมา เมื่อเขายืนอยู่หน้าแถวทหารผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า พันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาหวนรำลึกไปถึงบ่ายวันหนึ่งเมื่อนานมาเแล้วที่พ่อพาเขาไปดูน้ำแข็งที่เพิ่งค้นพบ…” (จากสำนวนแปลของ ปณิธาน – ร. จันเสน)
ประโยคเปิดเรื่องอันเป็นที่ลือลั่นของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) อาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในฉากเปิดที่น่าจดจำที่สุดของวรรณกรรมร่วมสมัย ด้วยการเล่าถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ซึ่งตัวละครหวนระลึกถึงอดีต กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) นักเขียนชาวโคลอมเบียเจ้าของรางวัลโนเบล พาผู้อ่านเข้าสู่มนต์มหัศจรรย์ของมหากาพย์ครอบครัวบูเอนดิยาที่ชะตากรรมของผู้คน 7 รุ่นในตระกูลผูกโยงอยู่กับการก่อตั้ง วิวัฒน์ และสูญสลายของเมืองสมมติอย่าง ‘มาคอนโด’ ได้อย่างน่าตื่นตะลึง ถือเป็นอารัมภบทที่แสดงถึงความซับซ้อนชวนพิศวงและพลังกระตุ้นเร้าจินตนาการของหนังสือทั้งเล่มได้เป็นอย่างดี
อีกไม่นาน เราจะได้เห็นจินตนาการดังกล่าวถูกนำมาตีความเล่าใหม่บนจอเป็นครั้งแรกภายใต้การควบคุมของสตรีมมิ่งเซอร์วิสรายใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ์ โดย โรดริโก การ์เซีย ลูกชายนักทำหนังของการ์เซีย มาร์เกซ (ผกก. Albert Nobbs และ Last Day in the Desert) ผู้มานั่งแท่นเป็น executive producer ให้กับซีรีส์ด้วย เขาชี้ว่าเหตุผลที่พ่อผู้ล่วงลับของเขาไม่เคยไว้ใจให้ใครเอานิยายเรื่องนี้ไปดัดแปลงตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1967 ก็เพราะไม่เชื่อว่ากรอบเวลาอันจำกัดของภาพยนตร์จะสามารถจับแก่นสารเรื่องราวได้หมด และไม่เชื่อว่าเรื่องราวของเมืองมาคอนโดที่เป็นอุปมาถึงประวัติศาสตร์ละตินอเมริกานั้นจะสามารถถูกบอกเล่าผ่านภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาสเปนได้
นี่จึงเป็นข่าวใหญ่ที่ชวนให้ตื่นเต้นไม่น้อย เพราะนอกจากวรรณกรรมอันเป็นที่รักเล่มนี้จะถูกดัดแปลงเป็นงานเล่าเรื่องขนาดยาว (long-form narrative) ที่ถ่ายทำในโคลอมเบียและพูดภาษาสเปนแล้ว ยังควบคุมงานสร้างโดยทายาทของการ์เซีย มาร์เกซเอง กับผู้สร้างที่เชื่อถือได้ในเรื่องคุณภาพและฐานคนดูอย่างเน็ตฟลิกซ์ด้วย แต่ถึงอย่างไร อิทธิพลและพลังทางวรรณกรรมอันสุดแสนคณานับของหนังสือก็ทำให้นักอ่านจำนวนไม่น้อยกังขาว่าซีรีส์จะถ่ายทอดมนตร์เสน่ห์และความรุ่มรวยจากหน้ากระดาษออกมาได้แค่ไหน บ้างก็ปักใจเชื่อไปแล้วว่าความซับซ้อนเปี่ยมจินตนาการดังที่พอจะเห็นเป็นตัวอย่างได้จากประโยคเปิดเรื่องนั้นไม่มีทางถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานภาพได้อย่างทัดเทียม
เหตุใดหนังสือเล่มนี้ถึงได้ทรงพลังขนาดนั้น? หากว่ากันถึงความสลักสำคัญของมัน เราคงไม่อาจบรรยายได้จบภายในบทความสั้นๆ บทความเดียว แต่โดยคร่าวๆ แล้วเราพอจะกล่าวได้ว่าหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวคือผลงานเพชรประดับยอดมงกุฎของการ์เซีย มาร์เกซ ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้ เสียงวิจารณ์ และรางวัล ฉบับพิมพ์ครั้งแรกขายหมดภายในไม่กี่วันหลังวางขาย ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 40 ภาษา นับได้ว่าเป็นวรรณกรรมภาษาสเปนที่ได้รับการแปลมากที่สุดรองจาก Don Quixote เลยทีเดียว
ในปัจจุบัน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวเป็นหนังสือที่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางในแวดวงวิชาการ ด้วยเหตุผลที่มันเป็นนิยายเล่มสำคัญจากละตินอเมริกาและเป็นหัวขบวนที่ทำให้โลกหันมาสนใจผลงานวรรณกรรมแถบนั้นมากขึ้นจนเกิดเป็นกระแส Latin American Boom ในช่วงทศวรรษ 1960s ทอดยาวมาถึง 1970s อีกเหตุผลหนึ่งหนีไม่พ้นการที่หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวนับเป็นนิยายแม่แบบที่ปักหมุดลักษณะทางวรรณกรรมที่ทุกวันนี้โลกรู้จักกันในนามของ สัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism)
ลีลาทางวรรณกรรมของการ์เซีย มาร์เกซไม่เพียงโดดเด่นด้วยการซุกซ่อนรายละเอียดซับซ้อนมากมายไว้ในประโยคบอกเล่าที่เรียบง่ายคล้ายนิทานขับกล่อม แต่เรายังพบว่าโลกที่การ์เซีย มาร์เกซสร้างนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นอายอันน่าพิศวง ไม่ว่าจะเป็นคนตายที่กลับมาเยือนแล้วพูดคุยสนทนากับคนเป็นราวไม่ได้จากไปไหน ชายหนุ่มผู้มีฝูงผีเสื้อบินอยู่รอบหัวตลอดเวลา ดอกไม้ที่ร่วงหล่นโปรยปรายลงมาเป็นสายฝน หญิงสาวผู้งดงามจนถูกลมหอบขึ้นไปบนฟ้า ไปจนถึงภัยประหลาดที่ครอบงำเมืองมาคอนโด อย่างโรคนอนไม่หลับที่ทำให้ผู้คนความจำเสื่อมกันทั้งเมือง หรือห่าฝนที่ตกติดต่อกันไม่หยุดเป็นเวลากว่า 5 ปีหลังเหตุสังหารหมู่ที่รัฐพยายามปกปิด
ความพิสดารพันลึกดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวมาคอนโดโดยไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสิ่งแปลกประหลาด หรือน่าตกอกตกใจ แต่ความมหัศจรรย์ดำรงอยู่ร่วมเป็นเนื้อเดียวกันกับความสามัญธรรมดา และถูกปฏิบัติราวกับเป็นเรื่องปกติทั่วไป นั่นทำให้หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวไม่อาจถูกจัดประเภทให้เป็นทั้งวรรณกรรมตามขนบสัจนิยม (realism) หรือวรรณกรรมแนวแฟนตาซีได้โดดๆ แต่กลับสร้างเส้นทางวรรณกรรมแบบใหม่ที่ว่าด้วยความเป็นจริงอันมหัศจรรย์โดยตัวมันเอง
สัจนิยมมหัศจรรย์จากปลายปากกาของการ์เซีย มาร์เกซจึงสะท้อนบรรยากาศเฉพาะถิ่นของแถบละตินอเมริกาที่เต็มไปด้วยความพิศวงเหนือจริงที่ล้นเกิน เปิดสายตาให้เราได้เห็นความมหัศจรรย์ที่เป็นความเป็นจริงในภูมิภาคซึ่งหน้าประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยความรุนแรงของการปะทะกันระหว่างโลกใบเก่ากับโลกใบใหม่ เจ้าอาณานิคมกับผู้ถูกยึดครอง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยม ฯลฯ
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ชี้ไว้ว่าหัวใจสำคัญของสัจนิยมมหัศจรรย์นั้นอยู่ที่ “การที่โลกสองประเภทคือโลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งความมหัศจรรย์ ดำรงอยู่คู่กันและดำเนินไปภายใต้ตรรกะชุดเดียวกัน จนในท้ายที่สุดเราไม่สามารถจำแนกได้ว่าอะไรคือ ‘ความเป็นจริง’ และอะไรคือ ‘ความมหัศจรรย์’” ด้วยเหตุนี้สัจนิยมมหัศจรรย์จึงถูกมองว่าเป็นวรรณกรรมที่เปิดให้ความหลากหลายเข้ามาปะทะสังสรรค์และดำรงอยู่ไปด้วยกันได้โดยไม่หักล้างทำลายกันนั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่าการ์เซีย มาร์เกซสร้างอัตลักษณ์วรรณกรรมแบบใหม่ให้กับละตินอเมริกาที่ถ่ายทอดสภาวะหลังอาณานิคม (postcolonial) ได้อย่างเหมาะเจาะ โดยผสานเอาสัจนิยมที่ส่อนัยถึงโลกทัศน์และตรรกะเหตุผลแบบชนชั้นกลางเจ้าอาณานิคม เข้ากับความมหัศจรรย์แบบตำนานพื้นบ้านโลกที่สาม และตั้งคำถามต่ออุดมการณ์ที่แฝงฝังมากับทั้ง 2 ฟาก พร้อมทั้งเชื้อเชิญให้ผู้อ่านหันมาทบทวนมโนทัศน์ต่างๆ ที่เราเคยยึดถือกันว่าจริงดูเสียใหม่
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวได้รับการพูดถึงในฐานะวรรณกรรมที่ท้าทายประวัติศาสตร์ฉบับทางการด้วยการจับใจความตำนานหรือประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายในจิตสำนึกผู้คน และถ่ายทอดมันผ่านเมืองในจินตนาการอย่างมาคอนโด เมืองซึ่งถูกพลิกโฉมครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยอำนาจจากภายนอกที่เข้ามากระทำจัดการ ทั้งอำนาจรัฐและทุนนิยมจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า มันจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่คาบเกี่ยวกับตำนาน อีกทั้งยังตกอยู่ในวังวนของการนองเลือดและการลืมเลือนซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งถึงกาลแตกดับของตัวเมือง
เวลาจึงเป็นอีกมโนทัศน์ที่ถูกท้าทายในหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ดังที่เราได้เห็นจากประโยคเปิดของหนังสือ ซึ่งบรรยายถึงตัวละครผู้ย้อนคำนึงไปถึงอดีต แต่ถูกบอกเล่าจากฉากในอนาคต การทบซ้อนของห้วงเวลาโดยรวบเอาทั้งปัจจุบัน อนาคต และอดีตเข้ามาไว้ด้วยกันในทำนองนี้แสดงให้เห็นลักษณะลื่นไหลของเวลาในหนังสือ ที่ไม่จำเป็นต้องเดินเป็นเส้นตรงเสมอไป หากยังสามารถหมุนวนและเหลื่อมทับกันได้ โดยนอกจากวังวนของเวลาที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของมาคอนโดย่ำอยู่กับที่ ชีวิตของผู้คนตระกูลบูเอนดิยาเองก็หมุนเป็นวงจรไม่ต่างกัน พวกเขาเวียนอยู่กับการตั้งชื่อสมาชิกในครอบครัวซ้ำไปซ้ำมา เกิดเรื่องรักใคร่ปรารถนากับคนในครอบครัวเดียวกันอยู่แทบทุกรุ่น ไปจนมีวัฏจักรชีวิตที่วนอยู่กับการทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ
ตลอดหนึ่งศตวรรษที่เวลาเดินไปข้างหน้าบ้าง เดินซ้ำเป็นวงกลมบ้างนั้นราวกับเวลาได้กักขังทั้งตระกูลบูเอนดิยาและเมืองมาคอนโดไว้ในโชคชะตาแห่งความโดดเดี่ยวที่มีปลายทางเป็นการล่มสลาย แต่ในความโดดเดี่ยวนี้เอง การ์เซีย มาร์เกซหยิบยื่นจินตนาการที่เชื้อเชิญนักอ่านทั่วโลกให้ตกหลุมรักในมนตร์เสน่ห์ทางวรรณกรรมอันไม่มีใครเหมือน ทั้งยังให้เราได้ใคร่ครวญถึงปริศนาอันน่าพิศวงที่ดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งที่เราเคยยอมรับโดยไม่กังขาว่าคือความเป็นจริง และไต่ถามว่าใครกันที่เป็นผู้ถือสิทธิ์ขาดในการนิยามสิ่งเหล่านั้น จนเมื่อเราละสายตาจากหน้ากระดาษขึ้นมา เราอาจเห็นว่าชีวิตในบ้านเมืองที่เราอาศัยอยู่นั้นอาจไม่ได้ต่างจากมาคอนโดไปโดยสิ้นเชิงก็ได้
อ้างอิง
การ์เซีย มาร์เกซ, กาเบรียล. (2552). หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว. แปลโดย ปณิธาน – ร. จันเสน. กรุงเทพฯ: สามัญชน.
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. (2559). สัจนิยมมหัศจรรย์ ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ: อ่าน.
https://www.nytimes.com/2019/03/06/books/one-hundred-years-of-solitude-is-coming-to-netflix.html
Tags: book