การทำธุรกิจ จะคิดถึงคนอื่นนอกเหนือจากตัวเองไม่ได้เลยหรือ?
จุ้ย-จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย ตั้งคำถามนี้กับตัวเองเมื่อตอนที่เริ่มทำ The Once Project ใหม่ๆ และตั้งใจจะให้แบรนด์เสื้อผ้าของเขาเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่ก็มีเสียงจากคนรอบข้างบอกว่า การช่วยเหลือผู้พิการที่อยากทำ ทำเป็นกิมมิกก็พอแล้ว ส่วนการทำธุรกิจก็ต้องหากำไรสิ
แน่นอนล่ะว่า ตัวเขาไม่คิดอย่างนั้น เพราะหากวันนั้นใจเกิดเอนเอียง แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคนตาบอดของเขา คงไม่เกิดขึ้นในวันนี้
ฝันที่ชัดเจน ทำให้การก้าวนั้นมั่นคง
จิระชอบเรื่องแฟชันมาตั้งแต่เด็ก และฝันของเขาก็ใหญ่กว่าวัย เขาคิดจะเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนมัธยม ตอนอายุ 17 ปี เขามีธุรกิจแรกเป็นของตัวเอง ด้วยเสื้อผ้าแฟชันโอเวอร์ไซส์ที่ฮิตติดเทรนด์ในเกาหลีแต่ไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย การมาก่อนกาลทำให้กิจการแรกของเขาในวันนั้นขาดทุนในระดับที่เรียกได้ว่าย่อยยับ เขาเล่าด้วยความสนุกสนานว่า ทุกวันนี้ยังมีเหลืออยู่เป็นลัง
“ความคิดเด็กๆ น่ะ เรามีความทะเยอทะยานในระดับหนึ่งเลย ก็ไปเรียนตัดเย็บ ทำแพตเทิร์น ส่งไปเย็บมาขาย แล้วก็พัง ภาพในหัวคือ ทำมาปุ๊บ คนต่อแถวซื้อ ออร์เดอร์สามพันตัว มีคอลเล็กชันใหม่มาเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่เป็นอย่างที่คิด แล้วก็ไม่เข็ดด้วย (หัวเราะ) จากนั้นก็ทำหมวกออกมาอีก เป็นหมวกแนวฮิปฮอปที่มีตาข่ายข้างหลัง ก็ยังเฟล เราไม่มีความรู้ด้านดีไซน์เลย มีแต่ passion ว่าเราชอบสิ่งนี้ที่สุดในชีวิต แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ และเจอตัวเอง เข้าใจตัวเองว่าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ”
การเติบโตในครอบครัวระดับกลางที่เห็นพ่อกับแม่มีปัญหาเรื่องเงินแบบเดือนชนเดือน ทำให้เขาไม่คิดจะทำงานเป็นลูกจ้างแล้วรอรับเงินเดือน
“เรื่องแต่งตัว บางทีเราไม่ได้แต่งตัวด้วยความรู้นะ เราแต่งตัวด้วยความรู้สึกว่ามันจะดูดี”
“ความอยากเป็นเจ้าของธุรกิจมาจากแรงด้านลบ เราเห็นแม่เป็นลูกจ้าง ทำดีแค่ไหนก็มีเพดานเงินเดือนกั้นอยู่แค่นั้น บ้านเราใช้เงินเยอะ จุ้ยกับน้องยิ่งโตขึ้นค่าใช้จ่ายก็เยอะขึ้น สมัยนั้นที่เราเรียนพิเศษหนักๆ แม่เตือนสติจุ้ยว่า อยากทำอะไรให้คิดเอง ไม่บังคับ ไม่ตั้งเป้าว่าต้องเป็นหมอหรือเภสัชฯ ให้จุ้ยหาตัวเอง”
จิระเลือกทางเดินให้ตัวเองด้วยการเรียนที่คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนี้เปิดประตูของการเป็นเจ้าของกิจการอย่างเต็มตัว เมื่อเขาส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการ ‘ไอเดียแลกล้าน’ และได้เป็น 1 ใน 10 คนที่ได้รับรางวัล 100,000 บาท เพื่อนำมาพัฒนาโครงการต่อให้เป็นจริง
“ที่อยากทำแบรนด์แฟชันเพราะเราชอบแต่งตัว พอเราเข้าใจถึงจิตวิญญาณแฟชันแล้ว เราก็ไม่ใช่แค่อยากใส่เองแล้ว แก่นของแฟชันมันคือสาระที่เราจะสื่อออกไป ตัวเราทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ แสดงออกได้ผ่านลายผ่านสี ทำให้คนได้คิดได้ตระหนักถึงทัศนคติบางอย่างของเรา หรือเป็นสไตล์เดียวของเรา จุ้ยมองว่านี่คือคุณค่าของแบรนด์แฟชัน”
ONCE ที่ไอเดียเริ่มต้นมาจากลุงและป้าที่พิการทางสายตา
ขาว เทาเข้ม และดำ คือสีหลักของเสื้อยืดแบรนด์ ONCE (วันซ์) ที่เขาผลิตออกมาในช่วงปีนี้ จิระบอกว่าเมื่อแนวทางธุรกิจชัดเจน เขาต้องลดทอนความ ‘เยอะโลกแตก’ แบบที่เคยชอบแฟชันแบบจัดๆ ออกไป เพราะกลุ่มเป้าหมายของเขาไม่ใช่ความจัดจ้านแบบแคตวอล์ก
“จุดเริ่มต้นของ Once คือลุงกับป้าที่ตาบอด ลุงเป็นพี่ชายแท้ๆ ของแม่ แต่งงานกับป้าสะใภ้ที่ตาบอด เขาไปเจอกันในโรงเรียนสอนคนตาบอด สิ่งที่จุ้ยเห็นมาตลอดคือ แม่ดูแลลุงกับป้าดีมาก ไม่เคยรำคาญหรือรู้สึกว่าทำไมต้องช่วย สมัยเด็ก จุ้ยก็เคยรำคาญที่ลุงกับป้าชอบถามโน่นถามนี่ แต่การได้เห็นแม่ทำเรื่อยๆ ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราต้องทำแบบนั้น คำตอบคือก็เพราะเขามองไม่เห็นไง แม่ช่วยอย่างคนที่เข้าใจคนตาบอดจริงๆ ไม่ได้ช่วยเพราะสงสาร การช่วยเพราะสงสารเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน แต่ช่วยด้วยความเข้าใจจะทำให้เราอยากทำอะไรให้เขา
“หลังจากนั้นเราเริ่มเข้าใจเขามากขึ้น แล้วก็ทำอะไรกับคนตาบอดมากขึ้น เริ่มไปสอนน้องที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กลับไปที่โรงเรียนเก่าของลุงกับป้า ไปเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้เขาฟัง มีความสุขที่ได้เห็นเขายิ้ม ทำให้เรามีพลังไม่มีวันหมด”
ไอเดียในการทำธุรกิจแฟชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาให้คนตาบอด มาจากการที่จิระต้องการแก้ปัญหาให้กับลุงในการเลือกเสื้อผ้าใส่ในแต่ละวัน เขาเล่าให้เราฟังในสิ่งที่ไม่เคยคิดถึงว่า ที่จริงแล้ว คนตาบอดมีจินตนาการมากในการแต่งตัว
“มีเยอะกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป วันนี้ต้องใส่สีแดงกับสีเหลือง หรือบางทีไปงานก็ใส่สีดำ เรื่องแต่งตัวบางทีเราไม่ได้แต่งตัวด้วยความรู้นะ เราแต่งตัวด้วยความรู้สึกว่ามันจะดูดี คนตาบอดก็มีความรู้สึกและมีจินตนาการว่าอันนี้น่าจะดูดี ที่ผ่านมาเราก็จะเป็นคนช่วยหยิบให้เขา หรือพาเขาไปซื้อ เขาอยากได้อะไรก็ต้องถามพนักงาน แต่ถ้าเขาสามารถซื้อเสื้อโดยที่เลือกเองหยิบเองได้ล่ะ”
“การช่วยเพราะสงสารเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน แต่ช่วยด้วยความเข้าใจจะทำให้เราอยากทำอะไรให้เขา”
‘ความเท่าเทียม’ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จิระคิดถึง และจุดเล็กๆ ที่ Once กำลังทำอยู่ ก็เป็นสิ่งแสดงถึงความเท่าเทียมอย่างหนึ่งที่คนตาบอดจะสามารถใช้ชีวิตอย่างคนปกติได้
“ธุรกิจสำหรับจุ้ยไม่ใช่เครื่องมือในการหาเงิน มันเป็นเครื่องมือที่เราจะช่วยเหลือคนตาบอดอีกหลายๆ คนให้มีสิทธิที่เท่าเทียมมากขึ้น เราพัฒนาตัวอักษรเบรลล์ให้ใช้ได้จริงเพื่อสกรีนลงบนเสื้อ ให้เขาสามารถเลือกสีเลือกขนาดได้เองจากการสัมผัสตัวอักษร ส่วนลายบนตัวเสื้อก็จะสื่อถึงความหมายที่ออกมาจากใจเราจริงๆ
“อย่างเครื่องหมายเท่ากับ คือความเท่าเทียมที่อยากจะสร้างให้กับสังคม สีขาวบนเครื่องหมายหมายถึงคนตาดี สีดำหมายถึงผู้พิการทางสายตา จุ้ยมองว่าเมื่อเราช่วยเหลือกันและกัน เติมเต็มในสิ่งที่ขาด มันจะทำให้เกิดความสุข ความเท่าเทียมขึ้นมาได้ เป็นสิ่งที่แบรนด์อยากทำให้เกิดขึ้นกับสังคมนี้
“ส่วนลายที่เป็นไม้เท้า ไอเดียมาจากพี่ในทีมงานซึ่งเป็นคนตาบอดให้ไอเดียมาว่า อยากให้คนทั่วไปเข้าใจถึงศักยภาพของผู้พิการว่า ต่อให้เขามองไม่เห็น เขาก็เดินไปที่ไหนๆ ได้ด้วยวิธีการของเขา คือ ใช้ไม้เท้า ไม้เท้าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเท่าเทียมของเขา บ่งบอกถึงศักยภาพของเขาว่าเขาทำอะไรได้ มันคือดวงตาของเขา มันคือวิธีการที่เขาดำเนินชีวิตในโลกของเขา ทุกลายที่เราออกแบบลงบนเสื้อมีความหมายหมด และเอกลักษณ์ของงานเราคือ ผู้พิการจะต้องสัมผัสได้ไม่ต่างจากคนตาดี”
70 : 30 เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืนและพัฒนาอาชีพคนตาบอด
คุณภาพและการใช้งาน ผ่านการตรวจสอบคุณภาพโดยลุงของจิระ เนื้อผ้าที่ผสมเส้นใยขึ้นใหม่เพื่อไม่ให้ยับง่าย ทอในเมืองไทย และมีแอกเซสซอรีอื่นๆ เช่น กระเป๋า หมวก
เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องต่อยอดในเชิงธุรกิจ ผ่านการทดลองที่ทั้งผิดและถูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวผลิตภัณฑ์หรือระบบการทำงาน ที่ก็ต้องหาความแตกต่างทางความคิดและทักษะเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้
“การลองผิดของเราก็คือ เอาไปขายให้กับคนตาบอดเลย แต่สุดท้ายเราค้นพบว่าเขาไม่ได้มีเงินมากพอจะซื้อของของเรา ส่วนใหญ่อาชีพของคนตาบอด คือร้องเพลงถือกล่อง ขายลอตเตอรี อาชีพของเขาถูกจำกัดด้วยทัศนคติของสังคม ทั้งที่ความสามารถมีพอที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง แต่เขาไม่ได้รับโอกาส”
“จากนั้นเราเลยเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ เราเริ่มมาหาคนตาดีเพื่อจะไปช่วยคนตาบอด เราเคยทำแคมเปญขึ้นมาว่า ซื้อหนึ่งชิ้น แล้วเราจะเอาไปมอบให้ผู้พิการอีกหนึ่งชิ้น พอทำแบบนั้นแล้วคนซื้อเยอะมากจนต้องผลิตเพิ่ม พอมีรายได้เข้ามา เราก็เริ่มเอาเงินไปทำโครงการอื่นต่อ เช่น ชวนทุกคนที่สนับสนุนแบรนด์เราไปทำกิจกรรมด้วยกันที่โรงเรียนคนตาบอด ให้เขาได้เห็นชีวิตจริงของคนตาบอดว่าเป็นยังไง โครงการนั้นทำให้มีคนเข้าใจถึงชีวิตผู้พิการอีกหลายๆ คน และมีคนทำโครงการต่อยอดจากเรา มันคือการส่งต่อ
“ส่วนเราเองก็ต้องทำโมเดลธุรกิจให้แข็งแรงขึ้น เราฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่เป็นห้าคน มีหนึ่งคนเป็นผู้พิการทางสายตาที่เคยเป็นคนถือกล่อง อีกคนพิการท่อนล่าง คือพี่หนู (นลัทพร ไกรฤกษ์) จากเพจ thisable.me มาช่วยเรื่องการตลาด ซึ่งคนตาบอดจะเป็นหัวหน้าฝ่ายบุคคล ทำด้านเครือข่ายคนพิการเพื่อมาร่วมงานขายกับเรา และเขาทำได้ดีมาก เพราะเขามี passion เหมือนเราว่าต้องการสร้างความเท่าเทียม
อาชีพของเขาถูกจำกัดด้วยทัศนคติของสังคม ทั้งที่ความสามารถมีพอที่จะทำอะไรได้หลายอย่าง แต่เขาไม่ได้รับโอกาส
“เราแบ่งอัตราส่วนของรายได้ออกเป็น 70:30 คือ 70 เปอร์เซ็นต์เราเอากลับมาพัฒนาธุรกิจเพื่อให้เกิดความมั่นคง เพราะเราก็ต้องมีให้พอก่อน ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์เราเอาไปทำในเรื่องสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตาและเรื่องแบ่งปัน เพราะในการขายนอกจากขายออนไลน์ เราไปออกร้านตามที่ต่างๆ ด้วย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องพัฒนาหน้าร้านด้วยนวัตกรรมใหม่หมด เพราะหน้าร้านเราต้องซัพพอร์ตคนพิการ ทั้งที่เป็นคนซื้อและคนทำงาน ระบบหลังร้านและการเก็บสต็อกก็ต้องเอื้อในการทำงาน ทำยังไงให้เขาหยิบสต็อกได้ถูก
“ตอนนี้เรามีโปรเจ็กต์ปรับปรุงศูนย์บริการคนตาบอดแห่งชาติ ที่จรัญสนิทวงศ์ ที่นั่นเป็นศูนย์กลางที่พวกเขาใช้ซ้อมดนตรีเพื่อไปร้องเพลงถือกล่องและฝึกอาชีพอื่นๆ อาคารมันถล่มลงมา เราเลยทำคอลเล็กชัน ‘ยิ้มสู้’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเพลงพระราชนิพนธ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้ไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ให้เรายิ้มสู้ไปด้วยกัน เพื่อสร้างอาชีพให้กับเขา”
“เรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการทำธุรกิจด้วยเหมือนกันนะ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือแก่นของเราเลย คือ รู้จักตัวเอง มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญคือ ความรู้กับความดี เราต้องรู้จักตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรให้กับใคร เรามีเหตุผลที่จะส่งต่อความหมายนี้ออกไปให้กับคนอื่น และเรามีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อผ่านทางธุรกิจเพื่อให้มีความยั่งยืน เพื่อที่จะได้สร้างผลงานดีๆ ต่อไป ส่วนความรู้กับความดี ก็คือเราได้แบ่งปัน 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้พิการต่อ
“สิ่งเท่าเทียมใน Once คือการที่เราได้มาทำงานด้วยกันแล้วเรามีความสุข พวกเราเท่ากันทุกคน ได้แสดงความสามารถที่มีออกมาได้เต็มที่ เติมเต็มข้อบกพร่องของแต่ละคน เขามองไม่เห็น เราเป็นตาให้เขา เขาเดินไม่ได้ เราเป็นขาให้เขา”
ธุรกิจของนักศึกษาปีสามคนหนึ่ง กำลังค่อยๆ ยึดรากอยู่บนแนวทางที่เขาวางเอาไว้ตามความตั้งใจ หากเมื่อมองย้อนกลับไปถึงวันที่เขาเริ่มต้นกับมัน ตั้งแต่วันที่ยังไม่รู้อะไร จนวันนี้ เขาได้บทเรียนจากการลงมือทำมันจริง
และดูท่าจะเป็นรากที่แข็งแรงยิ่งขึ้น เมื่อเขาก้าวพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัย ยืนอยู่ในโลกธุรกิจเต็มตัว โดยไม่ลืมการ ‘ให้’ กับสังคม
ที่มาภาพ: The Once Project
FACT BOX :
ติดตามและสนับสนุนผลงานของ ONCE ได้ที่ Facebook : theonceproject และ Instagram : theon.ce
Tags: ธุรกิจ, เสื้อผ้า, แฟชั่น, Once, ผู้พิการ, อักษรเบรลล์