คงปฏิเสธไม่ได้ว่าขนบที่มีมาอย่างยาวนานของศิลปะคือการให้ความสำคัญกับการมองมากกว่าการรับรู้ด้านอื่นและด้วยอิทธิพลที่แผ่ขยายของทัศนธรรม (Visual Culture) ก็ทำให้เราคุ้นชินกับการรับรู้ผ่านการมองเห็นเป็นหลัก จนใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่กับหน้าจอมือถือ ขณะที่การดมกลิ่นดูจะเป็นผัสสะที่ไม่ได้รับการใส่ใจมากพอมาโดยตลอด แต่มันกลับเป็นผัสสะเดียวที่เราไม่สามารถปิดลงได้ ไม่เหมือนตา หูหรือปาก เราไม่อาจหยุดการหายใจได้จึงไม่อาจหยุดการรับกลิ่นได้ไปโดยปริยาย

กลิ่นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเพราะความหมายของกลิ่นจะถูกเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อถูกเชื่อมโยงผ่านบริบทเท่านั้น โดยเฉพาะบริบททางวัฒนธรรม กลิ่นทำให้เรานึกถึงบางสิ่งบางอย่างหรือบางความรู้สึกเสมอ ไม่นานมานี้ ผู้เขียนเพิ่งสังเกตว่าศิลปินร่วมสมัยทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจกับกลิ่นมากขึ้น แม้ดูจะเป็นเรื่องใหม่แต่แท้จริงแล้ว ศิลปะจากกลิ่นไม่ใช่นวัตกรรมของโลกศตวรรษที่ 21 แต่อย่างใด

ในปี 1938 อองเดร เบรอตง (André Breton) ผู้ริเริ่มกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม มอบหมายให้มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ออกแบบนิทรรศการศิลปะที่จะจัดที่ Galerie des Beaux-Arts ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พื้นที่นิทรรศการถูกทำให้มืด ใบไม้แห้งและดินกระจัดกระจายอยู่บนพื้น ส่วนที่เพดานห้องจัดแสดง มีถุงใส่ถ่านหินหนักๆ ถูกห้อยลงมา งานศิลปะจัดวางของเขาอบอวลไปด้วยกลิ่นกาแฟที่ได้จากการคั่วกาแฟสดๆ ตรงนั้นซึ่ง แมน เรย์ (Man Ray) ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ร่วมก๊วนให้สัมภาษณ์ว่ากวีที่ชื่อเพเรต์ (Péret) ที่เคยอาศัยอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้เป็นผู้นำเครื่องคั่วกาแฟมาติดตั้งไว้ให้ ผู้ที่ได้เข้าชมนิทรรศการอย่าง ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ยังเสริมอีกด้วยว่าเธอได้กลิ่นกาแฟบราซิลระหว่างชมนิทรรศการนี้

ภาพจาก https://curatorialexperiments.wordpress.com/category/sources/

หลายสิบปีต่อมา ในปี 1965 ศิลปินชาวอเมริกันเอ็ดวาร์ด คีนฮอลซ์ (Edward Kienholz) สร้างผลงานที่ชื่อ ‘The Beanery’ ซึ่งจำลองบรรยากาศในบาร์ ทั้งข้าวของ ผู้คนและกลิ่น ผลงานนี้จำลองจากบาร์ที่มีอยู่จริงชื่อ Beanery ที่เมืองลอสแอนเจลิส ในอัตรา 2:3 โดยที่หุ่นจำลองผู้คนทุกตัวมีหัวเป็นนาฬิกา ยกเว้นหุ่นของ Barney ผู้เป็นเจ้าของที่มีหัวเป็นมนุษย์ปกติ เนื่องจากศิลปินมองว่าบาร์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ผู้คนมาเพื่อใช้เวลา ฆ่าเวลา หรือหลงลืมเวลาไป กลิ่นในผลงานนี้เป็นกลิ่นที่ศิลปินนึกถึงเมื่อนึกถึงบาร์ เช่น กลิ่นเถ้าบุหรี่ เบียร์ชืดๆ และลูกเหม็น เป็นต้น 

ในปีเดียวกันนั้น ศิลปินญี่ปุ่นทาคาโกะ ไซโตะ (Takako Saito) ที่พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกาสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อ ‘Smell Chess’ ขึ้น เธอนำเครื่องเทศต่างๆ มาใส่ในขวดพลาสติกใสขนาดเล็กแทนที่ตัวหมากของหมากรุกที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน เช่น เบี้ยคือชินนามอน เรือคือลูกจันทน์ ม้าคือขิง เป็นต้น แทนที่จะเป็นเกมที่แข่งขันเพียงเชาว์ปัญญาเพียงอย่างเดียว ศิลปินเปลี่ยนให้หมากรุกเป็นเกมที่ต้องใช้การดมกลิ่นด้วย ระหว่างที่เล่นตามกติกาหมากรุกปกติ แต่ละฝ่ายย่อมได้ดมกลิ่นทั้งตัวหมากรุกของตัวเองและของฝ่ายตรงข้าม เป็นการปฏิสัมพันธ์ในอีกระดับหนึ่ง

Edward Kienholz – The Beanery ภาพจาก https://www.flickr.com/photos/de_buurman/8071860653

Takako Saito – Smell Chess ภาพจาก https://www.fondazionebonotto.org/en/collection/fluxus/saitotakako/1493.html

ในยุค 70s จูดี ชิคาโก (Judy Chicago) สร้างห้องน้ำสีขาวที่มีโถส้วม ชั้นวางผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสุขอนามัยของผู้หญิงและถังขยะที่มีผ้าอนามัยที่ใช้แล้วใส่ไว้ท่วม ศิลปินตั้งชื่อตรงตัวว่า ‘Menstruation Bathroom’ (1972) ศิลปินนำเรื่องราวที่ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญในชีวิตส่วนตัวมาถ่ายทอดเป็นสาธารณะเพื่อตั้งคำถามเรื่องที่ผู้หญิงมักถูกบอกให้ปกปิดและคิดว่าประจำเดือนเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เธอกล่าวว่า “สิ่งที่เรารู้สึกกับประจำเดือนของเราเองก็คือสิ่งที่เรารู้สึกเมื่อเห็นภาพมันตรงหน้าแบบนี้นี่แหละ” 

ส่วนในปี 1977 มีผลงานที่เล่นกับคำว่าห้องเหมือนกัน นั่นคือ ‘The Earth Room’ ที่ถูกย้ายจากเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนีมาที่ถนนวูสเตอร์ (Wooster Street) ย่านโซโห  เมืองนิวยอร์ก และไม่เคยจากไปอีกเลย Walter De Maria ศิลปินเจ้าของผลงานนำดินราว 140 ตันมาถมไว้ในแกลลอรี่ แม้ว่าจะไม่อาจสัมผัสหรือก้าวเดินบนนั้นได้ แต่แน่นอนว่าผู้ชมจะได้กลิ่นของดินและอาจได้เห็นพืชหรือแมลงโผล่ออกจากดินเหล่านั้นด้วย

Judy Chicago – Menstruation Bathroom ภาพจาก http://fkopicer.pw/Judy-Chicago-Artist-Judy-Chicago-Judy-chicago-t.html

Walter De Maria – The Earth Room  ภาพจาก https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-artist-masterpiece-involved-filling-apartment-140-tons-dirt

โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ก็เป็นศิลปินอีกคนที่สนใจเรื่องของกลิ่น โดยเฉพาะงานในช่วงหลังของเขา ในปี 1984 บอยส์สร้างผลงานที่ชื่อว่า ‘Olivestone’ เขาพบหินโบราณในพาลาซโซ ดูรินี ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี หินนั้นถูกทำให้เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ว่างเปล่าเพื่อรองรับน้ำมันที่เหลือใช้จากบ้านชนชั้นสูง เขานำหินชนิดเดียวกันมาตัดให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เล็กกว่าหินที่พบด้านละหนึ่งเซนติเมตร นำหินที่ตัดใหม่ใส่ลงไปในภาชนะหินที่พบแล้วเขาก็ราดน้ำมันมะกอกลงไปบนหินเหล่านั้น เมื่อราดบ่อยเข้า ผิวหน้าของหินจะถูกเคลือบด้วยน้ำมัน เมื่อผู้ชมตามกลิ่นหอมของน้ำมันมะกอกมาที่ผลงาน พวกเขาจะได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองผ่านคราบน้ำมัน

ภาพจำลองการแสดงสดของศิลปิน ภาพจาก https://www.tagesanzeiger.ch/service/Adblocker-deaktivieren/story/23829825

ขยับมาในช่วงปี 90s เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) ที่ตอนนั้นเพิ่งจบมหาวิทยาลัยก็ใช้กลิ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงานเช่นกัน ในผลงานชื่อ ‘A Thousand Years’ ในปี 1990 เขาจัดวางศีรษะของวัวจริงๆ ไว้ในตู้กระจกและปล่อยให้มันเน่าเสียลงตามธรรมชาติ หากผู้ชมเข้าใกล้รูเล็กๆ ที่เจาะไว้บนตู้กระจกจะได้กลิ่นเน่า เห็นหนอนและแมลงวันบินอยู่รอบๆ นอกจากนี้ เหนือซากนั้นยังมีเครื่องดักแมลงติดตั้งไว้ด้านบน ชีวิตของแมลงวันที่เกิดจากซากศพของวัว บางส่วนตายลงในเครื่องดักแมลง ในขณะที่บางส่วนก็มีชีวิตรอดและแพร่พันธุ์ต่อไปเป็นวัฎจักรของการตายและเกิด

ในปี 1993 แนนซี รูบินส์ (Nancy Rubins) สร้างผลงาน ‘Mattresses and Cakes’ ซึ่งประกอบด้วยฟูกนอนและเค้กสมชื่อ เธอใช้ลวดรัดฟูกนอนที่ม้วนแล้ว จากนั้นก็ทาฟูกนอนเหล่านั้นด้วยเค้ก ฟูกนอนเปื้อนเค้กเหล่านี้ถูกจัดวางให้ห้อยลงมาจากเพดาน เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่เหนือพื้น ศิลปินต้องการวิพากษ์วิจารณ์สังคมบริโภคนิยมที่กำลังเติบโตอย่างรุนแรงในขณะนั้น ยากทีเดียวที่จะจินตนาการว่าคราบเค้กหวานๆ บนฟูกนอนเก่าๆ จะมีกลิ่นเป็นอย่างไร 

Damien Hirst – A Thousand Years ภาพจาก http://www.damienhirst.com/a-thousand-years

Nancy Rubins – Mattresses and Cakes ภาพจาก https://magazinec.com/culture/defying-gravity/

ศิลปะสาธารณะ (Public Art) ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลิ่นก็มีเช่นกัน ซิซเซล โทลาส (Sissel Tolaas) เป็นนักวิจัยด้านกลิ่นและศิลปินชาวนอร์เวย์ เธอศึกษากลิ่นของเมืองหรือ City SmellScacpe ของเมืองมาตั้งแต่ปี 1998 ปัจจุบันเธอมีกลิ่นของเมืองมากกว่า 52 เมือง โดยเธอเก็บทั้งกลิ่นที่ทั้งหอมและเหม็นมาประกอบเป็นกลิ่นของเมืองหนึ่งๆ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้คิดค้น ‘SMELL MEMORY KIT’ ชุดอุปกรณ์เก็บกลิ่นไว้เป็นความทรงจำด้วยตัวเอง เพราะเธอเชื่อว่ากลิ่นกระตุ้นให้เรานึกถึงความทรงจำได้ชัดเจนยิ่งกว่าภาพเสียอีก 

อีกงานหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ‘Sillage’ ฝีมือไบรอัน โกลต์เซนลุชเทอร์ (Brian Goeltzenleuchter) ซึ่งมีความหมายความถึง ‘กลิ่นที่หลงเหลืออยู่ในอากาศ’ หรือเส้นทางของกลิ่นนั่นเอง โครงการนี้เริ่มต้นที่เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกาในปี 2014 ด้วยการขอความร่วมมือให้ชาวเมืองช่วยอธิบายกลิ่นที่พวกเขานึกถึงเมื่อพูดถึงย่านต่างๆ ของเมือง ศิลปินนำข้อมูลที่ได้มาสร้างน้ำหอมที่บ่งบอกตัวตนของย่านนั้นๆ ด้วยความแปลกใหม่ของวิธีการและยังเป็นการสนับสนุนให้ชาวเมืองได้มีส่วนร่วมกับศิลปะในพื้นที่ของตัวเอง ผลงานชิ้นนี้จึงถูกนำไปทำต่อในพื้นที่อื่นๆ เช่น เมืองบัลติมอร์ (Baltimore) โดยศิลปินมองว่าการสร้างกลิ่นเป็นศิลปะที่ไม่จีรัง ดังนั้นมันจึงเรียกร้องให้ชุมชนต้องรีบเข้ามาสัมผัสศิลปะในทันที ส่งผลให้คนในชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันและยังได้ความทรงจำร่วมกันอีกด้วย

ภาพจาก https://www.scpr.org/programs/airtalk/2014/06/26/38082/lasmellslike-what-scents-represent-your-neighborho/

นอกจากทัศนศิลป์แล้ว ศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ศิลปะการแสดงก็เริ่มทดลองเกี่ยวกับกลิ่นเช่นกัน ในปี 2009 มีโอเปร่าที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (Guggenheim Museum) ชื่อ ‘Green Aria: A Scent Opera’ ไมโครโฟนปล่อยกลิ่นถูกติดตั้งไว้ข้างที่นั่งจำนวน 148 ที่นั่งและจะปล่อยกลิ่นออกมาในเพลงที่เหมาะสมระหว่างการแสดง โดยมีกลิ่นมากกว่า 24 กลิ่นเลยทีเดียว ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสจ๊วต แมทธิว (Stewart Matthew) ผู้กำกับและคริสตอฟ ลอดามีล (Christophe Laudamiel) นักทำน้ำหอมชาวฝรั่งเศส

ภาพจาก http://content.time.com/time/today-in-pictures/0,31511,1927637,00.html

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ศิลปินไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุที่จับต้องได้เพื่อสร้างกลิ่นอีกต่อไป แต่เป็นการทำงานร่วมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์กลิ่นสังเคราะห์ขึ้น และยังก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีกลิ่นเป็นพระเอกของงาน เป็นศิลปะที่นำเสนอกลิ่นโดยไม่ต้องอาศัยการมองเห็นอีกต่อไป ดังเช่นนิทรรศการเดี่ยวของ ฌอน ราสเพท (Sean Raspet) ศิลปินชาวอเมริกันที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ชื่อว่า ‘New Molecules & Stem Cell Retinoid Screen’ ณ Empty Gallery เกาะฮ่องกง ถือว่าเป็นชื่อนิทรรศการศิลปะที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์มากทีเดียว ในนิทรรศการนี้ ศิลปินร่วมกับนักเคมี เจง เชงปิง (Zheng Shengping) จาก CUNY Hunter College คิดค้นโมเลกุลของน้ำหอมที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลกจำนวนสามชนิดและตั้งชื่อราวตัวละครในหนังไซ-ไฟให้พวกมันว่า Fructaplex© Sylvoxime© และ Hyperflor© ศิลปินเห็นขีดจำกัดในการมองเห็นของมนุษย์แต่พบว่ามีความเป็นไปได้มากมายผ่านการดมกลิ่น เขาจัดแสดงกลิ่นทั้งสามกลิ่นด้วยการติดตั้งเครื่องกระจายกลิ่นในแกลเลอรี่สีดำ ผู้ชมไม่สามารถพึ่งพาการมองเห็นหรือการสัมผัสได้เลย เขามอบประสบการณ์แปลกใหม่ของการดมกลิ่นในฐานะศิลปะชิ้นหนึ่งให้กับผู้ชม

ภาพจาก http://moussemagazine.it/scented-trip-sean-raspet-chiara-moioli-empty-gallery-hong-kong-2019/

ทางด้านบ้านเราเองก็มีศิลปินที่ให้ความสนใจสร้างสรรค์ศิลปะจากกลิ่นเช่นกัน เช่น กลิ่นสมุนไพรจากผลงานศิลปะหลายชิ้นของมณเฑียร บุญมา (พ.ศ. 2496 – 2543) ที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้ชมตระหนักถึงอายตนะต่างๆ และยังเป็นการเยียวยารักษาผู้ชมอีกด้วย ไม่กี่ปีก่อน ‘The Blind Theatre’ ถูกก่อตั้งขึ้นและได้สร้างสรรค์ละครเวทีที่ออกแบบประสบการณ์ให้ผู้ชมไม่ได้สัมผัสเรื่องราวด้วยตาแต่ด้วยการใช้ผัสสะอื่นๆ ผ่านการแสดงของนักแสดงตาบอดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา ยังมี ‘The Nose Thailand’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินผู้พิการทางสายตาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจาก ‘สีมีกลิ่น’ เป็นครั้งแรก และเสนอให้ผู้ชมเข้าถึงผลงานผ่านการดมกลิ่นหรือปิดตาแล้วสัมผัสไปที่ตัวผลงาน   

ที่ศิลปะจากการดมกลิ่นกลับมาเป็นที่สนใจของศิลปินหลายแขนงในปัจจุบันอีกครั้ง หลังจากผลุบๆ โผล่ๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะมาตลอด อาจเพราะในโลกที่ทุกคนสามารถดูภาพผลงานศิลปะหรือวิดีโอจำลองประสบการณ์การเข้าชมนิทรรศการได้จากทุกที่ผ่านหน้าจอโดยไม่จำเป็นต้องไปปรากฏตัวในสถานที่จริงอีกต่อไป สิ่งที่กลิ่นเรียกร้องได้มากกว่าการมองเห็นหรือได้ยิน (อย่างน้อยก็จนกว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะก้าวหน้าจนจำลองกลิ่นผ่านโลกเสมือนมาได้) คือ ผู้ดมจะต้องมาสัมผัสโดยตรงในสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น อีกทั้งยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงกับกลิ่นที่เราเคยรู้จักมาก่อนหรือบางสิ่งบางอย่างในความทรงจำของเรา ไม่มีทางที่จะตัดการเชื่อมโยงออกไปได้เลย เป็นงานศิลปะที่ทั้งชัดเจนและคลุมเครือ อีกทั้งยังเลือนหายไปได้ คงอยู่แค่เพียงชั่วคราวต่อหน้าจมูกของเรา 

อ้างอิง:

https://www.academia.edu/4608919/Historical_Overview_of_Olfactory_Art_in_the_20th_Century

http://eyeofestival.com/2017/speaker/sissel-tolaas  

https://www.komchadluek.net/news/edu-health/356751

https://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3025088/scents-senses-aromatherapists-journey-becoming

Tags: , ,