ป๊อก แป๊ก ป๊อก แป๊ก

ลูกปิงปองกระดอนบนพื้นผิวโต๊ะสีเขียวในสวนสาธารณะใจกลางเมืองนิวยอร์ก

ใครบางคนควงไม้สองตลบ ก่อนตวัดมาตบอัดลูกลงอย่างสะใจ

แต่ละคนที่ผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่สองฟากฝั่งโต๊ะมีคาร์แรกเตอร์จัดแตกต่างกันไป หลากหลายเชื้อชาติ สะท้อนความเป็นนิวยอร์กได้อย่างดี แต่ความพิเศษคงไม่ใช่ว่า พวกเขาคือนิวยอร์กเกอร์ แต่เพราะอุปกรณ์เรียบง่ายอย่างโต๊ะปิงปองต่างหาก ที่สร้างความมหัศจรรย์ ก่อร่างชุมชนขนาดย่อมได้ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่คนทำตัวแปลกหน้ากัน

ภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น The Table จึงเลือกหยิบเอา ‘พื้นที่’ พิเศษนี้ มาเล่าขยายในความยาว 15 นาที

“โทนี่ เขาเป็นหนุ่มชาวจีนที่มาที่นี่เสมอ พร้อมถอดเสื้อโชว์ท่อนบน บอกว่ามันร้อน” สาวเอเชียนคนหนึ่งพูดถึงเพื่อนในชุมชนโต๊ะปิงปองนี้ด้วยรอยยิ้ม คล้ายๆ เป็นการแซวตอนเจ้าตัวไม่อยู่

“เรามี ไทรอน คนที่เราเรียกกันว่า คนบ้า บางครั้งเขาเอาแท่งไม้เปล่าๆ มาตีแทนไม้ปิงปอง” ชายอีกคนกล่าวถึงไทรอนอย่างสนิทสนม ภาพตัดมาที่ไทรอน อธิบายว่าเขาชอบใช้แท่งไม้ที่ว่านี้ เวลาต้องการตีแข่งแบบเอาจริงเอาจัง

บางคนก็อยู่ในวัยชรา แต่ก็เขามาหลอมรวมกับชุมชนนี้อย่างไม่เคอะเขิน อาจเป็นเพราะบรรยากาศอันเชื้อเชิญของไบรอันพาร์ก (Bryant Park) สวนสาธาณะที่ได้รับยกย่องว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ (public space) ที่เจ๋งสุดๆ

ไบรอันพาร์กคือสวนสาธารณะขนาด 10 เอเคอร์ (ราว 40,000 ตารางเมตร) ตั้งอยู่ใจกลางนิวยอร์ก ตรงข้ามกับห้องสมุดสาธารณะแห่งเมืองนิวยอร์กพอดิบพอดี และถือเป็นแลนด์มาร์กของแมนฮัตตันเช่นเดียวกับเซนทรัลพาร์ก เพียงแต่ในช่วงทศวรรษ 1970s ไบรอันพาร์กเคยมีสภาพไม่เป็นมิตรเท่าไรนัก เพราะมีทั้งเหตุอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และการข่มขืน แต่ในที่สุด เมื่อพี่น้องตระกูลร็อกเกอะเฟลเลอร์ให้ทุนสนับสนุนการปรับปรุงสวน จนกลายมาเป็นของขวัญล้ำค่าของชุมชนโดยรอบ และกลายเป็นความภูมิใจของชุมชนและธุรกิจในท้องถิ่น กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรอบและเพิ่มมูลค่าที่ดินใกล้เคียง

แต่หากถามว่า ความสำเร็จของพื้นที่นี้มาจากการทุ่มงบมหาศาลสร้างสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมมาเพื่อ ‘ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน’ หรือเปล่า เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่ สิ่งที่ทำให้คนแปลกหน้าเข้ามาใกล้ชิดกันและมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่ห้างร้านหรูหราหรืออุปกรณ์ไฮเทคใด

ดังเช่นที่โต๊ะปิงปองเรียบง่าย (ที่ราคาไม่น่าแพงเท่าใดนัก) ได้แสดงให้เราเห็น

ความสำเร็จขององค์กรที่เรียกว่าเป็น ‘Business Improvement Districts’ หรือ BIDs ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐ-เอกชนนี้ มาจากความจริงที่ว่า นี่เป็นพื้นที่ที่คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมสร้างและบริหารงานในระดับสูง ทำให้ผู้ที่นำการตัดสินใจต่างๆ มักจะเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ แถวนั้น และได้รับการสนับสนุนจากผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง อีกทั้งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากผู้ค้าในท้องถิ่น เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และผู้ศรัทธา

เมื่อเกิดความรู้สึกว่า เราเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องร้องขอหรือล่อลวง พวกเขาก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมใช้งานพื้นที่นี้และสร้างสรรค์กิจกรรมกันขึ้นมา

พื้นที่สาธารณะ ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องทำให้มีชีวิต

เมื่อพูดคำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ หรือ public space เราอาจมองเห็นเป็นภาพทางเท้าที่ผุพัง เหลื่อมล้ำกระทั่งกระเบื้องบนพื้น หรือลานกว้างว่างเปล่าใต้สะพานข้ามทางแยก

แต่พื้นที่สาธารณะ กินความไปได้ไกลและสร้างสรรค์กว่านั้น มันอาจมีฟังก์ชันที่มากกว่าพื้นที่ว่างเปล่าที่ใครๆ ก็เดินเข้าไปได้โดยไม่โดนข้อหาบุกรุก แต่มีหน้าที่กระตุ้นชีวิตชีวาในชุมชนใกล้เคียง ไปจนถึงทำให้คนได้ ‘คุย’ กัน กิจกรรมที่เหมือนจะง่ายแต่เริ่มทำได้ยากระหว่างคนแปลกหน้าในเมืองใหญ่

รายงานของมูลนิธิ Joseph Rowntree ในสหราชอาณาจักร ชี้ว่า เวลาที่รัฐพูดถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ก็มักไปเจาะจงที่การออกแบบหน้าตาของมันมากเกินไป ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์แม้จะดูสะอาดตาดีแต่ก็แห้งแล้งเพราะไม่มีใคร ‘รู้สึก’ อยากเข้าไปใช้ หรือไม่ก็เป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวมากกว่าจะคิดถึงมุมชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยในแถบนั้นจริงๆ

ในขณะที่พื้นที่สาธารณะอาจเป็นอะไรง่ายๆ ในชีวิต เช่น ตลาด สวนสาธารณะ ลานกว้าง ลานกีฬา ที่ที่คนซึ่งแตกต่างวัฒนธรรมกันได้เข้ามาเรียนรู้กัน ไม่ได้มาที่นี่เพื่อการทำงาน แต่มาเพื่อเลือกสรรพื้นที่ส่วนตัวสำหรับตัวเองท่ามกลางการมองเห็นของคนอื่นๆ

รายงานนี้มองว่าเป็นการได้ “แสดงออกวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตัวเอง พร้อมกับทั้งที่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างของผู้คนกลุ่มอื่นๆ ในชุมชนที่ตัวเองอยู่” ซึ่งความเข้าใจนี้จะทำให้เรารู้สึกเป็นอื่นกันน้อยลง ผูกพันกับพื้นที่ในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นหัวใจของการก่อร่าง ‘ชุมชน’

ในขณะที่พื้นที่กึ่งสาธารณะแบบห้างสรรพสินค้า อาจกีดกันคนบางกลุ่มออกไป เพราะให้ค่ากับ ‘กำลังซื้อ’ ของผู้คนมากกว่า ผลก็คือ คนกลุ่มที่จะรู้สึกสะดวกสบายเมื่ออยู่ในนั้นคือคนที่มีเงินจะจ่าย ไม่ว่าจะจ่ายเพื่อช้อปปิ้งหรือจ่ายเพื่อให้มีที่นั่งดีๆ นั่งสบาย ด้วยเหตุนี้ผู้สูงอายุและเยาวชนที่ไม่ค่อยมีรายได้ ก็กลายเป็นคนไม่มีที่ไป แทนที่จะได้มีกิจกรรมเข้าสังคมแบบคนอื่นๆ เขา

แต่ ‘พื้นที่สาธารณะ’ ต้องเป็นที่ที่ใครๆ ก็เข้ามาใช้งานได้ แม้ไม่มีเงินเลยสักบาท

ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพจิตที่ดีขึ้น กรณีศึกษาที่ Emmen, Appledoorn และ Leiden ในเนเธอร์แลนด์พบว่าพื้นที่สีเขียวที่มีแหล่งน้ำนั้นช่วยเพิ่มราคาของที่อยู่อาศัยโดยรอบถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ทิวทัศน์ของสวนสาธารณะช่วยเพิ่มราคาได้ราว 8 เปอร์เซ็นต์ หรือเพียงแค่มีสวนอยู่ใกล้ๆ ก็ยังเพิ่มราคาได้ถึง 6 เปอร์เซ็นต์

พื้นที่ลักษณะนี้เชื้อเชิญคนทุกวัย กิจกรรมที่เกิดขึ้นก็เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและวัน เช่น ตอนเช้าอาจมีคนสูงวัยมาเดินเล่นหาเพื่อนฝูง ช่วงเที่ยงเป็นเวลาของมนุษย์วัยทำงานที่มากินอาหารช่วงพัก หรือตอนเย็นเป็นลานกิจกรรมเล่นสนุกของเด็กๆ ที่เพิ่งเลิกเรียน เรียกว่าเป็น ‘บริการสาธารณะที่บริหารจัดการตัวเอง’ (self-organizing public service)

หันมองไปรอบๆ เรายังต้องการพื้นที่แบบนี้อีกมาก

เมื่อความรู้ลอยอยู่ในพื้นที่ส่วนกลาง

พื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบหนึ่งคือศูนย์การเรียนรู้

สำหรับชุมชนเล็กๆ การมีศูนย์การเรียนรู้เปิดโอกาสให้คนที่พ้นวัยเรียนภาคบังคับไปแล้ว ได้เข้าถึงความรู้ที่นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ แถมทรัพยากรที่อยู่ในนั้นก็ไม่ได้กีดกันคนนอกแบบห้องสมุดในสถานศึกษา หรือสร้างความรู้สึกแปลกปลอมว่าตนเองไม่มีสิทธิเข้าไปใช้

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หรือ Community Learning Center อาจเป็นอะไรที่ง่ายมากๆ เช่น โครงการทดลองหนึ่งในกัมพูชา ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต มาสร้างพื้นที่เก็บหนังสือ คอมพิวเตอร์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และมีกิจกรรมสอนภาษา ภายในเวลา 4 เดือน พื้นที่นี้ก็กลายเป็นจุดชุมนุมของสมาชิกชุมชน ซึ่งเข้ามาใช้งานในลักษณะต่างกัน หลายๆ คนมาเพื่อเจอหน้าคนอื่นและแลกเปลี่ยน ‘ข่าวสาร’ กัน ไม่ว่าข่าวสารนั้นจะมาในรูปแบบไหน

หรือศูนย์การเรียนรู้ในเนปาล ที่สร้างขึ้นเพื่อทำให้คนท้องถิ่นเรียนรู้เพื่อเพิ่มผลิตภาพในอาชีพที่ทำอยู่ หรือปลูกฝังเรื่องการออมเงิน โดยตั้งเป้าหมายร่วมกัน

มองอย่างนี้ จะทำให้เห็นชัดขึ้นว่าพื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่พื้นที่ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเงินหรือสินค้า แต่แลกเปลี่ยนกันกระทั่งความรู้และไอเดีย

ปลอดภัยหรือกีดกัน เรื่องควรระวังเมื่อสร้างพื้นที่ของส่วนรวม

พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งดีๆ ที่ควรมีมากขึ้น แต่งานวิจัยของมูลนิธิ Joseph Rowntree ก็ยังบอกอีกว่า หลายครั้งคนเราก็พลาด เวลาคิดถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะสักแห่งขึ้นมา เช่น วางกรอบที่เน้นการออกแบบมากไปจนแข็งทื่อ หรือนิยามคำว่า ‘ชุมชน’ แบบที่กีดกันกลุ่มคนชายขอบออกไป มองว่าเป็นประชากรไม่พึงประสงค์ ผลที่เกิดก็คือพื้นที่นั้นไม่ได้ตอบโจทย์สาธารณะอย่างแท้จริง

บางครั้งความหวาดกลัวขโมยขโจร ก็ทำให้ทางการเลือกทำอะไรแปลกๆ อย่างการตัดต้นไม้เสียโล่งเตียน หรือรื้อถอนห้องน้ำสาธารณะออกไป เพราะกลัวเป็นแหล่งซ่องสุมทำเรื่องไม่ดี

ซึ่งทั้งหมดนี้ทำร้ายทุกๆ คนที่เข้ามาใช้งานพื้นที่ จนสุดท้ายก็ไม่มีใครสบายใจที่จะใช้ ทั้งที่การแก้ปัญหาอาชญากรรมอาจมีวิธีอื่นที่ดีกว่า

เว็บไซต์ thecityfix.com ของ World Resource Institute ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า เวลาที่คิดจะสร้างพื้นที่สาธารณะ แรกเริ่มเลยต้องดึงชุมชนเข้ามาร่วมแต่แรก กล้าเสนอความคิดและไอเดียออกไปเพื่อที่จะถูกคนเหล่านี้ปฏิเสธในตอนเริ่มต้น เพื่อสุดท้ายแล้วจะได้รู้ชัดว่าพวกเขาต้องการหรือไม่ต้องการอะไร

สื่อสารออกไปเพื่อถามหาคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน แล้วจากนั้นก็ยึดไว้ให้มั่นจนจบโครงการ คิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่มูลค่าผลตอบแทนทางการเงินก็ได้ ใส่เอกลักษณ์ท้องถิ่นเข้าไปในการออกแบบ

และจำไว้ว่าพื้นที่สาธารณะในฝันคือการรวมกันของทั้ง ‘การระดมความคิดของชุมชน (crowdsouring)’ และ ‘ศาสตร์การออกแบบเมือง (Urban Planning)’ เพื่อให้ผลสุดท้ายเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้งานจริงๆ และใช้ได้ดี ไม่ใช่คิดเองเออเอง

ป๊อก แป๊ก ป๊อก แป๊ก

เพราะโต๊ะปิงปองโต๊ะนี้ จะเล่นให้สนุกและจบเกม คงเล่นแค่เพียงฝั่งเดียวไม่ได้

ที่มา:

Tags: , , , ,