NOBRA พยายามหาแง่มุมใหม่ๆ ของ LGBTQ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่เน้นไปที่การเล่าเรื่องสากลความเป็นมนุษย์เพื่อสื่อสารกับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งจัดโดย คิวเรเตอร์ นนนี่ย์—วิชชาพร ต่างกลางกุลชร และกลุ่มศิลปิน LGBTQ และเพศตรง รวม 7 ชีวิต นำโดยศิลปิน ณภัทร แก้วมณี, พิษณุ ทองมี และสิปปกร เขียวสันเทียะ ร่วมกับศิลปินรับเชิญ พิชัย พงศาเสาวภาคย์, ปัญจรัตน์ พลพลึก, ปัญญวัฒน์ มหันตปัญญ์ และฉัศสญาฬสจ์ อินกับจันทร์
ถึงแม้ตัวงานจะไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่การเรียกร้องสิทธิ หรือวิพากษ์สังคมตามเจตนาของผู้สร้าง แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อผลงานออกสู่คนดู ศิลปินต่างก็คาดหวังให้คนดูได้รับบางอย่างจากงานพวกเขากลับไป และหากงานของพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
ช่วงม.ปลายเรารู้สึกสับสน เราคิดว่าการชอบผู้ชายมันเป็นเรื่องผิดบาป แล้วก็คิดไปถึงความรู้สึกของพ่อและแม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร มันจะมีชุดความเชื่อหนึ่งที่ว่าคนที่เกิดมาเป็นแบบนี้ ชาติที่แล้วไปพรากลูกพรากเมียผู้อื่นมา ก็เลยทำให้เป็นแบบนี้ ตอนนั้นเราคิดแบบนี้
ในชีวิตเรามันไม่ได้มีแค่ศาสนาพุทธ เรามีเชื้อสายศาสนาอิสลามด้วย ยิ่งพอโตมาเรามีความสัมพันธ์ มันก็มีเรื่องความเชื่อของคนที่เรามีสัมพันธ์ด้วยเข้ามาเกี่ยวด้วย อย่างเราเคยคุยกับคนที่นับถือศาสนาคริสต์ที่เขาก็ถูกศาสนาเขากดทับอยู่ จนทำให้ความสัมพันธ์ไปต่อไม่ได้
มันเลยสะท้อนออกมาในงานว่า ถ้าพระเจ้าสร้างเราขึ้นมา แล้วทำไมตัวเราถึงเป็นบาป ถ้าเชื่อว่าพระเจ้าสร้างทุกสิ่ง แล้วทำไมเรายังถูกตัดสิน ก็เป็นสิ่งที่เราหาคำตอบในงาน แล้วเราได้คำตอบนั้นกับตัวเองแล้ว
เราชอบเล่นประเด็นใหญ่ที่เซนซิทีฟ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำ เราเห็นแล้วว่ามันมีอิมแพกต์ สมมติเราอยากคุยกับคนรุ่นใหม่ เราก็จะเห็นว่าเขายังมีความกลัวในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง ศาสนา องค์กรใหญ่ แล้วพอเราเริ่มทำ ก็มีคนกล้าแตะมากขึ้น กล้าพูดคุยมากขึ้น การนำสิ่งเหล่านี้มาตั้งคำถามไม่ใช่การดูหมิ่น ดูถูกหรือย่ำยี สิ่งที่เราอยากเห็นจากงาน คือ ทุกคนกล้าคุยกันในเรื่องพวกนี้ หนึ่งคำถามมันมีสิบคำตอบ แล้วมันจะนำไปสู่การพัฒนาต่างๆ
งานศิลปะไม่จำเป็นต้องเกิดจากความโกรธ ความปิติก็เกิดงานศิลปะได้ อย่างงานเราพูดถึงศาสนาพุทธ เราอาจจะไม่ได้ล้อเลียนพระพุทธเจ้าก็ได้ เราอาจจะเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีความสวยงามก็ได้ ซึ่งมันอาจจะมีความคับข้องใจ หรือความประทับใจ ความโรแมนติไซส์อยู่ด้วยก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีแต่ความโกรธแค้นอย่างเดียว มันปัจเจกมากๆ ศิลปะทำเรื่องอะไรก็ได้
เรารู้สึกว่าในงานนี้เราไม่อยากเรียกร้องอะไร เหมือนตอนเราเป็นนักศึกษา ถ้าเป็นนักศึกษาผู้หญิง – ผู้ชาย อาจารย์จะให้ดึงความรู้สึก ประสบการณ์เรื่องที่อยู่ในตัวออกมาเล่ามากกว่า เช่น เราโดนพ่อแม่รังแกไหม แต่ถ้าเป็น LGBT อาจารย์ก็จะตัดสินไปก่อนเลยว่า ทำไมคุณไม่ทำงานที่มันเกี่ยวกับการเรียกร้องล่ะ
เราอาจจะคิดว่าสังคมเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่บางครั้งเรายังเห็นคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย เช่น ถึงเขาจะเป็นทอม เป็นกะเทย เขาก็ยังเป็นคนดีเลย ซึ่งมันก็ยังเป็นการแบ่งแยกอยู่ดี เหมือนคนจะเข้าใจแต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว เรื่องเพศกับการเป็นคนดี เป็นคนละเรื่องกัน
ศาสนามันจำเป็น แต่น้อยลงเรื่อยๆ หลังๆ ผมเชื่อในเหตุผลมากกว่า บางครั้งความเชื่อมันไม่ต้องใช้เหตุผลมาอ้างอิง แต่มันเป็นการยึดเหนี่ยวใจเราไว้ให้สงบ แต่ถ้าเกิดมันมีเหตุผล ผมก็เชื่อว่าคนทุกวันนี้เชื่อในเหตุผลมากขึ้นนะ โดยเฉพาะวัยรุ่น แล้วความเชื่อที่มีต่อศาสนาอาจจะน้อยลงเรื่อยๆ
ภาษาของศิลปะ เป็นภาษาทางสัญลักษณ์ที่มอบอิสระให้แต่ละคนได้คิดเอง ดังนั้นงานที่เราผลิตออกมา จะออกมาในแง่ของการสร้างสรรค์ สร้างโลก สร้างสังคมให้ดีขึ้น กลับไปดูที่ตัวเนื้องานก็ได้ว่า แต่ละคนที่ผลิตงานออกมา เขาพูดประเด็นที่ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นทั้งนั้น เพื่อให้มองมนุษย์เป็นมนุษย์เท่ากันจริงๆ ให้คนที่เข้ามาได้รับประสบการณ์ ได้เห็นโลกในมุมนี้ และอยากให้คุณได้ลองมองโลกแบบเดียวกับเรา
Fact Box
- นิทรรศการ NOBRA จัดขึ้นที่ Joyman Gallery โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมได้ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึง 12 กรกฎาคม นี้