“คัมพาเนลลา นายอยู่ตรงนี้นานแล้วเหรอ”
คัมพาเนลลาก็พูดขึ้นว่า
“คนอื่นๆ วิ่งกันน่าดู แต่ขึ้นไม่ทัน ซาเนลลีก็วิ่งใหญ่เลย แต่ไม่ทันอยู่ดี”
โจวานนีคิดว่า ‘นั่นสิ ก็ตอนนี้เราชวนกันไปสองคนนี่นะ’ พลางพูดต่อ
“ไปรอพวกนั้นที่ไหนสักแห่งไหม”
นี่เป็นบทสนทนาแรกของเพื่อนรักสองคนเมื่อเจอกันบนรถไฟสายทางช้างเผือกโดยไม่ได้นัดหมาย และพาให้เราติดตามการเดินทางอันแสนวิเศษไปอย่างเพลิดเพลิน เรื่องราวของผู้คนที่พากันขึ้นลงรถไฟขบวนนี้ ที่ต่างปรากฎตัวและลับหายระหว่างสถานี ก่อนจะเผยนัยสำคัญที่ซ่อนเอาไว้ในบทสนทนานี้เอาไว้ในตอนท้ายของเรื่อง ที่ใครคนหนึ่งไม่ได้ลงจากรถไฟขบวนนั้น
‘รถไฟสายทางช้างเผือก’ เป็นเรื่องราวของโจวานนี เด็กชายฐานะยากจน ที่พ่อซึ่งเป็นชาวประมงออกเรือแล้วยังไม่ได้กลับมา และยังต้องคอยดูแลแม่ที่ป่วยด้วยการทำงานเรียงพิมพ์ในโรงพิมพ์ เพื่อนำเงินมาซื้ออาหารและนมวัวสดให้แม่ดื่มทุกวัน การหายตัวไปของพ่อเมื่อคราวออกเรือครั้งก่อน โดยมี ‘ความหมายระหว่างบรรทัด’ ซ่อนอยู่ กลายเป็นปมในใจที่กลุ่มเพื่อนจอมเกเรนำมาล้อเลียนโจวานนีอยู่เสมอ แน่นอนว่าเขาไม่ชอบที่ตกเป็นเป้านิ่งและถูกทิ่มแทงด้วยวาจา แต่ก็ไม่ได้กล้าหาญพอที่จะตอบโต้เอาคืน
ในความอึดอัดคับข้อง โจวานนียังมีคัมพาเนลลา เพื่อนร่วมชั้นที่เขาถือเป็นเพื่อนรัก เพื่อนที่ไม่เคยล้อเลียนเขาเหมือนคนอื่นๆ และแบ่งของเล่นให้เวลาที่โจวานนีไปเล่นด้วยที่บ้าน เพื่อนที่แสดงความจริงใจต่อเขาผ่านการไม่ตอบคำถามที่รู้คำตอบอยู่แล้วกับครู ซึ่งเป็นการสื่อความหมายที่ ‘น้อย’ แต่ ‘มาก’ แสดงออกถึงมิตรภาพระหว่างเด็กทั้งสองคนไว้อย่างลุ่มลึก และหากจะบรรจุก้อนความสุขวัยเยาว์อันน้อยนิดรวมลงกล่อง คัมพาเนลลาเป็นหนึ่งในนั้น
จุดสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นในค่ำคืนหนึ่งที่มีงานฉลองทางช้างเผือกของเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ เมื่อเสียงล้อเลียนจากเด็กเกเรกลุ่มเดิมยังตอกย้ำให้โจวานนีอับอายเหมือนทุกครั้ง แต่ความรู้สึกที่ถั่งท้นอยู่ตอนนี้คือเพื่อนรักของเขาอยู่ในกลุ่มของเพื่อนเกเรกลุ่มนั้น ที่แม้จะนิ่งเงียบไม่ร่วมวง แต่ก็ไม่ได้ออกปากปกป้อง
ความผิดหวังยังคั่งค้าง กระทั่งการมาถึงของรถไฟสายทางช้างเผือก และโจวานนีพบว่าตัวเองอยู่ในรถไฟขบวนนั้น โดยที่คัมพาเนลลาก็นั่งอยู่บนรถไฟด้วย…
ไม่มีใครรู้ว่า ‘มิยาซาวะ เคนจิ’ กวีและนักเขียนชั้นครูชาวญี่ปุ่น เขียน ‘กิงกะเท็ตซุโด โนะ โยรุ’ หรือ ‘รถไฟสายทางช้างเผือก’ ขึ้นเมื่อไร เพราะผลงานชิ้นนี้ถูกค้นพบหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว ซ้ำยังเป็นต้นฉบับที่มีส่วนขาดหาย ตัวอักษรตกหล่น และมีร่องรอยของตัวอักษรที่อันตรธานไป แต่เมื่อได้รับการตีพิมพ์ ผลงานที่ต้นฉบับมีไม่ครบชิ้นนี้ กลับได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมเป็นวงกว้าง จนนับได้ว่าเป็นผลงานขึ้นหิ้งอีกชิ้นหนึ่งที่นักอ่านญี่ปุ่นนิยมชมชอบ บ้างก็เปรียบกันว่า วรรณกรรมชิ้นนี้เทียบได้กับ ‘เจ้าชายน้อยฝั่งตะวันออก’ ที่หากอ่านในแต่ละช่วงวัย สารที่ได้และการตีความอาจแตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้แล้ว การจะแปะป้ายให้รถไฟสายทางช้างเผือกเป็นวรรณกรรมเยาวชน จึงอาจไม่ถูกต้องหมดจดนัก ด้วยปรัชญาที่สอดแทรกอยู่ในดินแดนแฟนตาซี ความเชื่อทางศาสนา ไปจนถึงโลกหลังความตาย ที่อ่านด้วยสายตาของเด็กก็แบบหนึ่ง อ่านด้วยสายตาของผู้ใหญ่ก็อีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่ก็ควรจะได้อ่านเช่นกัน
รถไฟสายทางช้างเผือก เคยตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2545 โดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จากการแปลของ มณฑา พิมพ์ทอง ส่วนฉบับที่เห็นนี้เป็นการนำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งโดยสำนักพิมพ์ Jlittle ด้วยสำนวนการแปลของมณฑา พิมพ์ทอง เช่นเดิม หากแต่มีการ ‘ปรุง’ ใหม่ ให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น
เรื่องราวของโจวานนี เกิดขึ้นในเมืองสมมติ ฉากหลังทั้งหมดที่ปรากฏในเรื่อง อยู่ในจังหวัดอิวาเตะ บ้านเกิดของมิยาซาวะ เคนจิ และรถไฟสายทางช้างเผือก ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนรถจักรไอน้ำ SL Ginga ที่ให้บริการระหว่างสถานีฮานะมากิ และสถานีคามิอิชิ ในจังหวัดอิวาเตะ โดยตกแต่งขบวนในบรรยากาศย้อนยุคและกลุ่มดาว รวมถึงสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชิ้นนี้ด้วย
ในขบวนรถไฟสายทางช้างเผือก มิยาซาวะ เคนจิ ค่อยๆ พาเราท่องไปในจักรวาลของดวงดาวพร้อมกับโจวานนี และคัมพาเนลลา ด้วย ‘ตั๋วใบพิเศษ’ ได้สัมพันธ์กับผู้คนแสนประหลาด ทั้งคนขุดซากฟอสซิล คนจับนกเป็นอาชีพ ลุงผู้เฝ้าประภาคาร ชายหนุ่มและเด็กหญิงชายสองพี่น้องที่มาจากเรืออับปางเพราะชนกับภูเขาน้ำแข็ง ฯลฯ ผู้โดยสารที่ค่อยๆ หายหน้าไปเมื่อถึงสถานีปลายทางของแต่ละคน ซึ่งมีดวงชะตาเป็นผู้กุมกำหนด
“ต้องลงที่นี่แล้ว” ชายหนุ่มบอกซ้ำ เม้มปากพลางก้มมองเด็กชายตัวน้อย
“ไม่เอา หนูอยากนั่งรถไฟต่ออีกหน่อย”
โจวานนีพูดขึ้นอย่างอดไม่ไหว
“นั่งไปด้วยกันเถอะ พวกเรามีตั๋วแบบนั่งได้ตลอดสาย”
“แต่พวกฉันต้องลงแล้ว ตรงนี้คือทางไปสวรรค์” เด็กหญิงพูดท่าทางเหงาหงอย
“ก็ไม่ต้องไปสวรรค์สิ ครูบอกว่าเราต้องสร้างที่ซึ่งดีกว่าสวรรค์ขึ้นในที่ซึ่งเราอยู่นี่แหละ”
ความสุขล้วนเป็นที่ปรารถนาของผู้คนที่โจวานนีพานพบระหว่างโดยสารไปกับขบวนรถไฟ ไม่ต่างกับทุกคนบนโลกที่ความสุขคือของขวัญล้ำค่าหากได้เก็บกำมันเอาไว้ แต่ในรถไฟสายทางช้างเผือก ความสุขไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัวละครหวังยึดครองไว้กับตัวเพียงฝ่ายเดียว หากกลับมีไว้เพื่อส่งมอบให้กับคนอื่น มิยาซาวะ เคนจิ ส่งสารนี้ผ่านคำพูดและหัวใจอันบริสุทธิ์ของโจวานนีและคัมพาเนลลา ระหว่างที่เราท่องไปกับรถไฟขบวนนี้
ในแต่ละบทตอน ผู้เขียนพาเราสนุกไปกับจินตนาการที่ระยิบพริบพราว โลกอันแสนมหัศจรรย์ในหมู่ดาว ทำให้เราไม่แปลกใจเลยว่าทำไมโจวานนีจึงไม่อยากลงจากรถไฟ เพราะในโลกความเป็นจริงที่โจวานนีอยู่นั้นแทบไม่ได้ให้เขาหลงเหลือวัยเยาว์ให้จับจ่ายด้วยภาระที่แบกเกินตัว
การปรากฏตัวและหายลับของคนบนรถไฟและเสียงบทสวด ค่อยๆ คลี่ภารกิจของรถไฟขบวนนี้ออกมาทีละน้อย…ทีละน้อย และหักหาญความรู้สึกของคนอ่านด้วยโลกความจริงที่โจวานนีต้องกลับมา และพบว่า ‘ความสุข’ ของเขาได้ถูกรถไฟขบวนนั้นพรากไปแล้ว
“คัมพาเนลลา เหลือเราสองคนแล้ว จากนี้ไม่ว่าจะไปไหนเราจะไปด้วยกันนะ ถ้าทำให้ทุกคนมีความสุขได้จริงๆ ต่อให้เราถูกเผาครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนแมงป่อง เราก็จะไม่บ่นเลย”
“ใช่ เราด้วย” ดวงตาของคัมพาเนลลามีน้ำตาใสแจ๋วคลอเบ้า
“แต่ว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร” โจวานนีเปรยขึ้น
“เราไม่รู้” คัมพาเนลลาพูดอย่างเหม่อลอย
มีคำพูดของใครสักคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า การสูญเสียจะทำให้เราเติบโต และขบวนรถไฟสายทางช้างเผือก ก็มอบการเติบโตให้กับวัยเยาว์ ผ่านหยดน้ำตา
Tags: รถไฟสายทางช้างเผือก