ในโลกยุคที่สื่อหลายแขนงมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนสังคมและชีวิตประจำวันนั้น เยาวชนไทยหลายคนเองต่างก็มีความนึกคิดอยากจะผลิตสื่อสร้างสรรค์ออกมาด้วยมันสมอง แต่ก็ยังขาดโอกาสในแง่ต่างๆ ทั้งเรื่องของไอเดีย เวทีแสดงผลงาน และปัจจัยสำคัญคือ ‘ทุน’ 

หลายปีที่ผ่านมา ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยหลายคนต่างก็ก้าวไปถึงเวทีระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น  เจ้ย’ – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ โต้ง’ – บรรจง ปิสัญธนะกูล ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะเติบโตไปถึงจุดนั้นได้บ้างหรือไม่ และเมื่อเทียบกับสื่อคุณภาพจากประเทศในเอเชียอย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ก็ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า จะมีโอกาสหรือไม่ ที่ไทยจะผลักดัน ‘อำนาจอ่อน’ หรือ Soft Culture ให้ก้าวไปถึงจุดที่ทั่วโลกยอมรับ

แต่ใช่ว่าประตูสำหรับเยาวชนไทยจะถูกปิดสนิทเสียทีเดียว เพราะล่าสุด สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตัดสินใจเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ  ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท The Momentum ชวน ฟิล์ม’ – เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ปรึกษาชมรม Young Filmmakers of Thailand และผู้ร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว มาร่วมพูดคุยถึงที่มาที่ไป ประเด็นปัญหาของคนทำสื่อยุคใหม่ ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐจะสามารถช่วยเหลืออะไรพวกเขาได้บ้าง จนถึงรายละเอียดการสมัครรเข้าร่วมโครงการ

เปรมปพัทธเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าว โดยตัวเขาอธิบายว่า ในปีนี้ ทางกองทุนสื่อฯ พยายามปรับเปลี่ยนกติกาการขอทุนให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในหลายระดับ พร้อมมองว่าเด็กไทย ณ เวลานี้ มีความสามารถในการสร้างสรรค์สื่อ แต่ปัญหาสำคัญคือ ยังขาดเวทีสำหรับโชว์ผลงาน รวมถึงเปิดพื้นที่กลาง หลักสำหรับแลกเปลี่ยนความคิด

หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า หน้าที่หลักๆ ของกองทุนสื่อฯ คือ การให้ทุนสนับสนุนบรรดาผู้คน นักวิชาการ หรือสำนักข่าว เผื่อจัดทำและเผยแพร่สื่อภายใต้กรอบนิยามคำว่าสร้างสรรค์  ซึ่งทางกองทุนสื่อฯ มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า สื่อ ณ เวลานี้เปรียบเสมือนอวัยวะในร่างกาย และวัฒนธรรมร่วมเคียงข้างกับคนรุ่นใหม่ เราจึงตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า แล้วจะทำอย่างไรเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีไอเดียและความสามารถ ได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรและสร้างสื่อสร้างสรรค์ในแบบตนเองได้

หากเป็นเมื่อก่อน การขอทุนจากเราอาจจะมีข้อจำกัดมากมาย เยาวชนหลายรายจึงมองว่าการมาขอทุนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมักหันไปพึ่งพาทุนจากเวทีประกวดหรือสถาบันศึกษาตนเองเสียมากกว่า ด้วยปัญหาที่ว่า ทำให้ปีนี้กองทุนสื่อฯ ตัดสินใจปรับกฎกติกาการข้อทุนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น หากคุณมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็เพียงทำหนังสือยินยอมจากทางผู้ปกครอง

ก่อนหน้านี้ราว 10 ปี อาจเคยมีเวทีประกวดภาพยนตร์สั้นจากทางมูลนิธิหนังไทย สายช้างเผือกพิเศษ แต่ก็มีข้อจำกัดคือ ผู้ที่จะเข้าประกวดได้จำเป็นต้องมีอายุยี่สิบปีขึ้นไป อีกทั้งเยาวชนสมัยก่อน หากจะเรียนรู้เทคนิคการทำสื่อ ต่างก็มีทางเลือกไม่มาก ส่วนใหญ่จำเป็นต้องเรียนรู้จากสถานศึกษา 

แต่ในเวลานี้ มีเยาวชนอายุน้อยหลายคนเริ่มสนใจการทำสื่อ เพราะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้การผลิตสื่อได้มากขึ้น ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์หรือเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง อีกทั้งหลายสถาบันการศึกษาก็เริ่มมีชมรม มีโปรดักชันเป็นของตนเอง แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ยังขาดอยู่คือพื้นที่กลางสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดและผลงาน ฉะนั้นทางกองทุนสื่อฯ จึงหวังเป็นพื้นที่กลางที่ว่า เป็นพื้นที่สำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ในอนาคต

ปัญหาต่อมาเมื่อเยาวชนเข้าถึงการทำสื่อได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปกลับเป็นสถานที่ได้แสดงผลงาน เช่น TK Park หรือโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กบางแห่ง แต่ถึง ปัจจุบันก็ยังมีสถานที่เหล่านี้อยู่เท่าเดิม ครั้นจะให้เด็กๆได้นำสื่อของตนเองไปฉายตามโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก รวมถึงฝั่งเวทีประกวดที่จัดโดยภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดเชิงพาณิชย์  

ด้วยเหตุนี้ ทางกองทุนสื่อฯ เอง จึงไม่อยากปิดกั้นอิสระความคิดของเยาวชนและอยากให้พวกเขาได้แสดงออกถึงประเด็นที่ต้องการทำอย่างเต็มที่ เช่น หัวข้อของชุมชน ครอบครัว ปัญหาสะท้อนสังคม ปัญหาภายในรั้วโรงเรียน จนถึงเรื่องราวของผู้พิการและคนตัวเล็กตัวน้อย

ขณะเดียวกัน เปรมปพัทธยังเน้นให้ทางภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทสนับสนุนเยาวชนต่อการทำสื่อด้วยความตั้งใจอย่างตรงไปตรงมา โดยมีข้อเสนอแนะที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือทั้งหมด 2 ข้อ 

  1. สวัสดิการ ประเทศไทยเรามีประชากรคนรุ่นใหม่ราว 15% คิดเป็นสัดส่วนแทบจะ 1 ใน 5 จากประชากรทั้งหมด แต่งบสวัสดิการสำหรับคนกลุ่มนี้มีอยู่น้อยมาก หากไม่นับสวัสดิการการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน ฉะนั้นเรื่องสวัสดิการอื่นๆ อย่างด้านความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยลดความกดดัน และมอบโอกาสในชีวิตให้แก่เยาวชน ซึ่งภาครัฐสามารถทำได้แน่นอน ด้วยการมอบทุน ทรัพยากร องค์ความรู้และช่องการทางการต่อยอด โดยอาศัยฐานข้อมูลกับงานวิจัย เพราะวัฒนธรรมการเสพสื่อทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และตำราการสอนสื่อก็ค่อนข้างโบราณ เพราะฉะนั้น ความรู้และงานวิจัยใหม่ๆ จึงเข้ามามีส่วนร่วมได้มาก
  2. พื้นที่สร้างสรรค์ในระยะยาว เช่น โรงภาพยนตร์อิสระสำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหนังทุนสูง เพียงแต่เป็นหนังที่เยาวชนอยากเล่าและทำออกมาด้วยความตั้งใจ อาจเป็นแนวอินดี้ หรือแนวอัลเทอร์เนทีฟก็ได้  

เปรมปพัทธยังบอกอีกด้วยว่า เขาหวังว่าในอนาคตจะมีสถาบันสอนทักษะเฉพาะทาง (อาชีวะ) สำหรับผู้ผลิตสื่อยุคใหม่ให้มีทักษะอย่างจริงจัง เพื่อสนองต่อความต้องการของเยาวชนที่สนใจด้านนี้

หมายเหตุ: โครงการชวนเยาวชนทำสื่อสร้างสรรค์ ของสำนักงานกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ เปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คลิปสารคดี ข่าว หนังสั้น ละครเวที สื่อการสอน บอร์ดเกม ฯลฯ ด้วยวงเงินรวม 40 ล้านบาท โดยเปิดรับข้อเสนอตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน – 28 ตุลาคม 2564 สามารถดูรายละเอียดได้ทาง www.thaimediafund.or.th 

 

ภาพ: สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์