นาซ่าเผยภารกิจต้อนรับปีใหม่กับการสังเกตการณ์เข้าใกล้ หรือ “บินเฉียด” วัตถุอวกาศปริศนาที่มีชื่อว่า Ultima Thule ซึ่งอยู่ถัดจากดาวพลูโตออกไป มีระยะห่างจากโลกคร่าวๆ ประมาณ 43 เท่าของระยะจากดวงอาทิตย์ถึงโลก (หรือ 1 au)

หลังจากองค์กรนาซ่าประสบความสำเร็จในการสังเกตการณ์ดาวพลูโตเมื่อปี 2015 จากภารกิจในการปล่อยยานอวกาศ New Horizons ในปี 2006 เพื่อศึกษาดาวเคราะห์หรือวัตถุอวกาศในบริเวณ Kuiper Belt หรืออวกาศบริเวณถัดจากดาวเนปจูน เป็นบริเวณเต็มไปด้วยฝุ่น แก๊ส และดาวเคราะห์น้อยอีกนับไม่ถ้วน

ภารกิจต่อไปของยานอวกาศขนาดเล็กเท่าแกรนด์เปียโนลำนี้ คือบินเฉียดเข้าไปเพื่อสำรวจวัตถุอวกาศที่อยู่ไกลออกไปอย่าง “Ultima Thule” ซึ่งประกอบขึ้นจากหินและน้ำแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 ไมล์และอยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 4 พันล้านไมล์

วัตถุนี้สำคัญตรงที่มันคือการเปิดขอบเขตไปสู่ดินแดนที่เราไม่รู้จัก เปิดน่านฟ้าสู่สิ่งใหม่ที่อาจมีอะไรเกินคาด

“นี่ถือเป็นการออกสำรวจจริงๆ” อลัน สเติร์น นักวิจัยหลักของภารกิจนี้กล่าว “เรากำลังบินเข้าหาบางสิ่งที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ไม่เหมือนวัตถุใดที่เคยได้ศึกษามาในอดีต”

ข้อมูลจากนาซ่าเผยว่า การสำรวจนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ เพราะ Ultima Thule อาจเป็นวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดที่ยานอวกาศเคยเผชิญหน้า และนักดาราศาสตร์มองว่าครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะตรวจสอบสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าอาจมีอายุพอๆ กับช่วงเวลาที่สริยจักรวาลก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

คาดการณ์ว่า New Horizons จะเดินทางผ่านวัตถุอวกาศนี้ที่ระยะห่างประมาณ 2,200 ไมล์ (ใกล้ขึ้นประมาณ 4 เท่าจากการสำรวจดาวพลูโตเมื่อปี 2015) ในวันปีใหม่ หรือ 1 มกราคม เวลาประมาณ 12.30 ตามเวลาประเทศไทย และจะใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงในการส่งสัญญาณกลับมาที่โลกครั้งแรก ส่วนภาพความละเอียดสูงและข้อมูลอื่นๆ ของวัตถุอวกาศนี้อาจใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวันในการรับส่งสัญญาณ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและองค์ประกอบของมันต่อไป

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจนี้ New Horizons จะยังคงท่องไปในบริเวณ Kuiper Belt ซึ่งเป็นขอบริมของระบบสุริยจักรวาลต่อไป เพื่อสำรวจดาวเคราะห์ดวงหรือวัตถุอวกาศอื่นๆ ในอวกาศ จนกระทั่งถึงกลางปี 2030 ที่เชื้อเพลิงของมันจะหมดลงและกลายเป็นขยะอวกาศหลังจากนั้น

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้ การสำรวจวัตถุอวกาศนี้จะเป็นการสำรวจวัตถุอวกาศที่ไกลที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์และอาจเปิดประตูบานใหม่ในการท่องอวกาศในอนาคต

ผู้อ่านสามารถติดตามถ่ายทอดสดผ่านมาเว็ปไซต์และแฟนเพจขององค์กรนาซ่าได้โดยตรง ที่ https://youtu.be/21X5lGlDOfg หรืออัปเดตสถานะภารกิจได้ที่ @NASANewHorizons ทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

 

 

ที่มาภาพ: www.jpl.nasa.gov

ที่มา:

Tags: , , , ,