กังหันลมและผืนน้ำโอบรับผมเมื่อเครื่องบินค่อยๆ ลดระดับลงสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ นี่เป็นการเดินทางไปต่างประเทศเพียงลำพังเป็นครั้งแรกของผม บนผืนดินที่ไม่รู้จักที่ตอบรับให้ผมมาใช้ชีวิตหนึ่งภาคการศึกษาในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยน 

ผมหวั่นใจน้อยๆ เรื่องการปรับตัว แต่ไม่ใช่เรื่องอาหารการกินหรือภาษาหรอกนะครับ แต่เป็นการใช้ชีวิตต่างหาก เพราะในคู่มือนักศึกษาต่างชาติได้อุทิศสองหน้ากระดาษระบุว่า การใช้ชีวิตที่สะดวกดายที่สุดในเนเธอร์แลนด์จำเป็นต้องมีจักรยานคู่ใจ สิ่งที่ผมหวั่นใจคือ ผมดันขี่จักรยานไม่แข็ง!

แม้จะใช้ชีวิตวัยเด็กในต่างจังหวัดซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ย้ายมาอยู่หมู่บ้านขอบกรุงเทพฯ ที่มีสวนส่วนกลางใหญ่พอสมควร แต่ยังไง๊ ยังไง ผมก็ยังไม่ไว้ใจกับการเคลื่อนที่ไปบนสองล้อ และนิยมเดินทางด้วยสองเท้ามากกว่า 

ผมนั่งรถบัสมาถึงมหาวิทยาลัยตอนย่ำค่ำ ท่ามกลางความมืดและความหนาว สิ่งที่ทักทายผมคือจักรยานปริมาณมหาศาลที่จอดไว้ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย ผมกรอกเอกสารไปนอนก่ายหน้าผากบนเตียง ดูท่าทางผมจะไม่มีทางเลือกเท่าไรนัก

เรื่องเล่าจากหลังอาน 

ผมหลับเป็นตายเกือบ 12 ชั่วโมงเพื่อคลายอาการเจ็ทแล็ก เมื่อตื่นขึ้นมาก็สำรวจข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเตรียมพร้อมว่าจะตะลุยที่ไหนในเมืองร็อตเตอร์ดัม เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งผมจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่อีกค่อนปี แน่นอนครับสถานที่แรกซึ่งผมจะต้องไปทำความรู้จักคือซูเปอร์มาร์เก็ต

ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่อยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยอยู่พอสมควร ผมแตะบัตรเพื่อใช้บริการรถรางประมาณ 15 นาทีเพื่อมาถึงใจกลางจัตุรัส ผู้คนไม่คึกคักนักในวันที่ฟ้าครึ้มฝน แต่สองข้างทางยังเห็นผู้คนบนหลังอานอยู่ประปราย หลากหลายช่วงอายุตั้งแต่เด็กน้อยที่นั่งซ้อนท้ายคุณพ่อ วัยรุ่นที่เล่นมือถือไปปั่นไป และผู้สูงอายุที่ปั่นมาเป็นคู่

ผมแตะบัตรออก สนนราคาทริปสั้นๆ ที่ 2.40 ยูโร หรือร่วม 100 บาท (ในขณะนั้น) แพงกว่ารถไฟฟ้าเมืองไทยแบบสาหัส ราคาดังกล่าวทำให้ผมตัดสินใจไม่ยากที่จะเลือกลงทุนในจักรยานสักคันเป็นเพื่อนคู่ใจ เพื่อไม่ให้กระเป๋าฉีกไปเสียก่อน

ตลาดซื้อขายจักรยานมือสองในเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างคึกคัก สำหรับประเทศที่มีจำนวนจักรยานมากกว่าประชากรแห่งนี้ คุณสามารถหาซื้อออนไลน์ได้ในราคา 20 – 40 ยูโรขึ้นอยู่กับสภาพ หรืออาจไปส่องหาคันที่ถูกใจตามร้านซ่อมจักรยานซึ่งอาจราคาแพงขึ้นมาหน่อย ผมสอยจักรยานสีส้มอมแดง ที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดคือล็อคจักรยานเพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดี (สำคัญมาก! จากประสบการณ์ตรงที่ทำจักรยานหายเพราะลืมล็อค)  ผมเข็นจักรยานคู่ใจ มองซ้าย มองขวา ก่อนจะเริ่มถีบแรกในประเทศเนเธอร์แลนด์

การปั่นจักรยานในเนเธอร์แลนด์ไม่ได้ลำบากหรือน่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเส้นทางจักรยานสีแดง 35,000 กิโลเมตรเชื่อมต่อทั่วประเทศในทุกมุมเมือง ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของความยาวถนนสำหรับรถยนต์ เลนจักรยานส่วนใหญ่จะแยกออกจากถนนใหญ่อย่างเป็นสัดส่วน ราบเรียบและบุด้วยยางที่คล้ายกับสนามสำหรับวิ่งให้ผู้ขับขี่รู้สึกสบายใจ แม้ว่าบางเส้นทางที่จะต้องร่วมถนนกับรถยนต์บ้าง แต่ด้วยสีแดงโดดเด่นที่บอกว่านี่คือทางจักรยาน ทำให้แทบไม่มีปัญหากับยานพาหนะอื่นบนท้องถนน

สำหรับถนนที่จักรยานจะร่วมใช้ถนนกับรถยนต์ ทางจักรยานจะทาทับด้วยสีแดงอย่างชัดเจน บริเวณสีแยกก็จะมีสัญญาณไฟเฉพาะสำหรับจักรยานอีกด้วย

หัวใจของเส้นทางสีแดงนี้คือปลอดภัยและต่อเนื่อง โครงสร้างที่รองรับจักรยานมีอยู่อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นบนสะพานขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำ ทางข้ามแยก หรือเส้นทางเชื่อมระหว่างเมือง นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังมีไฟสัญญาณจราจรเฉพาะของจักรยาน แม้แต่ Google Maps ในเนเธอร์แลนด์ก็ยังมีทางเลือกสำหรับเส้นทางจักรยาน ซึ่งเคยพาผู้เขียนไปหลงทางเมื่อต้องการจะข้ามแม่น้ำแต่มองไม่เห็นโครงสร้างใดๆ บนพื้นผิว หลังจากด้อมๆ มองๆ สักพักจึงจะเห็นเหล่านักปั่นพาเพื่อนคู่ใจไปใช้ลิฟต์ลงด้านล่าง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เส้นทางที่ Google Maps แนะนำคืออุโมงค์จักรยานข้ามแม่น้ำ!

เส้นทางจักรยานใต้น้ำข้ามฝั่งแม่น้ำเมืองร็อตเตอร์ดัมได้โดยแทบไม่ต้องออกแรงปั่น

ที่ผมประทับใจที่สุดคือ ลานจอดจักรยานเพื่อเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่นรถไฟระหว่างเมืองที่ราวกับเป็นการประชันแข่งขันเรื่องความสะดวก สถานีรถไฟ 400 แห่งทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์มีที่จอดจักรยานทั้งสิ้น 450,000 คัน และมีแผนจะขยายเพิ่มเติมอีก 250,000 คันในอนาคต พื้นที่จอดจักรยานแต่ละสถานีก็ออกแบบแตกต่างกัน บ้างเป็นอาคารคล้ายลานจอดรถ บ้างเป็นลานกว้าง แต่ที่สถานีร็อตเตอร์ดัมกลาง เป็นที่จอดจักรยานใต้ดินที่มีความจุกว่า 5,000 คัน

ลานจอดจักรยานบริเวณรถไฟระหว่างเมือง สถานีกลางร็อตเตอร์ดัม

ที่จอดรถจักรยานใต้ดิน สถานีกลางเมืองร็อตเตอร์ดัมซึ่งมีความจุกว่า 5,000 คน ลานจอดจักรยานจะออกแบบให้จอดได้สองชั้น โดยสามารถดึงรางด้านบนลงมาเพื่อเข็นจักรยานขึ้นไปจอดได้

ในแง่ของการท่องเที่ยว เนเธอร์แลนด์เชื่อมต่อสถานที่ท่องเที่ยวกับการปั่นจักรยานได้อย่างลงตัว เช่น กลุ่มกังหันมรดกโลก Kinderdijk ที่นักท่องเที่ยวสามารถพาจักรยานโดยสารเรือไปจนถึงหน้าประตูทางเข้า หรืออุทยานแห่งชาติ De Hoge Veluwe ซึ่งโด่งดังด้วยจักรยานสีขาวที่ให้หยิบยืมไปใช้ปั่นเที่ยวรอบอุทยานโดยไม่เสียสตางค์ ส่วนใครที่ไปอยากบุกบั่นไปปั่นไกลๆ ก็สามารถเช่าจักรยานรายชั่วโมงได้ที่สถานีรถไฟหลักของแต่ละเมือง แม้จะราคาสูสีกับบัตรโดยสารรถรางรายวัน แต่ก็คุ้มค่าหากต้องการประสบการณ์บนหลังอานของประเทศที่ได้ชื่อว่าขับเคลื่อนโดยสองล้อ

เส้นทางจักรยานกลางอุทยานแห่งชาติ De Hoge Veluwe

แต่กว่าเนเธอร์แลนด์จะเปลี่ยนโฉมสู่ประเทศจักรยาน ก็นับว่าต้องฟันฝ่าการปะทะและประท้วงระหว่างประชาชนและผู้ต้องการใช้รถยนต์ การต่อสู้ที่ต่อเนื่องและยาวนานจนกล่าวได้ว่าเส้นทางก่อนเป็นเมืองจักรยานไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ใจกลางเมือง Delft เมืองเล็กๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบของเมืองจักรยาน จะเห็นว่าเมืองไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับรถยนต์

กว่าจะเป็นประเทศจักรยาน

ย้อนกลับไปต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เมืองใหญ่ในหลายประเทศยังคงพลุกพล่านไปด้วยจักรยาน แต่วัฒนธรรมสองล้อก็ถูกรุกล้ำโดยรถยนต์ นวัตกรรมใหม่ที่ค่อยๆ คืบคลานมากลืนเมือง การรุกล้ำชัดเจนขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการค้าขายกลับมาคึกคัก ประชาชนที่ร่ำรวยก็ต้องการความสะดวกสบาย ปริมาณผู้ใช้จักรยานลดลงอย่างต่อเนื่องราวปีละ 6% โดยทุกคนต่างคิดว่านักปั่นจะสูญพันธุ์ในท้ายที่สุด

เมืองเริ่มถูกปรับภูมิทัศน์เพื่อรองรับยานพาหนะสี่ล้อ ตึกถูกทุบเพื่อขยายถนน ใจกลางเมืองถูกเปลี่ยนเป็นที่จอดรถ การจราจรที่หนาแน่นติดขัด รถสี่ล้อค่อยๆ เบียดขับให้วิถีจักรยานตายลงไปอย่างช้าๆ

แต่เมืองที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรถยนต์ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายราคาแพง  ในปี ค.ศ. 1971 รถยนต์ได้คร่าชีวิตนักปั่นไปราว 3,300 ราย และเด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปีอีกกว่า 400 ชีวิต สถิติสร้างความโกรธเกรี้ยวแก่ประชาชนชาวดัตช์ นำไปสู่การประท้วงทวงคืนวิถีจักรยานครั้งใหญ่ต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้สโลแกนหลัก ‘หยุดฆาตกรรมเด็ก (Stop de Kindermoord)’ สถานการณ์ถูกเร่งให้สุกงอมเพื่อทั่วโลกเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันใน ค.ศ. 1973 นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศว่าเนเธอร์แลนด์จะต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างชาติน้อยลงโดยไม่ลดทอนคุณภาพชีวิต โดยทางออกที่ตอบทุกโจทย์ก็คือพาหนะสองล้อนั่นเอง

โครงการคืนเมืองให้จักรยานเริ่มต้นอย่างช้าๆ โดยประกาศวันอาทิตย์ไร้รถ (Car-free Sundays) ตามเมืองต่างๆ ซึ่งค่อยๆ ขยายตัวไปจนใจกลางเมืองเป็นเขตปลอดรถโดยปริยาย รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เริ่มลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานด้านจักรยาน ตั้งแต่ ค.ศ. 1975 โดยมีสองเมืองนำร่องที่มีเส้นทางจักรยานครอบคลุมทั้งเมืองคือเฮก (The Hague) และทิลเบิร์ก (Tilburg) โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวทำให้ประชากรนักปั่นในเมืองเพิ่มขึ้นถึง 70%

การสัญจรบนสะพานอีราสมุส (Erasmus Bridge) จะพบว่ามีการแบ่งปันเส้นทางทั้งรถยนต์ รถราง จักรยาน และคนเดินถนน นอกจากนี้ สะพานดังกล่าวยังสามารถยกได้เพื่อเปิดทางให้เรือผ่านอีกด้วย

หลังจากนั้น เนเธอร์แลนด์ก็ค่อยๆ พลิกโฉมตัวเองเป็นประเทศปั่นได้ พร้อมทั้งออกแบบสารพัดภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อให้การมีรถหนึ่งคันแพงขึ้นอย่างมาก เพื่อดึงดูดให้คนออกมาปั่นจักรยาน ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปให้คุ้มค่าที่สุด 

รถแท็กซี่จักรยานในเมืองร็อตเตอร์ดัม

การต่อสู้ที่ยังไม่จบสิ้น

กว่าชาวดัตช์จะกอบกู้วัฒนธรรมจักรยานมานับว่าไม่ง่าย แต่สิ่งที่น่าประทับใจกว่าคือความพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมเหล่านั้นไว้จนสุดกำลัง

ผู้เขียนได้ชมสารคดี The New Rijksmuseum ว่าด้วยกระบวนการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไรจ์มิวเซียมใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัมซึ่งใช้เวลายาวนานร่วม 10 ปี โดยมีประเด็นหนึ่งที่ปะทะกับชาวเนเธอร์แลนด์หนักๆ คือทางจักรยาน เพราะตามแบบดั้งเดิมนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ไม่ได้เผื่อที่ไว้ให้สำหรับทางจักรยาน แต่สุดท้ายทีมงานก็ต้องยอมถอย เปิดโถงกว้างตัดผ่านใจกลางพิพิธภัณฑ์เพื่อให้นักปั่นได้ใช้สอย

นอกจากนี้ หลายเมืองใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ยังเผชิญกับปัญหาที่ฟังแล้วน่าอิจฉานั่นคือจักรยานติดขัด ซึ่งรัฐบาลต้องออกมาหามาตรการแก้ไข ซึ่งดูท่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจักรยานนั้นคงจะมีไปอีกยาวๆ ตราบใดที่ชาวดัตช์ยังคงปั่นสองล้อในชีวิตประจำวัน

เมื่อจักรยานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แฮนด์จักรยานจึงกลายเป็นพื้นที่ชั้นเยี่ยมในการโฆษณา

แหม ก็ทางจักรยานเขาน่าปั่นและปลอดภัยขนาดนี้ หันไปทางซ้ายก็เจอคุณพ่อมือใหม่พาลูกน้อยนั่งซ้อนท้าย หันไปทางขวาก็เจอคุณยายที่นั่งรถเข็นไฟฟ้าโดยมีถุงช็อปปิ้งในตะกร้า ส่วนหันไปด้านหลัง ยังไงก็ต้องเห็นหนุ่มสาวในชุดสูทผูกเน็คไทบนหลังอานเตรียมพร้อมไปประชุม ผู้เขียนเองมีประสบการณ์ขำๆ ที่เพื่อนในมหาวิทยาลัยนัดหมายกันไปผับราวห้าทุ่มเศษโดยจักรยาน!

การพาเด็กน้อยมาซ้อนจักรยานกับพ่อแม่เป็นเรื่องปกติในเนเธอร์แลนด์ ภาพนี้ถ่ายจากสะพานลอยข้ามถนนเพื่อตรงเข้าสู่ลานจอดรถประจำทางเมือง Gouda

การจัดอันดับดัชนีเมืองจักรยานซึ่งเผยแพร่สดๆ ร้อนๆ ก็มอบให้อูเทรกต์ (Utrecht) เป็นเมืองจักรยานโลกโดยมีคะแนนรวม 77.84% และมีสัดส่วนผู้ใช้จักรยานสูงถึง 51% ส่วนอัมสเตอร์ดัมอยู่อันดับที่ 5 โดยมีคะแนนรวม 60.24% และมีสัดส่วนผู้ใช้จักรยาน 34% สำหรับกรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว หลังจากประกาศเจตนารมณ์และจัดสารพัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนออกมาปั่น เมืองหลวงของเราก็คว้าอันดับที่ 88 จากทั้งหมด 90 อันดับ ได้คะแนนเมืองจักรยานรวม 18.90% และสัดส่วนผู้ใช้จักรยานเพียง 0.25% เท่านั้น

เมืองจักรยานก็เหมือนปัญหาไก่กับไข่ บางคนมองว่ารัฐบาลไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพราะไม่เห็นจะมีนักปั่นสักเท่าไร แต่ในทางกลับกันนักอยากปั่นทั้งหลายก็ไม่อยากจะเอาชีวิตไปเสี่ยงบนท้องถนนกรุงเทพฯ มากนัก เพราะโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่รองรับดีเพียงพอ การถกเถียงจึงต่อเนื่องไปไม่รู้จบสิ้น

ผู้เขียนคงไม่มองหาสูตรสำเร็จเมืองจักรยานจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะแต่ละเมือง แต่ละแห่ง ย่อมมีโจทย์ที่เป็นอัตลักษณ์และต้องการเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ก็ได้เพียงหวังลึกๆ ว่า ในอนาคตอันใกล้ (หรือจะไกลก็ได้) กรุงเทพฯ จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มิตรกับนักปั่นสักวัน

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

How Amsterdam became the bicycle capital of the world

How the Dutch got their cycling infrastructure

A Brief History of Cycling in Denmark & Netherlands

Why is cycling so popular in the Netherlands?

Fact Box

  • การปั่นจักรยานในเนเธอร์แลนด์ไม่จำเป็นต้องสวมหมวกกันน็อคนะครับ ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากก่อนที่จะได้ข้อสรุปว่าสวมหมวกกันน็อคขณะปั่นจักรยานอาจไม่ได้ช่วยป้องกันอันตรายเพิ่มขึ้นมากเท่าไร แต่อาจเป็นผลเสียเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของจักรยานในเนเธอร์แลนด์นั้นปลอดภัยอย่างมากอยู่แล้ว การสวมหมวกกันน็อคจะทำให้ทัศนวิสัยของนักปั่นแคบลง และการต้องสวมหมวกกันน็อคยังอาจทำให้คนรู้สึกอยากปั่นจักรยานน้อยลงอีกด้วย
  • แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของความเคยชินเสียมากกว่า เนื่องจากชาวดัตช์นั้นปั่นจักรยานมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เรียกว่าปั่นออกถนนใหญ่ได้ในวัยเลขตัวเดียว แถมในเนเธอร์แลนด์เองยังมีการสอนวินัยจราจรตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เมื่อจักรยานกลายเป็นวัฒนธรรม รถยนต์จึงให้ความสำคัญและระแวดระวังกับจักรยานในฐานะเพื่อนร่วมทางมากขึ้นอีกด้วย
Tags: , ,