สำหรับประเทศที่มีประชากรจักรยานมากกว่า 22 ล้านคันอย่างเนเธอร์แลนด์แล้ว การจัดงาน biennale ไม่ได้สงวนไว้เฉพาะสำหรับเรื่องศิลปะโดยตรงเท่านั้น เพราะจักรยานเองก็มีเบียนนาเล่ของตัวเองได้ อย่างงาน Bicycle Architecture Biennale งานใหญ่ที่ให้น้ำหนักกับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เอื้อต่อการใช้จักรยานของผู้คนในเมือง

หัวเรือใหญ่ของงานนี้คือองค์กรในอัมสเตอร์ดัมที่ชื่อว่า BYCS กิจการเพื่อสังคมที่มีความเชื่อว่า จักรยานสามารถเปลี่ยนเมืองได้ และเมื่อเมืองเปลี่ยนไปก็จะเปลี่ยนโลกได้ในที่สุด BYCS จึงมองจักรยานในแง่มุมที่มากกกว่าการเป็นพาหนะในการเดินทาง แต่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

หน้าที่หลักของ BYCS คือการทำงานร่วมกับภาครัฐบาล ธุรกิจเอกชน และองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อริเริ่มและสนับสนุนไอเดียที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจักรยาน จนเป็นที่มาของ Bicycle Architecture Biennale ครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อปี 2017 และครั้งที่ 2 ในปีนี้ ระหว่างวันที่ 17-21 มิถุนายน

ความน่าสนใจของงานนี้คือการรวบรวมเอาโปรเจกต์เจ๋งๆ ทั้งที่เปิดใช้งานแล้วและยังเป็นคอนเซ็ปต์ที่ออกแบบขึ้นโดยคำนึงถึงการใช้จักรยานเป็นหลักมาจัดเป็นนิทรรศการ โดยมี NEXT architects สตูดิโอออกแบบสัญชาติดัตช์เป็นคิวเรเตอร์หลักในการคัดเลือกงานจากทั่วโลก ไม่เฉพาะแต่โปรเจ็กต์จากเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่เป็นสัญลักษณ์ของการปั่นจักรยานเท่านั้น

จากทั้งหมด 15 โปรเจกต์ที่มีทั้ง ทางสำหรับจักรยาน อาคารจอดจักรยาน และสะพานรูปแบบต่างๆ จาก 9 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สเปน เบลเยียม เยอรมนี เดนมาร์ก อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน เรามองเห็น 3 แนวคิดเด่นจากโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่น่าจะเรียกได้ว่า เทรนด์ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้จักรยาน

Xiamen Bicycle Skyway ประเทศจีน

จอดก็ได้ แฮงเอาต์ก็ดี

การทำที่จอดจักรยานให้เป็นจุดแฮงเอาต์ที่สามารถแวะกินกาแฟ นัดเจอเพื่อนฝูง หรือนั่งทำงานได้คือคอนเซปต์ในการออกแบบ Coffee & Bikes โฉมใหม่ของอาคารจอดจักรยานเดิมที่ตั้งอยู่กลาง TU Delft มหาวิทยาลัยในเมืองเดลฟต์ของเนเธอร์แลนด์

Coffee & Bikes in Delft, the Netherlands

แนวคิดนี้ใกล้เคียงกับ Curtin Bike Hub ภายใน Curtin University ในเมืองเพิร์ธ ออสเตรเลีย ที่นอกจากจะทำหน้าที่หลักเป็นตึกจอดจักรยานแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับทำความสะอาดจักรยานด้วย ด้านบนของอาคารออกแบบให้เป็นสเปซสำหรับนั่งชิลล์ หรือใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเวลามีอีเวนต์ต่างๆ ได้เช่นกัน

Curtin Bike Hub

ปั่น(เอา)วิว

เพราะเส้นทางจักรยานหลายแห่งตัดผ่านธรรมชาติที่สวยงาม แนวคิดในการออกแบบหลายโครงการจึงเลือกใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเหล่านั้น ทำให้ได้เส้นทางจักรยานที่ให้ทั้งความสะดวกและความรื่นตาไปในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างที่ดีสำหรับแนวคิดนี้ก็คือ Cycling Through Water ทางปั่นจักรยานความยาว 200 เมตรในเมืองลิมบิร์ก ประเทศเบลเยียม ที่ตัดผ่านอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติและสร้างให้ระดับสายตาของคนใช้จักรยานมองเห็นน้ำแทบจะอยู่ในระนาบเดียวกัน

นอกจาก Cycling Through Water แล้ว เมืองลิมเบิร์กยังมี Cycling Through the Trees เส้นทางจักรยานไต่ระดับ ความยาวร่วม 700 เมตรที่ทั้งโอบล้อมและถูกโอบล้อมด้วยป่าไม้ที่ให้ทิวทัศน์ที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลอีกด้วย

Cycling through the trees ในเมืองลิมบิร์ก ประเทศเบลเยียม

เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่จักรยาน

ถึงจะเป็นงานที่โฟกัสใหญ่อยู่ที่การใช้จักรยาน แต่หลายโปรเจกต์ในงานนี้ก็แสดงให้เห็นว่า อีกสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้คนใช้จักรยานก็คือคนเดินถนน เพราะโครงการอย่าง Melkwegbridge ของ NEXT architects ในเนเธอร์แลนด์เอง ก็ออกแบบทางจักรยานที่ไม่รบกวนสะพานซึ่งเป็นเส้นทางเก่าแก่ เปิดโอกาสให้คนที่ใช้สะพานได้ชมวิวจากบนนั้นโดยไม่ต้องพะวงว่าจะขวางทางจักรยานใคร เพราะมีทางลอดใต้สะพานสำหรับนักปั่น หรือแม้แต่คนที่ใช้วีลแชร์ก็ยังสามารถใช้เส้นทางเดียวกันกับคนขี่จักรยานได้

Melkwegbridge

Nelson Street Cycle Way หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Lightpath ที่เมืองอ็อกแลนด์ นิวซีแลนด์ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้พื้นที่ที่ให้ความสำคัญทั้งกับคนใช้จักรยานและคนเดินถนน โดยเปลี่ยนโครงสร้างของทางแยกจากไฮเวย์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วให้เป็นเส้นทางพื้นสีชมพูที่คนจะเดินหรือปั่นจักรยานก็ได้ อีกทั้งด้วยการใช้สีและแสงไฟก็ยังเส้นทางนี้เป็นอีกสีสันของเมือง

Lightpath, Nelson Street Cycle Way ที่เมืองอ็อกแลนด์ นิวซีแลนด์

แนวคิดที่คำนึงถึงทั้งคนปั่นและคนเดินนี้ ยังมีอีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจและได้รับเลือกให้จัดแสดงในงานนี้เช่นกัน นั่นคือที่จอดจักรยานบริเวณ Central Station ของเมืองยูเทรกต์ในเนเธอร์แลนด์ คุณสมบัติในการรองรับจักรยานได้มากกว่า 12,000 คัน ทำให้ที่จอดใต้ดินแห่งนี้รั้งตำแหน่งที่จอดจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งยังมีบริการซ่อมและให้เช่าจักรยานภายในอาคารเดียวกันด้วย

Central Station เมืองยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์

เคส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เล่าถึงโปรเจกต์นี้ว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดระเบียบในทิศทางที่อำนวยความสะดวกทุกคนที่ใช้ถนน เพราะเมื่อมีนโยบายที่ส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์และหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือที่จอดไม่พอ ส่งผลให้จอดกันอย่างไม่เป็นระเบียบจนกีดขวางทางเดิน ซึ่งกระทบกับคนเดินถนนโดยตรง การจัดสรรพื้นที่จอดให้เพียงพอ ปลอดภัย และเป็นสัดส่วน จึงเป็นทั้งการเพิ่มความสะดวกและทางแก้ปัญหาที่มองจากทุกทางเลือกในการเดินทางของคนในเมือง

หลังจากปิดงานที่อัมสเตอร์ดัมแล้ว ทาง BYCS จะนำนิทรรศการใน Bicycle Architecture Biennale ไปจัดแสดงที่ประเทศอื่นๆ อย่างนอร์เวย์ อิตาลี และเบลเยียม โดยคอนเทนต์ทั้งหมดจะเดินทางไปพร้อมกับเป้าหมายขององค์กรที่ว่า จะต้องเพิ่มจำนวนการใช้จักรยานในเมืองให้ได้มากขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030

 

หมายเหตุ: ภาพทั้งหมดจาก BYCS

 

อ้างอิง:

Fact Box

ในฐานะคนที่ใช้จักรยานมาเกือบทั้งชีวิต ขี่จักรยานสองล้อได้ครั้งแรกตอนประมาณ 3 ขวบ และคุ้นเคยกับการใช้พาหนะชนิดนี้เหมือนชาวดัตช์ส่วนใหญ่ รวมถึงเพิ่งผ่านการจัดงาน Ayutthaya by Bike งานปั่นจักรยานที่ชวนให้คนไทยสนุกกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Dutch Sustainability Days ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อไม่นานมานี้ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ระบบการจราจรและพื้นที่สาธารณะที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มความปลอดภัยให้กับคนใช้จักรยานถือเป็นหัวใจที่จะทำให้คนใช้จักรยานมากขึ้นได้ ซึ่งตรงกับความจุดประสงค์ของ Bicycle Architecture Biennale ที่อยากให้คนหันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นถึงความสำคัญของเมืองต่างๆ เองที่จะต้องมีความพร้อมในการจัดสรรหรือสร้างพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ทุกคนที่ใช้ถนนร่วมกัน

Tags: , , , , , , , , , , ,